รายงาน: คุมสื่อยุค คสช. เป้าจริงคือ “สื่อออนไลน์”?

  • พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์
  • ผู้สื่อข่าวอิสระ
ไมโครโฟนนักข่าว

ที่มาของภาพ, Getty Images

วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 3 พ.ค. ในไทยผ่านไป ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้ยกเลิก ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .... หรือ ร่าง พ.ร.บ.สื่อ ฉบับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่ยังดังอื้ออึง แม้ผู้เกี่ยวข้องจะยอมตัดเนื้อหาเรื่อง "ใบอนุญาต" และตัดโทษจำคุก 3 ปี-ปรับ 6 หมื่นบาทออกไป

แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เกี่ยวข้องไม่ยอมถอยเด็ดขาด คือ "นิยาม" ของสื่อที่จะต้องถูกควบคุม ซึ่งเขียนให้กินความกว้างไปจนถึง "สื่อออนไลน์-แอดมินเพจ-ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบางคน" ด้วย

พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สปท. อธิบายถึงสาเหตุที่ไม่ยอมปรับเนื้อหาว่าด้วยนิยามสื่อว่า เพราะกลุ่มเหล่านี้ถือเป็นทั้งนักข่าว และบรรณาธิการ แต่ไม่มีสังกัด แม้จะอ้างว่าไม่มีรายได้โดยตรงจากงานที่ทำ แต่ก็มีรายได้ทางอ้อม ที่สำคัญ ยังเป็นผู้ที่มีติดตามจำนวนมาก

"ดังนั้นจึงต้องบัญญัติให้กลุ่มเหล่านี้เป็นสื่อด้วย" พล.ต.ต.พิสิษฐ์กล่าวต่อที่ประชุม สปท. ซึ่งลงมติเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.สื่อ ด้วยคะแนน 141 เสียง

คนอ่านข่าวทางสมาร์ทโฟน

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

สื่อออนไลน์เป็นช่องทางในการรับข่าวสารยอดนิยมของคนไทย

ที่ผ่านมาผู้มีอำนาจในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลมีท่าทีที่ถูกมองได้ว่า "หงุดหงิด" ต่อการนำเสนอข่าวผ่าน "สื่อออนไลน์" ที่เริ่มมีอิทธิพลต่อการรับรู้ของคนในสังคมมากขึ้นเรื่อย ๆ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยออกปากหลายครั้งว่า นำเสนอข่าว "บิดเบือน-มีแต่ขยะ" ขณะที่ คสช.เองพยายามเข้ามาควบคุมข่าวสารที่ไหลเวียนอยู่ในโลกเสมือนจริงนี้ ตลอด 3 ปี นับแต่ยึดอำนาจเมื่อปี 2557

ทำให้มองได้ว่า คสช. จะออกแรงควบคุมสื่อออนไลน์มากกว่าการควบคุมการทำงานของสื่อดั้งเดิมอย่างหนังสือพิมพ์ วิทยุ หรือโทรทัศน์ เสียด้วยซ้ำ

ตั้งศูนย์จับตา

แรกเข้ามา คสช.ก็ออกประกาศหลายฉบับเพื่อควบคุมการนำเสนอข่าวผ่านสื่อออนไลน์ อาทิ ไม่ให้มีลักษณะต่อต้านการทำงานของ คสช. (ประกาศ คสช. ฉบับที่ 12/2557) ไม่ให้ส่งข้อความที่มีลักษณะบิดเบือนหรือยุยงปลุกปั่น (ประกาศ คสช. ฉบับที่ 17/2557) รวมถึงกำหนดให้งดเว้นการนำเสนอข่าวสาร 7 ประเภท ร่วมกับสื่อดั้งเดิม (ประกาศ คสช. ฉบับที่ 18/2557)

ต่อมาก็มีการตั้ง "คณะทำงานด้านสื่อสังคมออนไลน์" (ประกาศ คสช. ฉบับที่ 26/2557) เพื่อคอยดูแลสอดส่องเนื้อหาในสื่อออนไลน์ พร้อมกับมีคำสั่ง คสช. เฉพาะ ที่ 12/2557 ตั้ง "คณะกรรมการเพื่อติดตามการเผยแพร่ข่าวสารต่อสาธารณะ" มีคณะทำงาน 5 ด้าน โดยคณะทำงานด้านสื่อออนไลน์มีปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เป็นประธาน ไม่รวมถึงการที่กองทัพบกตั้ง "ศูนย์ไซเบอร์" ขึ้นมา จับตาเนื้อหาที่อาจกระทบความมั่นคง หรือทำผิดกฎหมาย

ซิงเกิล เกตเวย์ (Single Gateway)

