นักวิชาการชี้ ปชต.ตุรกี ถอยหลังลงเหว-ผู้เห็นต่างถูกปิดปาก

คำบรรยายวิดีโอ, นักวิชาการชี้ ปชต.ตุรกี อยู่ในห้วงเวลาเลวร้ายที่สุด

ตุรกีกำลังจะจัดการลงประชามติในวันที่ 16 เม.ย.นี้ เพื่อให้ประชาชนตัดสินเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเพิ่มอำนาจอย่างยิ่งยวดให้แก่ประธานาธิบดีเรเจป ทายยิป แอร์โดอัน และจะทำให้ตุรกีเปลี่ยนรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาไปเป็นการปกครองแบบสาธารณรัฐที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข ความเคลื่อนไหวดังกล่าวสร้างความวิตกกังวลให้แก่กลุ่มผู้เห็นต่างเป็นอย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมาพวกเขาต้องเผชิญการกวาดล้างและลงโทษอย่างหนักจากทางการตุรกี

มาร์ก โลเวน ผู้สื่อข่าวบีบีซีได้พูดคุยกับ ศ.เออเก็ท เอิกเต็ม ทาเนอร์ ศาสตราจารย์กิตติคุณแห่งมหาวิทยาลัยอิสตันบูล และผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทจิตวิทยาคนแรกของตุรกี ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับการลงโทษจากทางการตุรกีหลังจากเธอร่วมลงนามเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการใช้กำลังทางทหารปราบปรามชาวเคิร์ดในหลายพื้นที่ของตุรกี

แผ่นป้ายรณรงค์ให้คนตุรกีลงมติสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, แผ่นป้ายรณรงค์ให้คนตุรกีลงมติสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ศ.ทาเนอร์ วัย 82 ปี เล่าให้ผู้สื่อข่าวบีบีซีฟังว่า การเรียกร้องดังกล่าวทำให้เธอถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัย ถูกตั้งข้อหาโฆษณาชวนเชื่อให้ผู้อื่นก่อการร้าย เธอสูญเสียสิทธิด้านต่าง ๆ ทั้งยังถูกสั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศด้วย ศ.ทาเนอร์ มองว่าประชาธิปไตยของตุรกีกำลังตกอยู่ในห้วงเวลาเลวร้ายที่สุด เพราะระบบศาลไม่มีความเป็นอิสระอีกต่อไป ทำให้ไม่มีการถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ตามหลักการประชาธิปไตย

ประธานาธิบดีแอร์โดอัน เรียกกลุ่มนักวิชาการแบบ ศ.ทาเนอร์ ว่า "พวกที่เรียกว่าปัญญาชน" ที่กระทำการ "ทรยศขายชาติ" โดยหลังจากมีความพยายามก่อรัฐประหารเมื่อปีก่อน ทางการตุรกีได้เดินหน้ากวาดล้างกลุ่มผู้เห็นต่างทางการเมืองครั้งใหญ่ ทั้งยังมีการจำคุกหรือปลดนักวิชาการที่มีความเห็นตรงข้ามกับรัฐบาลหลายพันคน

ประธานาธิบดีแอร์โดอัน ชี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะช่วยสร้างเสถียรภาพให้ประเทศ

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ประธานาธิบดีแอร์โดอัน ชี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะช่วยสร้างเสถียรภาพให้ประเทศ

การจัดการลงประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญของตุรกีในวันอาทิตย์ที่ 16 เม.ย.นี้จึงถูกหลายฝ่ายจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเปิดทางให้มีการปฏิรูประบบการปกครองอันจะทำให้ประธานาธิบดีอยู่ในอำนาจได้ 12 ปีโดยไม่ต้องมีการเลือกตั้ง เพิ่มอำนาจประธานาธิบดีในการออกกฎหมาย การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน การแต่งตั้งรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง รวมถึงการยุบสภา

กลุ่มผู้คัดค้านวิจารณ์ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะนำตุรกีไปสู่การปกครองที่อำนาจอยู่ในมือของคนเพียงคนเดียว แต่กลุ่มผู้สนับสนุนมองว่าสถานการณ์ในปัจจุบันทำให้ตุรกีจำเป็นต้องมีเสถียรภาพทางการเมืองมากกว่านี้ เช่นเดียวกับประธานาธิบดีแอร์โดอันที่ชี้ว่า การปฏิรูประบบจะช่วยสร้างเสถียรภาพในยามที่ประเทศตกอยู่ในภาวะวุ่นวายทางการเมืองและป้องกันไม่ให้เกิดรัฐบาลผสมที่อ่อนแอเหมือนที่ผ่านมา