เลือกตั้งอังกฤษ: คาดไม่มีผลต่อการค้าลงทุนไทย-อังกฤษ

ธงชาติและบิกเบน

ที่มาของภาพ, Carl Court/Getty Images

ภาคเอกชนไทย-อังกฤษ มองการเลือกตั้งทั่วไปของสหราชอาณาจักรเป็นเพียงทางผ่านไปสู่การแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป หรือ เบร็กซิท อย่างเต็มตัว ไม่มีผลต่อการค้าการลงทุนระหว่างสองประเทศ แนะทั้งสองชาติเร่งตกลงการค้าแบบทวิภาคีเพื่อสร้างบรรยากาศเอื้อการลงทุนเพิ่ม

นายไซมอน แมททิวส์ ประธานกรรมการหอการค้าอังกฤษไทย ประเมินว่าผลการเลือกตั้งทั่วไปของสหราชอาณาจักรจะไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายเศรษฐกิจและต่างประเทศของรัฐบาลอังกฤษ

อย่างไรก็ตาม นายแมททิวส์ บอกกับบีบีซีไทยว่า การที่สหราชอาณาจักรจะสิ้นสถานะการเป็นสมาชิกของกลุ่มสหภาพยุโรป ไม่ได้หมายความว่า จะหมดสิ้นความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศในภูมิภาคยุโรป ในส่วนผลกระทบต่อการค้าการลงทุนระหว่างไทยและสหราชอาณาจักรคาดว่าจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าพรรคใดครองเสียงส่วนมากในรัฐสภาอังกฤษ หรือพรรคใดเป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาล

การเลือกตั้งทั่วไปของสหราชอาณาจักรจะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (8 มิ.ย.) ซึ่งเป็นการเลือกตั้งก่อนกำหนดเดิม 3 ปี นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟให้เหตุผลว่า การชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนเด็ดขาดจะช่วยทำให้รัฐบาลของเธอมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นในการเจรจาเบร็กซิท และหวังว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ จะช่วยให้พรรคคอนเซอร์เวทีฟมีเสียงข้างมากเพิ่มขึ้นในสภาผู้แทนราษฎร ทำให้อำนาจในการบริหารประเทศมั่นคงขึ้น

เทเรซา เมย์ กับ เจเรมี่ คอร์บิน
คำบรรยายภาพ, เหลือเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมงก็จะถึงเวลาที่ ชาวอังกฤษจะตัดสินใจแล้วว่าใครจะเป็นผู้นำคนใหม่ของประเทศ

ในแง่อำนาจทางเศรษฐกิจ สหราชอาณาจักรมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก ขณะที่สำหรับประเทศไทย สหราชอาณาจักรเป็นคู่ค้าอันดับ 20 จากข้อมูลปีที่แล้วมูลค่าการค้าระหว่างไทยและสหราชอาณาจักรอยู่ที่ 2.06 แสนล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าการส่งออก 1.34 แสนล้านบาท และมูลค่าการนำเข้า 7.14 หมื่นล้านบาท เท่ากับว่าไทยเสียดุลการค้าอยู่ราว 6.35 หมื่นล้านบาท

ธุรกิจด้านใดบ้างที่อังกฤษสนใจลงทุนในไทย

ประธานหอการค้าอังกฤษ-ไทย กล่าวว่า "เบร็กซิท" ทำให้นักธุรกิจอังกฤษเปิดหูเปิดตามากขึ้น ด้วยการหันมาให้ความสำคัญกับตลาดใหม่ๆ รวมถึงประเทศไทย ในขณะเดียวกันก็ทำให้นักลงทุนคนไทยสนใจที่จะเข้าไปทำธุรกิจในสหราชอาณาจักรมากขึ้น

"เบร็กซิท" ทำให้นักธุรกิจอังกฤษเปิดหูเปิดตามากขึ้น ด้วยการหันมาให้ความสำคัญกับตลาดใหม่ๆ รวมถึงประเทศไทย

ที่มาของภาพ, ManpowerGroup

คำบรรยายภาพ, นายแมททิวส์ระบุ "เบร็กซิท" ทำให้นักธุรกิจอังกฤษเปิดหูเปิดตามากขึ้น ด้วยการหันมาให้ความสำคัญกับตลาดใหม่ๆ รวมถึงประเทศไทย

ในระหว่างขั้นตอนของเบร็กซิท สหราชอาณาจักรเล็งเห็นความสำคัญของกลุ่มธุรกิจ 4 กลุ่มหลักๆ ที่มีโอกาสขยายมาในไทย เนื่องจากอังกฤษมีความเชี่ยวชาญส่วนผู้ประกอบการไทยมีความต้องการ

