ทำไมนักการเมืองกลัว ร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง?

สนช. เตรียมพิจารณาร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับแรก ในวันที่ 21 เม.ย. นี้

ที่มาของภาพ, PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, สนช.เตรียมพิจารณาร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับแรก ในวันที่ 21 เม.ย. นี้

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน เสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) จำนวน 2 ฉบับแรก เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นที่เรียบร้อย คือร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากนักการเมืองเพราะมองว่าเป็น "แผนทำลายพรรค" มากกว่าส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็ง

การจัดทำร่าง พ.ร.ป. ทั้ง 2 ฉบับนี้ เป็นไปตามข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ซึ่งระบุให้ กรธ. ต้องจัดทำกฎหมายลูกรวม 10 ฉบับเสนอต่อ สนช. ภายใน 8 เดือนหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย สนช. มีเวลาเพียง 60 วันในการพิจารณาร่างกฎหมายแต่ละฉบับ ซึ่ง สนช. จะเริ่มพิจารณาร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ในวาระที่ 1 รับหลักการ ในการประชุม สนช. วันที่ 21 เมษายน ทั้งนี้การจัดทำกฎหมายลูกมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 150 วันนับจากประกาศใช้ พ.ร.ป. ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งครบ 4 ฉบับ

สำหรับร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง มีเนื้อหา 145 มาตรา โดยเจตนารมณ์ของผู้ยกร่างกฎหมายนี้คือการทำให้ประชาชนร่วมเป็นเจ้าของพรรคการเมือง ไม่ใช่เป็น "พรรคนายทุน" หรือ "พรรคครอบครัว" แบบที่ผ่านมา จึงกำหนดให้สมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งพรรคต้องจ่ายทุนประเดิมคนละ 1,000-300,000 บาท และให้สมาชิกพรรคทั่วไปจ่ายค่าบำรุงพรรคปีละไม่น้อยกว่า 100 บาท นอกจากนี้ยังห้ามกรรมการบริหารพรรคยินยอมให้บุคคลภายนอกที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค เข้าควบคุม ครอบงำ ชี้นำการดำเนินกิจการของพรรค หากฝ่าฝืนจะมีโทษทั้งปรับและจำคุก รวมถึงเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อสกัดปัญหา "นอมินี" หรือการเมืองแบบตัวแทน ซึ่งเกิดขึ้นหลังศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองขนาดใหญ่และขนาดกลางหลายพรรค นับจากเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549

ร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง

ตั้งพรรคการเมืองใหม่ ต้องมีอะไรบ้าง

  • สมาชิกผู้ก่อตั้งพรรค 500 คน

  • สมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งพรรคจ่ายทุนประเดิมคนละ 1 พัน-3 แสนบาท

  • สมาชิกพรรคทั่วไปจ่ายปีละ 100 บาท

  • 1 ปี ต้องมีสมาชิกพรรค 5,000 คน

Paula Bronstein/Getty Images

รวมถึงกำหนดให้สาขาพรรคร่วมพิจารณาและเสนอรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. แทนการให้ฝ่ายบริหารพรรคจัดทำโผผู้สมัครเพียงฝ่ายเดียว โดยมีตัวแทนหญิง-ชายอย่างเท่าเทียมกัน ส่วนพรรคการเมืองที่บอยคอต หรือไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง 2 ครั้งติดต่อกัน จะถูกยุบพรรค นอกจากนี้หากพรรคการเมืองใดนำมวลชนออกไปชุมนุมข้างถนน อาจเข้าข่ายกระทำการล้มล้างการปกครอง มีสิทธิต้องโทษยุบพรรคได้เช่นกันหากมีผู้ไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

ขณะที่การจัดทำนโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง ต้องระบุวงเงินที่จะใช้ แหล่งทุน ความคุ้มค่า และความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย โดยแจ้งให้ กกต. รับทราบ เพื่อป้องกันการหาเสียงโดยใช้นโยบายประชานิยม ที่ช่วยขยายฐานการเมืองให้พรรคขนาดใหญ่ แต่ได้นำประเทศเข้าสู่ความเสียหายจากโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งประเด็นนี้ตั้งคำถามจากพรรคเพื่อไทยว่า "จะทำให้กกต. กลายเป็นผู้เห็นชอบนโยบายของพรรคการเมืองหรือไม่"

