แม่น้ำแคนาดาเปลี่ยนทิศใน 4 วัน แทนที่จะใช้เวลานับพันปี

ธารน้ำแข็งคาสคาวูล์ชในประเทศแคนาดา

ที่มาของภาพ, DAN SHUGAR/UNIVERSITY OF WASHINGTON TACOMA

คำบรรยายภาพ, ภาพถ่ายทางอากาศแสดงให้เห็นธารน้ำที่ละลายจากปลายธารน้ำแข็งคาสคาวูล์ช (ซ้าย) ซึ่งเป็นตัวการลักน้ำจากแม่น้ำสายหนึ่งไปสู่อีกสายหนึ่ง

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากสหรัฐฯและแคนาดา ร่วมกันเผยแพร่ผลสำรวจทางภูมิศาสตร์ล่าสุดของดินแดนยูคอนทางตะวันตกเฉียงเหนือของแคนาดาในวารสาร Nature Geoscience โดยระบุว่าแม่น้ำสลิมส์ ซึ่งเป็นทางเดินของน้ำที่ละลายจากธารน้ำแข็งคาสคาวูล์ช ได้เหือดแห้งหายไปภายในระยะเวลาเพียง 4 วันระหว่างช่วงฤดูใบไม้ผลิของปีที่แล้ว เนื่องจากภาวะโลกร้อนทำให้ธารน้ำแข็งกร่อนสั้นลงจนเกิดปรากฏการณ์ "ลักน้ำ" (River piracy) จากทะเลสาบต้นน้ำของแม่น้ำสายดังกล่าว

ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ "ลักน้ำ" ซึ่งเปลี่ยนทางเดินของน้ำจากแม่น้ำสายหนึ่งไปยังอีกสายหนึ่งนั้นหาพบได้ยาก และตามปกติต้องใช้เวลานานนับพันปีจึงจะทำให้แม่น้ำสายหนึ่งแห้งหายไปได้ แต่การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกที่รุนแรงในปัจจุบัน ทำให้ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นกับแม่น้ำสลิมส์ได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน

ทีมนักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า ธารน้ำแข็งคาสคาวูล์ชนั้นมีทะเลสาบธารน้ำแข็งที่ส่วนปลายหลายแห่ง และเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสองสาย คือ แม่น้ำคาสคาวูล์ชและแม่น้ำสลิมส์ ซึ่งการที่ธารน้ำแข็งกร่อนสั้นลงเนื่องจากภาวะโลกร้อน ทำให้ทะเลสาบแห่งหนึ่งซึ่งเป็นต้นธารของแม่น้ำสลิมส์ไหลเข้าไปรวมกับทะเลสาบอีกแห่ง จนแม่น้ำสลิมส์เหือดแห้งแต่แม่น้ำอีกสายกลับได้รับปริมาณน้ำมากขึ้น ส่วนทางเดินน้ำของแม่น้ำสลิมส์ที่เคยไหลขึ้นเหนือ กลับเปลี่ยนมาเป็นไหลลงใต้ผ่านแม่น้ำอัลเส็กออกสู่อ่าวอลาสกาแทน

ธารน้ำแข็งคาสคาวูล์ชในประเทศแคนาดา

ที่มาของภาพ, DAN SHUGAR/UNIVERSITY OF WASHINGTON TACOMA

ก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบียของแคนาดา ได้เคยทำนายไว้ว่าจะเกิดปรากฏการณ์แม่น้ำเปลี่ยนทิศขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว แต่ไม่มีผู้ใดคาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วกะทันหันเช่นนี้

การเปลี่ยนทิศทางเดินของน้ำที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อสัตว์ที่หากินในบริเวณดังกล่าว รวมทั้งฝูงแกะและฝูงปลาในแม่น้ำ รวมทั้งสมดุลเคมีของระบบทะเลสาบและธารน้ำในบริเวณดังกล่าวด้วย