ส่องเครือข่ายค้าอาวุธพญามังกรผ่านเรือดำน้ำ "ซื้อ 2 แถม 1"

  • พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์
  • ผู้สื่อข่าวอิสระ
คำบรรยายวิดีโอ,

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการจัดซื้อเรือดำน้ำจีน

การขายเรือดำน้ำ 3 ลำ รวมมูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาท ให้แก่ราชนาวีไทย ทางการจีนใช้วิธีการอันชำนาญ ทั้งลด-แลก-แจก-แถมสารพัด ไปจนถึงเสนอราคาขายแสนต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปรียบเทียบว่า ไม่ต่างกับ "ซื้อ 2 แถม 1"

การจัดซื้อครั้งนี้ เป็นแบบรัฐต่อรัฐ แต่คู่ค้าของรัฐบาลไทยเป็นบริษัท China Shipbuilding & Offshore International จำกัดหรือ CSOC ซึ่งถือเป็นกิ่งก้านหนึ่งในบริษัทขายสินค้าเกี่ยวกับความมั่นคงนับร้อย ที่รัฐบาลจีนถือหุ้นใหญ่

CSOC เป็นบริษัทลูกของ China Shipbuilding Industry Corporation หรือ CSIC บริษัทต่อเรือที่ใหญ่ที่สุดของจีน และมีผลงานล่าสุด คือ จากการต่อเรือบรรทุกเครื่องบินฉบับ "จีนทำเอง" สำเร็จ ที่อู่ต่อเรือในเมืองต้าเหลียน มณฑลเหลียวหนิง

ผลประกอบการหลักล้านล้านบาท

ในปี 2016 CSIC มีรายได้รวมกันถึง 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 1.26 ล้านล้านบาท เกือบครึ่งของงบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาลไทย โดยมีรายได้เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปีก่อน และมีแนวโน้มจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

จีนเผยโฉมเรือบรรทุกเครื่องบินที่ผลิตเองเป็นลำแรกในประเทศ คาดใช้รองรับเครื่องบินรบจีน J-15 แต่ไม่ใช้ระบบขับเคลื่อนพลังนิวเคลียร์

ที่มาของภาพ, The Asahi Shimbun/Getty Images

คำบรรยายภาพ,

จีนเผยโฉมเรือบรรทุกเครื่องบินที่ผลิตเองเป็นลำแรกในประเทศ คาดใช้รองรับเครื่องบินรบจีน J-15 แต่ไม่ใช้ระบบขับเคลื่อนพลังนิวเคลียร์

ทว่า CSIC ถือเป็นบริษัทค้าอาวุธจีน "ขนาดกลาง" เท่านั้น เมื่อเทียบกับผู้ผลิตอาวุธของจีนรายอื่นๆ เช่น China North Industries Corp หรือ NORINCO ที่ขายรถถังไปจนถึงอาวุธภาคพื้นดินต่างๆ และ Aviation Industry Corp of China หรือ AVIC ที่ขายเครื่องบินรบ ซึ่งต่างมีรายได้มากกว่า CSIC เกินสองเท่า

ทั้งนี้ ในรายชื่อบริษัทที่มีผลประกอบการดีที่สุดในโลกของนิตยสารฟอร์จูน หรือ The Global Fortune 500 มีบริษัทค้าอาวุธของจีนติดอันดับถึง 8 บริษัท และมีถึง 6 บริษัทที่มีรายได้ในระดับ "ล้านล้านบาท"

ผู้ค้าอาวุธรายสำคัญของโลก

ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม หรือ SIPRI ชี้ว่า ระหว่างปี 2007 - 2016 จีนได้กลายเป็นพ่อค้าอาวุธรายสำคัญของโลก จากที่ไม่ติดแม้สิบอันดับแรกในช่วงแรก มาอยู่ในอันดับที่ห้าของปีล่าสุด ตามหลังเพียงสหรัฐฯ รัสเซีย เยอรมนี และฝรั่งเศส ด้วยมูลค่าการส่งออกถึง 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (7.35 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นถึงสี่เท่าหากเทียบกับ 10 ปีก่อน โดยสินค้าที่ส่งออก มีทั้งเรือ อากาศยาน ชุดเกราะ ขีปนาวุธ จรวด กระสุนปืนใหญ่ ฯลฯ

ส่วนแบ่งตลาดค้าอาวุธโลก ปี 2016

ที่มา: สถาบันวิจัยเพื่อสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม

ลูกค้าสำคัญของจีน มีทั้งประเทศในเอเชีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ไปจนถึงอเมริกาใต้ โดย 3 ประเทศที่มียอดสั่งซื้อมากที่สุด ได้แก่ ปากีสถาน (5.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) บังกลาเทศ (1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) และเมียนมา (1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)