กลางปี 2558 สื่อไอที อย่าง Blognone ค้นพบจดหมายเวียนของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ระบุคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดจัดตั้ง Single Gateway ซึ่งฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมองว่าเป็นความพยายามในการรวมทางเข้าออกของอินเทอร์เน็ตไว้ในจุดเดียว "เพื่อใช้เป็นเครื่องมือควบคุมเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมและการไหลเข้าของข้อมูลข่าวสารจากต่างประเทศผ่านทางอินเทอร์เน็ต"

ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต

ที่มาของภาพ, BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

ซิงเกิล เกตเวย์ คือการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านประตูบานเดียว ทำให้สามารถควบคุมดักจับข้อมูลที่ส่งผ่านได้อย่างง่ายดาย

ผลจากคำสั่งดังกล่าว นำไปสู่การตอบโต้จากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนหนึ่งที่เข้าไปโจมตีระบบการทำงานของเว็บไซต์ ของหน่วยงานราชการหลายแห่งจนใช้การไม่ได้ และเมื่อเปิดให้ร่วมลงชื่อคัดค้านผ่านทางเว็บไซต์ change.org ก็มีผู้มาลงชื่ออย่างรวดเร็วถึง 1.5 แสนรายชื่อในเวลาไม่กี่วัน

ที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ต้องออกมาให้สัมภาษณ์ว่า Single Gateway เป็นเพียงการพูดคุยหารือเท่านั้น ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ทว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตก็คอยจับตาอยู่เสมอว่าแนวคิดนี้จะถูกหยิบมาผลักดันอีกเมื่อใด

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ปลายปี 2559 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็เดินหน้าพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... หรือร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ ซึ่งถูกวิจารณ์ว่า มีเนื้อหาที่เป็นปัญหาหลายจุด

โดยเฉพาะมาตรา 20/1 ที่ให้มี "คณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์" ขึ้นมาพิจารณาปิดกั้นเนื้อหาบนเว็บไซต์ซึ่งเห็นว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี โดยไม่จำเป็นต้องผิดกฎหมายอื่นใด ซึ่งผู้คัดค้านเรียกว่า "กบว.ออนไลน์"

เมื่อผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทราบเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.นี้ ก็ออกมาคัดค้านอย่างหนัก โดยมีผู้ร่วมลงชื่อในการรณรงค์ไม่เอาแคมเปญ คัดค้านในเว็บ change.org มากถึง 3.7 แสนรายชื่อ ทว่า สนช.ก็ยังบรรจุเนื้อหาว่าด้วยคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ไว้ในกฎหมายอยู่ดี เพียงแค่เปลี่ยนองค์ประกอบให้มีตัวแทนด้านสิทธิมนุษยชน ด้านสื่อมวลชน และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เข้าไปเป็นกรรมการด้วย ก่อนจะลงมติเห็นชอบให้เป็นกฎหมายด้วยคะแนน 168 เสียง

น.ส.สฤณี อาชวนานันทกุล ผู้ก่อตั้งเครือข่ายพลเมืองเน็ต ระบุผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า "แม้ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จะไม่ใช่ Single Gateway แต่รักษาเป้าหมายในการ "คุมข้อมูล" เหมือนเดิม ผ่านการให้อำนาจทางกฎหมาย"

ปิดกั้นการเข้าถึง

หลัง คสช. ยึดอำนาจได้ไม่กี่วัน ก็เกิดเหตุเฟซบุ๊กในไทยล่มเป็นเวลากว่าครึ่งชั่วโมง แม้สาเหตุจะยังเป็นปริศนา แต่ Privacy International อ้างว่าเกิดจากฝีมือของคนในรัฐบาลในการปิดกั้นข่าวสาร ทว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวก็มีคนในรัฐบาลปฏิเสธไปแล้ว

ผู้ใช้เฟซบุ๊กเช็คข่าวสารทางสมาร์ทโฟน

ที่มาของภาพ, Getty Images

อย่างไรก็ตาม องค์กรของรัฐทั้งไอซีทีรวมไปถึง กสทช. ก็ยังเดินหน้าควบคุมเว็บไซต์อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า ได้ร่วมมือกับสมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) ปิดเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมไปแล้วกว่า 6,300 เว็บไซต์ ในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา เหลืออีกกว่า 600 เว็บไซต์ ที่มีการเข้ารหัส และมีแม่ข่ายอยู่ต่างประเทศ จึงได้ส่งหนังสือประสานไปยังผู้ให้บริการ

"คาดว่าการดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์จะเสร็จเรียบร้อยทั้งหมดได้ภายใน 1 สัปดาห์" เลขาฯ กสทช.ระบุ

ข้อมูลข้างต้นสะท้อนภาพความพยายามของ คสช. ในการควบคุมการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารบนอินเทอร์เน็ต ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา และอาจชี้ให้เห็นว่า "สื่อออนไลน์" เป็นเป้าหมายที่แท้จริงในการ "คุมสื่อ" ของกองทัพ