รัฐธรรมนูญใหม่ กับ ความไม่แน่นอนใหม่

รัฐธรรมนูญถูกประกาศใช้ในช่วงเวลาไม่ปกติสำหรับประเทศไทย หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลเดช ผู้เป็นที่เทิดทูนของชาวไทยสวรรคต

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, รัฐธรรมนูญถูกประกาศใช้ในช่วงเวลาไม่ปกติสำหรับประเทศไทย หลังจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผู้เป็นที่เทิดทูนของชาวไทยสวรรคต
  • Author, โจนาธาน เฮด
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซี

สำหรับประเทศที่มีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 19 ฉบับในเวลาไม่ถึงหนึ่งศตวรรษ การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 จึงอาจไม่ใช่เรื่องที่น่าสนใจมากนัก อีกทั้งความเมินเฉยต่อการทำรัฐประหาร และการเขียนรัฐธรรมนูญซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้ชาวต่างชาติมองรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นเรื่องจริงจังได้ยาก

แต่รัฐบาลทหาร ซึ่งปกครองประเทศไทยมาตั้งแต่หลังการทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 ให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างยิ่ง

หลังจากการยึดอำนาจ คณะนายพลผู้ยึดอำนาจได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะปฏิรูปประเทศ ในรูปแบบที่พวกเขาเรียกว่า ต้องไม่ทำให้กลับไปก่อรัฐประหารอีก ซึ่งพวกเขาบอกว่า การก่อการรัฐประหารปี 2549 ไม่ได้แก้ปัญหาอย่างถาวร ดังนั้นหลังการยึดอำนาจปี 2557 ต้องจัดการให้ถูกต้อง ครบถ้วน

ความพยายามร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรก ต้องล้มเหลวเมื่อปี 2558 หลังจากรัฐบาลทหารถอนร่างรัฐธรรมนูญที่สั่งให้ทำขึ้น เนื่องจากเกรงว่า จะไม่ได้รับเสียงสนับสนุนมากพอในการทำประชามติ อย่างที่ได้ให้สัญญาเอาไว้กับประชาชน

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พวกเขาพยายามอีกครั้ง โดยสร้างหลักประกันให้ตัวเองว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่ปรับแก้แล้วจะผ่านความเห็นชอบจากประชาชน ด้วยการออกกฎหมายห้ามรณรงค์ทุกรูปแบบ เพื่อให้สาธารณชนมีความเข้าใจเนื้อหาในรัฐธรรมนูญน้อยที่สุด และยังใช้วิธีขู่ด้วยว่า ทางเลือกเดียวที่มีนอกเหนือจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือการขยายเวลาให้ทหารอยู่ในอำนาจต่อไป

แต่แม้ว่าจะผ่านการลงประชามติแล้ว เนื้อหาในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้ถูกเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ภายใต้ข้อสังเกตพระราชทาน ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ซึ่งทรงขึ้นสืบราชบัลลังก์ หลังพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคตเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยพระราชประสงค์ครั้งนี้ เป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมาย ส่วนเนื้อหาที่เปลี่ยนไป เป็นเรื่องพระราชอำนาจในระเบียบการที่สำคัญ เช่น เรื่องการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

ที่มาของภาพ, ROYAL HOUSEHOLD BUREAU / EPA

พิธีลงพระปรมาภิไธย และพระราชทาน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 จัดอย่างยิ่งใหญ่ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญในเชิงประวัติศาสตร์การเมืองไทย เป็น อาคารรัฐสภาแห่งแรกของประเทศ หลังสิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในปี 2475 และพระราชพิธีนี้ จัดขึ้นตรงกับวันจักรี ซึ่งเป็นวันฉลองครบรอบ 235 ปี ของราชวงศ์ปัจจุบัน

พิธีเฉลิมฉลองนี้ ทางสำนักพระราชวังได้สั่งให้มีการยิงปืนสลุต 21 นัด รวมถึงให้พระสงฆ์ตามวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ เจริญภาวนาด้วย

ทว่า ในการพระราชทานรัฐธรรมนูณฉบับปีพ.ศ. 2550 โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จัดขึ้นอย่างเรียบง่ายเพียงไม่กี่วันหลังการลงประชามติ นักวิเคราะห์มองว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จะทรงมีพระราชประสงค์ให้ จัดพิธีใหญ่เช่นนี้ เพื่อให้สาธารณชนชาวไทย ตระหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กับช่วงของการเริ่มครองสิริราชสมบัติ

