4 เรื่องที่น่าสนใจระหว่างไทย-ฝรั่งเศส

คณะตัวแทนจากฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงที่สุดคือคณะของ เชอร์วัลลิเยร์ เดอ โชมงต์ ที่เข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์

ที่มาของภาพ, Photo 12/ UIG via Getty Images

คำบรรยายภาพ,

คณะตัวแทนจากฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงที่สุดคือคณะของ เชอร์วัลลิเยร์ เดอ โชมงต์ ที่เข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์

ไทยถือว่าเป็นหนึ่งประเทศในเอเชียที่มีความสัมพันธ์กันอย่างยาวนานที่สุดกับประเทศฝรั่งเศส แต่ความร่วมมือระหว่างสองประเทศไม่เคยห่างเหินกันไม่ว่าไทยเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองสลับไปมาระหว่างระบอบประชาธิปไตยและระบอบเผด็จการทหาร ทั้งในด้านการค้า วัฒนธรรม การศึกษาและวิทยาศาสตร์ รวมไปจนถึงการทหาร

ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2399 จนถึงตอนนี้ ไทยกับฝรั่งเศสสถาปนาความสัมพันธ์ด้านการทูตมาอย่างยาวนานกว่า 160 ปีแล้ว

1) ไทย-ฝรั่งเศสรู้จักกันตั้งแต่สมัยอยุธยา

หากย้อนกลับไปดูในทางประวัติศาสตร์ ตามที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ระบุว่า ช่วงศตวรรษที่ 17 ประเทศฝรั่งเศสและประเทศสยามได้เริ่มความสัมพันธ์กันอย่างเป็นทางการครั้งแรก คณะทูตจากประเทศไทยได้เดินทางไปเยือนประเทศฝรั่งเศสในปี 2227 และ 2229 โดยได้รับการต้อนรับจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 คณะตัวแทนจากฝรั่งเศสหลายคณะได้เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์เช่นกัน คณะตัวแทนจากฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงที่สุดคือคณะของ เชอร์วัลลิเยร์ เดอ โชมงต์

นางรำไทยแสดงท่ารำหน้าหอไอเฟล เพื่อโปรโมตการท่องเที่ยวของไทย

ที่มาของภาพ, KENZO TRIBOUILLARD/Getty Images

ในส่วนของการล่าอาณานิคมในภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ เมื่อปี 2436 วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 หรือ กรณีพิพาทระหว่างประเทศสยามและประเทศฝรั่งเศสทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรป 2 ครั้งในปี 2440 และ 2450 สัมพันธภาพดังกล่าวดีขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งประเทศไทยร่วมมือทางการทหารกับฝรั่งเศส หลังสงครามสิ้นสุด ในปี 2461 ประเทศสยามได้ส่งทหารเข้าร่วมสวนสนามที่ ถนนช็องเอลิเซ่ ประเทศฝรั่งเศส อีกด้วย

2. ฝรั่งเศสมีอิทธิพลต่อการปกครองไทยยุคแรก

จากรายงาน "ย้อนอดีต มองอนาคต 160 ปี สัมพันธ์'ไทย-ฝรั่งเศส'(1)" ในเว็บไซต์มติชนออนไลน์ระบุว่า นักศึกษาไทยที่ไปเล่าเรียนศึกษาในฝรั่งเศสหลายท่านก็กลับมามีบทบาทด้านการปกครองในไทย ไม่ว่าจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายปรีดี พนมยงค์ หรือ นายควง อภัยวงศ์

ขณะที่ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่มีความโดดเด่นอีกท่านหนึ่งคือ ดร.ถนัด คอมันตร์ ก็เป็นนักเรียนฝรั่งเศสและเป็นผู้ก่อตั้งอาเซียนด้วย

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเคยดำรงตำแหน่งนายกสภากิติมศักดิ์ ของสมาคมสยามเพื่อภูมิปัญญาและอนุเคราะห์ซึ่งกันและกัน

ที่มาของภาพ, Keystone-France/Getty Images

คำบรรยายภาพ,

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเคยดำรงตำแหน่งนายกสภากิติมศักดิ์ ของสมาคมสยามเพื่อภูมิปัญญาและอนุเคราะห์ซึ่งกันและกัน

หากพิจารณาจากข้อมูลของสมาคมนักเรียนไทยในฝรั่งเศส ในพระบรมราชูปถัมภ์ จะพบว่าในด้านการศึกษานั้นทั้งไทยและฝรั่งเศสมีความสัมพันธ์กันทุกระดับ สมาคมนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศสฯได้เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2466 แต่เดิมใช้ชื่อว่า สามัคยานุเคราะห์สมาคม (ส.ย.า.ม.) หรือ Association Siamoise d'Intellectualité et d'Assistance Mutuelle (S.I.A.M.) ซึ่งมีความหมายว่า สมาคมสยามเพื่อภูมิปัญญาและอนุเคราะห์ซึ่งกันและกันโดยได้ทูลเชิญ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา ขึ้นดำรงตำแหน่งสภานายกกิตติมศักดิ์

