ครอบครัวไผ่ ดาวดิน รับรางวัลสิทธิมนุษยชนแทนบุตรชายที่เกาหลีใต้

นายวิบูลย์ และนางพริ้ม บุญภัทรรักษา ที่เมืองกวางจู ประเทศเกาหลีใต้

ที่มาของภาพ, นายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา/FACEBOOK

คำบรรยายภาพ,

นายวิบูลย์ และนางพริ้ม บุญภัทรรักษา ในงานรับรางวัลสิทธิมนุษยชนกวางจู ที่ประเทศเกาหลีใต้ วันนี้ (18 พ.ค.)

ไผ่ ดาวดิน ฝากข้อความผ่านกรงขัง ระหว่างให้พ่อ-แม่รับรางวัลแทนที่เกาหลีใต้ "สิทธิเสรีภาพของประเทศไทยภายใต้รัฐประหาร ไม่มีจริง"

นายวิบูลย์ และนางพริ้ม บุญภัทรรักษา บิดาและมารดาของนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน นักศึกษานักกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตย เข้ารับรางวัลสิทธิมนุษยชนกวางจูประจำปี 2017 ที่ประเทศเกาหลีใต้ แทนบุตรชายที่ไม่ได้รับสิทธิประกันตัว ระหว่างถูกฝากขังในเรือนจำ จ.ขอนแก่น เป็นเวลา 147 วัน ตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค.2559

รางวัลสิทธิมนุษยชนกวางจู เป็นรางวัลที่มูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนเกาหลีใต้ มอบให้กับนักต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยทั่วโลก เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ลุกฮือทางการเมืองของชาวเกาหลีใต้ที่ออกมาต่อต้านการปกครองของเผด็จการทหารเมื่อเดือน พ.ค.ปี 2523

ในถ้อยแถลงก่อนมอบรางวัล คณะกรรมการกล่าวถึงนายจตุภัทร์ และนักร้องเพลงแร๊พชาวบูร์กินาฟาโซ ที่ได้รับรางวัลนี้เช่นกันว่า จิตวิญญาณของกวางจูได้รับการสืบทอดจากบุคคลทั้งสอง พวกเขาเป็นพลเมืองโลกที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่น ผ่านการรณรงค์ปกป้องประชาธิปไตย

นางพริ้ม ขึ้นกล่าวบนเวทีหลังรับรางวัลว่า นายจตุภัทร์ ฝากข้อความมาจากหลังลูกกรง ว่ารางวัลนี้สะท้อนสิทธิเสรีภาพของประเทศไทยที่อยู่ภายใต้รัฐประหารที่ขณะนี้ไม่มีจริง การเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมืองของเขา ตั้งแต่ก่อนการรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 ก็เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพอย่างแท้จริง และเขาเชื่อว่าการมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะทำให้ประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้กว่ารัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร

"เป็นรางวัลที่ตอกย้ำความเชื่อ ความคิด ความฝัน ในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ จึงอยากให้รางวัลนี้เป็นรางวัลของทุกคน ขอขอบคุณที่เห็นคุณค่าการต่อสู้เพื่อสิทธิ์ และขอให้เสรีภาพจงมีแก่ทุกคน" นางพริ้ม กล่าวบนเวที ที่เมืองกวางจู ประเทศเกาหลีใต้

กลุ่มนักศึกษาทำกิจกรรมรณรงค์เรียร้องสิทธิประกันตัวแก่ ไผ่ ดาวดิน

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

นางพริ้มได้บรรยายความเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของบุตรชาย ตั้งแต่ลงไปทำกิจกรรมส่งเสริมความรู้ทางกฎหมายให้ชาวบ้านเพื่อปกป้องทรัพยากรและสิทธิชุมชน กระทั่งเมื่อมีรัฐประหารเมื่อปี 2557 การเคลื่อนไหวเรียกร้องของชาวบ้านได้ถูกจำกัดสิทธิ์ลง ด้วยคำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองของ คสช. นอกจากนี้เขายังเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย

เธอชี้ว่านายจตุภัทร์ควรได้รับสิทธิในการประกันตัวชั่วคราว ในคดีแชร์บทความพระราชประวัติ ร.10 จากเว็บไซต์บีบีซีไทย เพื่อออกมาต่อสู้คดีตามกติกาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคีอยู่

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 16 พ.ค. ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ผอ.สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นองค์กรที่เสนอชื่อนายจตุภัทร์ให้ได้รับรางวัลนี้ เป็นตัวแทนพ่อและแม่ของนายจตุภัทร์ เข้ายื่นจดหมายถึงนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้มีคำขอโทษอย่างเป็นทางการ และชี้แจงกรณีนายศรัณย์ เจริญสุวรรณ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ มีหนังสือตอบกลับไปยังมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก ว่านายจตุภัทร์ เป็นผู้กระทำผิดตามกฎหมายไทย และได้กระทำผิดซ้ำอันเป็นเงื่อนไขให้ไม่ได้รับประกันตัว

ครอบครัวไผ่ ดาวดิน

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

นายวิบูลย์ และนางพริ้มระบุว่า จดหมายดังกล่าวมีการบิดเบือนข้อเท็จจริง พร้อมชี้แจงว่าศาลยังไม่มีคำตัดสินคดีอันเป็นที่สุด ตามรัฐธรรมนูญไทยและกติกาสากลสิทธิมนุษยชน จึงถือว่านายจตุภัทร์ยังเป็นผู้บริสุทธิ์ และข้อกล่าวหาว่ากระทำผิดซ้ำซากจากการโพสต์ข้อความเย้ยหยันอำนาจรัฐ ไม่เคยมีอยู่ในเงื่อนไขประกันตัว อีกทั้งเนื้อหาของจดหมายสถานทูตไทยที่บอกว่า สนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย ก็คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงที่มีการปิดกั้นสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวนายจตุภัทร์

สำหรับรางวัลนี้ นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชน ภรรยาของนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายด้านสิทธิมนุษยชนของไทยซึ่งหายตัวไปตั้งแต่ปี 2547เคยได้รับรางวัลมาเมื่อปี 2549