ครบรอบรัฐประหาร: สามปีของการเลือกฟังนักการเมือง

  • หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • ผู้สื่อข่าวอิสระ บีบีซีไทย
คำบรรยายวิดีโอ, นายจาตุรนต์ ฉายแสง และนายวิทยา แก้วภราดัย มีวิถีชีวิตต่างกันมากหลังรัฐประหารปี 57

เพราะเหตุผล 7 จาก 10 ข้อ ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้เป็นข้ออ้างในการก่อรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 เกี่ยวข้องกับการ "ใช้อำนาจทางการเมือง" และ "ความแตกแยกทางความคิดทางการเมือง" ทำให้เสรีภาพทางการเมืองยังถูกจำกัดตลอด 3 ปีที่ผ่านมา

นักการเมืองยังถูก "กระชับพื้นที่" ด้วยประกาศ คสช.ห้ามชุมนุมการเมืองเกิน 5 คน และห้ามประชุมพรรค แม้ในทางปฏิบัติ "ขุนทหาร" จะปล่อยให้ "คนการเมือง" พบกันได้แบบลับๆ ก็ตาม

การแสดงความคิดเห็นต่างจากผู้มีอำนาจ ยังถูก "ดูดเสียง" อย่างต่อเนื่องด้วยอำนาจพิเศษ-เครื่องมือทางกฎหมาย สังคมไทยจึงมีเรื่องที่ "พูดได้" และ "ห้ามพูด" เพื่อรักษาความมั่นคงแห่งรัฐและความปรองดอง

เสรีภาพทางความคิดที่ถูกเปล่งออกมาเป็นเสียง-ประกาศต่อสาธารณะ จึงทำให้เจ้าของความคิดถูกตั้งข้อหา

ลองดี ได้คดี

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ สังกัดพรรคเพื่อไทย เป็นหนึ่งบุคคลที่ต้องวิ่งขึ้น-ลงศาล เพราะตกเป็นผู้ต้องหาคดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.เรียกรายงานตัว และคดียุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการเปิดแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย และเผยแพร่ข้อความต่อต้านการปกครองของ คสช.ทางเฟซบุ๊ก

ชีวิตนายจาตุรนต์ ฉายแสง

หลังรัฐประหาร 22 พ.ค.2557

  • ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัว คสช.และข้อหายุยงปลุกปั่น-ผิด พ.ร.บ.คอมฯ 2 คดี

  • ติดคุกตามคำอนุญาตฝากขังของศาลทหาร 12 วัน

  • ถูกระงับธุรกรรมทางการเงิน-เพิกถอนหนังสือเดินทาง ถึงปัจจุบัน

  • ถูกเรียกไปปรับทัศนคติ 1 ครั้ง

  • ไม่ได้รับอนุญาตจาก คสช.ให้ไปต่างประเทศ 2 ครั้ง

WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

จากไม่เคยต้องคดีใดๆ ตลอด 30 ปีที่เล่นการเมือง เขากลายเป็นผู้ต้องหาคดีแรกของศาลทหารกรุงเทพ หลังรัฐประหารปี 2557 และเป็นนักการเมืองคนแรกที่ต้อง "ติดคุก" 12 วันตามคำอนุญาตฝากขังผัดแรก

"ผมเคยลำบากมามากๆ สมัยเป็นนักศึกษา (หนีเข้าป่าหลังเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519) ดังนั้นเรื่องความลำบากมันพอทนได้ แต่อายุมันก็ต่างกัน ตอนนั้นราว 20 ปี แต่ตอนนี้อายุมากแล้ว ความจริงผมก็ได้รับการดูแลเหมือนคนป่วยหน่อยๆ เพราะเป็นทั้งโรคภูมิแพ้ และนอนไม่ค่อยหลับ แต่ต้องนอนในที่ไม่ปิดไฟ ก็พยายามปรับตัว" นายจาตุรนต์เปิดเผยกับบีบีซีไทย