นอกจากนี้ นายปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรี ก็เคยดำรงตำแหน่งสภานายก​สมาคมสยามฯ​ ด้วย 2 สมัยในปี 2468 และ 2469

3. ไทยขายเครื่องปรับอากาศ ฝรั่งเศสขายเครื่องบิน

การค้าระหว่างไทยและฝรั่งเศสในปี 2559 มีมูลค่ารวม 153,848 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.18 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แบ่งเป็น ไทยส่งออกไปยังฝรั่งเศส มูลค่า 54,483 ล้านบาท ขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าจากฝรั่งเศสมีมูลค่าสูงถึง 99,366 ล้านบาท ส่งผลให้ไทยเสียดุลการค้าเป็นมูลค่า 44,884 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ฝรั่งเศสเป็นคู่ค้าไทยอันดับที่ 23 แต่หากเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศในยุโรป ถือเป็นอันดับ 5 รองจากเยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์ ตามลำดับ

สินค้าประเภทอะไร ที่ไทยนำเข้าจากฝรั่งเศสที่มีมูลค่ามากที่สุด คำตอบคือ เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ โดยในปี 2559 มีมูลค่าสูงถึง 34,812 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 35 ของมูลค่านำเข้าจากฝรั่งเศส ส่วนสินค้านำเข้าอันดับสอง คือ สบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง ตามมาด้วยเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม และเคมีภัณฑ์

เครื่องบินรุ่น แอร์บัส 350 ของบมจ.การบินไทยวิ่งบนแท็กซี่เวย์ภายหลังจากที่ร่อนลงจอดครั้งแรกที่สนามบินสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ 31 ส.ค. ปีที่แล้ว

ที่มาของภาพ, Bloomberg/Getty Images

คำบรรยายภาพ,

เครื่องบินรุ่น แอร์บัส 350 ของบมจ.การบินไทยวิ่งบนแท็กซี่เวย์ภายหลังจากที่ร่อนลงจอดครั้งแรกที่สนามบินสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ 31 ส.ค. ปีที่แล้ว

อุตสาหกรรมการบินในไทยถือเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจผลิตเครื่องบินของฝรั่งเศส เห็นได้จากการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างบริษัทแอร์บัสกรุ๊ปกับการบินไทย เพื่อศึกษาเรื่องการสร้างศูนย์ซ่อมอากาศยานที่สนามบินอู่ตะเภาบนพื้นที่ขนาด 600 ไร่ เพื่อให้เป็นศูนย์ซ่อมที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน และทันสมัยที่สุดในเอเชีย โดยเว็บไซต์มติชนระบุว่า ศูนย์ซ่อมดังกล่าวจะมีขนาดใหญ่กว่าศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานที่สนามบินชางงีของสิงคโปร์ และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2563

ส่วนสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปฝรั่งเศสคือ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เลนส์ อัญมณีและเครื่องประดับ และเครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ

4. ไทยและฝรั่งเศสมีอะไรหลายอย่างคล้ายกัน

แม้ว่าจะแตกต่างทางด้านภูมิศาสตร์ แต่ขนาดพื้นที่ของประเทศไทยและฝรั่งเศสมีความใกล้เคียงกัน ไทยมีพื้นที่ 513,115 ตร.กม ส่วนฝรั่งเศส 675,417 ตร.กม และมีจำนวนประชากรใกล้เคียงกันด้วย ในฝรั่งเศสมีประชากร 64.4 ล้านคน สวนประเทศไทยมี 67.6 ล้านคน

ธงชาติไทยและฝรั่งเศสโพกสะบัด

ที่มาของภาพ, PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP/Getty Images

นอกจากนี้ สีบนธงชาติของทั้งไทยและฝรั่งเศสยังมี 3 สีและเรียกว่า "ธงไตรรงค์" (Tricolour) เหมือนกัน คือ สีแดง สีขาว และสีน้ำเงิน แต่ความหมายของสีแตกต่างกัน สำหรับธงชาติไทย สีแดง หมายถึง ชาติ สีขาว หมายถึง ศาสนา สีน้ำเงิน หมายถึง พระมหากษัตริย์ ส่วนสีบนธงชาติฝรั่งเศส (ตามข้อมูลเว็บไซต์ gouvernenment.fr) ระบุว่าสีขาวคือสีประจำสถาบันกษัตริย์ ส่วนสีน้ำเงินและสีแดงเป็นสีประจำกรุงปารีส