องค์กรเพื่อความโปร่งใสฯ: ปัญหาคอร์รัปชั่นไม่ดีขึ้น คสช. ไม่ทำตามที่ว่าไว้

Transparency International

ที่มาของภาพ, Transparency International

คำบรรยายภาพ, ระดับคะแนนของไทยดังกล่าว เท่ากับหลาย ๆ ประเทศ อาทิ อินโดนีเซีย บราซิล โคลอมเบีย ปานามา เปรู และแซมเบีย

องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International -- TI) ระบุ แทบไม่เห็นผลงานการปราบทุจริตของคณะรัฐประหารไทย ต่างจากที่ว่าไว้เมื่อเข้าสู่อำนาจ 4 ปีก่อน ชี้ กรณี "แหวนมารดา นาฬิกาเพื่อน" สะท้อน "ช่องโหว่ของกลไกคุณธรรมจริยธรรมของไทย"

TI ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในกรุงเบอร์ลิน เยอรมนี แถลงในวันที่ 21 ก.พ. ถึง ดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นในภาครัฐทั่วโลก (Corruption Perception Index - CPI) ประจำปี 2560 ซึ่งผลปรากฎว่า ประเทศไทยได้คะแนนซีพีไอ 37 คะแนน จากเต็ม 100 คะแนน ไต่อันดับเป็น 96 จากเดิม 101 เมื่อปี 2559 ซึ่งไทยได้คะแนน 35 คะแนน

TI ระบุว่า คะแนนที่เพิ่มขึ้นน้อยมาก ในเชิงสถิติ ไม่นับว่าเป็นพัฒนาการที่ดีขึ้น และรัฐบาลทหารไทยไม่ได้ดำเนินการปราบปัญหาคอร์รัปชั่นอย่างที่ว่าไว้ตอนแรกสักเท่าไร

"ในตอนแรก ทางรัฐบาลทหารได้แสดงความปรารถนาที่จะปรับปรุงแก้ไขปัญหาทุจริตของประเทศ อย่างไรก็ตาม เราแทบไม่เห็นการปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริง" อิลฮาม โมฮัมเหม็ด ที่ปรึกษาประจำแผนกภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ของ TI ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยผ่านทางอีเมล

ขณะที่ ดร.บัณฑิต นิจถาวร เลขาธิการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) เรียกร้องให้ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม พยายามให้มากขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจัง แม้คะแนนและอันดับของไทยจะขยับสูงขึ้นก็ตาม

ด้าน พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยเรื่องผลดัชนีที่ออกมาว่า รัฐบาลจะนำข้อมูลมาพิจารณา และพร้อมจะร่วมมือทำงานกับองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการที่จะแก้ไขปัญหา

"รัฐบาลให้ความสำคัญ [เรื่องปัญหาคอร์รัปชั่น] มาโดยตลอด แต่เราก็ไม่รู้ว่าเขาวิธีรวบรวมสถิติเขาเป็นอย่างไร ...อันนี้ก็เป็นกระจกอีกหนึ่งบานที่จะส่องแง่มุมต่าง ๆ ที่แตกต่างไป เราก็ฟังในทุก ๆ เรื่องแต่คงไม่ไปตัดสินใจว่ามีความรู้สึกอย่างไร คงไม่ไปตัดสินใจว่าใครมองผิดมองถูกยังไง"

พล.ท.วีรชน ย้ำว่า ปัญหาคอร์รัปชั่นเปนสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญในทุก ๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และอยากจะชี้ให้เห็นดัชนีชี้วัดปัญหาคอร์รัปชั่นในส่วนอื่นด้วย โดยยกตัวอย่างเรื่องที่ประเทศไทยได้รับการปรับอันดับใน รายงานความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) ที่จัดทำโดยกลุ่มธนาคารโลก เป็นอันดับ 26 ในปี 2017 จากอันดับ 46 เมื่อปี 2016 โดย พล.ท.วีรชน บอกว่า เรื่องของความโปร่งใสและปัญหาคอร์รัปชั่นก็เป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่นำมาพิจารณาอันดับดังกล่าวด้วย

อย่างไรก็ตาม นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แสดงความพอใจที่ไทยได้คะแนนดีขึ้น โดยอ้างว่า มีแหล่งข้อมูลที่ TI นำมาพิจารณาดัชนีภาพลักษณ์ 3 แหล่งด้วยกันที่ประเทศไทยทำคะแนนได้ดีขึ้น ได้แก่ หนึ่ง มุมมองของนักธุรกิจที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย สอง การประเมินค่าความโปร่งใสโดยใช้หลักนิติรัฐ และ สาม การประเมินปัญหาคอร์รัปชั่น การติดสินบน และการแทรกแซงของเจ้าหน้าที่รัฐในการดำเนินธุรกิจ

นายวรวิทย์กล่าวว่า สำหรับแหล่งข้อมูลที่ไทยได้คะแนนลดลงกว่าปีก่อน มีแหล่งข้อมูลที่ประเมินกระบวนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยและระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการวิเคราะห์กระบวนการทางการเมืองเป็นหลัก

Transparency International

ที่มาของภาพ, Transparency International

คำบรรยายภาพ, หากนับเฉพาะทวีปเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 44 คะแนน ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 15 เท่ากันกับ อินโดนีเซีย

อิลฮามกล่าวว่า "กรณีของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ สะท้อนให้เห็นถึง ช่องโหว่ของกลไกคุณธรรมจริยธรรมของไทย ซึ่ง ถ้าเรามีกลไกการแสดงบัญชีทรัพย์สินที่เข้มแข็งแล้ว เราจะสามารถจัดการเรื่องนี้ได้อย่างเห็นผล"

อิลฮามยังบอกอีกด้วยว่า มาตรการแสดงบัญชีทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ระดับสูง และกฎหมายปราบปรามการร่ำรวยผิดปกติ จะเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนและภาคประชาสังคมได้เฝ้าระวัง ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องสงสัยว่าร่ำรวยผิดปกติ นำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และลดปัญหาการปล่อยให้คนผิดลอยนวล

เมื่อถามว่ากรณีของ พล.อ. ประวิตร ทำให้ภาพลักษณ์ด้านคอร์รัปชั่นของไทยเสียหรือไม่ พล.ท.วีรชน บอกว่า เป็นเรื่องที่ไทยเองก็มีองค์กรตรวจสอบอยู่คือ คณะกรรมการ ป.ป.ช. และ "ในส่วนที่เป็นข่าวอยู่ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่แล้วก็ยังเน้นในเรื่องของอารมณ์และความรู้สึก"

"ต้องให้ความเป็นธรรรมกับทุกฝ่าย ว่าจะมีการนำเสนอข้อมูลอย่างไร ไม่ได้ตัดสินจากเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกอย่างเดียว คนที่ถูกกล่าวหา ก็ต้องให้โอกาส ในการชี้แจงกับสังคม ในการทำให้ประเด็นต่างๆ ชัดเจน" พล.ท.วีรชน กล่าว

TI ระบุว่า จากบริบทปัญหาคอร์รัปชั่นในปัจจุบัน แนะนำให้ไทยยึดหลักดังต่อไปนี้

  • ส่งเสริมระบบความโปร่งใสและการตรวจสอบเอาผิดฝ่ายผู้ปกครองในทุกระดับ
  • ยึดหลักให้การทำธุรกิจในประเทศมีความถูกต้องโปร่งใส
  • ยึดหลักความโปร่งใสและมาตรฐานในการตรวจสอบเอาผิดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่ที่ถูกควบคุมโดยรัฐบาล
  • ยึดหลักการเปิดเผยทรัพย์สินอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อแก้ปัญหาการร่ำรวยผิดปกติ

สำหรับคะแนนดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นในไทย ทางองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติใช้ข้อมูล 7 แหล่งด้วยกันในการคำนวณ อาทิ ดัชนีหลักนิติธรรมโดยโครงการยุติธรรมโลก (World Justice Project Rule of Law Index) คู่มือความเสี่ยงรายประเทศ พีอาร์เอส (PRS International Country Risk Guide) รายงานการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ไอเอ็มดี (IMD World Competitiveness Yearbook) เป็นต้น

บทวิเคราะห์ประกอบดัชนีภาพลักษณ์เมื่อปี 2559 ระบุว่าสาเหตุที่ไทยได้คะแนนซีพีไอต่ำลงเกี่ยวข้องกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. .... เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2559 ที่มีการปราบปรามดำเนินคดีกับผู้เห็นต่างจากรัฐ ไม่มีเวทีอภิปรายเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฯ อย่างเสรี และไม่ให้ผู้แทนจากภาคนอกซึ่งมีอิสระเข้าไปสังเกตการณ์

