ปล่อยผู้โดยสารก่อนเผารถทัวร์ที่ยะลา ความกังขาที่ยังต้องหาคำตอบ

รถทัวร์ถูกเผา

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, ตำรวจพิสูจน์หลักฐานตรวจสอบรถทัวร์ที่ถูกจี้และเผาเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.

การจี้-เผารถโดยสารสายเบตง-กรุงเทพฯ ใน จ.ยะลา แต่ไม่แตะต้องประชาชน เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. คือ กลยุทธ์ล่าสุดของผู้ก่อความไม่สงบใน จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐกับนักวิชาการตีความถึงเหตุผลของการก่อการที่ต่างกัน

พ.อ. ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวกับบีบีซีไทย ว่า เหตุวางเพลิงเผารถยนต์โดยสารของบริษัทสยามเดินรถ (เบตง - กรุงเทพฯ) เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาใน อ.บันนังสตา จ.ยะลา โดยไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต คือ มุ่งเป้าต่อทรัพย์สินแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ทำร้ายคนขับรถหรือผู้โดยสาร

"จากปากคำของผู้โดยสาร เมื่อกลุ่มคนร้ายหยุดรถด้วยอาวุธปืน ก็บอกให้คนขับและผู้โดยสารลงจากรถ โดยช่วยขนกระเป๋าและทรัพย์สินของผู้โดยสาร ลงไปจากรถ และยังช่วยพาผู้โดยสารสูงวัยและเด็กข้ามถนน ก่อนที่จะราดน้ำมันและจุดไฟเผารถ" พ.อ.ปราโมทย์กล่าวแต่ก็ย้ำว่า "แม้จะไม่มีใครเสียชีวิต แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ก็กระทบกับความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ"

เรียกร้องสันติภาพและยุติธรรม

ที่มาของภาพ, Getty Images

"สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน"

พ.อ. ปราโมทย์กล่าวว่าการกระทำครั้งนี้สอดคล้องกับข่าวความเคลื่อนไหวในพื้นที่ อ. บันนังสตา ที่พบว่ากลุ่มคนร้ายยังคงพยายาม สร้างสถานการณ์ความรุนแรง เพื่อทำลายความเชื่อมั่น ทำลายภาพลักษณ์การท่องเที่ยว และภาพลักษณ์ทางเศรษฐกิจจากการพัฒนาตามโครงการ "สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ของรัฐบาล

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐบาลของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศโครงการเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ให้สามอำเภอ คือ เบตง หนองจิก และโกลก เป็นพื้นที่ต้นแบบการพัฒนา และปลอดภัย 100% เพื่อดึงดูดผู้ลงทุนมีความรู้สึกปลอดภัยในการตั้งโครงการต่าง ๆ และเป็นการขยายฐานเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โครงการนี้แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ

- ระยะที่ 1 พ.ศ.2560-2562 จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่พิเศษ, จัดตั้งกองทุนส่งเสริมนักธุรกิจรุ่นใหม่, ออกพันธบัตรพัฒนาชุมชนจังหวัดชายแดนภาคใต้, ปรับปรุงท่าเรือปัตตานี, ขยายสถานีรถไฟโคกโพธิ์, ปรับปรุงระบบประปา ไฟฟ้า และการขนส่ง เป็นต้น

- ระยะที่ 2 พ.ศ.2563-2565 จะเชื่อมโยงการขนส่งจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปยังมาเลเซียและสิงคโปร์

"โครงการนี้ได้รับกระแสตอบรับจากพี่น้องประชาชนอย่างกว้างขวาง ทำให้ผู้ก่อการต้องการก่อกวนไม่ให้เกิดการพัฒนาขึ้น" พ.อ. ปราโมทย์ กล่าว

ละหมาด

ที่มาของภาพ, Getty Images

ต้องการความชอบธรรมเพื่อการเจรจา

นายรอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการเว็บไซต์ Deep South Watch กล่าวกับบีบีซีไทยว่า การโจมตีรถโดยสารเป็นเหตุการณ์ที่หายไปนานมากแล้ว ครั้งก่อนหน้าก็คือเมื่อปี 2550 ที่มีการโจมตีรถตู้ของบริษัทเบตงทัวร์2001 และสังหารผู้โดยสารนับถือศาสนาพุทธทั้งเด็กและผู้ใหญ่ จำนวน 8 รายด้วย แต่ข้อแตกต่างออกไปคือ ครั้งนี้ไม่ได้ทำร้ายใคร ทั้งที่มีชาวพุทธอยู่ในกลุ่มด้วย

นายรอมฎอน กล่าวว่า การเก็บข้อมูลในพื้นที่ทำให้เขาคิดว่าผู้ก่อการก็คิดใคร่ครวญคิดหน้าคิดหลังพอสมควร ระยะหลังมีเหตุการณ์ทำนองนี้เพิ่มขึ้น เป็นหลักฐานที่ทำให้เห็นว่าพวกแบ่งแยกดินแดนจำกัดการโจมตีพลเรือนลง

"ผมคิดว่าเป็นผลประการหนึ่งที่มาจากการเจรจาสันติภาพ กลุ่มแบ่งแยกดินแดนหันมาสนใจเรื่องการให้ความชอบธรรมแก่ตัวเอง โดยการลดการโจมตีพลเรือนลง ซึ่งเป็นกลยุทธอย่างหนึ่งในเวลาที่เข้าเจรจา และสร้างการยอมรับจากประชาคมโลกให้มากขึ้น" เขาระบุ

