เพิ่มเติม: สนช.ผ่าน กม.ปิโตรเลียม แต่โยกเรื่องบรรษัทน้ำมันไปไว้ในข้อสังเกตแทน

คปพ

ที่มาของภาพ, Jiraporn Kuhakan/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, คปพ. ออกมารวมตัวคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฉบับ สนช. ในช่วงเช้าวันที่ 30 มี.ค. บริเวณหน้ารัฐสภา

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมาย แต่ให้ย้ายมาตรา 10/1 เกี่ยวกับการจัดตั้ง "บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ" ไปใส่ไว้ในข้อสังเกตแทน

การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันนี้ (30 มี.ค.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมได้ลงคะแนนเสียง และเห็นชอบให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายด้วยคะแนน 227 ต่อ 1 เสียง หลังการพิจารณาในวาระสองและสามที่ใช้เวลารวมกันกว่า 6 ชั่วโมง โดยในส่วนของมาตรา 10/1 ว่าด้วยการจัดตั้ง "บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ" ให้ถอนเนื้อหาออกจากร่างของกฎหมาย และเอาไปใส่ไว้ในข้อสังเกต ที่เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นภายใน 60 วัน เพื่อพิจารณาศึกษาถึงรายละเอียดของรูปแบบและวิธีการในการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่เหมาะสม โดยต้องทำงานให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี แทน

พล.อ.สุรศักดิ์ ศรีศักดิ์ ผู้ช่วย รมว.พลังงาน ยืนยันว่าแม้กำหนดเป็นข้อสังเกตแล้ว ทางกระทรวงพลังงานพร้อมจะนำข้อสังเกตนี้ไปสู่การศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม โดยรับฟังความเห็นของทุกภาคส่วน เพื่อพิจารณาถึงข้อดีข้อเสียในการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อบริหารทรัพยากรของประเทศชาติให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด

ที่ประชุม สนช. วันเดียวกัน ยังได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ด้วยคะแนนเอกฉันท์ 216 เสียง

คปพ

ที่มาของภาพ, Jiraporn Kuhakan/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ช่วงบ่าย กลุ่ม คปพ. พยายามเดินไปชุมนุมต่อที่หน้าทำเนียบรัฐบาล แต่ถูกสกัดกั้น ขณะที่แกนนำ คปพ. นับสิบคน ถูกฟ้องว่าทำผิด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558

เช้าวันเดียวกัน เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้นัดชุมนุมหน้ารัฐสภา กดดันให้ สนช. แก้กฎหมายปิโตรเลียม ปม "บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ" โดยเรียกร้องให้จัดตั้งให้เร็วที่สุด ก่อนการให้สัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่

สำหรับร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม มาตรา 10/1 ได้ระบุเกี่ยวกับ "บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ" ว่าให้จัดตั้ง "เมื่อมีความพร้อม" ซึ่ง คปพ. ที่นำโดยนาย น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กทม. และนายปานเทพ พัวพงศ์พันธ์ อดีตโฆษกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่เห็นด้วย เพราะหากใช้ถ้อยคำเช่นนี้ ท้ายที่สุดอาจไม่มีการจัดตั้งขึ้นมาเลยก็ได้ จึงอยากให้ถอนร่างกฎหมายออกมาและเขียนเพิ่มเติมข้าไปว่า อยากให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติโดยเร็วที่สุด ก่อนการให้สัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่

นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง หนึ่งในตัวแทน คปพ. เปิดเผยผ่านรายการวิทยุคลื่นเอฟเอ็ม 101 ว่า หากที่ประชุม สนช. ยังลงมติเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม นี้ โดยไม่มีการแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ก็จะยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ให้ใช้อำนาจมาลบล้างอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ "แม้ว่าเราจะไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น"

ด้าน น.ส.รสนา ระบุผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า อยากให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ก่อนที่แหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งผลิตก๊าซธรรมชาติได้ถึงครึ่งหนึ่งของประเทศ คือแหล่งบงกชและเอราวัณ จะสิ้นสุดสัมปทานในปี 2565 และปี 2566 ตามลำดับ

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์เคยระบุว่า การระบุให้มีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติในร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม มาจากข้อเสนอของ คปพ. เอง ทั้งที่ไม่ได้มีอยู่ในร่างกฎหมายนี้ตั้งแต่แรก

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล

ที่มาของภาพ, AFP/PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

คำบรรยายภาพ, ม.ร.ว.ปรีดิยาธรเรียกร้องให้ตัดเรื่องการจัดตั้ง "บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ" ออกจากร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม เพราะถูกใส่เข้ามาภายหลัง อาจผิดหลักการพิจารณากฎหมายของสภา

ทหารสอดไส้ตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ?

คนที่ออกมาจุดประเด็นเรื่องนี้ คือ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีต รมว.คลัง ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่ระบุว่า เคยถูกอดีตนายทหารระดับสูงในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพลังงาน สนช. ล็อบบี้ให้ใส่เรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันไว้ในร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม แต่รัฐบาลขณะนั้นไม่เห็นด้วย เมื่อส่งร่างกฎหมายไปให้ที่ประชุม สนช. เห็นชอบในวาระแรกก็ยังไม่มี แต่ถูกนำมาใส่ไว้ระหว่างการพิจารณาของ กมธ.วิสามัญ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ของสภา

