30 ปี ของศึกพิพาทที่ดิน: ณ ระนอง vs 54 ชาวบ้าน

  • นันท์ชนก วงษ์สมุทร์
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
คำบรรยายวิดีโอ, 30 ปี ของศึกพิพาทที่ดิน: ณ ระนอง vs 54 ชาวบ้าน

ศึกพิพาทที่ดินมาราธอน สามทศวรรษหลังชาวบ้านกว่า 50 รายถูกคำสั่งศาลขับไล่ออกจากพื้นที่สุสานพระราชทานของตระกูล ณ ระนอง ขณะนี้ชาวบ้านบางส่วนกำลังเรียกร้องให้ทางการรังวัดที่ดินใหม่ หลังปรากฏหลักฐานใหม่ว่า พื้นที่ดังกล่าวเพิ่มขึ้น จาก 375 ไร่ที่ระบุไว้ในพระบรมราชโองการของรัชกาลที่ 5 เป็น 500 กว่าไร่

ร่องรอยต้นกาแฟเก่า มังคุด และมะพร้าวที่ชาวบ้านเคยปลูกไว้ ยังมีให้เห็นอยู่รอบๆ หลุมฝังศพทั้งสามหลุมของตระกูล ณ ระนองที่ตั้งอยู่บนเทือกเขาใน อ. เมือง จ. ระนอง พื้นที่ซึ่งเคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านกว่า 50 ราย รวมถึงนายภิรมย์ สองสมุทร อดีตศึกษานิเทศเขตวัย 62 ปี ซึ่งเป็นจำเลยรายล่าสุดที่ถูกฟ้องคดีอาญาข้อหาบุกรุกที่ดินพระราชทาน

สุสานคอซู้เจียง

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBCThai

คำบรรยายภาพ, สุสานคอซู้เจียง

บ้านของเขาถูกรื้อครั้งที่สอง หลังจากที่ศาลฎีกาได้ตัดสินในปี 2558 ว่าเขามีความผิดจริง ทั้งๆ ที่เป็นที่ดินที่มีโฉนดที่เขาซื้อมาเมื่อปี 2524

ต้นยางพาราที่นายภิรมย์เคยปลูกไว้กว่า 4,000 ต้นเพื่อกรีดน้ำยาง ปัจจุบันได้ถูกโค่นไปหมด และในปีที่แล้ว มีคนเข้ามาทำประโยชน์ในพื้นที่ตรงนั้น โดยการปลูกปาล์มและพืชผักสวนครัว เช่นเดียวกันกับที่ดินบริเวณใกล้เคียงกัน ซึ่งมีการทำสวนปาล์ม ทุเรียน กล้วย มะพร้าว และแบ่งสรรปันส่วนเป็นล็อคๆ

พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBCThai

คำบรรยายภาพ, พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซูเจียง ณ ระนอง) ซึ่งได้รับพระราชทานที่ดินจากรัชกาลที่ 5 เพื่อทำเป็นสุสานของบุคคลในตระกูล ณ ระนอง

นายโกศล ณ ระนอง ผู้รับมอบอำนาจจากร้อยโทอภินันท์ ณ ระนอง ผู้จัดการมรดกของตระกูล ณ ระนอง กล่าวว่า เดิมที่ดินพระราชทานจากรัชกาลที่ 5 ผืนนี้ ต้นตระกูล ณ ระนอง ได้ใช้เป็นที่ฝังศพอย่างเดียว แต่ในระยะหลังมีการเข้าไปปรับปรุงเป็นสวนโดยลูกหลานของตระกูล เพื่อป้องกันการบุกรุก

แม้ว่าคดีของนายภิรมย์และชาวบ้านรายอื่นๆ จะถึงที่สุดแล้ว แต่พวกเขายังค้างคาใจว่าไม่ได้รับความยุติธรรม เนื่องจากที่ดินที่รังวัดไม่ได้เป็นไปตามพระบรมราชโองการของรัชกาลที่ 5 ส่งผลทำให้เนื้อที่เกินความเป็นจริง และไม่เคยมีการต่อสู้เรื่องนี้กันในศาลมาก่อน ส่วนนายโกศลยืนยันว่าที่ดินกว่า 500 ไร่นั้น เป็นของตระกูล ณ ระนองทั้งหมด

แผนที่

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBCThai

คำบรรยายภาพ, แผนที่ที่นายโกศลเป็นผู้นำชี้แนวเขต และต่อมาใช้เพื่อฟ้องร้องชาวบ้าน 53 ราย

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายภิรมย์ปั่นจักรยานจากระนองไปกรุงเทพฯ เป็นเวลา 5 วัน เพื่อยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมที่ทำเนียบรัฐบาลและกรมสอบสวนคดีพิเศษ

