รวม 5 ข้อสงสัยเรื่อง "เรือดำน้ำจีน" ก่อนกองทัพเรือตั้งโต๊ะแจง

คำบรรยายวิดีโอ, เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการจัดซื้อเรือดำน้ำจีน

บีบีซีไทย รวบรวมข้อสงสัยจากสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับการจัดซื้อเรือดำน้ำจีน 3.6 หมื่นล้านบาท ก่อนกองทัพเรือตั้งโต๊ะชี้แจง วันจันทร์นี้

ก่อนที่ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ (ทร.) ในฐานะประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ พร้อมคณะ จะตั๊งโต๊ะชี้แจงการจัดซื้อเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้า รุ่น S26T จากจีน จำนวน 3 ลำ รวมเป็นเงินกว่า 36,000 ล้านบาท ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้ ทร. จัดซื้อลำแรกไปแล้วในการพิจารณาวาระลับ เมื่อวันที่ 18 เม.ย. ที่ผ่านมา

โดยนัดหมายสื่อมวลชนให้ไปพร้อมกันที่โรงเก็บอากาศยาน เรือหลวงจักรีนฤเบศร ท่าเทียบเรือจุกเสม็ด ฐานทัพเรือสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ในวันที่ 1 พ.ค. เวลา 15.00 น.

บีบีซีไทย ขอรวบรวมข้อสงสัยจากสื่อไทยเกี่ยวกับการจัดซื้อเรือดำน้ำจีนครั้งนี้ เพื่อให้คนอ่านได้ช่วยกันจับตาว่า เสธ.ทร. และคณะ จะชี้แจงถึงประเด็นเหล่านี้อย่างไร

line

มีสัญญาณว่าต้องซื้อจากจีน ?

เว็บไซต์ที่รายงานความเคลื่อนไหวทางการทหารอย่าง TAF รายงานคำให้สัมภาษณ์ของ "แหล่งข่าว" ที่รู้เบื้องหลังการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนอย่างละเอียด ตั้งแต่ความพยายามในการจัดซื้อเรือดำน้ำของ ทร. จากหลายชาติเมื่อสิบปีก่อน มาจนถึงการจัดซื้อครั้งนี้ ซึ่งแม้แหล่งข่าวจะระบุถึงข้อดีที่เรือดำน้ำจีนมีเหนือเรือดำน้ำจากชาติอื่น ๆ แต่ก็ยอมรับว่า การจัดซื้อครั้งนี้ มี "สัญญาณ" มาจากภายนอก ทร.

ขณะที่หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจระบุชัดเจนกว่า ว่าการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนเป็นบัญชาจาก "บิ๊กในรัฐบาล"

ข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจ ในยุคที่รัฐบาลไทยเปลี่ยนนโยบายการต่างประเทศ โดยหันไปสร้างสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนมากขึ้นเรื่อย ๆ ภายหลังสหรัฐฯซึ่งเคยเป็นพันธมิตรกับไทยมาอย่างยาวนานวางตัวออกห่าง นับแต่การรัฐประหารเมื่อปี 2557

นับแต่ยึดอำนาจเมื่อปี 2557 รัฐบาลไทยก็หันไปผูกสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนมากกว่าสหรัฐฯ

ที่มาของภาพ, PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, นับแต่ยึดอำนาจเมื่อปี 2557 รัฐบาลไทยก็หันไปผูกสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนมากกว่าสหรัฐฯ
line

กระบวนการจัดซื้อโปร่งใสหรือไม่ ?

สำนักข่าวอิศรา นำเอกสารเกี่ยวกับโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำครั้งนี้ ซึ่งริเริ่มตั้งแต่ปี 2558 บางส่วนมาเผยแพร่ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าในเอกสารความต้องการ (Request for Offer) ของ ทร. ระบุว่า อยากได้เรือดำน้ำ 2 ลำ ซึ่งชาติคู่แข่งอื่น ๆ ก็เสนอมา 2 ลำ แต่จีนเสนอมา 3 ลำ จะเป็นการขัดกับเอกสารดังกล่าว รวมถึงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 หรือไม่

สื่อออนไลน์แห่งนี้ ยังตั้งข้อสังเกตเรื่องการพิจารณาของคณะกรมการคัดเลือก ว่าจะใช้เกณฑ์ใดในการพิจารณา เมื่อจีนเสนอจำนวนเรือดำน้ำไม่เท่ากับชาติคู่แข่งอื่น ๆ และไม่ตรงกับที่เอกสารระบุ

"อย่างนี้จะมีความเป็นธรรมและยุติธรรมกับผู้เสนอราคารายอื่น ๆ หรือไม่" สำนักข่าวอิศราตั้งคำถาม

การจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนถูกตั้งข้อสงสัยว่ามีความโปร่งใสหรือไม่

ที่มาของภาพ, GUANG NIU/POOL/GETTY IMAGES

คำบรรยายภาพ, การจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนถูกตั้งข้อสงสัยว่ามีความโปร่งใสหรือไม่
line

ได้มาแค่เรือเปล่า กับตอร์ปิโดไม่กี่ลูก ?