อย่างไรก็ตามร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง ได้คลายความกังวลของบรรดานักเลือกตั้ง เมื่อไม่มีการ "เซ็ทซีโร่" หรือบังคับให้พรรคการเมืองที่มีอยู่ในสารบบปัจจุบันรวม 73 พรรคไปยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคใหม่ ตามกระแสข่าวที่ออกมาในช่วงการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่ได้กำหนดว่าภายใน 6 เดือนหลังประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้พรรคการเมืองต้องยืนยันยอดสมาชิกขั้นต่ำ 500 คน หาทุนประเดิมให้ได้ 1,000,000 บาท และภายใน 1 ปีหลังจดทะเบียนจัดตั้งพรรค ต้องมีสมาชิกภาคละไม่น้อยกว่า 500 คน โดยมียอดรวมสมาชิกทั้งประเทศ 5,000 คนและเพิ่มเป็นไม่น้อยกว่า 10,000 คนภายใน 4 ปี นี่ก็เป็นอีกประเด็นที่บรรดาพรรคการเมืองออกมาโจมตี เพราะมองว่าอาจทำให้พรรคการเมืองขนาดกลางล้มหายตายจากไป

ร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง

ยุบพรรค เพราะอะไร

  • ไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง 2 ครั้ง

  • สมาชิกเหลือไม่ถึง 5,000 คนติดต่อกัน 1 ปี

  • สาขาเหลือไม่ถึงภาคละ 1 สาขาติดต่อกัน 1 ปี

  • ล้มล้างการปกครอง

PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP/Getty Images

นายอมร วาณิชวิวัฒน์ กรธ.บอกกับบีบีซีไทยว่า พรรคที่ต้องกลัวร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมืองฉบับนี้มี 2 ประเภทคือ พรรคที่ตั้งขึ้นมาโดยไม่ได้ตั้งใจทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างแท้จริง แต่มุ่งหวังขอรับเงินสนับสนุนปีละหลายล้านบาทจากกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง ที่ผ่านมาพบพรรคขนาดเล็กบางพรรค ใช้โรงเตี๊ยม หรือห้องแถว เป็นที่ตั้งสาขาพรรค ส่วนประเภทที่ 2 คือพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่ไม่วางกลไกการทำงานของกรรมการบริหารพรรค แต่อาศัยความเป็นเจ้าของธุรกิจหิ้วกระเป๋าเงินมาใบเดียว ก็ทำพรรคการเมืองได้ จนกลายเป็น "พรรคนายทุน"

อย่างไรก็ตาม กรธ. ผู้นี้ปฏิเสธว่า การจัดทำกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มีอคติกับพรรคการเมืองใด หรือคิดถึงหน้าใครเป็นพิเศษ แต่ยอมรับว่าต้องการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต ซึ่งสอดคล้องกับคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน

ขณะที่สาระสำคัญของร่าง พ.ร.ป.กกต. กำหนดให้ กกต. มี 7 คน จากปัจจุบัน 5 คน รวมถึงให้ยกเลิกการมี กกต. จังหวัด แล้วเปลี่ยนเป็นการขึ้นบัญชีผู้ตรวจการเลือกตั้งเอาไว้ จังหวัดละ 5-8 คน เป็นเวลา 5 ปี ขณะเดียวกันยังเพิ่มบทบาทให้ กกต. เน้นการทำงานเชิงรุก จากเดิมถูกระบุว่าเป็น "เสือกระดาษ" เพราะไม่มีอำนาจฝ่ายปกครองดูแลผู้กระทำผิดจากการเลือกตั้งได้จริงจัง เช่น สามารถขอความร่วมมือจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ให้ดูเส้นทางการเงินของผู้ที่ซื้อสิทธิ์ขายเสียงได้ และนำหลักฐานนั้นไปดำเนินคดีกับทั้ง 2 ฝ่ายได้ รวมถึงสามารถขอความคุ้มครองพยานจากคดีการเลือกตั้งได้