สตง.สรุปผลสอบ ทร.ซื้อเรือดำน้ำจีน พรุ่งนี้

เรือดำน้ำ

ที่มาของภาพ, GUANG NIU/POOL/GETTY IMAGES

คำบรรยายภาพ, สาธารณชนรับทราบว่า ครม.ได้อนุมัติจัดซื้อเรือดำน้ำลำแรก 13,500 ล้านบาท หลังมีการเห็นชอบไปแล้วราว 1 สัปดาห์ โดย พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประสำนักนายกรัฐมนตรี บอกว่า ไม่มีลับลมคมในแต่ไม่แถลงเพราะเป็นเรื่องความมั่นคง

ผู้ว่า สตง.เผยเตรียมสรุปผลสอบจัดซื้อเรือดำน้ำจีน ทร.จากคณะทำงานพรุ่งนี้ (15 พ.ค.) ก่อนนัดหมายผู้บัญชาการทหารเรือ (ทร.) ชี้แจงข้อสังเกตกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ท่ามกลางกระแสการยื่นให้มีการตรวจสอบว่าสัญญาจัดซื้อเรือดำน้ำเป็นโมฆะหรือไม่

นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยกับบีบีซีไทยในวันนี้ต่อกรณีที่ สตง.ตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อเรือดำน้ำจีนของกองทัพเรือ ซึ่งได้มีการเซ็นสัญญาว่าจ้างสร้างเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้า รุ่น Yuan Class S26T ลำแรก วงเงิน 13,500 ล้านบาท จากทั้งหมด 3 ลำ กับตัวแทนรัฐบาลจีนไปแล้วเมื่อวันที่ 5 พ.ค.ว่า ในวันพรุ่งนี้ (15 พ.ค.) คณะทำงานพิเศษที่ สตง.ตั้งขึ้นมาเพื่อตรวจสอบหลักฐานเอกสารการจัดซื้อเรือดำน้ำ จะสรุปผลการตรวจสอบข้อมูลที่ดำเนินการมากว่า 1 สัปดาห์ ก่อนนัดหมายผู้บัญชาการทหารเรือ (ทร.) รับฟังแถลงสรุปผล

คณะทำงานพิเศษของ สตง.ชุดดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วยข้าราชการระดับ ผอ. และรอง ผอ.สำนัก ได้ดำเนินการตรวจสอบ "เอกสารลับ" ภายหลังนายพิศิษฐ์เข้าขอรายละเอียดสัญญาโครงการต่อ พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผบ.ทร.เมื่อวันที่ 4 พ.ค.

ผู้ว่าการ สตง.กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีอะไรที่เป็นทางการออกมา ทั้งนี้คณะทำงานได้ตรวจสอบเอกสารจำนวนมาก ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการก่อนเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี ขั้นตอนการจัดซื้อจัดหา เหตุผลความจำเป็น รวมทั้งประสิทธิภาพ ความเหมาะสมคุ้มค่ากับราคา ซึ่งหากพิจารณาแล้วเห็นว่าขั้นตอนใดไม่เหมาะสม หรือมีการทำผิดระเบียบ จะแจ้งต่อกองทัพเรือ ขณะเดียวกันระหว่างที่การเซ็นสัญญากับจีนเดินหน้าไปแล้ว ก็ยังมีการตรวจสอบต่อเนื่อง

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กรณีการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ได้ถูกนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ร้องต่อ สตง.ให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลปกครองพิจารณาว่าการจัดซื้อเรือดำน้ำจีนเป็นโมฆะหรือไม่ ใน 2 กรณี คือ เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.วิธีงบประมาณ และขัดต่อรัฐธรรมนูญในบทบัญญัติมาตรา 178 ว่าด้วยเรื่องการทำสัญญาระหว่างประเทศ หรือหนังสือสัญญาที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ต้องผ่านความเห็นชอบจากสภา ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายบางคน บอกกับบีบีซีไทยว่า กรณีนี้ต้องนำเรื่องไปขอความเห็นชอบจากสภาก่อน

ขณะที่ในวันพรุ่งนี้ (15 พ.ค.) เว็บไซต์ไทยรัฐรายงานว่า นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย เตรียมเข้ายื่น สตง.ให้ตรวจสอบกรณีการทำสัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐของโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ โดยนายเรืองไกรอ้างว่าบริษัท China Shipbuilding & Offshore International Co. Ltd. หรือ CSOC ในฐานะผู้แทนรัฐบาลจีน ที่ ทร.เซ็นสัญญาจ้างสร้างเรือดำน้ำลำที่ 1 ไปแล้ว เป็นบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 17 ราย จึงไม่ใช่กิจการที่มีรัฐเป็นเจ้าของ และร่างความตกลงการสั่งซื้อสะพานเครื่องหนุนมั่น ที่กองทัพบก (ทบ.) เคยทำกับ CSOC เป็นการทำสัญญาในลักษณะที่ ทบ.ทำกับผู้ขายโดยตรง