คอลัมนิสต์ซึ่งใช้นามปากกาว่า "มนัส" ผู้เขียนบทความตั้งข้อสังเกตการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนครั้งนี้ให้กับสื่อไทยหลายแห่ง อาทิ สำนักข่าวอิศรา หนังสือพิมพ์มติชน ฯลฯ นำเอกสารเสนอขายเรือดำน้ำของบริษัท CHINA SHIPBUILDING & OFFSHORE INTERNATIONAL CO., LTD. (CSOC) ให้กับไทย มาเปิดเผย

ซึ่งตามเอกสารระบุว่า ในงบ 36,000 ล้านบาท สิ่งที่ทางบริษัทจะส่งมอบ ที่เป็นจุดเด่นมีเพียง "ตัวเรือ" ทั้ง 3 ลำ และจะให้ตอร์ปิโดลูกจริงมาเพียง 4 ลูก กับลูกซ้อมอีก 2 ลูกเท่านั้น หากต้องการอาวุธ หรือโปรแกรมเสริมอื่น ๆ เช่น ระบบการส่งกำลังบำรุงรวม (ILS) จะต้องจ่ายเงินเพิ่มเติม

คอลัมนิสต์รายนี้ตั้งข้อสังเกตว่า ข้อมูลดังกล่าวขัดแย้งกับ "สมุดปกเขียว" ที่ ทร. ทำออกมาเพื่อชี้แจงกับประชาชน ที่ระบุว่า เรือดำน้ำจีน "มีการติดตั้งระบบอาวุธที่ครบถ้วนหลายชนิด ได้แก่ อาวุธปล่อยนำวิถี ตอร์ปิโด ทุ่นระเบิด"

ในอนาคต อาจมีคนสักคนในนักเรียนโรงเรียนนายเรือกลุ่มนี้ที่ได้ไปใช้ชีวิตอยู่ในเรือดำน้ำ

ที่มาของภาพ, ROBERTO SCHMIDT/AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, ในอนาคต อาจมีคนสักคนในนักเรียนโรงเรียนนายเรือกลุ่มนี้ที่ได้ไปใช้ชีวิตอยู่ในเรือดำน้ำ
line

คุณสมบัติแย่กว่าคู่แข่ง ?

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ระบุว่า จากข้อมูลเรื่องสเปคและคุณสมบัติของเรือดำน้ำจากทั้ง 6 ชาติที่ส่งให้ไทยพิจารณา หากพิจารณาในแง่คุณภาพ เรือดำน้ำจากจีนด้อยกว่าเรือดำน้ำคู่แข่งแทบทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็น

  • ขนาดของตัวเรือที่ใหญ่เกินไป ทำให้ระดับความลึกปลอดภัยมากถึง 60 เมตรขึ้นไป ขณะที่ความลึกเฉลี่ยท้องทะเลไทยอยู่ที่ 25-40 เมตรเท่านั้น
  • ความเร็วและระยะปฏิบัติการ เรือดำน้ำจีนสามารถทำความเร็วสูงสุด 18 นอตได้เพียง 10 นาที และมีระยะปฏิบัติการเพียง 8,000 ไมล์ ในขณะที่เรือดำน้ำชาติอื่นสามารถใช้ความเร็วสูงสุดมากกว่า 20 นอตได้ประมาณ 1 ชั่วโมงและมีระยะปฏิบัติการมากกว่า 10,000 ไมล์
  • อายุการใช้งานก็เพียงแค่ 25 ปี น้อยกว่าของชาติอื่นบางแบบที่ใช้งานได้ถึง 40 ปีขึ้นไป

ที่เหนือกว่าอาจมีเพียงเรื่องของ "จำนวน" เท่านั้นเอง

เรือฟริเกตจากเกาหลีใต้ มูลค่า 1.46 หมื่นล้านบาท คือยุทโธปกรณ์ล่าสุดที่กองทัพเรือจัดซื้อ

ที่มาของภาพ, กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ

คำบรรยายภาพ, เรือฟริเกตจากเกาหลีใต้ มูลค่า 1.46 หมื่นล้านบาท คือยุทโธปกรณ์ล่าสุดที่กองทัพเรือจัดซื้อ
line

การจัดซื้อผิดกฎหมายงบประมาณ ?

เป็นข้อสังเกตใหม่ที่ถูกเปิดประเด็นโดยนายปรีชา สุวรรณทัต อดีตคณะบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านสื่อไทยหลายสำนักว่า การจัดซื้อเรือดำน้ำตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 18 เม.ย. ที่ผ่านมา อาจจะขัดกับมาตรา 23 ของ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 เพราะการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีจะต้องเสนอให้ที่ประชุม ครม. อนุมัติภายหลัง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีนั้น ๆ มีผลใช้บังคับ ไม่เกิน 60 วัน

ทั้งนี้ พ.ร.บ.งบประมาณฯ ของปี 2560 มีผลใช้บังคับไปตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ของปีก่อน ภายใน 60 วัน คือไม่เกินวันที่ 30 พ.ย. ปีเดียวกัน

"มติ ครม. ดังกล่าวจึงล่วงเลยเวลา ไม่มีตามกฎหมายหรือตกเป็นโมฆะ" นายปรีชากล่าวกับเว็บไซต์หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

เหล่านี้ คือ 5 ข้อสงสัยที่น่าสนใจ และสาธารณชนคาดหวังว่าจะได้ยินคำอธิบายจาก เสธ.ทร. ในฐานะประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ รวมถึงจากผู้เกี่ยวข้องรายอื่น ๆ