สื่อนอกสนใจไทยประกาศห้ามสุงสิงออนไลน์กับบุคคลต้องห้าม

นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ (ซ้าย) และนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

ที่มาของภาพ, PAVIN CHACHAVALPONGPUN

สื่อมวลชนต่างชาติหลายสำนักรายงานข่าวเรื่องที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมห้ามประชาชนงดติดตาม ติดต่อ และเผยแพร่ เนื้อหาข้อมูลของ บุคคลต้องห้ามทางอินเตอร์เน็ต ด้านองค์กรสิทธิประณามเป็นการใช้อำนาจ สร้างความหวาดกลัวแก่ประชาชน และปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก

เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ซิดนีย์ มอร์นิ่ง เฮอรัลด์ ของออสเตรเลีย รายงานว่า รัฐบาลทหารของไทยได้ออกประกาศห้ามประชาชนติดต่อ หรือเผยแพร่ข้อความ ทางสื่อสังคมออนไลน์ จากบุคคลต้องห้าม 3 คน ซึ่งเป็นผู้ที่เขียนวิจารณ์เกี่ยวกับประเทศไทยผ่านสื่อสังคมออนไลน์บ่อยครั้ง ได้แก่ นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ รองศาสตราจารย์ ศูนย์ศึกษาภาควิชา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยเกียวโต นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่งกำลังลี้ภัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศส และนายแอนดรูว์ แม็คเกรเกอร์ มาร์แชล นักข่าวชาวสก็อต

หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ระบุว่า การมีปฏิสัมพันธ์ออนไลน์กับนักวิจารณ์ 3 คนนี้ ถือเป็นการกระทำผิด พรบ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี

ส่วนหนังสือพิมพ์แคนซัส ซิตี้ สตาร์ ในสหรัฐอเมริกา รายงานในทำนองเดียวกันว่า แถลงการณ์ดังกล่าวของกระทรวงดิจิทัลฯ ชี้ว่าประชาชนที่เผยแพร่ข้อมูลของจากบุคคลทั้งสาม อาจจะถือว่ากระทำผิด พรบ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ได้ แม้ว่าจะไม่ได้เจตนาก็ตาม พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า กรณีหมิ่นสถาบันเบื้องสูง หรือที่เรียกว่า Lese Majeste ส่วนใหญ่ อาศัยข้อมูลที่มีการโพสต์ทางอินเทอร์เน็ตและผู้ถูกดำเนินคดีจะถูกตั้งข้อหาตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ด้วย แต่ไม่มีความชัดเจนว่าแง่มุมใดของ พรบ.ฉบับนี้จะถูกนำมาใช้ กับกรณีตามประกาศที่ออกมาเมื่อวันพุธ (12 เม.ย.)

นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์แคนซัส ซิตี้สตาร์ ยังระบุว่า ทางการไทยมีความพยายามจะใช้วิธีจัดการกับเนื้อหาที่พิจารณาแล้วว่าผิดกฎหมายก่อน โดยสั่งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ปิดกั้นหรือบล็อค และทำข้อตกลงกับบริการออนไลน์บางแห่ง เช่น ยูทิวบ์ เพื่อปิดกั้นการเข้าถึงเนื้อหาเหล่านั้นในประเทศไทยด้วย

นายแอนดรูว์ แม็คเกรเกอร์ มาร์แชล นักข่าวชาวสก็อต

ที่มาของภาพ, ANDREW MARSHALL

คำบรรยายภาพ,

นายแอนดรูว์ แม็คเกรเกอร์ มาร์แชล นักข่าวชาวสก็อต

แคนซัส ซิตี้สตาร์ ยังยกตัวอย่างกรณีนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ 'ไผ่' นักศึกษา-นักรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย ที่แชร์ข่าวจากบีบีซีไทยที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกษัตริย์พระองค์ใหม่ โดย'ไผ่' ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเขาให้การปฏิเสธ ขณะที่เนื้อหาในรายงานของบีบีซี กล่าวถึงชีวิตส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ และเนื้อหาอื่น ๆ ที่ถูกมองว่าเป็นประเด็นอ่อนไหวเกินกว่าจะปล่อยให้มีการถกเถียงของสาธารณะในประเทศไทยได้

