ฝ่ายหนุนปธน.ตุรกีชนะการลงประชามติหลังนับคะแนนไปแล้ว 97%

turkey

ที่มาของภาพ, AFP

ชาวตุรกีส่วนใหญ่ลงประชามติให้อำนาจประธานาธิบดีมากขึ้น และยุบตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เปลี่ยนมาใช้ระบบประธานาธิบดีแทนระบบรัฐสภา หลังมีการนำคะแนนไปแล้ว 97% โดยมีผู้ลงมติ "รับ" 51.4% และ "ไม่รับ" 48.6%

ผู้สนับสนุนประธานาธิบดีเรจิป ทายยิป แอร์โดอันของตุรกี ระบุว่า การใช้ระบบประธานาธิบดีแทนระบบรัฐสภาจะทำให้ประเทศมีความทันสมัยมากขึ้น ด้านฝ่ายไม่เห็นด้วยได้โจมตีการการตัดสินใจให้รับบัตรลงคะแนนที่ไม่ได้รับการประทับตราให้มีผลใช้ได้ เว้นแต่ว่าได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นอย่างอื่น

การลงมติ "รับ" อาจจะทำให้นายแอร์โดอันครองอำนาจไปจนถึงปี 2029 โดยมีผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนราว 55 ล้านคนตามหน่วยลงคะแนน 167,000 หน่วยทั่วประเทศ และจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์อยู่ในระดับสูง

ในการลงประชาติเมื่อวานนี้(16 เม.ย.) มีผู้ถูกยิงเสียชีวิตที่หน่วยลงคะแนนในจังหวัดดิยาร์บาคีร์ทางใต้ของตุรกี โดยมีรายงานว่าเหตุเกิดขึ้นขณะมีการโต้แย้งกันเกี่ยวกับวิธีการลงคะแนน

ตุรกี

ที่มาของภาพ, EPA

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้สำคัญอย่างไร?

จะเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านรัฐธรรมนูญที่มีขอบเขตกว้างขวางที่สุดของตุรกี นับตั้งแต่ตุรกีมีการปกครองแบบสาธารณรัฐมาเกือบ 100 ปี

นายแอร์โดอันจะได้รับอำนาจในการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ออกกฎหมาย แต่งตั้งผู้พิพากษาอาวุโส และยุบสภา

ระบบใหม่นี้จะยุบตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยอำนาจบริหารทั้งหมดจะตกอยู่ในมือของประธานาธิบดี ทำให้ระบบการบริหารงานภาครัฐจะตกอยู่ในการควบคุมของเขา

หตุผลของฝ่าย "รับ"

นายแอร์โดอันบอกว่า จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเพื่อแก้ปัญหาความมั่นคง ที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน หลังจากที่เมื่อ 9 เดือนก่อน มีความพยายามก่อรัฐประหาร นอกจากนั้นยังช่วยเลี่ยงการมีรัฐบาลผสมที่อ่อนแอแบบที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีตด้วย

เขาชี้ว่าระบบใหม่จะมีลักษณะคล้ายกับระบบของฝรั่งเศสและสหรัฐฯ และจะช่วยให้ประเทศมีความสงบเรียบร้อยมากขึ้น ในช่วงที่เกิดความวุ่นวายจากการก่อความไม่สงบของชาวเคิร์ด กลุ่มติดอาวุธอิสลาม และความขัดแย้งกับซีเรียเพื่อนบ้าน ซึ่งทำให้ผู้อพยพไหลทะลักเข้าไปในตุรกี

ในการหาเสียงในย่านตุซลาของนครอิสตันบูล ช่วงท้าย ๆ ก่อนการลงประชามติ นายแอร์โดอัน กล่าวต่อผู้สนับสนุนว่า รัฐธรรมนูญใหม่จะนำซึ่งความมั่นคงและความไว้วางใจที่จำเป็นต่อการพัฒนาและการเติบโตของประเทศ "ตุรกีสามารถก้าวกระโดดไปสู่อนาคต"

ตุรกี

ที่มาของภาพ, AFP

เหตุผลของฝ่าย "ไม่รับ"

ฝ่ายคัดค้านและฝ่ายวิจารณ์ที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอเกรงกว่า การเปลี่ยนแปลงจะทำให้ประธานาธิบดีมีอำนาจมากเกินไป เทียบเท่ากับมีคนปกครองเพียงคนเดียว ปราศจากการตรวจสอบและถ่วงดุล