  • ธุรกิจทางการศึกษา:ไม่ว่าจะเป็นการเปิดโรงเรียนนานาชาติมากขึ้น หรือ การส่งเสริมให้นักเรียนไทยไปเรียนต่อในอังกฤษ
  • ธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ: จากข้อมูลของทบวงการค้าและการลงทุนแห่งสหราชอาณาจักร ระบุว่ามีความเชี่ยวชาญทางด้านคลาวด์คอมพิวติ้ง การให้บริการศูนย์ข้อมูล หรือ ดาต้าเซนเตอร์ การพัฒนาเทคโนโลยีโทรคมนาคม
  • เทคโนโลยีด้านการบินและอากาศยาน: ประเทศไทยมีศักยภาพทางการเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคและมีโครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ซึ่งในอังกฤษมีบริษัทเครื่องยนต์ยักษ์ใหญ่ของโลกสนใจ
  • เทคโนโลยีด้านการบริการทางการแพทย์: จุดขายอีกประการของไทยคือ การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ ซึ่งจำเป็นต้องมีการพัฒนาด้านนี้ จึงทำให้กลุ่มผู้ผลิตเทคโนโลยีทางการแพทย์ในสหราชอาณาจักรสนใจที่จะเข้ามาขยายฐานในไทยเพิ่มขึ้น

แนะจับตา "ฟินเทค"ในอังกฤษหลังเบร็กซิท

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สายงานการค้าและการลงทุน เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ทะยอยเข้าไปลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ที่อังกฤษ จากเดิมที่มีนักธุรกิจไทยดำเนินธุรกิจด้านค้าปลีก เครื่องดื่ม โรงแรม รวมทั้งเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอล

"แต่ความท้าทายหลังจากการเดินหน้าสู่เบร็กซิทหลังการเลือกตั้ง คือ รัฐบาลอังกฤษจะรักษาความเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาคยุโรปได้หรือไม่" นายเกรียงไกรตั้งคำถาม และว่าสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทย คือ การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีทางการเงิน ในกลุ่มสตาร์ทอัพ หรือ "ฟินเทค" ในอังกฤษเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทย

แนะรัฐไทย-อังกฤษตกลงการค้าแบบทวิภาคี ก่อนเปิดเสรี

นายเกรียงไกร ระบุว่า ความชัดเจนของการเลือกตั้งครั้งนี้ของอังกฤษก็คือการสร้างความมั่นใจในการเดินทางออกจากยุโรปอย่างจริงจัง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการค้าการลงทุนระหว่าง 2 ประเทศยังดำเนินการตามเดิม

"เมื่อเป้าหมายชัดเจน สิ่งที่สำคัญที่สุดของทั้งสองประเทศ คือการเร่งเจรจาแบบทวิภาคี เพื่อลดอุปสรรคในการค้าขายลง และเอื่้อให้มีการลงทุนได้เสรีเพิ่มมากขึ้น" นายเกรียงไกรกล่าว

ในขณะที่นายแมททิวส์ ระบุว่า สิ่งที่อยากให้รัฐบาลไทยแก้ไขมีอยู่ 3 ประเด็นคือ การแก้ไขพรบ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว โดยเฉพาะกลุ่มภาคบริการที่จะเปิดทางให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น ประการที่ 2 คือ การขยายการถือครองที่ดินเพิ่มขึ้นจากเดิมที่กฎหมายกำหนดไว้เพียง 30 ปี และประการสุดท้ายคือ การลดขั้นตอนธุรการของการขอวีซ่าและในอนุญาตทำงาน

เปิดเสรีการค้าไทย-อียูสะดุดเพราะรัฐประหาร

สำหรับเหตุผลสำคัญที่ภาคเอกชนต้องการให้มีการเจรจาแบบทวิภาคีระหว่างไทย-สหราชอาณาจักรให้แล้วเสร็จก่อนการแยกตัวจากอียู ก็คือ การเจรจาการค้าเสรีระหว่างไทยและอียูได้หยุดชะงักไปแล้วตั้งแต่เกิดการรัฐประหารในไทย

ภาพวาดสี คนกำลังทำลายดาวในธงสหภาพยุโรป

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, การเจรจาระหว่างอียูกับไทยยังไม่สิ้นสุด สหราชอาณาจักรก็เตรียมออกจากการเป็นสมาชิกของอียู

ประธานกรรมการหอการค้าอังกฤษ-ไทย กล่าวว่า เพราะว่าไทยกับอียูไม่ได้มีข้อตกลงเรื่องนี้ สหราชอาณาจักรในฐานะสมาชิกอียู ก็ยังไม่สามารถรับผลประโยชน์ในด้านการส่งออกสินค้า เมื่อเทียบกับประเทศที่ไทยมีข้อตกลงการค้าเสรีไปแล้ว ดังนั้นในระหว่างกระบวนการเบร็กซิท ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลายาวนานอย่างน้อย 2 ปี ทั้งไทยและสหราชอาณาจักรควรร่วมมือมากขึ้น