"ผมเห็นข้อความในเอกสารของผู้ที่พยายามผลักดันเรื่องนี้ว่า จะให้บรรษัทน้ำมันแห่งชาติเป็นผู้ถือสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมทุกชนิดของประเทศ และในระยะเริ่มต้น จะให้กรมพลังงานทหารเป็นหน่วยงานที่จะบริหารบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ" อดีต รมว.คลังกล่าว เดิม ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม จัดทำขึ้น เพื่อเพิ่มเติมทางเลือกในมอบสิทธิ์ให้เอกชนร่วมดำเนินการเกี่ยวกับทรัพยากรปิโตรเลียมของประเทศ จากเดิมที่มีเพียงการให้สัญญาสัมปทาน มาเป็นสามารถ 1.ทำสัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือ 2.ทำสัญญาจ้างสำรวจและผลิต ได้ด้วย

แต่ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษก กมธ. วิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือวิป สนช. ออกมาระบุว่า การเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติไม่ใช่การ "สอดไส้" เพราะได้เสนอกลับไปให้ที่ประชุม ครม.เห็นชอบถึง 2 ครั้ง

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่า จะไม่ให้กรมพลังงานทหารเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างแน่นอน

ปิโตรนาสของมาเลเซีย

ที่มาของภาพ, ASYIFA/AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, ปิโตรนาสของมาเลเซีย มักถูกยกว่าเป็นตัวอย่าง "บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ" ที่ประสบความสำเร็จ แต่ในหลายประเทศก็ประสบความล้มเหลว เช่น เวเนซูเอลา

อะไรคือ "บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ" ?

น.ส.รสนาเขียนอธิบายไว้ในเฟซบุ๊กว่า บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ คือหน่วยงานของรัฐ ทำหน้าที่เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียมของประเทศ และโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวกับการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งหมด เป็นตัวกลางในการเข้าทำสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับบริษัทเอกชนหากต้องมีการใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตหรือสัญญาจ้างบริการ ทั้งนี้ตัวอย่างบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ได้แก่ ปิโตรนาสของมาเลเซีย

"ที่ผ่านมา ปตท. เคยทำหน้าที่นี้ แต่เมื่อแปรรูปเป็นบริษัทมหาชน จึงไม่อาจมีอำนาจนี้ทำแทนรัฐได้" น.ส.รสนา ระบุ

ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ที่มาของภาพ, Jiraporn Kuhakan/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงาน (คปพ.) นำโดยนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ยื่นหนังสือถึงประธาน สนช. ผ่านทางนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. ให้ปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ประเด็นเรื่องการจัดตั้ง "บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ"

นายธีระชัย ระบุว่า การให้มีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งรัฐถือหุ้น 100% จะทำให้ผลประโยชน์เกี่ยวกับพลังงานตกเป็นของประชาชน แทนที่จะตกเป็นของผู้ถือหุ้นของ ปตท.

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีต รมว.พลังงาน ระบุว่า การมีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ นั้นจะเป็นการให้อำนาจองค์กรนี้ในการกำหนดสิทธิ์ดำเนินการเรื่องปิโตรเลียม เท่ากับทำงานแทนกระทรวงพลังงาน ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาในอนาคต

ด้าน นายมนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการด้านพลังงาน ได้ยกตัวอย่างบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่ล้มเหลว เช่น ของเวเนซูเอลา ที่ทำงานไร้ประสิทธิภาพและมีคอร์รัปชั่นมาก แม้กระทั่งปิโตรนาสของมาเลเซียที่มีข้อครหาเรื่องการทุจริต และไม่มีใครตรวจสอบการดำเนินการได้ เนื่องจากขึ้นกับนายกฯมาเลเซียโดยตรง

น้ำมัน

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, รัฐบาล คสช. ใช้เวลากว่าสองปี ในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม

เส้นทางร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม

  • 4 ส.ค.2558 ครม. เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ที่ไม่มีการระบุถึง "บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ" แต่อย่างใด
  • 8 ธ.ค.2558 ครม. เห็นชอบให้ส่งเรื่องไปให้กฤษฎีกาปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ตามที่ คปพ. เสนอให้เพิ่มการจัดตั้ง "บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ" ไว้ในร่างกฎหมาย
  • 7 มิ.ย.2559 ครม. เห็นชอบให้กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานกลับไปพิจารณาเรื่องโครงสร้างของ "บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ" ตามความเห็นของกฤษฎีกา แต่ยังไม่ระบุไว้ในร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม
  • 24 มิ.ย.2559 สนช. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมในวาระแรก ด้วยมติ 152 ต่อ 5 เสียง โดยในร่างกฎหมายที่ สนช. ใช้พิจารณา ไม่มีมาตรา 10/1 ว่าด้วยการจัดตั้ง "บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ" แต่อย่างใด
  • มิ.ย.2559 - มี.ค.2560 กมธ.วิสามัญที่ประกอบด้วยทหาร 13 คนและพลเรือน 8 คน พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมแล้วเสร็จ หลังประชุมร่วมกัน 31 ครั้ง โดยเพิ่มเติมมาตรา 10/1 ว่าด้วยการจัดตั้ง "บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ" เข้ามาในร่างกฎหมายด้วย
  • 7 ก.พ.2560 ครม. เห็นชอบตามข้อสังเกตของวิป สนช. ที่เสนอให้บัญญัติเรื่อง "บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ" ไว้ในร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม
  • 27 มี.ค.2560 ม.ร.ว.ปรีดายาธร เทวกุล อดีต รมว.คลัง ออกแถลงการณ์ เสนอให้ตัดมาตรา 10/1 ออกไป เพราะเป็นการเพิ่มเติมเข้ามาภายหลัง ผิดขั้นตอนการพิจารณาร่างกฎหมายของสภา
  • 30 มี.ค.2560 สนช. พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ในวาระสองและสาม ก่อนจะมีมติ 227 ต่อ 1 เสียงให้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย แต่ตัดเนื้อหาในมาตรา 10/1 ออก และให้ใส่ไว้ในข้อสังเกตแทน