ศรีสุวรรณ จรรยา กับ 5 เรื่องน่ารู้ของ "นักร้อง"

สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย

ที่มาของภาพ, สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย

เรื่องน่ารู้ 5 ประการ เกี่ยวกับ "ศรีสุวรรณ จรรยา" กว่า 20 ปีบนหน้าสื่อ ในฐานะนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและการเมือง

ศรีสุวรรณ ที่ถูกขนานนามว่าเป็น "นักร้อง (เรียน)" โลดแล่นอยู่บนหน้าสื่อมากว่า 20 ปี ล้มเหลวบนเส้นทางการเมือง แต่กลับประสบความสำเร็จในฐานะเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อม บทบาทปัจจุบันในการเป็น "นักร้อง" ของเขา ร้องเอาผิดทั้งฝ่ายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และฝ่ายค้าน อีกทั้งยังเคยถูกควบคุมตัวเข้าค่ายทหารอย่างกะทันหัน ระหว่างเดินทางไปยื่นหนังสือเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทวงคืนหมุดคณะราษฎร เมื่อปี 2560

ในปี 2565 เขายื่นเรื่องร้องเรียนมาแล้ว 57 เรื่อง ซึ่งรวมถึงการร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สอบนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. กรณีทำป้ายหาเสียงโดยอ้างว่าเอาไปดัดแปลงเป็นกระเป๋าได้ เข้าข่ายสัญญาว่าจะให้ ซึ่งผิดกฎหมายการเลือกตั้งหรือไม่

"บ่ายวันนี้ ได้ข่าวจะมีคนกทม. 1.38 ล้านคน ดิ้นชักดิ้นงอเป็นไส้เดือนกิ้งกือบนกองขี้เถ้าไฟ ไม่รู้ว่าจะเฮหรือโฮ" นายศรีสุวรรณโพสต์บนเฟซบุ๊ก ซึ่งเรียกการตอบรับในเชิงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ใช้โซเชียลมีเดียจำนวนมาก

ล่าสุด ผลจากการยื่นร้องของเขา ทำให้มีผู้ไปตั้งแคมเปญผ่าน Change.org เชิญชวนให้ประชาชนลงชื่อถอดถอนนายศรีสุวรรณ ออกจากตำแหน่งเลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เนื่องจากไม่เห็นด้วยต่อการกระทำของศรีสุวรรณที่ไปร้องเรียนในเรื่องที่ไม่ควรจะร้องเรียน ซึ่งเป็นการลดความเจริญก้าวหน้า และสร้างความแตกแยกของสังคมไทย อีกทั้งยังปฏิบัติหน้าที่บกพร่องในเรื่องของการตรวจสอบ แบบแบ่งฝ่าย โดยเมื่อเวลา 15.00 น. วันนี้ (31 พ.ค.) มีผู้ร่วมลงชื่อแล้ว 39,109 คน

ศรีสุวรรณ คือใคร เคยทำอะไรมาบ้าง นี่คือ 5 เรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับชายคนนี้ ที่บีบีซีไทยรวบรวมมานำเสนอ

1. นายศรีสุวรรณ จรรยา เป็นชาว อ.วังทอง จ.พิษณุโลก จบการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนวังทองพิทยาคม และปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้รับแรงบันดาลใจในการช่วยเหลือคนจากบิดาที่มักไปขึ้นศาลช่วยชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน ทั้ง ๆ ที่จบเพียง ป.4

2. ความสนใจปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของนายศรีสุวรรณ เกิดขึ้นระหว่างเรียนในมหาวิทยาลัยที่ได้มีโอกาสออกค่ายอาสาอยู่บ่อยครั้ง เมื่อเรียนจบ จึงผันตัวไปเป็นเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมกับเข้าไปช่วยสภาทนายความทำคดีสิ่งแวดล้อม ทำให้มีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีสิ่งแวดล้อมสำคัญ ๆ เช่น คดีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ คดีสารตะกั่วห้วยคลิตี้

คดีขอให้ศาลปกครองสั่งระงับการขยาย 76 โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของนายศรีสุวรรณ

ที่มาของภาพ, NICOLAS ASFOURI/AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, คดีขอให้ศาลปกครองสั่งระงับการขยาย 76 โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของนายศรีสุวรรณ

3. ชื่อของนายศรีสุวรรณมาปรากฎอยู่ในหน้าสื่อเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2540 ในฐานะรองเลขาธิการมูลนิธิป้องกันควันพิษและพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ที่ก่อตั้งโดย นายพิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าฯ กทม. โดยคดีสิ่งแวดล้อมแรกที่ศาลปกครองมีคำตัดสิน เมื่อปี 2549 โดยศาลให้ ขสมก. แพ้คดีกรณีปล่อยให้รถเมล์เสื่อมสภาพวิ่งปล่อยควันพิษ ก็มาจากการฟ้องร้องโดยมูลนิธิป้องกันควันพิษฯ ที่มีนายศรีสุวรรณ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญ

4. ชีวิตการเมืองของนายศรีสุวรรณถือว่าไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งในฐานะนายทะเบียนและรองหัวหน้าพรรครักษ์ถิ่นไทย ระหว่างปี 2545-2546 เมื่อลงสมัครเป็น ส.ว. กทม. ในปี 2557 ก็พ่ายการเลือกตั้งอีก

5. ปี 2550 นายศรีสุวรรณกับเพื่อนร่วมกันก่อตั้ง "สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน" ซึ่งถือเป็นองค์กรที่สร้างชื่อให้กับนายศรีสุวรรณ จากคดีสำคัญ ๆ อาทิ คดีนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และคดีบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท โดยเขามักใช้ชื่อองค์กรนี้เคลื่อนไหวประเด็นสิ่งแวดล้อม แต่ถ้าเป็นประเด็นการเมืองมักเคลื่อนไหวในนาม "สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย" ซึ่งก่อตั้งมาในปี 2552

line

เส้นทางการตรวจสอบรัฐบาล คสช. ของนายศรีสุวรรณ

ปี 2557

  • ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน ตรวจสอบกรณี สนช. เสนอชื่อแต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ เข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะ พล.อ.ประยุทธ์แต่งตั้ง สนช. มาเองทั้งหมด

ปี 2558

  • ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน ตรวจสอบ พล.อ.ประยุทธ์ และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กรณีแต่งตั้งเครือญาติเป็นสมาชิก สปท.
ก่อนหน้านี้ นายศรีสุวรรณเคยถูกทหารเชิญตัวไปพูดคุยในกองทัพภาคที่ 1 หลังยื่นขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบ พล.อ.ประยุทธ์ กรณีแต่งตั้งเครือญาติเป็นสมาชิก สปท.

ที่มาของภาพ, LILLIAN SUWANRUMPHA/AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, ก่อนหน้านี้ นายศรีสุวรรณเคยถูกทหารเชิญตัวไปพูดคุยในกองทัพภาคที่ 1 หลังยื่นขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบ พล.อ.ประยุทธ์ กรณีแต่งตั้งเครือญาติเป็นสมาชิก สปท.

ปี 2559

  • ยื่น ป.ป.ช. ตรวจสอบกรณีบริษัทของบุตรชาย พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ได้งานจากกองทัพภาคที่ 3 ในระหว่างที่ พล.อ.ปรีชาเป็นแม่ทัพภาคที่ 3
  • ยื่น ป.ป.ช. ตรวจสอบ พล.อ.ปรีชา กรณีสร้างบ้านพักหลังใหม่ใน จ.พิษณุโลก โดยไม่แจ้งไว้ในบัญชีทรัพย์สินที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. เข้าข่ายเป็นการยื่นบัญชีเท็จหรือไม่
  • ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน ตรวจสอบ พล.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผบช.น. กรณีเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
  • ยื่นศาลปกครอง เพิกถอนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2015) และให้ระงับการประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ปี 2560

  • ยื่นประธาน สนช. ตรวจสอบสมาชิก สนช. 7 คน กรณีขาดประชุมเกินกำหนด อาจมีปัญหาเรื่องสมาชิกภาพ
  • ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน ตรวจสอบ พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 กรณีให้สัมภาษณ์สนับสนุนทหารที่ยิงวิสามัญเยาวชนชาวลาหู่
  • ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน ตรวจสอบ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม และ พล.ท.วิชัย แซจอหอ แม่ทัพภาคที่ 2 กรณีปล่อยให้มีการตั้งกาสิโนบริเวณพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา
ความเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดของนายศรีสุวรรณเรื่องการทวงคืนหมุดคณะราษฎร นำไปสู่การถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, นายศรีสุวรรณ เคยร่วมทวงคืนหมุดคณะราษฎร ที่หายไปเมื่อปี 2560 นำไปสู่การถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร

ปี 2562

  • ยื่น กกต. สอบพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กรณีจัดโต๊ะจีนระดมทุน 200 โต๊ะ ๆ ละ 3 ล้านบาท แต่ กกต. ยกคำร้อง โดยระบุว่า ไม่พบบุคคลต่างชาติร่วมบริจาคเงิน ถือว่าไม่มีความผิด และไม่เข้าข่ายถูกยุบพรรค
  • ยื่น กกต. เสนอศาลรัฐธรรมนูญ ยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) กรณีที่พรรคเสนอชื่อ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ เป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรค ผิดกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. และกฎหมายพรรคการเมือง
  • ยื่น กกต. เสนอศาลรัฐธรรมนูญ ยุบพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ข้อหาปล่อยคนนอกครอบงำพรรค กรณีนางฐิติมา ฉายแสง อดีตผู้สมัครพรรคไทยรักษาชาติ จ.ฉะเชิงเทรา เทคะแนนช่วยหาเสียง เข้าข่ายผิดกฎหมายหาเสียงเลือกตั้งและกฎหมายพรรคการเมือง

ปี 2563

  • ยื่นร้องเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นั่งประธานบริษัทเอกชน (บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด) หลังพ้นตำแหน่งรองนายกฯ ไม่ถึง 2 ปี (ต.ค.)
  • ยื่น รมว.วัฒนธรรม ให้สั่งการไปยังคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเพิกถอนตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ จากการที่สนับสนุนกลุ่มคนที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

ปี 2564

  • ยื่นคำร้องให้ กกต. ตรวจสอบและวินิจฉัย กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้เรียกรัฐมนตรีสังกัดพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งเป็นกรรมกรบริหารพรรคพลังประชารัฐด้วย รวม 6 คน เข้าพบหารือ เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายหรือครอบงำหรือชี้นำพรรคการเมืองหรือไม่ (ต.ค.)
  • ร้องเรียนให้มหาเถรสมาคม (มส.) ตรวจสอบ 2 พระสงฆ์ ได้แก่ พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ กับพระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต กรณีใช้โซเชียลมีเดียไลฟ์สดเอาธรรมะมาสอนเป็นเรื่องตลกขบขัน

ปี 2565

ในปีนี้ นายศรีสุวรรณ ยังคงเดินหน้าตรวจสอบหลาย ๆ กรณีตั้งแต่ การทุจริต การละเว้นปฏฺิบัติหน้าที่ ผิดกฎหมายเลือกตั้ง ผิดจริยธรรมสงฆ์ ตรวจสอบจริยธรรมนักการเมือง กรณีหวยแพง และร้องเรียนกรณีหมิ่นสถาบันกษัตริย์ รวมทั้งสิ้นตั้งแต่ต้นปี 57 เรื่อง

กรณีที่นายศรีสุวรรณร้องเรียนในปีนี้ มีอาทิเช่น

  • ยื่นเรื่องกับ ป.ป.ช.เอาผิด "อธิบดีปศุสัตว์" "รมว.เกษตรฯ" "รมว.พาณิชย์" ปล่อยราคาหมู-ไข่แพง (ม.ค.)
  • ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจราชการแผ่นดินตรวจสอบว่า บริษัทใดได้ประโยชน์จากการปกปิดข้อมูลการระบาดของโรคอหิวาต์ (ม.ค.)
  • ฟ้องปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเพิกถอนการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค (ก.พ.)
  • ร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบการประมูลท่อส่งน้ำ อีอีซี 2.5 หมื่นล้าน (มี.ค.)
  • ยื่นฟ้อง "อนุทิน" และคณะ ระงับจัดซื้อ "ฟาวิพิราเวียร์" เพราะสงสัยว่ามีพิรุธ (มี.ค.)
  • เดินทางไป กสทช.คัดค้านควบรวมทรูและดีแทคส่อผูกขาด และขัดต่อกฎหมาย (มี.ค.)
  • ร้องกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.)แจ้งความเอาผิด ม.112 ไทยเวียตเจ็ท" กรณีปล่อยแคมเปญวันเมษาหน้าโง่ (April Fools' Day) "น่าน-มิวนิค" (เม.ย.)
  • ร้อง ปอท.แจ้งความ ม.112 เอาผิด นารา เครปกะเทย เอเยนซี่ประชาสัมพันธ์โฆษณา และลาซาด้า

ส่วนการร้องสอบการกระทำที่ผิดกฎหมายเลือกตั้ง 10 กรณี หนึ่งในกรณีนั้นมีกรณี ร้อง กกต.สอบ "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ทำป้ายหาเสียงโดยอ้างว่าเอาไปดัดแปลงเป็นกระเป๋าได้ เข้าข่ายสัญญาว่าจะให้หรือไม่ และร้อง กกต.สอบพรรคเพื่อไทยถูกนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ครอบงำ และชี้นำหรือไม่ เป็นต้น