"ตอนนี้ต่อสู้เพื่อความเป็นจริง ว่าที่ดินพระราชทานอยู่ตรงไหนกันแน่" เขากล่าวกับ บีบีซีไทย

ออกไปรังวัด

แม้ว่าในปี 2433 รัชกาลที่ 5 ได้มีพระบรมราชโองการพระราชทานที่ดินตำบลเขาระฆังทอง ซึ่งปัจจุบันอยู่ในอำเภอเมืองระนอง ให้คอซิมก๊อง ณ ระนอง ผู้ว่าราชการเมืองระนอง ขณะนั้น สำหรับใช้ทำเป็นสุสานของคนในตระกูล พร้อมแผนที่ผูกติดกับหนังสือพระราชทานที่ดินก็ตาม แต่นายโกศลอ้างว่าแผนที่นั้นสูญหายไป

ในปี 2498 กรมที่ดินได้มีการออกแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) ให้กับนายบุญศักดิ์ ณ ระนอง ผู้จัดการมรดก ณ ขณะนั้น โดยมีพื้นที่ทั้งหมด 342 ไร่ และมีความยาวของทิศต่างๆ ตรงตามที่รัชกาลที่ 5 ระบุไว้ในหนังสือพระบรมราชโองการ คือ ทิศเหนือยาว 18 เส้น ทิศใต้ยาว 20 เส้น ทิศตะวันออกยาว 20 เส้น 15 วา และทิศตะวันตกยาว 15 เส้น

นายโกศล ณ ระนอง

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang

คำบรรยายภาพ, นายโกศล ณ ระนอง

แต่นายโกศล ซึ่งเข้ามาดูแลที่ดินพระราชทานของตระกูล ณ ระนอง เมื่อประมาณปี 2525 กล่าวกับบีบีซีไทย ที่อาคารศาลบรรพบุรุษตระกูล ณ ระนอง ว่า เขาไม่เห็นด้วยกับแนวเขตที่ระบุไว้ในแบบ ส.ค. 1 และได้ไปแจ้งที่ดินเพื่อรังวัดที่ดินใหม่เพื่อการออกโฉนด ซึ่งนายโกศลกล่าวว่า สมัยนั้นการรังวัดที่ดินทำโดยใช้โซ่วัด ซึ่งเป็นเหล็กอ่อนๆ ม้วนเก็บได้ ความยาวประมาณ 20 เมตร โดยดึงโซ่ไปที่จุดที่ดินแต่ละจุดและคำนวณหาพิกัดที่ดิน

"ผมไปรังวัดเอง ไปเดินขึ้นเขาเอง ที่ดินก็วาดให้ตามที่เรารังวัด" นายโกศล อายุ 68 ปี กล่าว และยืนยันว่า เขาไม่ได้ชี้แนวเขตออกนอกเขตที่ดินพระราชทาน แม้ว่าจะไม่ยึดถือตามระยะที่ดินที่กำหนดไว้ในหนังสือพระบรมราชโองการก็ตาม ที่ระบุว่ามีจำนวนเนื้อที่คำนวณเป็นตารางเส้นได้ 375 เส้นกับ 300 ตารางวา หรือ 375 ไร่ 300 ตารางวา เพียงแต่รังวัดตามแนวเขตธรรมชาติ ซึ่งระบุว่า ด้านตะวันออกและตะวันตกมีลำคลองเป็นเขต และทิศใต้ชี้แนวเขตที่ดินไปจนถึงตลิ่งลงที่เลน

ส่วนทิศเหนือของที่ดินพระราชทานมีหลักซึ่งกรมการปักไว้เป็นเขต แต่ตนไม่เคยเห็นหลักดังกล่าว จึงได้อาศัยสุสานต่างๆ ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของที่ดินพระราชทาน และตั้งอยู่บนเนินเขา

"ทางเรายึดถือขอบเขตโดยไม่คำนึงว่าเนื้อที่เท่าไหร่" นายโกศลกล่าว

พบผู้บุกรุก

ชาวบ้าน

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBCThai

คำบรรยายภาพ, กลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ

ครอบครัวของนางรุ่งทิพย์ นิยมไทย เป็นหนึ่งในชาวบ้านที่เข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียงบริเวณเขตที่ดินสุสานเป็นครอบครัวแรกๆ โดยที่ดินของปู่และย่าของเธอจำนวน 27 ไร่ ได้ออก ส.ค. 1 เมื่อปี 2498

