ไลฟ์สดผ่านสื่อออนไลน์เสี่ยงทำผิดกฎหมายไม่รู้ตัว

ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ มองว่า หากไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาดังกล่าวอาจจะรุนแรงมากยิ่งขึ้นอีก

ที่มาของภาพ, MANA TREELAYAPEWAT

คำบรรยายภาพ, ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ มองว่า หากไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาดังกล่าวอาจจะรุนแรงมากยิ่งขึ้นอีก

นักวิชาการด้านสื่อเผยสังคมต้องการมาตรการป้องกันปัญหาการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ชี้หลายคนทำผิดกฎหมายโดยไม่รู้ตัว ด้านตำรวจเตรียมประสานสื่อโซเชียลรายใหญ่จับตาถอดวิดีโอไม่เหมาะสมให้ทันท่วงที

ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย กล่าวกับบีบีซีไทยว่า แม้เทคโนโลยีสื่อสังคมออนไลน์จะมีพัฒนาการอันเป็นประโยชน์ต่อการสื่อสารทั้งของคนทั่วไป ในเชิงธุรกิจ และการศึกษา แต่มีคนไม่น้อยที่ใช้สื่อเหล่านี้ อาทิ เฟซบุ๊ก ยูทิวบ์ อินสตาแกรม และไลน์ ในทางที่ไม่เหมาะสมจนถึงขั้นผิดกฎหมาย

"กรณีฆ่าตัวตายล่าสุดที่มีการโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ถือว่ารุนแรงที่สุด หากไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอาจจะรุนแรงมากขึ้น สิ่งนี้เป็นแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก" ดร.มานะกล่าว

เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว องค์กรสื่อในไทยได้เรียนรู้ผลกระทบจากการรายงานข่าวสดผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์เหตุการณ์ล้อมจับผู้ต้องหาฆ่านักวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร 2 คน ซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้างถึงขั้นทำให้สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ต้องออกแถลงการณ์ขอความร่วมมือสื่อให้ระวังการนำเสนอข่าวในลักษณะดังกล่าว เพราะนอกจากจะเป็นเหตุการณ์ที่น่าหวาดเสียวแล้ว ยังอาจเป็นตัวอย่างแก่เยาวชน

คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทยชี้ว่ามีความจำเป็นที่จะต้องสร้างองค์ความรู้ให้เยาวชนรุ่นใหม่เพื่อให้รู้เท่าทันการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีมาตรการป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ

โลโก้เฟซบุ๊ก

ที่มาของภาพ, Reuters

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ขณะนี้ตำรวจไทยเตรียมจะขอความร่วมมือสื่อสังคมออนไลน์ให้หาแนวทางป้องกันเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวอย่างทันท่วงที โดย พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่าจะหารือกับทั้งเฟซบุ๊ก ยูทิวบ์ และอินสตาแกรมให้ยุติการเผยแพร่วิดีโอที่ไม่เหมาะสมอย่างรวดเร็วที่สุด

ด้านกรมสุขภาพจิตได้ออกคำเตือนเมื่อวานนี้ (25 เม.ย.) แนะนำประชาชนไม่ให้ชมหรือแชร์การถ่ายทอดสดการฆ่าตัวตายเพราะเกรงจะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ โดยกรมฯ ระบุว่ามีผู้เผยแพร่วิดีโอสดในลักษณะนี้มากขึ้น หรือเฉลี่ยเดือนละ 1 -2 ราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าปัจจุบันคนไทยนิยมใช้สื่อสังคมออนไลน์ทั้งในการสื่อสาร เผยแพร่ข้อมูล ซื้อขายสินค้า และรับชมรายการโทรทัศน์ต่าง ๆ โดยไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กมากที่สุดในโลก ตามเว็บไซต์ของ Statista.com

กราฟฟิก 10 ประเทศผู้ใช้เฟซบุ๊คสูงสุด

ทั้งนี้ ดร. มานะ เตือนว่าการเผยแพร่วิดีโอผ่านเฟซบุ๊ก ยังอาจทำให้ผู้ที่เผยแพร่เสี่ยงที่จะก่อเหตุที่ถือว่าเข้าข่ายเป็นภัยทางสังคมและเศรษฐกิจ อาทิ

1) เผยแพร่ข้อความหมิ่นประมาทหรือนำเข้าข้อความที่ผิด พรบ. คอมพิวเตอร์

2) โชว์กิจกรรมทางเพศหรือวาบหวิว เพื่อแลกกับค่าชมจากผู้ชม

3) เผยแพร่เนื้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ เช่น ถ่ายทอดสดการฉายภาพยนตร์ ละคร หรือรายการทีวี โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์

4) เผยแพร่การสาธิตการใช้สินค้าที่ไม่ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานสินค้า เช่น อาหารเสริม และยารักษาโรค ซึ่งอาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพผู้บริโภคาทิ