กิจวัตรในเรือนจำดำเนินไปแบบเดิมแทบทุกวัน ตื่นนอน รับประทานอาหาร สนทนากับผู้มาเยี่ยม พูดคุยกับเพื่อนผู้ต้องขัง อ่านหนังสือ และหาเวลาออกกำลังกาย ถึงขั้นวางแผนเรียนชกมวยกับผู้ต้องขังที่เป็นอดีตนักมวยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เนื่องจาก "สายข่าวนอกคุก" แจ้งว่ามีโอกาสถูก "ขังยาว" แต่ปรากฏว่าได้รับอิสรภาพคืนมาเสียก่อน

นอกจากนี้นายจาตุรนต์ยังถูกระงับการทำธุรกรรมการเงินและอายัดบัญชีจนถึงปัจจุบัน ไม่สามารถเบิกเงิน ใช้บัตรเครดิต เล่นหุ้น รวมถึงไม่มีประกันสุขภาพใดๆ ซึ่งผูกติดอยู่กับบริษัทประกันชีวิต อันเป็นธุรกรรมต้องห้ามตามคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 10/2557

"ก็กลายเป็นคนพกเงินสด บัตรเอทีเอ็มก็ชักจะลืมๆ ไปแล้วว่าหน้าตาเป็นอย่างไร" เขากล่าวติดตลก

เจ้าหน้าที่ทหารเข้าควบคุมคุมตัวนายจาตุรนต์ ฉายแสง ระหว่างเปิดแถลงข่าวเกี่ยวกับผลกระทบจากการรัฐประหาร ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2557 โดยเขาตะโกนบอกสื่อมวลชนไทยและเทศเป็นคำสุดท้ายว่า "ไม่ต้องห่วงผม"

ที่มาของภาพ, Borja Sanchez-Trillo/Getty Images

คำบรรยายภาพ, เจ้าหน้าที่ทหารเข้าควบคุมคุมตัวนายจาตุรนต์ ฉายแสง ระหว่างเปิดแถลงข่าวเกี่ยวกับผลกระทบจากการรัฐประหาร ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2557 โดยเขาตะโกนบอกสื่อมวลชนไทยและเทศเป็นคำสุดท้ายว่า "ไม่ต้องห่วงผม"

นายจาตุรนต์ยังอยู่ในสภาพคล้าย "ถูกกักบริเวณ" เมื่อกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ สั่งเพิกถอนหนังสือเดินทาง จำนวน 3 ฉบับ ตั้งแต่ปี 2558 ถึงปัจจุบัน แม้ศาลปกครองกลางตัดสินเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2560 ให้เขาชนะคดี ด้วยเหตุผล "เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม" แต่กรมการกงสุลและอัยการยื่นอุทธรณ์ ทำให้แผนเดินทางไปเยี่ยมหลานและหาหมอในต่างแดนต้องอยู่ในสถานะ "รอ"

แม้คดีทั้งหมดที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง แต่อดีตรัฐมนตรีรายนี้ขอเดินหน้าใช้สิทธิพูด-โพสต์ต่อไป

"เรื่องที่ถูกดำเนินคดีมันคิดไม่ได้ว่าคุ้มไม่คุ้ม เพราะว่าเป็นเพียงการชี้แจงเหตุผล และเป็นการพยายามแสดงความเห็นที่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคมขณะนั้น ผมยืนยันว่าการเสนอความเห็นแต่ละครั้งไม่ผิดกฎหมาย เพียงแต่ว่าบรรทัดฐานของทางราชการเปลี่ยนไป คือมีการจ้องเล่นงานคนที่แสดงความคิดเห็นแตกต่าง หรือโดยเฉพาะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล คสช. และรัฐธรรมนูญ" นายจาตุรนต์ระบุ

"คนดี" ได้เป็น สปท.