อิลฮาม ยังบอกอีกว่า องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ยินดีกับ แผนปฏิบัติการป้องกันการทุจริต 4 ปี ของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่เน้นว่ามีสิ่งที่ต้องทำอีกมากในการรับมือกับปัญหาคอร์รัปชั่น การติดสินบน และการร่ำรวยผิดปกติ

ด้าน นายธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัยอาวุโส จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) บอกกับบีบีซีไทยว่า หากดูจากคะแนน ซีพีไอ แล้ว ภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นไทยยังอยู่ในระดับที่ "แย่" และไม่สามารถพูดเต็มปากได้ว่าดีขึ้นหากคะแนนยังไม่เกิน 50 คะแนนจาก 100

นายธิปไตรยังบอกอีกว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สังเกตว่า TI สนใจประเด็นสิทธิมนุษยชนและเรื่องประชาธิปไตยมากขึ้น และ "หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ประเทศไทยจะต้องปรับปรุงตัวเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยให้มากขึ้น" หากอยากได้คะแนนมากขึ้น พร้อมกับเสนอวิธีการแก้ไข 3 ประการด้วยกันคือ

  • ผู้บริหารประเทศต้องไม่ดื้อด้าน เมื่อถูกกล่าวหาว่าทุจริต ต้องลาออก
  • นโยบายปราบปรามทุจริตต้องเป็นเรื่องจริงจัง
  • ประชาธิปไตยเป็นเงื่อนไขที่จำเป็น (แต่ยังไม่พอ) ถ้าจะให้การต่อต้านคอร์รัปชันยั่งยืน
Transparency International

ที่มาของภาพ, Transparency International

คำบรรยายภาพ, ในภาพรวมทั่วโลก พบว่ามากกว่าสองในสามของประเทศที่ถูกสำรวจทั้งหมดได้คะแนนซีพีไอไม่ถึงครึ่ง ซึ่งค่าเฉลี่ยคะแนนซีพีไออยู่ 43 คะแนนเท่านั้น ซึ่งเท่ากับปี 2559

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา สื่อไทยหลายสำนักข่าวรายงานว่า มูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย ได้ถอนตัวจากการเป็นสมาชิกองค์กรความโปร่งใสนานาชาติ ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2559

อิลฮาม อธิบายเรื่องนี้ว่า การถอนตัวไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยทางการเมืองในขณะนั้น แต่เป็นเรื่องความสามารถในการปฏิบัติการขององค์กรในไทย นี่หมายความว่าระหว่างนี้การปฏิบัติขององค์กรจะมีฐานอยู่ที่กรุงเบอร์ลิน จนกว่าจะหาองค์กรตัวแทนในไทยที่จะรับเข้าเป็นสมาชิกใหม่ได้

ก่อนหน้านี้ รศ.ดร.จุรี วิจิตรวาทการ เลขาธิการมูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย เปิดเผยว่า การถอนตัวเป็นพราะแนวทางการทำงานไม่ตรงกัน พร้อมยืนยันว่า ไทยยังคงถูกจัดอันดับดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นโลก แม้ว่ามูลนิธิฯ ถอนตัวจากการเป็นสมาชิก และรัฐบาล คสช.ไม่ได้กดดันให้ถอนตัว

"กติกาบางอย่าง อย่างเช่นเขาก็จะไม่ชอบรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร แต่เราก็คิดว่าเราทำงานกับรัฐบาลได้" นางจุรี กล่าวในรายงานข่าวของสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 7

ดร.กนกกาญจน์ อนุแก่นทราย ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิฯ ชี้แจงกับ บีบีซีไทย ว่า การถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกองค์กรความโปร่งใสนานาชาติ "เป็นเหตุผลเรื่องกติกาด้านการบริหารจัดการ" ซึ่งทางองค์กรความโปร่งใสนานาชาติต้องการให้ทางมูลนิธิฯ จัดองค์กรในรูปแบบองค์กรอิสระ ทั้งตัวบอร์ดและแหล่งทุน มีการจัดหาองค์กรสมาชิก เช่น ภาคเอกชนธุรกิจ และเงื่อนไขของประธานต้องมาจากการเลือกตั้งองค์กรสมาชิก แต่สถานะของมูลนิธิฯ นั้นปัจจุบันได้ใช้ทุนจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

"องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติทาบทามให้เราเป็นสมาชิก เพราะรู้ว่าคุณอานันท์ ปันยารชุน ทำเรื่องความโปร่งใสมานานตั้งแต่สมัยเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อเป็นสมาชิกมาระยะหนึ่ง เขาก็อยากให้ทางมูลนิธิฯ ทำตามเงื่อนไขด้านการบริหารจัดการ" ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใส กล่าว

ดร.กนกกาญจน์ ระบุอีกว่า การถอนตัวมีผลเพียง ทำให้มูลนิธิฯ ทราบผลการจัดอันดับภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น พร้อมๆ กับที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ จากการก่อนหน้านี้ที่จะทราบผลก่อน 1 เดือน

"ข้อมูลส่วนหนึ่งได้จากการสำรวจความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ ที่ให้ความเห็นต่อสถานการณ์ในประเทศช่วงนั้น" ดร.กนกกาญจน์ กล่าว

ด้าน ดร.มานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านการคอร์รัปชั่น โพสต์บนเฟซบุ๊กระบุว่า มูลนิธิเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทยเป็นสมาชิกขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติด้วย แต่ได้ถอนตัวจากการเป็นสมาชิก เนื่องจากมีข้อจำกัดบางประการ โดยจะไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อการประเมินและจัดอันดับคอร์รัปชัน

"การประเมินและจัดอันดับคอร์รัปชันของประเทศทั่วโลก เป็นการสำรวจข้อมูลอย่างอิสระโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกประเมินและจัดอันดับทุกปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา และเชื่อว่าจะยังคงมีต่อไป"

Transparency International

ที่มาของภาพ, Transparency International

คำบรรยายภาพ, 5 ประเทศที่มีความโปร่งใสสูงสุดประกอบด้วย นิวซีแลนด์ (89 คะแนน) เดนมาร์ก (88 คะแนน) ฟินแลนด์ (85 คะแนน) นอร์เวย์ (85 คะแนน) และ สวิตเซอร์แลนด์ (85 คะแนน)

จุรี วิจิตรวาทการ คือใคร?

มูลนิธิเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อปี 2543 โดยมีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และ รศ.ดร.จุรี วิจิตรวาทการ เป็นเลขาธิการ

จุรี คือ ผู้ปลุกปั้นแบรนด์ "โตไปไม่โกง" ท่ามกลางกระแสสังคมที่ไม่เอาการทุจริตคอร์รัปชั่น

"โตไปไม่โกง" เป็นการเคลื่อนการรณรงค์เพื่อสังคมที่กรุงเทพมหานครจับมือกันทำหลักสูตรการเรียนให้กับโรงเรียนในสังกัด กทม.กว่า 400 แห่ง โดยมีนางทยา ทีปสุวรรณ แกนนำ กปปส. ซึ่งเป็นรองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร จากพรรคประชาธิปัตย์ ในสมัยนั้นเมื่อปี 2553 ดูแลโครงการนี้

ก่อนมาออกแบบหลักสูตรคบเด็กสร้างชาติ จุรีทำงานขับเคลื่อนการสร้างค่านิยมไม่เอาคนโกง ทุจริตคอร์รัปชั่น ในกลุ่มเด็กและเยาวชน ในฐานะประธานศูนย์สาธารณประโยชน์และประชาสังคมของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ตั้งแต่ปี 2541

จุรีเป็นอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปี 2549 ภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยา ของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) และเป็นอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ เมื่อ 6 ก.ย. 2558 ก่อนถูกตั้งเป็นหนึ่งใน 21 อรหันต์ ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่้ตั้งขึ้นในปีเดียวกัน

ควบคู่ไปกับการนั่งเก้าอี้ สปช. ด้วยโปรไฟล์การทำงานที่ได้ชื่อว่าเชี่ยวชาญด้านคอร์รัปชั่น 9 เดือน

หลังการรัฐประหาร คสช. จุรี วิจิตรวาทการ ปรากฏชื่อเป็นประธานอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ด้านการปลูกฝังจิตสำนึกและการสร้างรับรู้ คณะอนุฯ ใต้ร่มคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) รวมทั้งเป็นกรรมการในศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ที่ตั้งโดย คสช.