ครอบครัวของเธอเป็นหนึ่งในจำเลย 53 รายที่ถูกฟ้องคดีแพ่ง ข้อหาบุกรุกที่ดินพระราชทาน ซึ่งต่อมาศาลฎีกาพิพากษาในปี 2535 ว่าจำเลยทั้งหมดมีความผิดจริง

นางรุ่งทิพย์ ซึ่งปัจจุบันอายุ 46 ปีและประกอบอาชีพขายน้ำเต้าหู้ กล่าวว่า สาเหตุที่แพ้คดีเนื่องจากทนายความตั้งประเด็นผิดตั้งแต่แรก นั่นคือ ตั้งสู้ว่าครอบครองปรปักษ์ ซึ่งนั่นหมายความว่า พวกเขายอมรับว่าอาศัยอยู่ในที่ดินเป็นเวลาเกิน 10 ปีขึ้นไป ซึ่งกฎหมายให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินได้ แทนที่จะฟ้องว่าอยู่นอกเขตที่ดินพระราชทาน

นายชวลิต พิชยกัลป์ อีกหนึ่งในจำเลยกล่าวว่า คดีนี้ศาลได้ใช้แผนที่ที่นายโกศลเป็นผู้ขอให้เจ้าหน้าที่ที่ดินเป็นผู้รังวัดเมื่อปี 2525 ซึ่งใช้เป็นแผนที่พิพาทในศาลที่ทำการรังวัดโดยขาดการมีส่วนร่วมของชาวบ้านที่อยู่อาศัยในพื้นที่พิพาทในการนำชี้ที่ดิน

นายชวลิตกล่าวอีกว่าแม้เขาอาศัยอยู่ในพื้นที่ตรงนั้นมาเป็นเวลา 19 ปี แต่ที่ดินประมาณสองไร่ของเขาก็ถูกตระกูล ณ ระนองคัดค้านการออกโฉนด

ที่ดินบริเวณสุสาน

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBCThai

คำบรรยายภาพ, สุสานของตระกูล ณ ระนอง ซึ่งอยู่ในพื้นที่พิพาทระหว่างตระกูลกับชาวบ้าน

"ยังแคลงใจอยู่ว่าเราแพ้เพราะเหตุผลอะไร ทำไมทนายไม่สู้ว่าอยู่นอกเขตพระราชทาน เขาสู้แบบนี้เราก็ไม่รู้ว่าจะขัดเขาอย่างไร" นายชวลิต วัย 69 ปี กล่าว

สิบปีหลังจากคำพิพากษาศาลฎีกาคดีชาวบ้าน 53 ราย นายภิรมย์เป็นรายล่าสุดที่ถูกดำเนินคดีข้อหาบุกรุกที่ดินพระราชทาน ซึ่งเขาก็ได้แพ้คดีแพ่งและอาญาที่ฟ้องเมื่อปี 2545 และปี 2552 เขาได้สร้างบ้านในบริเวณเดียวกันกับที่เกิดเหตุในคดีที่แล้ว

ในการทำแผนที่พิพาทในคดีหลังนี้ นายโกศลและนายภิรมย์เป็นผู้นำชี้แนวเขตที่ดิน โดยมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานที่ดินจังหวัดระนอง เป็นผู้รังวัดและจัดทำแผนที่พิพาท โดยใช้กล้องอิเล็กทรอนิกส์เป็นเครื่องมือรังวัด ซึ่งหลังจากรังวัดที่ดินและคำนวณเนื้อที่เสร็จแล้ว จากแผนที่พิพาทที่ผู้สื่อข่าวเห็น ปรากฏว่าที่ดินของนายโกศลนำชี้มีเนื้อที่กว่า 534 ไร่

พื้นที่งอก

พันเอกปิยะ จารุกาญนจ์ ซึ่งในขณะนั้นรับราชการอยู่ที่กรมแผนที่ทหาร และได้รับเชิญให้มาเป็นพยานจำเลยในคดีที่นายภิรมย์ถูกฟ้องข้อหาบุกรุกที่ดิน ได้นำแผนที่พิพาทมาวิเคราะห์ว่าพื้นที่พระราชทานควรอยู่ตรงไหน โดยใช้วิธีสแกนแผนที่พิพาทเข้าไปในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งระบบการคำนวณพื้นที่ที่สามารถรังวัดพื้นที่ได้เลย

พันเอกปิยะกล่าวว่า การจะทราบแนวเขตที่ดินพระราชทานที่แท้จริงจะต้องดูระยะของที่ดินและลักษณะภูมิประเทศประกอบกันด้วย ไม่ใช่ดูอย่างใดอย่างหนึ่งเหมือนที่นายโกศลนำชี้เฉพาะแนวเขตธรรมชาติให้เจ้าหน้าที่ที่ดิน