สวนทางกับมุมมอง และวิถีชีวิตของนายวิทยา แก้วภราดัย อดีต รมว.สาธารณสุขจากพรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำมวลชนที่เรียกตัวเองว่า "คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" (กปปส.) ที่เห็นว่าในช่วง 3 ปีหลังรัฐประหาร เสรีภาพทางการเมืองไม่ได้ถูกจำกัดมากนัก

"เขาก็ไม่ได้เคร่งครัดมากถึงขั้นคุณพูดการเมืองไม่ได้เลย ยังมีคนออกมาขย่มรัฐบาลได้ทุกวัน ผมว่าเป็นรัฐบาลเผด็จการที่ค่อนข้างจะผ่อนปรนมากๆ นะ" นายวิทยากล่าวกับบีบีซีไทย

แกนนำ กปปส. นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ (ขวา) แถลงเปิดตัวมูลนิธิ "มวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย" เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2558 โดยยืนยันว่าจะไม่กลับไปเป็นนักการเมือง ไม่กลับพรรคประชาธิปัตย์

ที่มาของภาพ, PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, แกนนำ กปปส. นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ (ขวา) แถลงเปิดตัวมูลนิธิ "มวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย" เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2558 โดยยืนยันว่าจะไม่กลับไปเป็นนักการเมือง ไม่กลับพรรคประชาธิปัตย์

โดยส่วนตัว นายวิทยารู้สึกได้รับผลกระทบจากการยึดอำนาจน้อยมาก เคยถูกทหารเชิญไปพูดคุย 3 ชั่วโมงแล้วปล่อยตัวออกมา จากนั้นก็ไม่มี "ชายชุดพราง" แวะมาสอดส่องอีกเลย ตรงกันข้าม รัฏฐาธิปัตย์ที่มาจากปากกระบอกปืน ยังผูกมิตรกับเขาด้วยคำสั่งแต่งตั้งให้เป็น 1 ใน 250 สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)

ชีวิตนายวิทยา แก้วภราดัย

หลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557

  • ถูกตั้งข้อหาโดย คสช. 0 คดี

  • ถูกดำเนินคดีกบฏและอื่นๆ ช่วงชุมนุม กปปส. 8 ข้อหา

  • ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิก สปท. 1 ปี 7 เดือน

  • ได้รับอนุญาตจาก คสช.ให้ไปต่างประเทศ 3-4 ครั้ง

WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

นายวิทยาจึงเป็นนักการเมืองน้อยคนที่ไม่ตกงานในช่วง "แช่แข็งประเทศ" ทว่าตลอดเวลา 1 ปี 7 เดือนของการทำหน้าที่ใน "สภาแต่งตั้ง" เขากลับรู้สึกแปลกแยก เพราะไม่ใช่คนในสนามนี้ แต่เข้าไปอย่างมีภารกิจ

"เราชุมนุมกันเสร็จ ท่านสุเทพ (เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.) ขอร้องให้ผมไปเป็น สปท. เราก็พยายามปรับตัวเพราะต้องไปอยู่ในแวดวงที่ไม่เคยอยู่มาก่อน ผมเป็นคนที่มาจากการเลือกตั้งตลอด พอเข้าสภากับคนที่ได้รับการแต่งตั้ง วิถีก็แปลกๆนะ... ถ้าจะบอกว่าเข้าไปเป็นผู้ช่วย (คสช.) ก็คือช่วยปฏิรูป เพราะเราพูดเรื่องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เขาก็ตั้งสภาปฏิรูป เราก็เข้าไปช่วย ยืนยันว่าผมให้เขาหมดไส้หมดพุงที่รู้ว่าจะดักการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตได้อย่างไร" นายวิทยากล่าว

ตลอดเวลาที่ร่วมหัวจมท้ายกับ คสช. เขามั่นใจว่าไม่สูญเปล่า เพราะได้ทิ้งผลงานชิ้นโบว์แดงไว้ให้คนข้างหลังแล้ว นั่นคือข้อเสนอปฏิรูปพรรคการเมืองซึ่งถูกบรรจุลงร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำลังยกร่างในขณะนี้

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมเดินเท้าไปรัฐสภา เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านการผลักดันร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2556 ก่อนที่ประเด็นนี้จะกลายเป็นตัวจุดชนวนชุมนุมใหญ่ของ กปปส. ปี 2556-2557

ที่มาของภาพ, PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมเดินเท้าไปรัฐสภา เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านการผลักดันร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2556 ก่อนที่ประเด็นนี้จะกลายเป็นตัวจุดชนวนชุมนุมใหญ่ของ กปปส. ปี 2556-2557

"เชื่อมั่นในระบบรัฐสภา"