ฝ่ายต่อต้านระบุว่า ความสามารถในการรักษาความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองไว้ ซึ่งหมายถึงการที่นายแอร์โดอันยังสามารถเป็นหัวหน้าพรรคเอเคพีที่เขาร่วมก่อตั้งได้ต่อไป จะทำให้เกิดความไม่เป็นกลางขึ้น

เคมาล คิลิกดาโรกลู หัวหน้าพรรคสาธารณะรัฐประชาชน หรือ ซีเอชพี ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านพรรคใหญ่ในตุรกีชี้ว่า การรับข้อเสนอจะทำให้ประเทศอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง เขากล่าวว่า "เราจะนำคน 80 ล้านคนขึ้นรถประจำทางที่ไม่มีเบรก และไม่รู้ว่ากำลังมุ่งหน้าไปทางไหน"

ฝ่ายไม่รับข้อเสนออ้างว่าถูกข่มขู่ในช่วงการรณรงค์เรื่องประชามติ และสื่อตุรกีซึ่งถูกควบคุมและตรวจสอบจากภาครัฐอย่างเข้มข้น แทบไม่ได้นำเสนอความคิดเห็นของฝ่ายตน

ตุรกี

ที่มาของภาพ, EPA

ประเมินในภาพกว้าง

ชาวตุรกีจำนวนมากหวาดกลัวกับความเป็นเผด็จการและรวบอำนาจที่กำลังเพิ่มมากขึ้นในประเทศอยู่แล้ว คนหลายหมื่นถูกจับกุม และข้าราชการอย่างน้อย 100,000 ถูกปลดหรือพักงาน นับตั้งแต่เกิดเหตุพยายามก่อรัฐประหารเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว

การรณรงค์ประชามติซึ่งทำให้คนประเทศแตกแยกกัน เกิดขึ้นในขณะที่ตุรกียังอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งประกาศใช้หลังเกิดการพยายามยึดอำนาจเมื่อปีที่แล้ว

นายแอร์โดอันก้าวสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 2014 ซึ่งเป็นตำแหน่งทางพิธีการเท่านั้น หลังจากที่เป็นนายกรัฐมนตรีนานกว่า 10 ปี

ตุรกีที่ครั้งหนึ่งเคยมีเสถียรภาพมากประเทศหนึ่งในภูมิภาค แต่ขณะนี้ได้กลายเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย จากการโจมตีก่อการร้ายหลายครั้ง และการอพยพเข้ามาของผู้ลี้ภัยนับล้าน ส่วนใหญ่มาจากซีเรีย

ในขณะเดียวกัน ชนชั้นกลางมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคให้ทันสมัย ตุรกีในสมัยของนายแอร์โดอันกลายเป็นยุคที่คนตุรกีที่ยึดมั่นในศาสนาได้รับการส่งเสริมและมีอำนาจมากขึ้น

ด้านกิจการระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีกับสหภาพยุโรปย่ำแย่ลง นายแอร์โดอันขัดแย้งกับรัฐบาลยุโรปหลายชาติ ที่ไม่อนุญาตให้รัฐมนตรีของตุรกีรณรงค์ประชามติในประเทศ นายแอร์โดอันถึงกับบอกว่า การตัดสินใจห้ามดังกล่าวเป็น "วิธีการแบบนาซี"

ในการรณรงค์หาเสียงช่วงท้ายในนครอิสตันบูล เขากล่าวต่อผู้สนับสนุนว่า การ "รับ" ประชามติ จะเป็น "บทเรียนให้กับชาติตะวันตก"

ตุรกี

ที่มาของภาพ, Getty Images

สาระสำคัญในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

•ร่างรัฐธรรมนูญระบุว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 3 พฤษจิกายน 2019

•ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งวาระ 5 ปี ได้ไม่เกิน 2 สมัย

•ประธานาธิบดีสามารถแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ทางการได้โดยตรง รวมถึงรัฐมนตรี

•ประธานาธิบดีสามารถแต่งตั้งรองประธานาธิบดีได้หลายตำแหน่ง

•ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะถูกยุบ

•ประธานาธิบดีมีอำนาจในการแทรกแซงฝ่ายตุลาการ โดยนายแอร์โดอันกล่าวหาว่าระบบตุลาการได้รับอิทธิพลจากนายเฟตูเลาะห์ กูเลน ซึ่งเป็นผู้นำทางศาสนาและอาศัยอยู่ในรัฐเพนซิลวาเนียของสหรัฐฯ เขากล่าวหาว่านายกูเลนอยู่เบื้องหลังการก่อรัฐประหารเมื่อเดือนกรกฎาคม 2016

•ประธานาธิบดีมีอำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน