เนติวิทย์ ใช้ศรัทธาเปลี่ยน "จุฬาฯ"

"ผมต้องการกู้ศรัทธา ต้องการทำให้สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสภาผู้ทรงเกียรติจริงๆ สภาปัจจุบันไม่ทรงเกียรติ ถึงเวลาแล้วที่เราต้องทบทวน" คือ "วรรคทอง" ที่นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตชั้นปี 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวระหว่างการแสดงวิสัยทัศน์ เพื่อชิงเก้าอี้ประธานสภานิสิตจุฬาฯ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2560

นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBCThai

คำบรรยายภาพ, นายเนติวิทย์ เห็นว่าจุฬาฯ เป็นเครื่องสะท้อนสังคมได้ในระดับหนึ่ง ในเวลาเดียวกันก็เป็นสถาบันที่มีความแตกต่างหลากหลาย

ผลคือสมาชิก 27 เสียง จากองค์ประชุมทั้งหมด 36 คน ลงคะแนนเลือกเขาเป็น "ประมุขฝ่ายนิสิต" คนใหม่

นายเนติวิทย์เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า เหตุที่เพื่อนนิสิตเลือกเขาอาจเพราะต้องการเห็น "การเปลี่ยนแปลง" ส่วนเหตุที่เขาลงสมัครเป็นประธานสภานิสิตจุฬาฯ เพราะเห็นบ้านเมือง "วิกฤต" และต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง เขาเห็นว่าการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำให้หลายคนสูญสิ้นศรัทธา อยากหนีไปต่างประเทศ แม้แต่เขาเองไม่อยากอยู่

"แต่คิดว่าในเมื่อเราเกิดในแผ่นดินไทย มาเรียนหนังสือแล้ว การศึกษาสอนให้เราเป็นมนุษย์ จึงต้องการพิสูจน์ว่าผมก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่พยายามทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง" นายเนติวิทย์กล่าว

ย้อนไปปีที่แล้ว นายเนติวิทย์เลือกสมัครเข้าเรียนคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เป็นอันดับแรก เพราะตั้งใจ "เข้าไปหาสังคมใหม่" และดูเหมือนการใช้ชีวิตในฐานะ "สิงห์ดำ" จะตอบโจทย์เขา และทำให้ "ตัวตน" ของเขาเปลี่ยนไปเป็นแบบ "อัตลักษณ์ของชาวจุฬาฯ" หรือไม่

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBCThai

คำบรรยายภาพ, นายเนติวิทย์เคยถูกด่าว่า ขู่ฆ่า ตลอด 6 ปีที่เคลื่อนไหวในนามกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท แต่ยืนยันจะไม่ทิ้งจุดยืนตัวเอง

"ผมเปลี่ยนไป แต่ก่อนตอนเป็นนักเรียนมัธยมไม่มีความสุข เรียนอะไรก็ไม่รู้ แต่มาที่นี่มีเพื่อน มีกัลยาณมิตรที่ดี มีสังคม แม้คนคิดต่าง แต่ก็คุยกันได้ ผมเห็นว่าประเทศจะเปลี่ยนได้ต้องทุกคณะคุยกัน ก็มีความหวัง มีความสุข"

ส่วนภาพลักษณ์ศักดินา-อนุรักษ์นิยมที่อยู่คู่กับสถาบันเก่าแก่แห่งนี้ นายเนติวิทย์ชี้ว่าบางอย่างคือเครื่องสะท้อนสังคม แต่ก็มีบางมุมที่ไม่ได้เป็นอย่างที่คนนอกเข้าใจ

"จุฬาฯ เป็นเครื่องสะท้อนสังคมไทยได้ในระดับหนึ่ง เพราะมีคนที่มีอภิสิทธิ์เหนือกว่าคนอื่น มีฐานะดีกว่าคนอื่น กระเดียดไปในทางว่าถ้าฉันเป็นนิสิตจุฬาฯ ต้องไม่เหมือนประชาชนทั่วไป แต่ความจริงอีกอย่างก็คือที่นี่มีความแตกต่างหลากหลาย เคยมีคนเตือนว่าผมจะอยู่ไม่ได้ แต่ผ่านมาจนตอนนี้ผมก็อยู่ได้ และมีเพื่อนจำนวนมาก" นายเนติวิทย์กล่าว

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายกิจกรรมที่เขาคิด-ทำในฐานะ "เยาวชนหัวก้าวหน้า" สร้างภาพจำไปพร้อมกันว่าเป็น "พวกหัวรุนแรง" ทั้งต่อต้านระบบรับน้อง ตัดผมทรงหัวเกรียน ตั้งคำถามกับพิธีกรรมไหว้ครู ฯลฯ

