ระเบิด รพ.พระมงกุฎฯ : รู้อะไรแล้วบ้าง?

ทหาร ตำรวจ และแพทย์ รวบรวมหลักฐานจากจุดเกิดเหตุระเบิดที่รพ.พระมงกุฎเกล้า

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ, ทหาร ตำรวจ และแพทย์ รวบรวมหลักฐานจากจุดเกิดเหตุระเบิดที่รพ.พระมงกุฎเกล้า

ผู้บัญชาการทหารบกระบุเหตุวางระเบิดที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าเป็นระเบิดไปป์บอมบ์เช่นเดียวกับเหตุระเบิดที่หน้ากองสลากเมื่อเดือนที่แล้ว และหน้าโรงละคร แห่งชาติเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา พร้อมทั้งประณามว่าเป็น 'สิ่งเลวร้าย' หวังผลถึงขั้นให้มีผู้เสียชีวิต และต้องการปั่นป่วนการบริหารงานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 22 พฤษภาคม ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงภายหลังการประชุมหน่วยความมั่นคงเกี่ยวกับเหตุระเบิดที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องเลวร้ายที่สุด เพราะผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นผู้สูงอายุ และระเบิดครั้งนี้หวังผลถึงชีวิต เนื่องจากมีตะปูจำนวนมาก ขณะนี้ตำรวจกำลังติดตามข้อมูล และดำเนินการตามข้อมูลที่ได้รับ

พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่าเมื่อมีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นมาแล้ว 2 ครั้ง จึงเรียกหน่วยงานความมั่นคงทั้งหมดมาประชุมปรับแผนการรักษาความปลอดภัยในภาพรวมของประเทศ ซึ่งทั้ง 3 คดี คือระเบิดหน้ากองสลากเก่า (วันที่ 5 เมษายน) ระเบิดหน้าโรงละครแห่งชาติ (15 พฤษภาคม) และระเบิดครั้งล่าสุด ทางตำรวจที่รับผิดชอบต้องดำเนินการจับกุม ผู้ก่อเหตุมาดำเนินคดีให้ได้

พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวต่อว่า ในส่วนการบูรณาการงานด้านการข่าว ตนยอมรับว่ายังไม่ชัดเจนว่าผู้ก่อเหตุเป็นกลุ่มใด แต่ 1 ใน 3 คดี หากได้ผู้ต้องสงสัยทุกอย่างจะสืบสาวไปได้ โดยเฉพาะการสรุปหลักฐานเบื้องต้นของตำรวจ คาดว่า 3 คดีที่เกิดขึ้นเป็นกลุ่มเดียวกัน เนื่องจากส่วนประกอบของระเบิดเป็นชนิดเดียวกันทั้งหมด ส่วนการวางกำลังเพื่อป้องกัน สถานที่สำคัญต่าง ๆ ที่กลุ่มผู้ก่อการคิดจะไปก่อเหตุ ซึ่งตนสั่งการไปทุกกองทัพภาค ทุกกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) โดยเฉพาะ กกล.รส.ภาคที่ 1 ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้จัดกำลังเข้าไปดำเนินการร่วมกับประชาชนช่วยกันดูแล ซึ่งคิดว่าจะดำเนินการได้ประสิทธิภาพ

เหตุระเบิดที่ รพ.พระมงกุฎเกล้า

22 พ.ค. 2560

บาดเจ็บกว่า 20 คน

  • ชั้น 1 ห้องรอจ่ายยานายทหารระดับสูง

  • ครั้งที่ 2 ในรอบ 7 วันของเหตุระเบิดที่เกิดในกรุงเทพฯ

  • ครั้งที่ 3 ในรอบไม่ถึง 2 เดือนของเหตุระเบิดที่เกิดในกรุงเทพฯ

  • 22 พ.ค.2560 ครบรอบ 3 ปีรัฐประหาร

AFP

เกี่ยวกับครบรอบ 3 ปี คสช. หรือไม่?

พล.อ.เฉลิมชัยเชื่อว่าเหตุระเบิดครั้งนี้น่าจะเป็นการปั่นป่วนการบริหารงานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ส่วนจะเกี่ยวข้องกับวาระครบรอบ 3 ปี คสช. หรือไม่ ตนคิดว่าไม่จำเป็น คนไม่ชอบ คสช. จะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยว จะกี่เดือนกี่วัน ถ้ามีจังหวะ และโอกาสเขาก็ทำ โดยยอมรับว่าการก่อเหตุในพื้นที่เปิด เช่น โรงพยาบาล ยากต่อการป้องกัน

ภาพจาก รพ.พระมงกุฎเกล้า

ที่มาของภาพ, EPA/RUNGROJ YONGRIT

พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า ทั้งนี้ตนคิดว่ากล้องวงจรปิดเป็นเรื่องสำคัญ ตนได้พูดเรื่องนี้หลายครั้งแล้ว ว่าทุกส่วนงาน ส่วนราชการ และหลายๆพื้นที่ต้องมีกล้องวงจรปิด ซึ่งส่วนที่รับผิดชอบเรื่องนี้ คือกทม.ต้องติดตั้งกล้องวงจรปิดที่มีคุณภาพ รวมทั้งประชาชนที่เป็นเจ้าของธุรกิจต่างๆ ขอให้ช่วยกัน เฉพาะภาครัฐอย่างเดียวจะเป็นการลงทุนสูง และต้องใช้เวลานาน แต่ถ้าพวกเราทุกคนช่วยกันติดตั้งกล้องวงจรปิดก็จะสามารถช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยให้ประชาชนได้

