ไทยร่วมกับ 3 ชาติเอเชียจับมือลดขยะพลาสติกในมหาสมุทร

เด็กเล่นน้ำทะเล

ที่มาของภาพ, Getty Images

กลุ่มประเทศที่เป็นต้นเหตุของขยะพลาสติกจำนวนมากในมหาสมุทร ให้สัญญาในที่ประชุมสหประชาติว่า จะร่วมมือกันแก้ไขพฤติกรรมการทิ้งขยะ

ผู้แทนจากประเทศจีน ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ กล่าวระหว่างการประชุมสหประชาชาติเรื่องมหาสมุทร ซึ่งอยู่ในกรอบของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ว่าจะร่วมมือกันแก้ไขปัญหาการทิ้งขยะพลาสติกในทะเล

อย่างไรก็ตาม คำสัญญาบางส่วนจากการประชุมที่นครนิวยอร์ก ยังไม่ได้ถูกบันทึกเป็นเอกสารอย่างเป็นทางการ ทำให้นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมวิจารณ์ว่า มาตรการที่เสนอนั้น ไม่มีกรอบเวลาการปฏิบัติที่เร่งด่วนพอที่จะให้เกิดผลอย่างรวดเร็ว

ด้านนายเอริค โซลไฮม์ ผู้อำนวยการด้านสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ กล่าวกับบีบีซี ว่า นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในระดับสากลเพื่อแก้ปัญหามลพิษในมหาสมุทร ซึ่ง 'เป็นสัญญาณที่น่ายินดี ที่หลายประเทศหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมในมหาสมุทรอย่างจริงจัง แน่นอนว่าหนทางยังอีกยาวไกล เพราะนี่เป็นปัญหาใหญ่มาก'

สหประชาชาติประเมินว่า แต่ละปี มีพลาสติกประมาณ 5-13 ล้านตัน ถูกพัดออกสู่มหาสมุทร และมีเศษพลาสติกจำนวนมากที่ปะปนเข้าสู่ระบบทางเดินอาหารของนกและสัตว์น้ำ รวมถึงสิ่งมีชีวิตที่อยู่ใต้ท้องทะเล

สหประชาชาติประเมินว่า แต่ละปี มีพลาสติกประมาณ 5-13 ล้านตัน ถูกพัดออกสู่มหาสมุทร

ที่มาของภาพ, MALIN JACOB

คำบรรยายภาพ, สหประชาชาติประเมินว่า แต่ละปี มีพลาสติกประมาณ 5-13 ล้านตัน ถูกพัดออกสู่มหาสมุทร

ผลสำรวจชี้ว่า พลาสติกที่อยู่ในมหาสมทุรส่วนมากมีที่มาห่างไกลทะเล โดยเฉพาะจากประเทศที่เศรษฐกิจกำลังพัฒนาไปรวดเร็วกว่าความสามารถด้านการบริหารจัดการขยะ

ศูนย์วิจัยเฮล์มโฮลท์ ในเมืองไลพ์ซิก ประเทศเยอรมนี คาดการณ์ว่า ประมาณร้อยละ 75 ของมลพิษในมหาสมุทรที่มีต้นกำเนิดมาจากบนบก มีที่มาจากแม่น้ำเพียง 10 สายซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในทวีปเอเชีย และการลดพลาสติกจากแม่น้ำเหล่านี้ลงร้อยละ 50 จะช่วยลดปริมาณพลาสติกที่ไหลลงสู่มหาสมุทรได้ร้อยละ 37

การเปลี่ยนทัศนคติ

นายทอม ดิลลอน จากพิว แชริแทเบิล ทรัสต์ส ซึ่งรณรงค์เรื่องมหาสมุทร กำลังพยายามผลักดันจีนให้ลงมือแก้ปัญหาเร็วขึ้น โดยกล่าวกับบีบีซีว่า 'นับเป็นพันปีมาแล้ว ที่เส้นทางสายไหมทางทะเล เป็นทางผ่านของการส่งออกวัฒนธรรมและอิทธิพลของจีน แต่ต่อไปนี้ต้องถามว่า อยากให้มหาสมุทรเป็นเส้นทางการส่งออกมลภาวะจากจีน หรือวัฒนธรรมการอนุรักษ์และความยั่งยืนหรือไม่'

