ศาลรับคำฟ้องสื่อ ขอให้สั่ง ทบ. เปิด “ราคากลาง” อุทยานราชภักดิ์

อุทยานราชภักดิ์

ที่มาของภาพ, EPA

ศาลปกครองรับคำฟ้องสื่อไว้พิจารณา กรณีขอให้สั่งกองทัพบกเปิด "ราคากลาง" สร้างรูปหล่ออดีตพระมหากษัตริย์ 7 พระองค์ในอุทยานราชภักดิ์

แม้หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบการทุจริต อย่างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะเคยออกมายืนยันว่า โครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ของกองทัพบก (ทบ.) ไม่มีการทุจริต แต่ก็มีบางประเด็นที่ยังมีข้อสงสัยโดยเฉพาะการเปิดเผยข้อมูลในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการดังกล่าว เช่น "ราคากลาง" ในการหล่อพระรูปอดีตพระมหากษัตริย์ทั้ง 7 พระองค์

สัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า รายงานว่า ศาลปกครองได้รับคำฟ้องที่ทางสำนักข่าวไปยื่นฟ้อง ทบ. กรณีขอให้เปิดเผยราคากลางการหล่อพระรูปอดีตพระมหากษัตริย์ฯทั้งหมดไว้พิจารณา เป็นคดีหมายเลขดำที่ 139/2560 ลงวันที่ 16 ก.พ. 2560

รายงานข่าวของสำนักข่าวแห่งนี้ อ้างถึงคำให้สัมภาษณ์ของแหล่งข่าวจาก ป.ป.ช. ต่อสื่อออนไลน์แห่งหนึ่ง ที่ว่า ทบ. ได้ส่งราคากลางการหล่อพระรูปอดีตพระมหากษัตริย์ฯมาใช้ประกอบการพิจารณา ก่อนที่ ป.ป.ช. จะมีมติ 9:0 ยุติการไต่สวนว่าโครงการดังกล่าวมีการทุจริตหรือไม่ แต่เมื่อสำนักข่าวใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ยื่นขอราคากลางการหล่อพระรูปอดีตพระมหากษัตริย์ฯจาก ทบ. โดยตรง กลับได้รับคำตอบว่า "ไม่มีเอกสารราคากลาง" ดังกล่าว ทั้งที่ใช้เวลาในการยื่นขอนานถึง 13 เดือน (ระหว่างเดือน พ.ย. 2558 - เดือน ธ.ค. 2559)

อุทยานราชภักดิ์

ที่มาของภาพ, EPA

กรณีโครงการอุทยานราชภักดิ์ตกเป็นข้อครหาว่าอาจมีการทุจริต โดยเฉพาะข้อสงสัยเรื่องเงิน "ค่าหัวคิว" เนื่องจากโรงหล่อหลายโรงที่เข้ามารับงานได้นำเงินไปให้กับเซียนพระรายหนึ่ง รวมกว่า 20 ล้านบาท แต่นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าฯสตง. ระบุว่า จากการตรวจสอบพบว่า เงินดังกล่าวไม่ใช่ "ค่าหัวคิว" แต่เป็น "ค่าที่ปรึกษา" และเซียนพระได้บริจาคเงินคืนให้กับโครงการแล้ว

สำหรับโครงการนี้ ใช้เงินในการก่อสร้างรวมกว่า 548 ล้านบาท ส่วนใหญ่ใช้ในการหล่อพระรูปอดีตพระมหากษัตริย์ฯ โดยที่มาของเงิน ประกอบด้วยงบกลาง งบของ ทบ. และเงินบริจาค

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 31 มี.ค. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ตอนหนึ่งถึงตัวอย่างสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ทำอยู่เพื่อปฏิรูปประเทศ และจะใส่ไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งมีอยู่ 5 ด้าน หนึ่งในนั้นได้แก่การป้องกันการทุจริตที่เป็นระบบ โดยเฉพาะในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ที่จะต้องมีการกำหนดราคากลาง