สนง.อัยการสูงสุด ออกแนวปฏิบัติใหม่ รวบคดี 112 ให้ อสส.พิจารณา

112

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, ปชช.จำนวนหนึ่งออกมาเรียกร้องให้ปฏิรูปกฎหมายอาญามาตรา 112 เมื่อปี 2555 จากกรณีคดีอากง หรือนายอำพล ทองนพกุล วัย 61 ปี ถูกกล่าวหาส่งข้อความหมิ่นพระมหากษัตริย์ 4 ข้อความ ซึ่งศาลตัดสินจำคุก 20 ปี นายอำพลเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งระหว่างจำคุก

สำนักงานอัยการสูงสุดออกแนวปฏิบัติทำความเห็น-คำสั่งคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ให้อัยการสูงสุดพิจารณาเพียงผู้เดียว

สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า นายพรศักดิ์ ศรีณรงค์ รองอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด ทำหนังสือถึงให้รับทราบถึงแนวทางปฏิบัติในการดำเนินคดีอาญา มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ให้อัยการสูงสุดเท่านั้นเป็นผู้พิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ พนักงานอัยการระดับทั่วไปไม่อาจทำความเห็นได้

แนวทางปฏิบัตินี้ ระบุว่าให้สำนักงานอัยการที่ได้รับสำนวนคดี 112 ส่งสำเนาการสอบสวนของพนักงานสอบสวน "ให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาทันที โดยยังไม่ต้องทำความเห็น"

พร้อมกับสำเนาความเห็นคณะกรรมการพิจารณาคดีพระบรมเดชานุภาพของตำรวจ (ถ้ามี) สำเนาคำให้การผู้ต้องหา และเอกสารสำคัญอื่นๆ ได้แก่ สำเนาคำให้การผู้ต้องหา สำเนาประวัติอาชญากร และตำหนิรูปพรรณผู้กระทำผิด

รายงานข่าวของสำนักข่าวอิศราที่เผยแพร่ในวันที่ 27 ก.พ.2561 เปิดเผยบางส่วนของหนังสือเวียนสำนักงานอัยการสูงสุด
คำบรรยายภาพ, รายงานข่าวของสำนักข่าวอิศราที่เผยแพร่ในวันที่ 27 ก.พ.2561 เปิดเผยบางส่วนของหนังสือเวียนสำนักงานอัยการสูงสุด

การวางแนวปฏิบัติให้ส่งคดี 112 ไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด โดยอัยการระดับอื่นไม่ต้องทำความเห็นในคดี ยังรวมถึงขั้นตอนที่ หากพนักงานสอบสวนไม่ดำเนินคดี แต่พนักงานอัยการที่ได้รับสำนวนเห็นว่าควรดำเนินคดีในความผิดมาตรา 112 ด้วย ก็ให้ทำความเห็นแยกส่งต่อสำนักงานอัยการสูงสุด นอกจากนี้ยังรวมถึงขั้นตอนที่มีการดำเนินคดี 112 ในขั้นศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ด้วย

หนังสือเลขที่ อส 0007(อก)/ว 54 ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 ส่งถึง ผู้บริหารระดับสูงในสำนักงานอัยการสูงสุดทุกระดับชั้น อาทิ รองอัยการสูงสุด ผู้ตรวจอัยการ อธิบดีอัยการ อธิบดีอัยการภาค อัยการพิเศษฝ่าย เลขานุการอัยการสูงสุด อัยการจังหวัด ผอ.สำนักงานกิจการและโครงการในพระดำริ โดย หนังสือฉบับดังกล่าวระบุด้วยว่า การดำเนินคดีอาญา มาตรา 112 เป็นคดีสำคัญที่ต้องป้องกันและปราบปรามเป็นพิเศษ เพื่อให้การดำเนินคดีตามอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการเป็นไปด้วยความรอบคอบและรัดกุม

"สำนักงานอัยการสูงสุดจึงวางแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการทำความเห็นและคำสั่งในคดีประเภทดังกล่าว และให้ถือปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน"

