รายงานพิเศษ : สุวัจน์ มองเกมปรองดอง ผู้ชนะกินรวบไม่ได้

รายงานพิเศษ : สุวัจน์ มองเกมปรองดอง ผู้ชนะกินรวบไม่ได้

เกือบ 3 ปีหลัง รัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 "นักเลือกตั้ง" ถูกสั่งห้ามเข้าสนามการเมือง แต่เมื่อทหารไม่อาจเป็นผู้เล่นหลักได้ตลอดกาล เกมปรองดองจึงเป็นด่านต่อไป ก่อนเข้าสู่การเลือกตั้งตามโรดแมปคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

เมื่อ คู่ขัดแย้ง แปลงกายเป็น กรรมการ

เมื่อ เขตทหาร ถูกแปรสภาพเป็น "สนามปรองดอง" จึงคล้ายเป็นไฟท์บังคับให้ "บิ๊กการเมือง" ซึ่งสวมบท "ผู้ฝึกสอน-ผู้จัดการทีม" ต้องกระโดดมาร่วมวงอย่างไม่อาจปฏิเสธ

แต่ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา (ชพน.) ยืนยันกับบีบีซีไทยว่า เป็นความสมัครใจล้วนๆ เพราะมองเห็นแล้วว่าทหารคือ "กรรมการที่เป็นกลาง" จากบทบาทหยุดการเผชิญหน้าบนท้องถนน จึงมีความเหมาะสมจะเป็นผู้วาง "กฎการอยู่ร่วมกัน" ฉบับใหม่ โดยรับความฟังความคิดเห็นจากนักการเมืองในฐานะ "ผู้เล่น"

การคิด-ทำการเมืองประนีประนอมตามสไตล์อดีตหัวหน้าพรรคชพน. และอดีตนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ ถูกนำเสนอกลางวงคณะกรรมการอำนวยการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มีปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน

ปรองดอง ทักษิณ

ที่มาของภาพ, LILLIAN SUWANRUMPHA/AFP

คำบรรยายภาพ, พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ถูกมองว่าเป็นแกนหลักในการพูดคุยปรองดอง

"ท่านชาติชายพูดอยู่บ่อยๆ ว่า การเมืองชนะกันเสียงเดียว ก็พอแล้ว ไม่ต้องเอาเป็นเอาตายกันมาก ไม่ได้ทำให้คู่ต่อสู้จนมุม แต่ขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดการสมดุลในการที่จะต้องเกรงใจกัน ต้องรับฟังความคิดเห็น เพราะ มาร์จิ้น (ผลต่าง) ไม่เยอะนัก"

สุวัจน์ ยกอีกวรรคทองของ "น้าชาติ" ว่า 'การเมืองจบเป็นยกๆ' หมายความว่าเลือกตั้งจบแล้วก็จบ

"อย่างวันนี้บางทีเราสะสมความไม่ชอบ สะสมอดีตมากเกินไป นึกขึ้นมาทีไร ก็เจ็บปี๊ดที่หัวใจขึ้นมาทุกที แพ้ประจำอย่างนี้ นึกขึ้นมาทีไรก็เจ็บใจ"

ในฐานะนายกกิตติมศักดิ์ลอนเทนนิสสมาคมแห่งประเทศไทย สุวัจน์เปรียบเปรยเกมปรองดองเป็นเกมลูกสักหลาด

"ถ้าดูเทนนิสรายการใหญ่ๆ เวลาแข่งเสร็จ เขาก็จะไปสัมภาษณ์ผู้ชนะ สังเกตดูเลยว่าสิ่งแรกที่ผู้ชนะจะพูด แหม! วันนี้คนแพ้เล่นดีเหลือเกิน แต่ผมโชคดีกว่า เขาจะให้เกียรติคนแพ้ มีวิธีถนอมน้ำใจ เกมจบก็คือจบ ขณะเดียวกันคนแพ้ก็ต้องมีสปิริต"

ปรองดอง ทักษิณ

ที่มาของภาพ, PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP

คำบรรยายภาพ, อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ในช่วงรณรงค์หาเสียง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า "ทีมที่แข็งแกร่งที่สุด" ในสนามเลือกตั้งคือ "ทีมทักษิณ" ซึ่งกำชัยชนะ 4 สนามซ้อนในรอบทศวรรษ (2544, 2548, 2550, 2554) จนคู่แข่ง หมดทางชนะ นั่นทำให้บางฝ่ายจ้อง คว่ำกระดาน แล้ว เล่นนอกกติกา

แม้เคยยืนในทั้งสถานะผู้แพ้และผู้ชนะ แต่ สุวัจน์ ขอ "ลืมอดีต-ลบเทป" เพราะเห็นว่าสังคมไทยอยู่ในช่วงนับถอยหลังรอขึ้นกติกาใหม่ ตั้งต้นนับ 1 ใหม่ คนการเมืองก็ปรับตัวรับ "รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป"