ฮิวแมนไรท์วอทช์ ชี้เป็นการขู่ให้หวาดกลัว

นายสุณัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ประเทศไทย เปิดเผยกับบีบีซีไทย ว่า การออกประกาศดังกล่าวถือเป็นการขู่ให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวเกินกว่าที่ข้อบังคับ ทางกฎหมายกำหนด เพราะเป็นการประชาสัมพันธ์ว่าบุคคลที่ถูกกล่าวถือเป็นบุคคลต้องห้าม ซึ่งในอดีตรัฐบาลก็เคยมีมาตรการแบบนี้ แต่พุ่งเป้าไปที่สิ่งของต้องห้าม เช่น การสั่ง ห้ามจำหน่ายจ่ายแจกหนังสือ หรือเอกสารต่าง ๆ การสั่งปิดสถานีวิทยุและโทรทัศน์ รวมไปจนถึงการบล็อคเว็บไซต์ แต่ประกาศนี้ได้ก้าวออกมาอีกระดับ คือการประกาศให้บุคคลทั้ง 3 เป็นบุคคลต้องห้ามในโลกออนไลน์ ซึ่งย้อนแย้งกับความเป็นจริงของสื่ออินเทอร์เน็ตที่สามารถเข้าถึงได้ในทุกที่ของโลก

นายสุณัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ประเทศไทย

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/ BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

นายสุณัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ประเทศไทย

"ที่น่าสนใจคือ ประกาศดังกล่าวแทนที่จะทำให้คนหวาดกลัวกับคำสั่ง กลับเป็นการทำให้บุคคลทั้ง 3 คนเป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจเป็นวงกว้างมากยิ่งขึ้น" นายสุณัยกล่าว

แอมเนสตี้ ออกโรงประณาม

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ประณามการตัดสินใจของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ออกประกาศขอให้ประชาชนงดการติดตาม ติดต่อ เผยแพร่เนื้อหาข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลต้องห้ามทางอินเตอร์เน็ตทั้งสามคนว่าเป็นการกีดกันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในระดับที่ย่ำแย่สุด

ไผ่ ดาวดิน

ที่มาของภาพ, BBCTHAI

คำบรรยายภาพ,

ไผ่ ดาวดิน ถูกจับเพราะแชร์บทความของบีบีซีไทย

โจเซฟ เบเนดิกต์ รองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิค แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวในแถลงการณ์เมื่อวานนี้ (12 เม.ย) ว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของกระทรวงดิจิทัลฯ ไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็ง แต่กลับแสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอและความหวาดกลัวในการวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งมาตรการดังกล่าวถือว่าละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง

ด้านศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเผยแพร่ข้อสังเกตต่อประกาศฉบับดังกล่าวว่าไม่มีสภาพบังคับต่อประชาชน มีความไม่ชัดเจน โดยเฉพาะการอ้างถึงคำสั่งของศาลอาญา ให้ระงับการเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันไม่เหมาะสมตาม พรบ. คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 แต่ไม่ระบุว่าศาลมีคำสั่งต่อข้อเท็จจริงใด และ พรบ. ฉบับดังกล่าวก็ไม่ได้ อำนาจศาล สั่งให้ประชาชนเลิกติดตามหรือติดต่อบุคคลใดได้

ศูนย์ทนายฯ ระบุด้วยว่า ประกาศดังกล่าวยังสร้างความสับสนต่อประชาชนทั่วไป ทำให้หวาดกลัวที่จะใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ในขณะที่เนื้อหาตามประกาศยังขัดต่อรัฐธรรมนูญและพันธกรณีตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งรับรองสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก ของประชาชนไว้อีกด้วย