นายวันชาติ สันติกุญชร อธิบดีอัยการสำนักงานคณะกรรมการอัยการ ในฐานะโฆษก อสส. ยืนยันกับบีบีซีไทยว่า หนังสือฉบับดังกล่าว เป็นหนังสือเวียนที่สำนักงานอัยการสูงสุดส่งให้อัยการส่วนต่างๆ และชี้แจงแนวปฏิบัติต่อการดำเนินคดี 112 ตามหนังสือเวียนฉบับนี้ว่า "ให้อัยการทำบันทึกเข้ามาเบื้องต้นส่งต่อสำนักงานอัยการสูงสุด โดยไม่ต้องทำสำนวนว่าฟ้องหรือไม่ฟ้อง"

โฆษก อสส. บอกกับบีบีซีไทยอีกว่า เขาไม่ทราบว่าภายในสำนักงานอัยการสูงสุดมีการริเริ่มการออกแนวปฏิบัติชุดนี้เมื่อใด ส่วนที่ผ่านมาเคยมีการออกแนวปฏิบัติเช่นนี้ในคดีสำคัญอื่น ๆ หรือไม่นั้น ให้สอบถามไปยังแผนกคดี

วันชาติ สันติกุญชร (ที่สองจากขวามือ) อธิบดีอัยการ

ที่มาของภาพ, BBC THAI

คำบรรยายภาพ, นายวันชาติ สันติกุญชร (ที่สองจากขวามือ) อธิบดีอัยการ สำนักงานคณะกรรมการอัยการ ในฐานะโฆษก อสส.

ส่วนรายละเอียดขั้นที่ว่าการดำเนินคดี 112 อยู่ในชั้นศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ให้พนักงานอัยการนำสำเนาคำพิพากษา หรือย่อคำพิพากษาให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณา โฆษก อสส. บอกกับบีบีซีไทยว่า "เป็นเรื่องปกติที่มีระเบียบปฏิบัติอยู่"

อย่างไรก็ตาม โฆษก อสส. ระบุว่า ตามปกติคดีประเภทต่างๆ ทางฝ่ายคดีจะมีหนังสือเวียนออกให้อัยการแต่ละลำดับอยู่แล้วเพื่อให้การดำเนินคดีเป็นเอกภาพทั้งองค์กร โดยเฉพาะในคดีสำคัญ

ข้อมูลจากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ระบุว่า นับตั้งแต่หลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557 มีผู้ถูกดำเนินคดีด้วยความผิดอาญา มาตรา 112 อย่างน้อย 94 ราย จำนวนนี้ 43 ราย ถูกพิพากษาจำคุกนับตั้งแต่การเข้ายึดอำนาจของ คสช. เมื่อปี 2557 ส่วนที่เหลือยังอยู่ระหว่างการดำเนินคดี

สำนักงานอัยการสูงสุด

ที่มาของภาพ, BBC THAI

หลังการรัฐประหารปี 2557 คสช.ออกประกาศฉบับที่ 37/2557 กำหนดให้คดีที่พลเรือนถูกฟ้องในคดีอาญาที่เป็นความผิดต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการ ตั้งแต่มาตรา 107-112 อยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร

ก่อนใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 55/2559 ยกเลิกนำพลเรือนขึ้นศาลทหารในคดีความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์และคดีความมั่นคง แล้วย้ายไปอยู่ในศาลยุติธรรมปกติ โดยบังคับใช้กับคดีที่เกิดขึ้นหลังออกคำสั่งนี้ในเดือน ก.ย.2559

ก่อนหน้านี้ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม ซึ่งอัยการศาลทหารได้มีคำสั่งไม่ฟ้องในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพสมเด็จพระนเรศวร เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทย เสนอให้ปฏิรูปประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยการแก้ไขทบทวนอัตราโทษจำคุกที่อยู่ระหว่าง 3-15 ปี โดยยกเลิกอัตราโทษขั้นต่ำ และมีคณะกรรมการกลั่นกรองความผิดในคดี 112 ก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม