เพิ่มเติม : เสรีภาพสื่อไทยร่วง 6 อันดับ ตามหลัง 3 ชาติอาเซียน

หากร่าง พ.ร.บ.นี้ออกมาใช้บังคับ สื่อมวลชนทุกคนไม่ว่านักข่าวหรือช่างภาพ จะต้องขอใบอนุญาตทำงาน

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, หากร่าง พ.ร.บ.นี้ออกมาใช้บังคับ สื่อมวลชนทุกคนไม่ว่านักข่าวหรือช่างภาพ จะต้องขอใบอนุญาตทำงาน

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน เปิดเผยดัชนีชี้วัดเสรีภาพสื่อโลกปี 2560 ไทยอยู่ในอันดับที่ 142 จาก 180 ประเทศ ตกมา 6 อันดับจากปีที่แล้ว โดยมีคะแนนตามหลังประเทศในอาเซียน อย่างเมียนมา (131) กัมพูชา (132) อินโดนีเซีย (124)

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน จัดอันดับประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศสีแดง ซึ่งสื่อตกอยู่ใน "สถานะที่ยากลำบาก" เช่นเดียวกับประเทศจีน รัสเซีย อัฟกานิสถาน อิรัก ตุรกี ปากีสถาน เม็กซิโก และกลุ่มประเทศในแอฟริกา ขณะที่ในกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสีแดงทั้งหมด ยกเว้นเวียดนาม ( 176) ที่อยู่ในกลุ่มประเทศที่สื่อตกอยู่ในสถานะที่มีความตึงเครียดสูง

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนระบุว่าสื่อไทย "ถูกปิดปากด้วยคำว่าความสงบเรียบร้อย" โดยในยุคที่ประเทศอยู่ภายใต้รัฐบาล คสช. สื่อมวลชน และสื่อภาคพลเมือง ถูกตรวจตราโดยรัฐ ถูกเรียกตัวไปสอบถาม ถูกควบคุมตัวโดยพลการ ผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ คสช.จะถูกตอบโต้ด้วยมาตรการทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่มีผลบังคับใช้เมื่อปีที่แล้วยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐสอดส่องและเซ็นเซอร์สื่อ เช่นเดียวกับการใช้ ม.112 ของประมวลกฎหมายอาญา เป็นเครื่องมือในการป้องปรามสื่อมวลชน บล็อกเกอร์ และนักกิจกรรม

สำหรับประเทศที่ถูกจัดอันดับว่ามีเสรีสื่อสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ นอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ ส่วน 5 อันดับท้ายสุด คือ จีน ซีเรีย เติร์กเมนิสถาน เอริเทรีย และเกาหลีเหนือ

การจัดอันดับเสรีภาพสื่อโลกขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อปี 2545 เป็นการจัดอันดับเสรีภาพของสื่อมวลชน 180 ประเทศทั่วโลก โดยใช้ตัวชี้วัดจากความ หลากหลายของสื่อ ความเป็นอิสระ กรอบทางกฎหมายของแต่ละประเทศ ความปลอดภัยในการทำงานของสื่อมวลชน แต่ไม่ได้นับรวมนโยบายสาธารณะของรัฐบาลที่กระทบ ต่อการทำงานของสื่อ

วิษณุบอกปัดให้ สปท. แจงผลักดันกฎหมายให้สื่อขอใบอนุญาต

ในวันนี้ (26 เม.ย.2560) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เตรียมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .... ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งหลายฝ่ายกังวลจะกระทบกับเสรีภาพในการทำงานของสื่อมวลชน ว่า ต้องรอให้ สปท. เสนอมา รัฐบาลถึงค่อยดูเนื้อหา แต่รัฐบาลก็มีจุดยืนของตัวเอง แต่ยังไม่กล้าตอบว่าคืออะไร ทั้งนี้ หากร่าง พ.ร.บ.นี้มีเนื้อหาขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 35 ที่ว่าด้วยเสรีภาพในการ นำเสนอข่าวสารก็ใช้ไม่ได้อยู่แล้ว

คำบรรยายวิดีโอ, รู้จัก พ.ร.บ.ควบคุมสื่อ

นายวิษณุยังกล่าวว่า การออกกฎหมายใดไม่ใช่เรื่องง่าย สปท. ต้องแสดงให้เห็นถึงความจำเป็น ถ้าจะให้มีคณะกรรมการเกี่ยวกับการขออนุญาตให้เป็นสื่อมวลชน เพราะปัจจุบันมีคณะกรรมการเกี่ยวกับการขออนุญาตมากอยู่แล้ว

"นอกจากขออนุญาต ยังมีวิธีการขึ้นทะเบียน การจดแจ้ง หรือมาตรการควบคุมย้อนหลัง หรือสุดท้ายไม่ทำอะไรเลย อาชีพ ต่าง ๆ ในประเทศไทย จะมีวิธีการกำกับดูแลที่แตกต่างกันอยู่" นายวิษณุกล่าว

วานนี้ (25 เม.ย.) นายปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ เขียนข้อความเรียกร้องให้คนในวงการสื่อมวลชนออกมาคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นี้ ซึ่งเขามองว่าเป็น "กฎหมายคุมสื่อ" เพราะมีเจตนาในการปิดปากไม่ให้ค้นหาข้อมูลเพื่อตรวจสอบโครงการต่าง ๆ ของรัฐที่ไม่ชอบมาพากล ผ่านการขึ้นทะเบียนกับองค์กรที่รัฐจัดตั้งอย่าง "สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ" ซึ่งมีอำนาจในการพิจารณาออกหรือเพิกถอนใบอนุญาตนักข่าว โดยหากบุคคลใดทำข่าวโดยไม่มีใบอนุญาตจะมีโทษสูงสุด ถึงจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท

30 องค์กรวิชาชีพสื่อเคยออกมาแสดงพลังคัดค้านร่างกฎหมายนี้ เพราะมองว่าจะกระทบต่อการตรวจสอบภาครัฐ

ที่มาของภาพ, Thai Journalist Association

คำบรรยายภาพ, 30 องค์กรวิชาชีพสื่อเคยออกมาแสดงพลังคัดค้านร่างกฎหมายนี้ เพราะมองว่าจะกระทบต่อการตรวจสอบภาครัฐ

ด้าน พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สปท. ในฐานะผู้ยกร่าง พ.ร.บ.นี้ เคยออกมาชี้แจงว่า ตนจะเสนอให้เขียนไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ให้ตัวแทนภาครัฐ 2 คนอยู่ในสภาวิชาชีพสื่อฯ เพียงแค่ระยะเริ่มต้น 5 ปีเท่านั้น เมื่อพ้นจากนั้นให้สรรหาใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เดิมสัดส่วนกรรมการสภาวิชาชีพสื่อฯ จะมีตัวแทนภาครัฐ 4 คน จากทั้งหมด 9 คน ต่อมาได้ปรับลดสัดส่วนลงเหลือ 2 คน จากทั้งหมด 15 คน

ทั้งนี้ สมาคมนักข่าวฯ ได้ประกาศคำขวัญสำหรับวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ประจำปี 2560 ได้แก่ คำว่า "หยุดตีทะเบียนสื่อ หยุดครอบงำประชาชน"