ทว่าในช่วงก่อนลงประชามติ 7 สิงหาคม 2559 พรรคใหญ่ประกาศ "ไม่รับร่าง" และคลางแคลงใจว่าเป็นกติกาที่เขียนมาเพื่อ "ล็อคผู้ชนะ" หรือไม่ นี่อาจปูทางไปสู่วังวน "ขัดแย้ง-แย่งอำนาจ-ยึดอำนาจ-ร่างรัฐธรรมนูญใหม่" แต่ประธานที่ปรึกษาชพน. มองต่าง

ปรองดอง

ที่มาของภาพ, BBCTHAI

คำบรรยายภาพ, การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. เมื่อปี 2557

"ผมว่าทุกคนก็มีสิทธิจะมีความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญในขณะนั้น ชอบ-ไม่ชอบ เอ๊ะ! กติกาในรัฐธรรมนูญแบบนี้ ผมได้เปรียบหรือเสียเปรียบ ประเทศจะดี-ไม่ดี แต่อะไรคือข้อสรุป ก็ทำประชามติถามคนไทยชอบ-ไม่ชอบ รับ-ไม่รับ ซึ่งผลการทำประชามติค่อนข้างชัดเจน ไม่คลุมเครือ ฉะนั้นผมเชื่อว่าก็จบไปแล้ว เหมือนการเมืองจบเป็นยกๆ สิ่งที่จะคาใจ จะเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย มันจบไปแล้ว จากนี้จะมีอะไรเกิดขึ้นก็ต้องรอดูกฎหมายลูก" สุวัจน์ระบุ

แต่เพื่อให้แน่ใจว่าทุกพรรคพร้อมเคารพกฎเพื่อลดอุบัติเหตุการเมือง ชพน. จึงออกแรงหนุนข้อเสนอรัฐบาลคสช. แบบเต็มสูบ พร้อมออกตัวเชิญชวนทุกพรรคการเมืองร่วมลง "สัญญาประชาคม" ปรองดองก่อนเลือกตั้ง งดบอยคอตการเลือกตั้ง ยอมรับมติมหาชน และใช้รัฐสภาตัดสินปัญหา

"อย่าออกนอกรั้วสภา อย่าไปที่ถนน เพราะเราเป็นต้นแบบเป็นตัวแทนของประชาธิปไตย ฉะนั้นกติกาต่างๆ เรายิ่งต้องรักษาเอาไว้ มีอะไรก็พูดกันในสภา ตัดสินกันในสภา อาจจะแพ้ อาจจะชนะ สภามีเทอม สภาไม่ใช่ ฟอเอฟเวอร์ (ตลอดกาล) ก็ 4 ปี ฉะนั้นทำดีทำไม่ดี ก็มีเทอมของการเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างไปเจอกันใหม่สำหรับทัวร์นาเมนท์หน้า"

ปรองดอง

ที่มาของภาพ, PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP

คำบรรยายภาพ, การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง เมื่อปี 2557

น่าสนใจว่าขนาดรัฐธรรมนูญยังถูกฉีก จะหาหลักประกันอะไรได้จากสัญญาซึ่งเป็นเพียงกระดาษแผ่นเดียว? เขาแย้งทันควัน "เรื่องนี้ไม่มีบทลงโทษ แต่คำพูดเป็นนายเรา ไม่ต้องไปเซ็นกระดาษก็ได้ แต่พูดอะไรไปแล้วต้องรักษาคำพูด และเกรงใจประชาชน"

หากเกมปรองดองคือเดิมพันของคสช. ในฐานะผู้ก่อรัฐประหาร พล.อ. ประยุทธ์กับพวก ย่อมคาดหวังจะได้กลับบ้านอย่างเท่ๆ หลังจบภารกิจ ขณะที่กองเชียร์บางส่วนอาจติดใจ-วาดฝันให้ "นายพล" กลับมาอย่างเนียนๆ ในเกมอำนาจหลังการเลือกตั้ง ดูเหมือนคนการเมือง เช่นสุวัจน์ ย่อมรับรู้สัญญาณนี้

"กติกาใหม่เราเปลี่ยนแล้ว อย่างกติกาเก่าเขียนไว้เลยว่านายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะมาจากการเลือกตั้งก็ได้ ไม่มาจากการเลือกตั้งก็ได้ กลไกเปิดกว้าง ไม่ให้เกิดทางตันการเมือง ส่วนคนนอกจะเป็นใคร ก็แล้วแต่ปัญหาของประเทศ ณ ขณะนั้น" สุวัจน์กล่าวทิ้งท้าย

แต่ทั้งหมดนี้ต้องอยู่บนสัจธรรมการเมืองไทย ที่ไม่เคยอนุญาตให้ The winner takes it all หรือผู้ชนะกินรวบ!!!

รายงานโดย หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ ผู้สื่อข่าวอิสระ บีบีซีไทย

หมายเหตุ : ติดตามรายงานพิเศษชุด "พรรคการเมืองในเกมปรองดองลายพราง" ได้ตลอดเดือนเมษายน สัปดาห์หน้าพบกับ "THE FANS" มุมมองจากพรรคที่เคยถูก "มวลชนล้อมกรอบ" และเป็นฐานของ "มวลมหาประชาชน"