แผนที่รังวัด

ที่มาของภาพ, ศาลจังหวัดระนอง

คำบรรยายภาพ, จากการคำนวณของพันเอกปิยะ พบว่าที่ดินพระราชทานมีเนื้อที่กว่า 382 ไร่เท่านั้น ไม่ใช่ 534 ไร่ตามแผนที่พิพาท

"การที่รัชกาลที่ 5 พระราชทานที่ดิน ท่านกำหนดไว้ว่าทิศไหนจรดอะไร ประเด็นที่สองกำหนดว่าแต่ละด้านยาวเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นเนื้อที่ต้องหาให้ได้ระยะประมาณนั้น" พันเอกปิยะกล่าว

เมื่อนำระยะที่ดินต่างๆ ดังกล่าวมาคำนวณแล้ว พบว่าที่ดินพระราชทานมีเนื้อที่กว่า 382 ไร่เท่านั้น ไม่ใช่ 534 ไร่ตามแผนที่พิพาท และเนื้อที่กว่า 146 ไร่นั้นอยู่นอกเขตที่ดินพระราชทาน

"สมัยก่อนไม่มีใครคิดจะหาเนื้อที่และระยะที่อยู่ตามพระบรมราชโองการว่าอยู่ตรงไหน ซึ่งจริงๆ แล้วกลายเป็นว่า ณ ระนองไม่ปฏิบัติตามพระบรมราชโองการ ท่าน (ร.5) พระราชทานไว้ 382 ไร่ ท่าน (นายโกศล) ไปเอา 500 ไร่" พันเอกปิยะกล่าวกับบีบีซีไทย "ถ้าคำนึงถึงหลักวิชาการ ความคลาดเคลื่อนของที่ดิน ไม่น่าเคลื่อนเป็นร้อยๆ ไร่อย่างนั้นหรอก"

ทั้งนี้ นายโกศลยังยืนยันว่า การที่ตนยึดแนวเขตธรรมชาติตามพระบรมราชโองการเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงเนื้อที่ ไม่ได้เป็นการกระทำที่ขัดพระบรมราชโองการ

ที่ดิน

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBCThai

คำบรรยายภาพ, นายโกศลกล่าวว่า ลูกหลานตระกูล ณ ระนองได้เข้ามาทำสวน เพื่อป้องกันการบุกรุก

ศาลจังหวัดระนองเมื่อปี 2557 ได้พิพากษาว่านายภิรมย์มีความผิดฐานบุกรุกที่ดิน โทษจำคุก 1 ปี โดยศาลมองว่าคดีก่อนซึ่งศาลอุทธรณ์เคยวินิจฉัยไปแล้วว่าที่ดินนั้นเป็นที่สุสาน ในคดีนี้ เมื่อจำเลยยอมรับว่าที่เกิดเหตุเป็นที่เดียวกับคดีก่อน จึงฟังว่าจำเลยบุกรุกในที่ดินดังกล่าว แม้ในคดีหลังจำเลยจะมีพยานหลักฐานใหม่ก็ตาม

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง เนื่องจากการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำที่ใช้ในการพิจารณาคดีแพ่ง หากนำมาใช้ในคดีอาญาย่อมเป็นหลักกฎหมายปิดปาก ซึ่งทำให้การวินิจฉัยการกระทำความผิดของจำเลยในคดีอาญาเป็นไปอย่างจำกัดสิทธิ์ จึงได้พิจารณาไปถึงข้อเท็จจริง และเมื่อพิจารณาคำเบิกความของนายโกศล พบข้อพิรุธ คือ การชี้แนวเขตโดยไม่ทราบแนวเขตที่แน่ชัดตามหนังสือพระราชทาน นอกจากนั้น ตระกูล ณ ระนองยังเคยแจ้งการครอบครองที่ดินต่อทางราชการ ซึ่งมีแนวเขตทั้งสี่ด้านตรงกับหนังสือพระราชทาน และระบุที่ดินเพียง 342 ไร่

แต่เมื่อปี 2558 ศาลฎีกาพิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

เรียกร้องการตรวจสอบตำแหน่งใหม่

คนยืนกลางที่ดิน

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBCThai

คำบรรยายภาพ, บ้านของนายภิรมย์ถูกรื้อเป็นครั้งที่สอง

แม้ว่าชาวบ้านทั้งหมดที่เคยถูกดำเนินคดีบุกรุกที่ดิน จะแยกย้ายกันไปอยู่อาศัยนอกเขตพื้นที่พิพาทดังกล่าวแล้ว แต่มีบางส่วนที่อยากให้มีการตรวจสอบตำแหน่งที่ดินใหม่ เนื่องจากไม่เคยมีการต่อสู้เรื่องการรังวัดมาก่อน โดยมองว่าตระกูล ณ ระนองมีการชี้ผิดตั้งแต่แรก