อาสาสมัครในฟิลิปปินส์เก็บรวบรวมขยะจากทะเล

ที่มาของภาพ, JAY DIRECTO

ส่วนรายงานของรัฐบาลไทยที่นำเสนอต่อที่ประชุมยูเอ็นในครั้งนี้ ระบุว่า ขยะพลาสติกที่พบในทะเลส่วนมากมีที่มาจากบนบก โดยเกิดจากการบริหารจัดการขยะที่ไม่มีประสิทธิภาพ และการกำจัดขยะพาสติกยังทำได้ไม่ดีพอ นอกจากนี้ ตัวเลขคาดการณ์เมื่อปี 2016 ระบุว่า ประเทศไทยปล่อยขยะถึง 2.83 ล้านตันลงสู่ทะเล ในจำนวนนี้ร้อยละ 12 เป็นพลาสติก

ตัวแทนของไทยได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ทางรัฐบาลได้ริเริ่มแผน 20 ปี เพื่อจัดการกับปัญหาขยะแล้ว รวมถึงการสร้างแรงจูงใจทางการเงิน เพื่อลดจำนวนพลาสติกในทะเล รวมถึงส่งเสริมบรรจุภัณฑ์ และการใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแทนพลาสติก

ปริมาณขยะมูลฝอยทั่วประเทศ

ปี 2559

27 ล้านตัน

จำนวนขยะทั้งหมด

  • ขยะที่กำจัดไม่ถูกต้อง 11.69 ล้านตัน

  • ขยะตกค้างสะสมและไหลลงสู่แหล่งน้ำ 10 ล้านตัน

  • คาดว่า 2560 จะมีขยะที่ถูกปล่อยลงสู่ทะเล 2.83 ล้านตัน

Getty Images

ในการสัมภาษณ์กับสื่อมวลชนไทยก่อนหน้านี้ น.ส.สุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า ตามแผนแม่บทการบริหารขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ.2559-2564 ทช. ได้จัดทำมาตรการเพื่อจัดการขยะทะเล 5 ด้าน คือการศึกษาชนิด ปริมาณ แหล่งที่มาและจัดทำฐานข้อมูล การลดผลกระทบจากขยะทะเลต่อระบบนิเวศที่สำคัญ

การลดปริมาณขยะทะเลตามหลักวิชาการ ส่งเสริมให้ผู้ผลิต ผู้จำหน่ายสินค้าใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการสร้างจิตสำนึกในการลดขยะทะเล ด้วยการเริ่มลดปริมาณขยะทะเล โดยเฉพาะขยะพลาสติก ที่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล เช่น การขายถุงพลาสติกในพื้นที่จังหวัดชายฝั่งและเกาะ

อาสาสมัครชาวต่างชาติเก็บรวบรวมขยะจากใต้ทะเล

ที่มาของภาพ, Getty Images

นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำพื้นที่ต้นแบบในการห้ามใช้ขยะพลาสติกโดยให้ใช้วัสดุอื่นทดแทน ซึ่งมีเป้าหมายระยะยาวลดขยะพลาสติกในทะเลให้ได้ 0.06-0.16 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็น 1.5 ชิ้นต่อคนต่อวัน เพื่อให้ประเทศไทยหลุดจากอันดับที่ 6 ของโลก จากการจัดอันดับประเทศที่มีการทิ้งขยะลงน้ำมากที่สุด

ด้านอินโดนีเซีย ทางรัฐบาลได้ริเริ่มโครงการให้ความรู้ในระดับนักเรียน ส่วนฟิลิปปินส์กำลังพัฒนาแนวคิดสำหรับกฎหมายฉบับใหม่