ประชาคมการเมือง-ความมั่นคงและ Consensus-X

  • รวี วงศ์วารี
  • ผู้สื่อข่าวพิเศษ บีบีซีไทย
ธงประจำชาติประเทศสมาชิกอาเซียน

ที่มาของภาพ, Getty Images

กลุ่มอาเซียนตั้งเป้าว่าจะเป็นกลุ่มที่มีพื้นฐานทางกฎหมายเป็นหลักสำคัญ เอาประชาชนเป็นใหญ่ และที่สำคัญเป็นแกนกลางในการรักษาสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค แต่การที่จะทำเช่นนั้นได้หมายความว่า กลุ่มอาเซียนจะต้องมีความเข้มแข็งและเป็นเอกภาพเพียงพอจะที่สร้างความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศได้

นายทัตซึโอะ โคตามิ นักวิจัยอาวุโส สถาบันนานาชาติแห่งญี่ปุ่น กล่าวว่า เป็นเรื่องที่คาดหวังเกินความเป็นจริงมากไปที่จะเห็นเอกภาพของอาเซียนเกี่ยวกับประเด็นปัญหานานาชาติที่มีความอ่อนไหว อย่างเช่นปัญหาทะเลจีนใต้อย่างที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ เพราะแต่ละประเทศก็จะคำนึงถึงผลประโยชน์แห่งชาติของตนเองที่แตกต่างกันออกไป สิ่งที่กลุ่มอาเซียนจะทำคือ พยายามจะแสวงหาบทบาทไปพร้อม ๆ กับรักษาสมดุลในทุก ๆ ด้านในการเมืองระหว่างประเทศ

กลุ่มผู้ประท้วงชาวฟิลิปปินส์รวมตัวันประท้วงจีนเรื่องกรรมสิทธิ์ทะเลจีนใต้

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ปีที่แล้วศาลโลกมีคำตัดสินว่า จีนไม่มีสิทธิทางกฏหมายและสิทธิในทางประวัติศาสตร์ใด ๆ ในการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือเขตแดนในทะเลจีนใต้

เมื่อเผชิญหน้ากับสถานการณ์เช่นนี้ สิ่งที่หลายคนกังวลคือ ความพยายามที่จะหาฉันทามติในทุก ๆ เรื่องจะกลายเป็นปัญหามาก "ดูเหมือนว่ากำลังมีการพูดกันมากเรื่องแนวคิดในกลุ่มอาเซียนในเรื่องฉันทามติแบบไม่ครบทุกชาติ (consensus minus X) (คือสมาชิกชาติไหนไม่พร้อมก็ไม่ต้องตัดสินใจ) เพื่อให้กลุ่มอาเซียนสามารถตัดสินใจในประเด็นที่อ่อนไหวสำคัญ ๆ ได้" นายโคตามิ กล่าวในการให้สัมภาษณ์เมื่อเร็วๆนี้

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่อาวุโสของอาเซียนคนหนึ่งกล่าวว่า กลุ่มอาเซียนจะยังไม่ทบทวนเรื่องกระบวนการในการตัดสินใจภายในกลุ่มในเร็ววันนี้ เพราะยังเห็นว่าระบบฉันทามติยังทำงานได้ดีอยู่และฉันทามติจะทำให้อาเซียนมีความสมานฉันท์มากกว่าระบบการตัดสินใจแบบลงมติหรือแบบอื่นๆ

อาเซียนอาจจะมีจุดยืนร่วมกันในบางเรื่อง ไม่สามารถมีจุดยืนร่วมกันได้ในหลายเรื่อง แต่กลุ่มอาเซียนอาจจะไม่สามารถมีสิ่งที่นักสังเกตการณ์จำนวนหนึ่งอยากจะเห็นคือการมีโยบายทางการเมืองและความมั่นคงร่วมกัน เพราะการบูรณาการของอาเซียนจะยังไม่ไกลถึงขนาดนั้น