นางสาวคุณัญญา สองสมุทร บุตรของนายภิรมย์ กล่าวว่า ภายในเดือน พ.ค. ตนจะฟ้องศาลปกครอง ว่าเจ้าหน้าที่ที่ดินที่เคยทำแผนที่พิพาททุกคดี ปฏิบัติหน้าที่ทำให้ชาวบ้านได้รับความเสียหาย เช่น ระบุตำแหน่งเขาระฆังทองผิด และไม่มีการคำนวณเนื้อที่ให้ชัดเจน

ระหว่างนี้ กรมที่ดินได้ส่งหนังสือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง ให้ตรวจสอบเรื่องที่นายภิรมย์ยื่นเรื่องไปที่สำนักนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการให้ตรวจสอบตำแหน่งที่ดินพระราชทาน

บ้านหลังปัจจุบันของนายภิรมย์

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBCThai

คำบรรยายภาพ, บ้านหลังปัจจุบันของนายภิรมย์

"ที่มีปัญหา คือ เขาไม่ยอมทำตามเอกสารของเขา และส่งผลกระทบกับเรา ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีการต่อสู้ว่าไม่มีการทำตามเอกสาร" นางสาวคุณัญญากล่าว และเพิ่มเติมว่า การนำชี้ที่ดินของนายโกศลเพื่อจัดทำแผนที่พิพาทไม่ถูกต้องตรงกับหนังสือพระราชทานที่ดิน จึงทำให้พนักงานที่ดินคำนวณเนื้อที่ที่ดินตามที่นายโกศลนำชี้ว่ามีเนื้อที่กว่า 534 ไร่

ทั้งนี้ นายโกศลยังยืนยันกับบีบีซีไทยว่า พื้นที่ทั้งหมดที่เขานำชี้นั้น อยู่ในขอบเขตของพระบรมราชโองการ

"ทางเราตีความเข้าข้างเรา ทางเขาก็ตีความเข้าข้างเขา แต่ยึดหลักศาลพิพากษา เพราะทุกคนต้องเชื่อฟังคำสั่งศาลอยู่แล้วตามกฎหมายไทย" เขากล่าว

จากพื้นที่กว่า 500 ไร่ที่นายโกศลอ้างว่าเป็นที่ดินของตระกูล ณ ระนองทั้งหมด มีการสร้างสุสานของบุคคลต่างๆ ในตระกูล ณ ระนองไว้เพียง 15 แห่งเท่านั้น และตั้งอยู่แบบกระจัดกระจาย ซึ่งแห่งสุดท้ายสร้างเมื่อปี 2543 ไว้เป็นที่ฝังศพของนายฐิตินันท์ ณ ระนอง อดีตเอกอัครราชทูตไทย

นายภิรมย์ สองสมุทร

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBCThai

คำบรรยายภาพ, นายภิรมย์ สองสมุทร

นายโกศลกล่าวว่า หลังจากนั้น ไม่มีการสร้างสุสานเพิ่มเติม เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูง และการทำสุสานตามประเพณีจีนต้องคำนึงถึงว่าในอนาคตจะมีลูกหลานมาดูแลหรือไม่

จนถึงปัจจุบัน พื้นที่สุสานพระราชทานก็ยังไม่ได้รับการออกโฉนด นับตั้งแต่ที่นายโกศลยื่นเรื่องต่อกรมที่ดินเพื่อทำการรังวัดเมื่อปลายปี 2524

"เราไม่จำเป็นต้องออกโฉนดก็ได้ เพราะมีพระบรมราชโองการ ศักดิ์สิทธิ์กว่าโฉนด" นายโกศลกล่าว

แต่ชาวบ้านคู่พิพาทบอกว่า จะนำเรื่องนี้ ดำเนินการหาความยุติธรรมจนถึงที่สุด

"ขยายเป็น 500 ไร่ ทำให้พ่อเดือดร้อน 30 ปีแล้ว เหมือนตกนรกทั้งเป็น หมดทุกสิ่งทุกอย่าง พ่อไม่มีอะไรเหลือแล้ว พ่ออยากพิสูจน์ความบริสุทธ์ว่าพ่อผิดจริงไหม" นายภิรมย์ใช้สรรพนามแทนตัวว่า "พ่อ" ขณะกล่าวกับ บีบีซีไทย ด้วยน้ำตาคลอ