สำรวจโครงสร้าง "ราชการในพระองค์" ก่อนปรับโครงสร้างใหม่

วัดพระแก้วและพระบรมมหาราชวัง

ที่มาของภาพ, PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP/Getty Images

การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้ (21 เม.ย.) มีวาระสำคัญคือการพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญ 3 ฉบับ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. ….. ร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์แห่งชาติ พ.ศ. ….. และร่าง พ.ร.บ. โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. .....

แต่ปรากฏว่านายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปสนช.) ได้เสนอเปลี่ยนระเบียบวาระ และจัดลำดับวาระการประชุมใหม่ อาศัยอำนาจตามข้อบังคับการประชุมสนช.ข้อที่ 39 (2) ให้พิจารณา "เรื่องด่วนที่ 4" ซึ่งไม่อยู่ในระเบียบวาระการประชุมที่เปิดเผยทางเว็บไซต์ สนช. อย่างไรก็ตามนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. แจ้งต่อที่ประชุมว่า วาระการประชุม "เรื่องด่วนที่ 4" นั้น ได้บรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมเป็นวาระเพิ่มเติมแล้ว

ที่ประชุม สนช. จึงเริ่มพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. …. ที่ ครม. เป็นผู้เสนอ โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้แทนรัฐบาล ได้ขอให้การประชุมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นการประชุมลับ ตามข้อบังคับการประชุม สนช. ข้อที่ 13 เนื่องจาก ครม. ยังไม่ได้ปลดชั้นความลับขั้น "ลับที่สุด" ซึ่งได้ดำเนินการมาตามลำดับ จึงขอดำเนินการตามระเบียบว่าด้วย การรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ.2544 ให้เป็นเรื่อง "ลับที่สุด" ทุกขั้นตอน ทั้งเอกสารและกระบวนการพิจารณา ซึ่งนายพรเพชรระบุว่า เมื่อ ครม. เสนอให้เป็นการประชุมลับ ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับ จึงขอเชิญผู้ที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องออกจากห้องประชุม งดการกระจายเสียง และแพร่ภาพทางโทรทัศน์วงจรปิดทางรัฐสภา

พระบรมมหาราชวัง

ที่มาของภาพ, PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP

ต่อมาเว็บไซด์มติชนและผู้จัดการรายงานว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นการปรับโอนหน่วยงาน ให้คงเหลือ 3 หน่วยงานจาก 6 หน่วยงาน คือ 1.สำนักพระราชวัง ประกอบด้วย สำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง 2.หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ประกอบด้วย กรมราชองครักษ์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ สำนักนายตำรวจราชสำนักประจำ และ 3.สำนักงานองคมนตรี เพื่อให้การบริหารหน่วยงานมีความกระชับมากขึ้น ซึ่งการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ได้ตั้งกรรมาธิการเต็มสภา และได้ผ่านความเห็นชอบ 3 วาระรวด โดยใช้เวลา 2 ชั่วโมง

ขณะที่นายพรเพชรเลี่ยงตอบคำถามสื่อมวลชนประจำรัฐสภา ปฏิเสธจะให้รายละเอียดการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยบอกเพียงว่า เป็นการประชุมลับ ด้านนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ ต่างปฏิเสธที่จะให้คำอธิบายในเรื่องนี้

เปิดโครงสร้างส่วนราชการในพระองค์ก่อนปรับโครงสร้างใหม่

โดยปกติการปรับปรุงส่วนราชการ ระดับกระทรวง ทบวง กรม จะพิจารณาจาก 3 ปัจจัยคือ "งาน-เงิน-คน" กล่าวคือหากมีภารกิจมากขึ้น ก็อาจได้รับการขยับฐานะจาก "กรม" เป็น "กระทรวง" ได้ หรืออาจถูกควบรวม/ยุบเลิกไป ในกรณีที่ภารกิจลดลง หรือหมดความจำเป็นต่อการบริหารราชการแผ่นดิน

ทหารในพระราชวัง

ที่มาของภาพ, PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP

จากการตรวจสอบของบีบีซีไทย พบว่า 4 จาก 6 หน่วยงานที่มีการอ้างถึงตามร่าง พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. …. มีฐานะเป็น "กรม" โดยปัจจุบันสำนักราชเลขาธิการ และสำนักพระราชวัง มีฐานะเป็น "กรม" อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี ขณะที่หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ และกรมราชองครักษ์ เป็น "กรม" อยู่ในสังกัดกระทรวงกลาโหม

สำนักราชเลขาธิการ มี "ราชเลขาธิการ" เป็นผู้บริหารสูงสุด ปัจจุบันคือนายกฤษณ์ กาญจนกุญชร อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ

มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเลขานุการในพระองค์พระมหากษัตริย์ โดยภารกิจหลักเกี่ยวกับงานหนังสือที่หน่วยราชการ หน่วยงานเอกชน และบุคคลทั่วไปส่งเข้ามา เพื่อขอให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต พระบรมราชวินิจฉัยและพระมหากรุณา รวมทั้งหน้าที่รับพระราชทาน พระราชดำริ และพระราชดำรัส เพื่อเชิญไปยังหน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้อง จึงถือว่ามีบทบาทเป็น "ผู้ประสานงาน" ระหว่างพระมหากษัตริย์กับรัฐบาล และหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน

ทหารรักษาพระองค์

ที่มาของภาพ, PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP

สำนักราชเลขาธิการก่อตั้งเป็นหน่วยงานราชการอย่างเป็นทางการ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีชื่อแรกตั้งว่า "ออฟฟิศไปรเวตสิเกรตารี" ทั้งนี้ข้อมูลจากเว็บไซด์สำนักราชเลขาธิการระบุว่า ที่ผ่านมาสำนักราชเลขาธิการมีสถานภาพเปลี่ยนไปตามพระบรมราโชบายของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ และตามนโยบายในการบริหารประเทศของแต่ละรัฐบาล

สำนักพระราชวัง มีเลขาธิการสำนักพระราชวังเป็นผู้บริหารสูงสุด ปัจจุบันคือนายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา

มีภารกิจเกี่ยวกับการจัดการพระราชวัง ตลอดจนดูแลรักษาทรัพย์สินและผลประโยชน์ของพระมหากษัตริย์ มีอำนาจหน้าที่หลัก 11 ประการ อาทิ การถวายความสะดวก, ปฏิบัติงานในพระองค์พระมหากษัตริย์ตามพระราชประสงค์, ปฏิบัติงานพระองค์พระบรมวงศานุวงศ์ ฯลฯ

ทั้งนี้ ผลจากการปฏิรูปการปกครองในประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้แปรสภาพส่วนราชการที่มีหน้าที่ปฏิบัติราชการในพระราชสำนัก ซึ่งเดิมคือ "จตุสดมภ์กรมวัง" เป็น "กระทรวงวัง"

หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ (นถปภ.รอ.) มีผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ

ลานพระบรมรูปทรงม้า

ที่มาของภาพ, Reuters

ทำหน้าที่วางแผน อำนวยการ ประสานงาน บังคับบัญชา ควบคุม และกำกับดูแลการปฏิบัติงานในการถวายอารักขา และถวายพระเกียรติองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท และพระบรมวงศานุวงศ์ รวมทั้งปฏิบัติหน้าที่ทางพระราชพิธีตามที่ได้รับมอบหมาย และรักษาความสงบเรียบร้อยภายในเขตพระราชฐาน ตลอดจนวางแผน อำนวยการ ประสานงาน ดำเนินการ และกำกับงานในหน้าที่ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

สำหรับหน่วยนี้เพิ่งได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น "กรม" ในปี 2556 จากเดิมเป็นหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ สำนักผู้บัญชาการทหารสูงสุด สังกัดกองบัญชาการกองทัพไทย

กรมราชองครักษ์ มีสมุหราชองครักษ์ เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ

ถือเป็นส่วนราชการที่มีภารกิจในการสนองพระเดชพระคุณสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง มีหน้าที่ถวายความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ ทั้งนี้ ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชประสงค์

สำนักพระราชวัง

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

สำนักนายตำรวจราชสำนักประจำ (สง.นรป.) เป็นหน่วยงานระดับ "กองบัญชาการ" ขึ้นตรงต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ (เทียบเท่ารองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ) เป็นหัวหน้า ปัจจุบันคือพล.ต.อ.ไตรรัตน์ อมาตยกุล

โดยมีอำนาจหน้าที่สำคัญ 5 ประการ ได้แก่ ถวายความปลอดภัย, ปฏิบัติตามพระราชประสงค์, ดำเนินการเกี่ยวกับการพิทักษ์รักษาความปลอดภัยในราชสำนัก, ปฏิบัติงานในภารกิจถวายความปลอดภัยตามที่ได้รับมอบหมายจากสมุหราชองครักษ์ และปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือที่ได้รับมอบหมาย

สำนักงานองคมนตรี

รัฐธรรมนูญบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานองคมนตรี 1 คน และองคมนตรีคนอื่นอีกไม่เกิน 18 คนเป็นคณะองคมนตรี มีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวงที่ทรงปรึกษา และมีหน้าที่อื่นตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

ทั้งนี้ตำแหน่งองคมนตรีมีมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในระยะแรกใช้คำว่า "ปรีวีเคาน์ซิล" "ปรีวีเคาน์ซิลลอร์" หรือ "ที่ปฤกษาในพระองค์"