ผลสำรวจชี้สุขภาพ-การศึกษา เด็กไทยในชนบทยังเหลื่อมล้ำ

เด็กไทย,ยูนิเซฟ,ความยากจน,การศึกษา,สำนักงานสถิติแห่งชาติ

ที่มาของภาพ, NICOLAS ASFOURI/AFP/Getty Images

ยูนิเซฟและสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในไทยก้าวหน้าหลายด้าน แต่เด็กในชนบทยังมีความเหลื่อมล้ำ ทั้งสุขภาพ การศึกษา ส่วนด้านการอยู่อาศัย มีเด็กไทย 3 ล้านคน ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ สูงสุดในภาคอีสานและกลุ่มเด็กครอบครัวยากจน

วานนี้ (27 มี.ค.2560) องค์การยูนิเซฟและสำนักงานสถิติแห่งชาติ เผยแพร่ผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยล่าสุด จัดเก็บข้อมูลจากครัวเรือนกว่า 28,000 แห่งทั่วประเทศ ระหว่างเดือน พ.ย.2558-เดือน มี.ค.2559 ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยมีความก้าวหน้าอัตราการจดทะเบียนเกิด การใช้น้ำดื่มจากแหล่งที่สะอาด และอัตราการเข้าเรียนในระดับชั้นประถมศึกษา แต่ขณะเดียวกันยังมีความเหลื่อมล้ำที่น่ากังวลของเด็กยากจนในชนบทและเด็กที่พ่อแม่ขาดการศึกษาในด้านสุขภาพ การศึกษา เมื่อเทียบกับเด็กกลุ่มอื่น

ผลสำรวจด้านสุขภาพชี้ว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ในไทย 1 ใน 10 คน มีภาวะเตี้ยแคระแกร็น ความสูงต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และอัตรานี้จะสูงขึ้นในเด็กที่แม่ไม่มีการศึกษา นอกจากนี้ผลสำรวจยังพบว่าเด็กผู้ชาย เด็กในพื้นที่ภาคใต้ และเด็กในครัวเรือนที่ยากจนมาก มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน มีภาวะเตี้ยแคระแกร็น และมีภาวะโภชนาการเฉียบพลันสูงกว่าเด็กกลุ่มอื่น

ยูนิเซฟ,ความเหลื่อมล้ำ,การศึกษา,เด็กไทย

ที่มาของภาพ, CHRISTOPHE ARCHAMBAULT/AFP/GETTY IMAGES

นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า ความเป็นอยู่ของเด็กและสตรีในประเทศไทยพัฒนาไปมากในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่ก็ได้ตอกย้ำความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงของเด็กกลุ่มต่างๆ ขึ้นอยู่กับพื้นที่ ชาติพันธุ์ของเด็ก รายได้ครอบครัว และระดับการศึกษาของพ่อแม่ ความไม่เท่าเทียมนี้ต้องแก้ไขอย่างจริงจังและเร่งด่วน

ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นความเหลื่อมล้ำในด้านอื่น ระดับการศึกษาของแม่สัมพันธ์กับสุขภาพ พัฒนาการและการศึกษาของลูก ร้อยละ 24 ของเด็กที่แม่ไม่มีการศึกษา ไม่ได้เข้าเรียนในชั้นมัธยมศึกษา ด้านการศึกษา เด็กในครอบครัวยากจนร้อยละ 23 มีหนังสืออย่างน้อย 3 เล่มที่บ้าน ขณะที่กลุ่มเด็กในครอบครัวร่ำรวยมีสูงถึงร้อยละ 73 ส่วนอัตราของวัยรุ่นที่เป็นพ่อแม่วัยใสในไทยพบว่าอยู่ที่ 51 คน ต่อ 1,000 คน นอกจากนี้ยังพบว่าวัยรุ่นที่มีการศึกษาเพียงชั้นประถมศึกษา มีอัตราการให้กำเนิดบุตรสูงมาก คือ 104 คนต่อ 1,000 คน

ด้านการอยู่อาศัยของเด็ก พบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 17 ปีประมาณ 1 ใน 5 คน หรือราว 3 ล้านคนในประเทศไทยไม่ได้อยู่กับพ่อและแม่ ทั้งๆ ที่พ่อและแม่ยังมีชีวิตอยู่ อัตรานี้สูงสุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและในกลุ่มเด็กที่มาจากครัวเรือนที่ยากจนมาก