ญี่ปุ่นเริ่มฉายแววแผ่แสนยานุภาพทางทะเลแข่งกับจีน

เรือเจเอส อิซึโมะ เป็นเรือพิฆาตบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ลำใหญ่ที่สุดที่ญี่ปุ่นสร้างขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ที่มาของภาพ, AFP

คำบรรยายภาพ,

เรือเจเอส อิซึโมะ เป็นเรือพิฆาตบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ลำใหญ่ที่สุดที่ญี่ปุ่นสร้างขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

เรือพิฆาตบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ เจเอส อิซึโมะ (JS Izumo) ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลของญี่ปุ่น เริ่มออกปรากฏโฉมในน่านน้ำภูมิภาคเอเชียบ่อยครั้งขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยเข้าร่วมในปฏิบัติการต่างๆ และจะออกตระเวนไปทั่วน่านน้ำของภูมิภาคในช่วงสามเดือนข้างหน้านี้

นายอเล็กซานเดอร์ เนลล์ สมาชิกอาวุโสของการเจรจาแชงกรีลา (Shangri-La Dialogue ) และนักวิจัยประจำสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการศึกษายุทธศาสตร์แห่งเอเชีย (IISS-Asia) มองความเคลื่อนไหวดังกล่าวของเรือเจเอส อิซึโมะว่าสอดคล้องกับแนวโน้มที่ญี่ปุ่นต้องการเพิ่มบทบาทของกองกำลังป้องกันตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการป้องกันทางทะเล ซึ่งขณะนี้ญี่ปุ่นกำลังเป็นกังวลต่อการที่จีนแผ่ขยายแสนยานุภาพไปทั่วน่านน้ำโดยรอบของญี่ปุ่น และในทะเลจีนใต้

เรือเจเอส อิซึโมะ เป็นเรือรบขนาดใหญ่ที่สุดที่ญี่ปุ่นสร้างขึ้นหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง แม้จะมีลักษณะคล้ายเรือบรรทุกเครื่องบิน แต่ทางการญี่ปุ่นระบุว่าเป็นเรือพิฆาตบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ที่สามารถบรรทุกได้สูงสุดกว่า 20 ลำ ซึ่งอาจนำไปใช้ในปฏิบัติการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมต่าง ๆ แต่การระบุเช่นนี้เท่ากับหลีกเลี่ยงไม่เปิดเผยถึงศักยภาพที่แท้จริงในการสู้รบโจมตีของเรือ ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่น

ผู้เชี่ยวชาญของจีนชี้ว่า หากมีการดัดแปลงเพียงเล็กน้อย เรือเจเอส อิซึโมะจะสามารถกลายเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินที่รองรับการบินขึ้นและลงจอดแนวดิ่งของเครื่องบินรบ รวมทั้งเครื่องบินสเตลธ์ F-35 ได้ ซึ่งข้อสังเกตนี้แสดงถึงความกังวลลึก ๆ ของฝ่ายจีนที่มีอยู่เช่นกัน ในเรื่องที่ญี่ปุ่นภายใต้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ เริ่มกลับมาแสดงแสนยานุภาพทางทะเล ซึ่งชวนให้นึกย้อนไปถึงความน่ากลัวของกองทัพเรือญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

นายอเล็กซานเดอร์ เนลล์ บอกกับบีบีซีว่า การขยายปฏิบัติการทางทะเลของกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น ทั้งในน่านน้ำทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ คือการตอบโต้จีนที่เร่งแผ่ขยายแสนยานุภาพทางทะเลอย่างไร้ขอบเขต ทั้งเป็นการยกระดับบทบาทของญี่ปุ่นในการป้องกันภูมิภาคและแบ่งเบาภาระให้ชาติพันธมิตรซึ่งได้แก่สหรัฐฯนั่นเอง โดยไม่นานมานี้เรือเจเอส อิซึโมะ ได้ออกช่วยคุ้มกันเรือเสบียงของสหรัฐฯ ซึ่งกำลังเดินทางไปยังคาบสมุทรเกาหลี โดยเป็นปฏิบัติการภายใต้กรอบกฎหมายใหม่ที่อนุญาตให้กองกำลังป้องกันตนเองเข้าช่วยเหลือชาติพันธมิตรต่อต้านภัยที่มีร่วมกันได้

ภาพกองทหารมีธงชาติญี่ปุ่น และธงชาติจีน

ที่มาของภาพ, GETTY IMAGES

สภาพการณ์เช่นนี้ยังทำให้อุตสาหกรรมการทหารของญี่ปุ่นที่เคยซบเซากลับมีความคึกคักขึ้นอีกด้วย โดยบริษัทผู้ค้าสรรพาวุธเพื่อการป้องกันทางทะเลของญี่ปุ่นเริ่มออกแสวงหาข้อตกลงทางธุรกิจในต่างประเทศกันมากขึ้น เช่นบริษัทอุตสาหกรรมหนักมิตซูบิชิได้เข้าร่วมประกวดราคาจัดสร้างเรือดำน้ำให้รัฐบาลออสเตรเลียเมื่อปีที่แล้ว และมีการนำเครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเลรุ่นใหม่ Kawasaki P-1 ออกบินไปโชว์ตัวที่สหราชอาณาจักรเมื่อสองปีที่แล้ว

