3 คำถามที่ยังไม่ได้คำตอบ หลังจากหมุดคณะราษฎรถูกถอด

หมุดใหม่ที่นำมาแทนหมุดคณะราษฎร

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

รองอธิบดีอัยการสำนักงานชี้ขาดคดี สำนักอัยการสูงสุดระบุสังคมยังไม่หายสงสัยว่า "ใครคือเจ้าของหมุดใหม่" ที่มาฝังอยู่แทนที่หมุดคณะราษฎร บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ขณะที่นักกิจกรรมสังคมและนักวิชาการยังเรียกร้องทวงคืนหมุดเดิม

นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีอัยการสำนักงานชี้ขาดคดี สำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า ประเด็นหมุดคณะราษฎรเป็นที่สนใจของประชาชน ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่อาจปฏิเสธการรับเรื่องเพื่อสอบสวนสาเหตุได้ แม้ผู้แจ้งจะไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ที่หายไปก็ตาม เพราะในกระบวนการยุติธรรมประชาชนสามารถเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐรับเรื่องร้องทุกข์กล่าวโทษได้

ทั้งนี้ ก็เพื่อรักษากระบวนการยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(8) ซึ่งบัญญัติว่า "คำกล่าวโทษ" หมายความถึงการที่บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหาย ได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ว่ามีบุคคลรู้ตัวหรือไม่ก็ดีได้กระทำความผิดอย่างหนึ่งขึ้น นั่นย่อมหมายความว่าการแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน ผู้แจ้งไม่จำเป็นต้องเป็น "เจ้าของทรัพย์"

line

ใครเป็นคนถอดหมุดคณะราษฎร?

เป็นคำถามสำคัญที่ยังไม่มีคำตอบ ในสัปดาห์ที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้นำหมุดคณะราษฎรกลับคืนมาจากหลายภาคส่วน เช่น นายชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ได้เริ่มรณรงค์ "เอาผิดผู้ทำลายและต้องคืนหมุดคณะราษฎร" ผ่านเว็บไซต์ Change.org ซึ่งมียอดผู้ร่วมลงชื่อมากกว่า 3,000 คน

คำบรรยายวิดีโอ, ไม่มีภาพวงจรปิดคนเปลี่ยนหมุดคณะราษฎร

กลุ่มนักกิจกรรม นักศึกษา และประชาชนจำนวนหนึ่งที่นัดหมายกันผ่านเฟซบุ๊ก นำโดยนายอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธุ์ และนางณัฏฐา มหัทธนา เข้าแจ้งความให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ สน. ดุสิต ดำเนินคดีกับผู้ที่ถอดหมุดคณะราษฎรจากบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ใน 2 ข้อหา ได้แก่ เบียดบังเอาโบราณวัตถุเป็นของตน และลักทรัพย์ เนื่องจากเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในเอกสารร้องทุกข์กล่าวโทษ

หลังจากนั้น กลุ่มนักศึกษาและนักกิจกรรม ได้เดินทางไปตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดที่เกิดเหตุแต่กลับไม่สามารถดูได้ โดยนายยุทธพันธุ์ มีชัย เลขานุการผู้ว่าราชการ กทม. ระบุว่า กทม. ได้ถอดกล้องวงจรปิดบริเวณดังกล่าว ซึ่งมีทั้งสิ้น 11 ตัว ไปซ่อมบำรุงตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.

ก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน (18 เม.ย.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี บริเวณฝั่งตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอให้ใช้อำนาจทวงคืนหมุดคณะราษฎร ที่แต่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจในเครื่องแบบเข้าแสดงตัว และเชิญขึ้นรถตู้ทหารนำตัวไปยังกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล 1 รอ.) โดยไม่มีการแจ้งสาเหตุ ก่อนจะถูกปล่อยตัวในเวลา 10 ชั่วโมงถัดมา พร้อมกับให้ยุติการเคลื่อนไหวเรื่องหมุดคณะราษฎร

จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีใครตอบได้ว่าใครเป็นคนถอดหมุดคณะราษฎรออกไป

line

ใครคือเจ้าของหมุดคณะราษฎร?

จนถึงขณะนี้ยังไม่มีหน่วยราชการงานใด ออกมาระบุว่าใครเป็นเจ้าหรือผู้รับผิดชอบดูแลหมุดคณะราษฎร

ก่อนหน้านี้ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์บอกกับบีบีซีไทยว่า การปักหมุดคณะราษฎร เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2475 เป็นวาระสำคัญยิ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย

คนถ่ายรูปกับหมุดใหม่

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

ตามความเห็นของ ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทน์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ หมุดคณะราษฎรถือเป็นโบราณวัตถุของชาติประเภทหนึ่ง เนื่องจากมีอายุเก่าเกิน 50 ปี และเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ช่วงสำคัญของประเทศ ผศ.พิพัฒน์แสดงความคิดผ่านเว็บไซต์มติชนออนไลน์ แต่กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร ออกมาระบุผ่านเฟซบุ๊กเมื่อ 18 เม.ย.ว่า หากพิจารณาตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว หมุดคณะราษฎรไม่ถือว่าเป็นโบราณวัตถุ แต่ข้อความดังกล่าวถูกลบออกไปจากเฟซบุ๊กในเวลาต่อมา

ขณะที่ เมื่อวันที่ 20 เม.ย. เว็บไซต์มติชนรายงานว่า นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากรปฏิเสธที่จะตอบคำถามเรื่องนี้ เพียงแต่เปรียบเปรยว่าหมุดคณะราษฎร "เหมือนป้ายบอกเหตุการณ์ไม่เกี่ยวประวัติศาสตร์"

line

ใครเป็นเจ้าของหมุดใหม่?

"ในเมื่อมีคำถามว่า ใครคือเจ้าของหมุดคณะราษฎร ก็ต้องมีคำถามต่อมาอีกว่า แล้วหมุดใหม่เป็นของใคร" นายปรเมศวร์กล่าวและตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมอีกว่า หากว่ามีใครทำลายหมุดใหม่แล้ว ใครจะรับผิดชอบเนื่องจากว่าหมุดใหม่ไม่ระบุที่มาและผู้ที่เป็นเจ้าของ

ตามทัศนะของนายบุญเกียรติ การะเวกพันธุ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่ามีผู้ต้องการลบประวัติศาสตร์สำคัญของไทย โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตย และทำให้การตระหนักรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตยเลือนหายไป

เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปถ่ายภาพหมุดใหม่ที่ถูกสับเปลี่ยนมาแทนหมุดคณะราษฎร

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปถ่ายภาพหมุดใหม่ที่ถูกสับเปลี่ยนมาแทนหมุดคณะราษฎร

ขณะที่ ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ ชี้ชัดว่าผู้ถอดหมุดดังกล่าวน่าจะเป็นฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตย

นอกจาก 3 คำถามดังกล่าวที่ยังไม่มีคำตอบ บัดนี้ประชาชนก็ไม่ได้รับการอนุญาตให้เข้าไปถ่ายภาพหมุดใหม่ที่ถูกนำมาแทนที่หมุดคณะราษฎรด้วย