รัฐบาลที่อ่อนแอลง

คำถามคือ คณะรัฐประหารต้องการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ปัญหาอะไร มีสองประเด็นที่รัฐบาลและผู้สนับสนุนหยิบมาอ้างบ่อย ซึ่งก็คือปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และการทุจริต แต่หลังจากที่ได้อ่านทั้ง 279 มาตรา ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว ดูเหมือนว่าเป้าหมายหลัก คือ นักการเมืองและพรรคการเมือง

นายนรชิต สิงหเสนี โฆษก คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ อธิบายว่า 'เราเห็นรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ ที่คนไทยพอใจกับสิทธิและเสรีภาพที่ได้รับการปกป้องอย่างเต็มที่' แต่ 'รัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ ไม่ยั่งยืน เพราะวิธีที่นักการเมืองและพรรคการเมืองมีปฏิสัมพันธ์กัน สิ่งที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันพยายามทำ คือสร้างวาล์วนิรภัย'

นายกรัฐมนตรี

ที่มาของภาพ, Reuters

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เสนอระบบการเลือกตั้งที่แตกต่างออกไป ด้วยการปรับระบบสัดส่วนในการเลือก ส.ส. 500 คน โดยให้ประชาชนกาบัตร เลือกผู้สมัคร 1 คน สำหรับทั้ง 350 เขต จากนั้นนำคะแนนที่นับได้ไปคำนวนหาสัดส่วนปาร์ตี้ลิสต์ สำหรับที่เหลืออีก 150 ที่นั่ง ซึ่งแต่เดิม ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะได้กาบัตร 2 ใบ แบ่งเป็นใบหนึ่งสำหรับเลือกตัวผู้สมัคร และอีกใบเพื่อเลือกพรรคการเมือง

วิธีนี้มีแนวโน้มจะทำให้ผลการเลือกตั้งที่ออกมา มีพรรคการเมืองขนาดกลางได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น แต่จะลดจำนวนที่นั่งซึ่งเคยเป็นของพรรคการเมืองของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ที่ชนะการเลือกตั้งทุกครั้ง มาตั้งแต่ปี 2544 การตัดกำลังนายทักษิณ และพันมิตรทางการเมือง เป็นเป้าหมายที่คณะปฏิวัติไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ และแทบจะไม่ถูกพูดถึง ภายใต้ระบบการเลือกตั้งใหม่ ประเทศไทยมีแนวโน้มจะได้รัฐบาลผสมที่มาจากหลายกลุ่มการเมือง เช่นที่เคยเป็นในช่วงปี 2533

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยังกำหนดว่าสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 250 คนที่มาจากการสรรหา จะมีอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญไปอีกหลายปี หลังจากการเลือกตั้ง ซึ่งขณะนี้คาดว่าจะจัดให้มีขึ้นในปลายปี 2561

สมาชิกวุฒิสภา จะมาจากการสรรหาโดยทหาร ทำให้ทหารจะยังคงมีอำนาจครอบงำรัฐบาลในอนาคต ซึ่งต้องได้ 3 ใน 4 ของเสียงในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีเสียงข้างมากในทั้งสองสภา

พานรัฐธรรมนูญ

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC THAI

นอกจากนี้ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่จะต้องยึดแนวทางบริหารประเทศตามโรดแมป 20 ปีที่ถูกวางไว้แล้ว และจะง่ายต่อองค์กรที่เป็นอิสระอย่างศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีอำนาจมากขึ้น ที่จะจำกัดการทำงานของรัฐบาลได้ในขอบเขตที่กว้างกว่าเดิม

เป็นเรื่องไม่ยาก หากจะเปรียบรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นเครื่องพันธนาการ สำหรับรัฐบาลใดก็ตามที่มาจากการเลือกตั้ง แม้แต่นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมร่างรัฐธรรมนูญ ยังเรียกว่า เป็น 'ยาแรง' ซึ่งพรรคการเมืองจะไม่เห็นด้วย

ด้านผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แย้งว่า จะทำให้เกิดระบอบการเมืองแบบ 'ลูกผสม' ซึ่งมีความเป็นประชาธิปไตยเสี้ยวใบ และเชื่อว่าจะไม่สามารถแก้ไขความแตกแยกทางการเมืองที่ร้าวลึกในสังคมไทยได้