นายอเล็กซานเดอร์ เนลล์ ยังบอกกับบีบีซีว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีแรงกดดันอย่างหนักให้กองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลและหน่วยรักษาความปลอดภัยชายฝั่งของญี่ปุ่น เร่งปฏิบัติการตอบโต้การรุกล้ำน่านน้ำโดยเรือตรวจการณ์ของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่พิพาททางกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะเซงกะกุ (Senkaku) ที่มีเรือจีนหลากหลายประเภทรวมทั้งเรือฟริเกตและเรือพิฆาตที่แปลงโฉมเป็นเรือตรวจการณ์ของยามฝั่งรุกล้ำเข้ามาเป็นประจำโดยเฉลี่ยถึงเดือนละสามครั้ง

เรือจีนที่รุกล้ำเข้ามาเหล่านี้ เริ่มเพิ่มจำนวนขึ้นและมีลักษณะคุกคามมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นมีการติดอาวุธให้เรือตรวจการณ์ เรือที่ใช้ก็มีขนาดใหญ่ขึ้น จากประเภทระวางขับน้ำ 3,000-4,000 ตัน มาเป็นแบบ 10,000 ตัน สัดส่วนจำนวนเรือตรวจการณ์ของหน่วยรักษาความปลอดภัยชายฝั่งจีนและญี่ปุ่นก็มีการแข่งขันเพิ่มจำนวนสู้กันมาเรื่อย ๆ จากสัดส่วนเมื่อปี 2012 ที่มีเรือญี่ปุ่น 51 ลำ ต่อเรือจีน 40 ลำ มาเป็นสัดส่วนเรือญี่ปุ่น 65 ลำ ต่อเรือจีน 135 ลำในปัจจุบัน

ชาวญี่ปุ่นเดินขบวนใจกลางกรุงโตเกียว ประท้วงการรุกล้ำน่านน้ำหมู่เกาะเซงกะกุโดยเรือตรวจการณ์จีน

ที่มาของภาพ, AFP

คำบรรยายภาพ,

ชาวญี่ปุ่นเดินขบวนใจกลางกรุงโตเกียว ประท้วงการรุกล้ำน่านน้ำหมู่เกาะเซงกะกุโดยเรือตรวจการณ์จีน

เมื่อเดือนมิถุนายนของปีที่แล้ว เรือพิฆาตเซโตะกิริของญี่ปุ่น พบว่าเรือฟริเกตชั้นเจียงไคของกองทัพเรือจีนเข้ามาในเขตรอยต่อพรมแดนทางน้ำระหว่างสองประเทศใกล้หมู่เกาะเซงกะกุพร้อมกับกองเรือรัสเซีย ส่วนเดือนต่อมาพบว่าเรือสอดแนมของกองทัพเรือจีน เข้ามาใกล้เกาะสองแห่งทางตอนใต้ของหมู่เกาะเซงกะกุเป็นครั้งแรกอีกด้วย แต่การรุกล้ำครั้งที่รุนแรงที่สุดเกิดขึ้นในเดือนถัดมา เมื่อกองเรือตรวจการณ์ของจีนนำเรือประมงกว่า 300 ลำเข้ามาหาปลาในน่านน้ำโดยรอบหมู่เกาะเซงกะกุ โดยเรือตรวจการณ์ที่คุ้มกันอยู่ติดอาวุธด้วย

การปะทะกันระหว่างเครื่องบินตรวจการณ์ของจีนและญี่ปุ่นเหนือน่านน้ำในบริเวณดังกล่าวก็เพิ่มสูงขึ้น จนถึงระดับที่สูงกว่า 994 ครั้งต่อปี ซึ่งเป็นสถิติในช่วงสงครามเย็นเสียอีก โดยฝ่ายญี่ปุ่นอ้างว่าเครื่องบินลาดตระเวนของจีนแสดงพฤติกรรมยั่วยุอยู่บ่อยครั้ง

ญี่ปุ่นมองว่า การแผ่ขยายอิทธิพลทางทะเลของจีนในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้นั้นมีความเชื่อมโยงกัน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของจีนที่มุ่งสร้างเส้นทางสายไหมทางทะเลนั่นเอง ทำให้จากนี้ไปการปะทะกันในเรื่องเขตแดนและผลประโยชน์ทางทะเลระหว่างจีนกับญี่ปุ่นนั้นจะหลีกเลี่ยงได้ยาก การที่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะใช้ปฏิบัติการของเรือเจเอส อิซึโมะ เป็นเครื่องมือแสดงบทบาทที่เปลี่ยนไปในการป้องกันภูมิภาค และเล็งขยายปฏิบัติการทางทะเลร่วมกับสหรัฐฯให้มากขึ้นนั้น ก็เพื่อปรามให้จีนควบคุมกิจกรรมทางทะเลของตนให้อยู่ในกรอบระเบียบของหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ทุกฝ่ายเรียกร้องนั่นเอง