2 พ.ค. 2560 นายวิทยาลาออกจาก สปท.ตามข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เพื่อเตรียมลงสนามเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์ เขาแจ้งเพื่อนร่วมสภาปฏิรูปฯ ว่า "ผมมาจากการเมือง ต้องกลับไปสู่การเมือง" และไม่เฉพาะนายวิทยาเท่านั้นที่วางอนาคตไว้เช่นนี้ เพราะแกนนำ กปปส.ทุกคน ยกเว้นนายสุเทพ เตรียมหวนคืนพรรคต้นสังกัดเดิม

"เท่าที่แลกเปลี่ยนกัน ทุกคนก็กลับพรรค กลับไปที่เดิม ยังไม่เห็นใครคิดจะไปทำอย่างอื่นเลย จะย้ายพรรค จะไปตั้งพรรคใหม่ ยังไม่มี ทุกคนกลับมาที่เดิม.. เราคุยกันตั้งแต่ต้นว่าเสร็จภารกิจแล้ว เรากลับบ้าน มวลชนที่มาก็กลับบ้าน ทุกคนเสร็จภารกิจก็กลับบ้าน ไปบวช ไปทำงานตามปกติ เพราะฉะนั้นเมื่อเรามาจากบ้านประชาธิปัตย์ เราก็กลับประชาธิปัตย์" แกนนำ กปปส.กล่าว

พร้อมระบุ ไม่คิดว่าพลพรรคประชาธิปัตย์จะออกโรงตีกันพวกเขา ฐานไปเล่นการเมืองบนถนน-ฉีกสโลแกน "เชื่อมั่นในระบบรัฐสภา" ของบุรุษอาวุโสของพรรค เนื่องจากมีนักการเมืองค่ายเดียวกันเดินตามไปบนถนน-ไปขึ้นเวที กปปส.หลายคน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไปใช้สิทธิลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2559 โดยถือเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ที่จัดทำในยุครัฐบาล คสช.

ที่มาของภาพ, LILLIAN SUWANRUMPHA/AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไปใช้สิทธิลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2559 โดยถือเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ที่จัดทำในยุครัฐบาล คสช.

ปัจจุบัน ฉากชีวิตของนายวิทยากับนายจาตุรนต์อาจต่างกันสุดขั้ว คนหนึ่งสวมบทบาท "ผู้ช่วย คสช." อีกคนเป็น "นักโทษการเมือง" แต่ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 41 ปีก่อน ทั้งคู่คือนักศึกษาผู้ร่วมอุดมการณ์ต่อต้านเผด็จการทหารในเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 น่าสนใจว่ามุมมองต่อ "ทหาร" และอุดมการณ์ "ประชาธิปไตย" ของพวกเขาเปลี่ยนไปอย่างไร

นายจาตุรนต์เห็นว่าปัญหาใหญ่ของประเทศไทยคือ "ความไม่เป็นประชาธิปไตย"

"น่าเสียดายว่าในปัจจุบันนี้ มันล้าหลังกว่า 10 ปีที่แล้ว และกติกาที่นำมาใช้ ก็ล้าหลังกว่า 40 ปีที่แล้ว เพียงแต่มันซับซ้อนขึ้น วางแผนวางระบบอย่างพิถีพิถันขึ้น บางเรื่องเหมือนจะดี แต่ความจริงเป็นการถอยหลังอย่างมาก.. สำหรับผมยังยึดว่าต้องยืนอยู่ข้างประชาชนส่วนใหญ่ ต้องไม่เห็นด้วยกับเผด็จการรัฐประหาร เห็นด้วยกับความเป็นประชาธิปไตย แต่มาในช่วงหลังๆ ก็เรียนรู้เรื่องสังคมต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับโลกสมัยใหม่" นายจาตุรนต์บอก

ส่วนนิยาม "ประชาธิปไตย" ของนายวิทยาคือ "การเลือกตั้งด้วยเจตนารมณ์ ความรัก ความศรัทธา ไม่ใช่การเลือกตั้งที่เป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์"

แนวร่วม กปปส. ปิดล้อมคูหาเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2557 เรียกร้องให้ "ปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง" ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ เพราะไม่ได้จัดวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