'เท่าที่ผ่านมา ระบบการถ่วงดุลอำนาจของเราใช้ไม่ได้ผลดี' นายปริญญากล่าว 'ดังนั้นกรธ. จึงได้พยายามเขียนกำกับว่า ใครควรและไม่ควรทำอะไรบ้าง ในเอกสารที่มีเนื้อหามากถึง 42,000 คำ แต่มีเพียงไม่กี่คนที่จะอ่านรัฐธรรมนูญที่ยาวขนาดนั้น จึงไม่เข้าใจกฎใหม่ ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบเกมการเมืองนี้ได้ และจะรู้สึกถูกทอดทิ้ง'

ไม่มีใครบอกเป็นทางการได้ว่า มีการเปลี่ยนแปลงกี่จุดในรัฐธรรมนูญ

ที่มาของภาพ, AFP

คำบรรยายภาพ, ไม่มีใครบอกเป็นทางการได้ว่า มีการเปลี่ยนแปลงกี่จุดในรัฐธรรมนูญ

ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น จากภาควิชาการเมืองและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ซึ่งมีผลงานเขียนเกี่ยวกับประเทศไทยในหลายประเด็น วิจารณ์ว่า 'แม้จะมีข้ออ้างจากคสช. ในทางหนึ่ง' แต่ 'รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทำให้ทหารมีที่ยืนอย่างถาวรในรัฐบาล เพื่อให้การแทรกแซงกลายเป็นเรื่องปกติ'

'ตั้งแต่ต้นจนจบ รัฐธรรมนูญถูกร่างขึ้นโดยบุคคลในวงจำกัด การถกเถียงที่ถูกควบคุมอย่างเข้มงวด และการปรับแก้ในนาทีสุดท้าย ดังนั้น จึงน่าเกรงว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ จะทำให้เกิดการสถาปนาลัทธิอำนาจนิยม แทนที่จะปูทางไปสู่ประชาธิปไตย'

ความกังวลดังกล่าว เป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาวิจารณ์ซ้ำ โดยนักวิชาการหลายคน รวมถึงนักการเมืองไทย และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย แต่ก็จะมีน้ำหนักไม่มากสำหรับรัฐบาลทหาร ซึ่งได้พูดมาแล้วหลายครั้ง ว่าให้ความสำคัญกับการรักษาสเถียรภาพในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านที่ยากลำบาก เหนือหลักการของระบอบประชาธิปไตย

สำหรับชาวไทยแล้ว การที่รัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้ ทำให้เกิดความแน่นอนในหนึ่งเรื่อง และความไม่แน่นอนอีก 2 ประการตามมา ความแน่นอน ก็คือ กองทัพ จะพยายามรักษาอำนาจเหนือรัฐบาลในอนาคต ไปอย่างน้อยอีก 1 ทศวรรษ

ชาวไทยลงคะแนนในประชามติ ต่อร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว แต่รัฐบาลห้ามไม่ให้มีการรณรงค์อย่างอื่น

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, ชาวไทยลงคะแนนในประชามติ ต่อร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว แต่รัฐบาลห้ามไม่ให้มีการรณรงค์อย่างอื่น

ส่วนสิ่งที่ไม่แน่นอน 2 ประการคือ 1.การวางบทบาทของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ ซึ่งทรงมีพระบุคลิกภาพแตกต่างจากพระราชบิดามาก และได้สร้างความแปลกใจมาแล้ว ด้วยการพระราชทานข้อสังเกตในการปรับแก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พลวัตระหว่างพระองค์ กองทัพ และรัฐบาลชุดต่อไป จะส่งผลให้การเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างมาก

ประการที่ 2 ไม่มีใครรู้ว่า ยังคงมีแรงสนับสนุนสำหรับนายทักษิณ ชินวัตรและพันธมิตรทางการเมือง ยังหลงเหลืออยู่เท่าไร โดยในการเลือกตั้ง ในช่วงปลายปี 2550 และปี 2554 พรรคการเมืองที่สนับสนุนทักษิณ ได้คะแนนเสียงมากเกินความคาดหมาย

แม้ว่าจะมีข้อจำกัดจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่หากมีการอนุญาตให้ประเทศกลับมามีกิจกรรมทางการเมืองได้ ก็มีความเป็นไปได้ว่า พรรคการเมืองต่าง ๆ อาจฟื้นฟูเสียงสนับสนุนกลับมา เพื่อท้าทายข้อจำกัดเหล่านั้นได้