เหตุระเบิดทำให้มีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 20 คน

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ, เหตุระเบิดทำให้มีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 20 คน

"ผมขอให้ประชาชนช่วยกันเป็นหูเป็นตา เพื่อไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอีก อย่างครั้งล่าสุด นอกจากมีความรุนแรงแล้ว ยังเกิดในโรงพยาบาล โดยปกติ ไม่มีใครทำแบบนี้ และเป็นสิ่งเลวร้าย แม้แต่ช่วงสงคราม ระหว่างการรบ ยังไม่มีใครทิ้งระเบิดลงไปในโรงพยาบาล แต่นี่เอาระเบิดไปวางในโรงพยาบาล ซึ่งมีผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นคนแก่ เป็นเรื่องที่สังคม ต้องประณาม สิ่งเหล่านี้ปล่อยไว้ไม่ได้ ทั้งนี้จากการพูดคุยเบื้องต้นผมมั่นใจว่าตำรวจสามารถดำเนินการได้ คิดว่ามีแนวทางสามารถสาวไปถึงตัวผู้ก่อเหตุได้ เมื่อได้มาหนึ่ง ทุกอย่างจะคลี่คลาย ซึ่งต้องให้เวลาตำรวจดำเนินการไปตามขั้นตอน ถึงเวลาก็จะแถลงข่าวเอง ถ้าบางเรื่องเร่งร้อนไปจะทำให้คาดเคลื่อน อีกทั้งเราจะขอข้อมูล ประชาชนที่อยู่ในที่เกิดเหตุเพิ่มด้วย" พล.อ.เฉลิมชัย กล่าว

เหตุระเบิดที่อยู่ในความสนใจในรอบ 3 ปี

นอก 3 จังหวัดชายแดนใต้

10 เม.ย. 58

เซ็นทรัลเฟสติวัล เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เจ็บ 7 คน

17 ส.ค. 58

แยกราชประสงค์ ตาย 20 คน เจ็บ 130 คน

  • 10-12 ส.ค. 59 9 ครั้งใน 5 จังหวัดภาคใต้ ตาย 4 คน เจ็บกว่า 30 คน

  • 5 เม.ย. 60 หน้ากองสลากฯ กรุงเทพฯ

  • 15 พ.ค. 60 หน้าโรงละครแห่งชาติ กรุงเทพฯ เจ็บ 2 คน

  • 22 พ.ค. 60 รพ.พระมงกุฎเกล้า กรุงเทพฯ เจ็บกว่า 20 คน

Reuters

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า จำเป็นต้องมีกฎหมายพิเศษ หรือเพิ่มกำลังดูแลสถานการณ์ หรือไม่ เลขาธิการคสช. กล่าวว่า กฎหมายพิเศษคงไม่ต้อง แต่เรื่องการวางกำลังต้องมีความเข้มข้น มากขึ้น โดยนำกำลังออกมาดูแลทุกพื้นที่สำคัญ เพราะตอนนี้เรามีงานสำคัญจำนวนมาก ดังนั้นต้องเน้นดูแลความปลอดภัยของประชาชน โดยเฉพาะพื้นที่ กทม. และเขต พระราชฐาน

ทหารเข้าควบคุมพื้นที่หลังเกิดเหตุระเบิดที่รพ.พระมงกุฎเกล้า

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, ทหารเข้าควบคุมพื้นที่หลังเกิดเหตุระเบิดที่รพ.พระมงกุฎเกล้า

ผู้ก่อเหตุ 'ไม่ใช่มือสมัครเล่น'

เว็บไซต์หนังสือพิมพ์คมชัดลึกรายงานว่า นายปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กล่าวถึงเหตุระเบิดโรงพยาบาล พระมงกุฎเกล้า ยอมรับคนก่อเหตุเป็นคนที่มีประสบการณ์มีศักยภาพ แล้วมีเครือข่ายไม่ใช่มือสมัครเล่น แต่ไม่ได้น่าวิตกกังวลอะไร ซึ่งการก่อเหตุ มีพัฒนาการที่สลับซับซ้อน มีรูปการหวังผลทางการเมืองสูง เพื่อให้คนตื่นตระหนกวิตกกังวล เพราะเป็นการก่อเหตุในสถานที่สาธารณะ ที่เกี่ยวโยงกับการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชน แล้วยังเป็นพื้นที่ ควบคุมไม่มาก จึงเป็นเหตุให้เกิดผลกระทบได้ง่าย ต้องยอมรับว่า ฝ่ายความมั่นคงต้องมีการปรับระบบในการทำหน้าที่ อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประวิตร ได้รับทราบถึงเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นแล้วได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อนำเอาข้อมูลมารายงานให้ประชาชนได้รับทราบ

"ฝ่ายความมั่นคงจะต้องปรับพื้นที่สาธารณะและพื้นที่สำคัญ แม้จะเห็นชัดในบางกรณีไม่ได้หวังทำร้ายถึงชีวิต แต่เห็นผลกระทบสูงมาก จึงต้องมาจัดระบบให้ดีขึ้น ในการควบคุมพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ของฝ่ายตรงข้ามที่เขามองว่า โจมตีแล้วได้ผลสูง อย่างน้อยคือ ประชาชนมีความตื่นตระหนก มีความกังวล คนที่ทำงานได้เครดิต คนที่ทำงานในพื้นที่ได้รับผลกระทบรุนแรงไปด้วย แต่ในแง่ผลกระทบถือว่า ไม่รุนแรงมากนักแต่ประมาทไม่ได้" ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กล่าว