แม้ว่ากลุ่มแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้จะมีอยู่หลายกลุ่มและมีการช่วงชิงการนำระหว่างกัน แต่นายรอมฎอนก็เห็นว่าทิศทางโดยรวมนั้น ทั้งหมดให้ความสำคัญกับแนวทางการเมืองมากขึ้น

"การพูดคุยเพื่อสันติภาพเป็นแรงผลักดันอันหนึ่งให้ทุกฝ่ายต้องปรับตัวเพื่อเสริมความชอบธรรมของตัวเองให้มากที่สุด วิธีการที่สำคัญก็คือต้องเคารพยอมรับขนบการเมืองระหว่างประเทศ รวมถึงปรับเปลี่ยนวิธีการทางการทหารในพื้นที่ของตนเองด้วย" นายรอมฎอนกล่าว

สถิติลดลงต่อเนื่อง แต่ยังไม่ปลอดภัย

นับจากเหตุการณ์ปล้นปืนกองพันพัฒนาที่ 4 จังหวัดนราธิวาส เมื่อมกราคม 2547 ซึ่งถือเป็นปฐมบทของเหตุการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ จนถึงปัจจุบัน ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ระบุว่ามีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น 19,579 ครั้ง และมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 6,687 คน บาดเจ็บ 13,229 คน

เมื่อดูย้อนหลังไปจะเห็นว่าจำนวนสถานการณ์ความรุนแรง และตัวเลขผู้เสียชีวิตลดลงเป็นลำดับ ปีที่มีจำนวนเหตุการณ์รุนแรงบ่อยครั้งที่สุดก็คือปี 2550 ที่เกิดการโจมตี 2,409 ครั้งแล้วค่อยลดลงมา ในปี 2560 ข้อมูลที่เก็บถึงเดือนพฤศจิกายน มีเหตุการณ์เกิดขึ้น 545 ครั้ง นอกจากนี้ตัวเลขผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บก็ลดน้อยลงตามลำดับด้วย

แม้กระนั้น ประชาชนในชายแดนใต้ก็ยังต้องการมาตรการที่รับประกันความปลอดภัยของพวกเขาได้ โดยก่อนหน้านี้ภาคประชาสังคม ในพื้นที่พยายามออกมาเรียกร้องให้มี "พื้นที่ปลอดภัย" หรือ safety zone เพื่อให้พลเรือนไม่ตกเป็นเป้าหมายของความรุนแรง

เหตุการณ์ระเบิดโรงแรมในอ.เบตง จ.ยะลาเมื่อปี 2557ที่มีผู้เสียชีวิตสามรายและบาดเจ็บหลายสิบคน

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, เหตุการณ์ระเบิดโรงแรมในอ.เบตง จ.ยะลาเมื่อปี 2557ที่มีผู้เสียชีวิตสามรายและบาดเจ็บหลายสิบคน

พื้นที่ปลอดภัย:หัวข้อการหารือสันติภาพ

รัฐบาลปัจจุบัน ฟื้นการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมา จัดการเจรจาเต็มคณะที่ประเทศมาเลเซียหลายครั้ง ครั้งแรกในปี 2558 นอกจากนี้ก็มีเจรจาทางเทคนิคกันเรื่อยมา ระหว่างตัวแทนรัฐไทยที่มี พล.อ.อักษรา เกิดผล เป็นหัวหน้าคณะ กับฝ่ายผู้เห็นต่างที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มมารา ปาตานี (MARA Patani) มีนายสุกรี ฮารี เป็นผู้นำ เพื่อทำความเข้าใจในหลายเรื่องให้ตรงกัน ซึ่งก็ได้มีการหยิบยกเรื่อง พื้นที่ปลอดภัย ขึ้นมาตกลงกันด้วย

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กล่าวกับบีบีซีไทยว่า "พื้นที่ปลอดภัย" เป็นหัวข้อสำคัญในการเจรจาสันติภาพสองฝ่าย แต่ทั้งสองฝ่ายยังคงตกลงกันไม่ได้ ขณะที่ฝ่ายทหารเสนอนิยามคำว่าพื้นที่ปลอดภัยว่าต้องเป็น "พื้นที่หยุดยิง" มีตัวชี้วัดคือสถิติเหตุร้ายรายวันลดลง ซึ่งทางด้านมารา ปาตานียังไม่ยอมรับ

ภาคประชาชนก็ออกมาเรียกร้องให้โรงเรียน โรงพยาบาล ตลาด มัสยิด เป็น "พื้นที่ปลอดภัยสาธารณะ" หลังเด็กและผู้หญิงตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงต่อเนื่อง และชุมชนต้องสามารถดูแลกันเองได้ โดยมีตัวชี้วัดสำคัญคือไม่มีกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่ ซึ่งรวมถึงทหารด้วย

"การสร้างพื้นที่ปลอดภัย คือรูปธรรมที่ดีที่สุด แต่คิดว่ากว่าทีมมาราฯ และไทยจะเจรจาจนนำไปสู่การลงนามในข้อตกลงได้ ไม่น่าจะทันยุครัฐบาลคสช. เพราะบีอาร์เอ็นจะพูดอยู่บ่อยๆ ว่าการพูดคุยกับรัฐบาลพลเรือนง่ายกว่า และไม่ไว้ใจรัฐบาลทหาร" ผศ.ดร.ศรีสมภพบอก