เขาอธิบายว่า ตลอด 6 ปีที่เคลื่อนไหวในนามกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท" ได้แสดงออกอย่างเปิดเผย-ไม่มีเป้าหมายอื่นนอกจากทำให้สังคมดีขึ้น ยอมถูกด่าว่า ถูกขู่ฆ่า แต่ก็ยังเชื่อมั่นและไม่ทิ้งจุดยืนตัวเอง

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

ที่มาของภาพ, REUTERS/Chaiwat Subprasom

คำบรรยายภาพ, นายกรัฐมนตรีแสดงความเห็นถึงการที่นายเนติวิทย์ได้รับเลือกเป็นประธานสภานิสิตจุฬาฯ ด้วย

นั่นทำให้เขาไม่ทิ้งวาระการศึกษา ประกาศ "ปฏิรูปการรับน้อง" เป็นภารกิจแรกในฐานะประธานสภานิสิตจุฬาฯ คนใหม่หลังเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 1 มิ.ย.นี้

"ที่ต้องปฏิรูปเพราะมีบางคณะที่รุนแรงไปบ้าง แม้หลายอย่างจะเปลี่ยนไป หลายคณะไม่มีว๊าก ไม่มีความรุนแรง แต่ผมคิดว่าทำอย่างไรให้เป็นบรรทัดฐานในการจำกัดอำนาจ ให้เป็นประเพณีไปเลย เพื่อให้เป็นหลักประกันเรื่องสิทธิเสรีภาพแบบถาวร มากกว่ามาออกคำสั่งระงับการรับน้องหลังเกิดเหตุรุนแรง แล้วปีหน้าปัญหาก็กลับมาอีก ในบ้านนี้เมืองนี้ การจะคิดทำอะไร ต้องคิดยาวๆ"

นอกจาก "รื้อระบบรับน้อง" เขายังพร้อม "ปฏิวัติอำนาจ" ตัวเองด้วยการออกแถลงการณ์วิจารณ์ตนเองในอีก 6 เดือนข้างหน้า

"ผมคิดว่าพอทำงานครึ่งเทอม ต้องรู้มีอะไรผิดพลาด เป็นประธานก็ต้องวิจารณ์ตัวเอง ไม่ใช่รอคนอื่นวิจารณ์ ก็จะออกเป็นแถลงการณ์ การเป็นประธานสภานิสิตจุฬาฯ ไม่ใช่อะไรที่ยิ่งใหญ่ ผมแค่อยากเป็นต้นแบบว่าต้องกล้าพูด เทคแอคชั่น เพื่อตอกย้ำว่าในสังคมเราต้องพูดกันให้ได้"

การขึ้นสู่ตำแหน่ง "ประมุขฝ่ายนิสิตจุฬา" ของนายเนติวิทย์ ทำให้ "ประมุขฝ่ายบริหารของประเทศ" ที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึงกับบอกว่า "ผมนึกเสียดายและเป็นห่วง เพราะเสียชื่อสถาบัน" เนื่องจากเขาเป็นเจ้าของแนวคิดยกเลิกพิธีหมอบกราบ

นายเนติวิทย์หัวเราะเล็ก ๆ ก่อนบอกว่า "เป็นเกียรติมากที่พล.อ.ประยุทธ์พูดถึงผม ครั้งนี้โดนแรงมาก เกิดมานายกฯ ไม่เคยพูดถึงผมเลยนะ ไม่ว่าจะเคลื่อนไหวอะไร เพราะผมเป็นคนนอกระบบ ก็โดนมาเยอะแยะ อย่างที่บอกว่าผมเป็นคนพูดจาเปิดเผย ไม่ได้ปิดบังซ่อนเร้น แต่คนไทยไม่ชอบคนพูดตรง ๆ สำหรับเมืองไทยแทบไม่มีที่ยืน"

ในฐานะประธานสภานิสิตจุฬาฯ เขาต้องการบันทึกประวัติศาสตร์หน้านี้ว่า "ไม่ใช่ประธานสภาแบบขนบ ต้องยิ่งใหญ่ ต้องเป็นท่าน เหนือกว่าคนอื่น นี่คือคนธรรมดาที่จริงใจ และให้คนจำว่าผมเป็นคนหัวก้าวหน้าที่ไม่ปิดบังตัวเอง หากเราทำให้ทุกคนมีศรัทธาร่วมกัน เราก็จะเปลี่ยนแปลงประเทศนี้"