ที่มาของภาพ, Rufus Cox/Getty Images

คำบรรยายภาพ, แนวร่วม กปปส. ปิดล้อมคูหาเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2557 เรียกร้องให้ "ปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง" ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ เพราะไม่ได้จัดวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

ปฏิเสธไม่ได้ว่านักเลือกตั้งมักจับคู่ว่า "มีเลือกตั้งเท่ากับมีประชาธิปไตย" แล้วแปรเสียงข้างมากไปใช้เอื้อประโยชน์ให้ตนและพวกพ้อง นำไปสู่ "เผด็จการรัฐสภา" จนฝ่ายตรงข้ามเรียกหา "เผด็จการทหาร" ให้เข้ามาช่วยปิดเกม

"วันนั้นผมตัดสินใจเลือกระหว่างรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) ที่มีนายทักษิณชักอยู่ข้างหลัง ผมตัดสินใจให้เขาปฏิวัติดีกว่า แต่ว่า ณ วันนี้ ผมเชื่อว่าบ้านเมืองต้องเดินไปสู่หนทางประชาธิปไตย แต่ไม่ใช่ประชาธิปไตยจอมปลอม" นายวิทยากล่าว

ขณะที่นายจาตุรนต์ชี้ว่าบางครั้งมีการพูดถึง "เผด็จการรัฐสภา" แบบเกินความเป็นจริงไป ไม่ว่าอย่างไรระบบรัฐสภาและประชาธิปไตยยังตรวจสอบควบคุมโดยประชาชนได้ ต่างจากเผด็จการทหารที่ไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลได้ ซึ่งจะสร้างความเสียหายมากกว่าและร้ายแรงกว่า

ทุกข์ของนักการเมือง?

เมื่อถามว่าอะไรคือความทุกข์ที่สุดของนักการเมืองอาชีพในช่วง 3 ปีหลังรัฐประหาร? นายวิทยาตอบว่าความทุกข์ของนักการเมืองเริ่มต้นตั้งแต่วันยึดอำนาจ เพราะพวกเขาต้องตกงาน แต่ในขณะเดียวกันการเป็นคนธรรมดาก็ทำให้สามารถไปเที่ยวได้ทั่วทุกภาคของประเทศ

ประชาชนมอบดอกไม้ให้กำลังใจทหารบริเวณหน้าสโมสรกองทัพบก ถ.วิภาวดี สถานที่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557

ที่มาของภาพ, PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, ประชาชนมอบดอกไม้ให้กำลังใจทหารบริเวณหน้าสโมสรกองทัพบก ถ.วิภาวดี สถานที่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557

"ผมเคยชวนคุณรังสิมา (รอดรัศมี อดีต ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์) กับเพื่อนๆ ไปเที่ยวทางภาคเหนือและอีสาน เขาพูดคำเดียวว่ามีความสุขมากในวันที่มี คสช. เพราะเป็นครั้งแรกที่เขามาโดยไม่ต้องกลัวใครไล่ล่าไล่ตี ดังนั้นก็เป็นการคืนความสุขบางอย่างให้กับเรานักการเมืองเหมือนกันนะ" นายวิทยากล่าว

ส่วนความทุกข์ของนายจาตุรนต์คือ "ความเป็นคนที่อยากเห็นบ้านเมืองดีขึ้น แล้วมันไม่สามารถเสนอความเห็น ไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้เต็มที่ และบ้านเมืองก็แย่ลงๆ ไปเรื่อยๆ ต่อหน้าต่อตา"

หากอดีตและปัจจุบันมีผลผูกพัน-กำหนดอนาคต นายจาตุรนต์ทำนายว่าการเข้าไปบริหารประเทศไม่ใช่เรื่องง่ายแล้วสำหรับนักการเมืองภายใต้กติกาใหม่ เพราะกระบวนการต่างๆ ถูกทำลายโดยรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ นี่จึงเป็นโจทย์สำคัญของนักการเมืองที่ต้องคิดว่าจะมีส่วนร่วมผลักดันประเทศให้เป็นประชาธิปไตยแท้จริงได้อย่างไร