ชาติอาเซียนเดินหน้าสร้างประชาคม ขณะอียูโยกเยกหลังเบร็กซิท

โลโก้อาเซียน 2017

ที่มาของภาพ, AFP

  • Author, รวี วงศ์วารี
  • Role, ผู้สื่อข่าวพิเศษ บีบีซีไทย

ท่ามกลางกระแสของความเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจการเมืองโลกในปัจจุบันหลังจากที่สหราชอาณาจักรตัดสินใจแยกตัวจากสหภาพยุโรปและการขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐของมหาเศรษฐีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมและกีดกันทางการค้า รัฐมนตรีจาก 10 ประเทศอาเซียนที่ร่วมประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียนที่เมืองเซบู ฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 6-7 เมษายนที่ผ่านมา ต่างประกาศความมั่นใจว่า กลุ่มอาเซียนยังจะเดินหน้าบูรณาการเศรษฐกิจเข้าหากันเพื่อสร้างประชาคมที่แข็งแกร่งให้ได้

ผู้เกี่ยวข้องและผู้สังเกตการณ์ทั้งหลายต่างลงความเห็นกันว่า สถานการณ์โลกปัจจุบันจะไม่ได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับกลุ่มอาเซียนในการเดินหน้าบูรณาการทางด้าน สังคม เศรษฐกิจและการเมืองเท่าใดนัก แต่การบูรณาการเพื่อสร้างประชาคมอาเซียนก็จะยังไม่ดำเนินไปอย่างเข้มข้นถึงขีดสุด

ทะเลจีนใต้

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, ข้อพิพาทกรณีกรรมสิทธิ์ทะเลจีนใต้ก่อให้เกิดความตึงเครียดระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน

นายสุริยา จินดาวงษ์ รองอธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ในการประชุมสุดยอดอาเซียนในวันที่ 29 เมษายน ที่จะถึงนี้ที่ประเทศฟิลิปปินส์ บรรดาผู้นำของทั้ง 10 ชาติสมาชิก จะได้หารือเรื่องการสร้างประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางไปด้วยกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อาเซียนมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างประชาคมที่ยังประโยชน์ต่อประชาชนทุกหมู่เหล่าอย่างแท้จริง ไม่เช่นนั้นอาจจะเกิดปัญหาอย่างกรณีเบร็กซิท (Brexit) ได้

ปัญหาประการหนึ่งในการเข้าสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนคือ มีความตกลงอีกจำนวนไม่น้อยยังไม่มีผลบังคับใช้หรือไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเต็มที่ นายสุริยาอ้างรายงานของธนาคารพัฒนาแห่งเอเชียว่า หากความตกลงของอาเซียนได้รับการปฏิบัติจนครบตามที่ตกลงกันเอาไว้ จะทำให้เศรษฐกิจของอาเซียนขยายตัวจนกลายเป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 4 ของโลกในเร็ววันนี้

ปัจจุบันมีอาเซียนพันธกรณีในส่วนของประชาคมการเมือง-ความมั่นคงทั้งสิ้น 14 ฉบับมีผลบังคับใช้แล้ว 11 ฉบับและมีพันธกรณีในรูปแบบต่างๆในส่วนของเศรษฐกิจ 55 ฉบับมีผลบังคับใช้แล้ว 46 ฉบับ อีก 9 ฉบับยังไม่บังคับใช้เลย ส่วนพันธกรณีในด้านสังคม-วัฒนธรรมมีผลบังคับใช้แล้วทั้ง 7 ฉบับ

ตามที่ปรากฏในเว็บไซต์ของอาเซียน ความตกลงที่ยังไม่มีผลบังคับใช้ เช่น พิธีสารต่อท้ายปฏิญญาว่าด้วยกลไกแก้ไขข้อขัดแย้งลงนามในปี 2010 ซึ่งอยู่ในส่วนของประชาคมการเมือง ส่วนในด้านเศรษฐกิจเช่นความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์ประสานงานและควบคุมสุขภาพสัตว์และสวนสัตว์ลงนามในปี 2016 และความตกลงในส่วนของการท่องเที่ยวที่ลงนามในปี 2015

ผู้นำชาติอาเซียน

ที่มาของภาพ, EPA

มีหลายปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดให้การบังคับพันธกรณีหรือความตกลงเหล่านี้เป็นไปได้ยาก เช่น กระบวนการให้สัตยาบันภายในประเทศที่สมาชิกที่ล่าช้า หรือ เกิดจากความแตกต่างทางด้านพัฒนาการทางเศรษฐกิจการเมือง สังคม ทำให้บางประเทศไม่พร้อมจะบังคับใช้หรือปฏิบัติตามพันธกรณีดังกล่าว

ผศ.ดร.มรกต ไมยเออร์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและวิชาการสถาบันภาษาและวัฒนธรรมแห่งเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า แม้อาเซียนจะถือสหภาพยุโรปเป็นตัวอย่าง แต่ด้วยเหตุที่การพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศสมาชิกที่ไม่เท่ากัน ประกอบการพัฒนาเศรษฐกิจโลกที่ผ่านมาในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา ไม่เอื้อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดความเท่าเทียมกัน ทำให้อาเซียนขาดเงื่อนไขสำคัญที่จะพัฒนาการบูรณาการทางเศรษฐกิจให้สุดทาง นั่นคือการสร้างสหภาพทางการเงิน (monetary union) ซึ่งประเทศสมาชิกก็รู้ดีว่าไปไม่ถึงและไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น

"ลักษณะการเมืองภายในของประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ที่ต่างกันและขาดความเป็นประชาธิปไตยและโปร่งใส สมาชิกอาเซียนโดยลึกๆแล้วไม่ต้องการให้เกิดการบูรณาการในเชิงลึกที่ให้เกิดการล้วงลูก (แทรกแซงกิจการภายใน ) มากนัก" ผศ.มรกต กล่าว

(ตอนต่อไป อ่านรายละเอียดความคืบหน้าการบูรณาการด้านเศรษฐกิจของอาเซียน)