ส่วนไทยแม้ที่ผ่านมายอดสั่งซื้อจะยังน้อย (143 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) แต่ถ้ารวมราคาของเรือดำน้ำ (1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เข้าไปด้วย ก็จะแซงหน้าเมียนมาทันที

เบื้องหลังสัญญาซื้อขาย

สื่อตะวันตกบางสำนักระบุว่า เหตุที่จีนกลายมาเป็นผู้ส่งออกอาวุธรายสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากราคาจะถูกกว่าเจ้าอื่นหลายเท่าตัว ก็ยังเนื่องมาจากท่าทีของจีนที่ไม่รังเกียจที่จะค้าขายกับประเทศที่ถูกคว่ำบาตรหรือมีปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น อิหร่าน อังโกล่า หรือซูดานใต้

นายอัลลัน นิกสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออก แสดงความเห็นผ่านวารสารข่าวออนไลน์ เดอะ ดิโพลแมต ว่าเหตุที่จีนเร่งค้าขายอาวุธขนานใหญ่ ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการสร้างผลประกอบการของบริษัทที่รัฐจีนเป็นเจ้าของ ให้ดูเติบโต ส่งผลบวกต่อราคาหุ้นของบริษัทหลายรายในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ อีกส่วนเป็นเรื่องของการขยายอิทธิพลไปในส่วนต่างๆ ของโลก โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกาแถบใต้ทะเลทรายซาฮารา

ทหารมองเครื่องบินรบจำลอง

ที่มาของภาพ, PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP/GETTY IMAGES

กรณีของไทย แม้จะสั่งซื้ออาวุธจากจีนหลายรายการในระยะหลัง แต่นายวรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลับมองว่า นี่เป็นสภาวะชั่วคราวที่จะหายไปหลังมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง เหตุเพราะไทยไม่สามารถซื้ออาวุธจากสหรัฐฯหรือยุโรปได้ หลังถูกคว่ำบาตรนับแต่การรัฐประหาร เมื่อปี 2557 เพราะความที่ไทยก็ไม่ได้ใกล้ชิดกับจีนมาก เมื่อเทียบกับชาติอื่นๆในอาเซียน ถือว่าอยู่ในระดับกลาง ๆ

"เรื่องเศรษฐกิจเขาก็ร่วมมือกันทั่วโลก แต่เรื่องการเมืองมันอ่อนไหว" นายวรศักดิ์กล่าวกับ เว็บไซต์ประชาไท

แม้การซื้ออาวุธจากจีนจะมีหลากเหตุผลปะปนกันไปทั้งการค้าและการเมือง แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือทุกวันนี้ "พญามังกร" ได้กลายมาเป็นผู้เล่นรายสำคัญในตลาดค้าขายอาวุธของโลกไปเรียบร้อยแล้ว

โครงการจัดหาเรือดำน้ำ

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

บริษัทค้าอาวุธยักษ์ใหญ่ของจีน

ปี 2012 สำนักข่าวรอยเตอร์ส จัดอันดับ 10 บริษัทที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวกับการป้องกันประเทศและค้าอาวุธยักษ์ใหญ่ของจีน โดยเมื่อนำไปตรวจสอบผลประกอบการของแต่ละบริษัท ก็พบว่ามีรายได้ในระดับล้านล้านบาทขึ้นไปแทบจะทั้งสิ้น

1.AVIC - Aviation Industry Corp of China ขายอากาศยานให้ทั้งพลเรือนและทหาร รวมถึงเครื่องบินทิ้งระเบิดและเครื่องบินรบ (มีรายได้ 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 2.1 ล้านล้านบาท)

2.CASC - China Aerospace Science and Technology Corp เป็นผู้เล่นหลักในโครงการอวกาศของจีน (มีรายได้ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.05 ล้านล้านบาท)

3.CASIC - China Aerospace Science & Industry Corp เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาขีปนาวุธ (มีรายได้ 2.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 9.45 แสนล้านบาท)

4.NORINCO - China North Industries Corp ขายรถถังและอาวุธภาคพื้นดิน (มีรายได้ 6.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 2.13 ล้านล้านบาท)

5.CSGC - China South Industries Group Corp เน้นการพัฒนาอาวุธภาคพื้นดิน รวมถึงยานพาหนะทางบก (มีรายได้ 7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 2.45 ล้านล้านบาท)

6.CETC - China Electronics Technology Group Corp เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์สื่อสาร คอมพิวเตอร์ ไปจนถึงการเขียนโปรแกรม (มีรายได้ 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 9.1 แสนล้านบาท)

7.CSIC - China Shipbuilding Industry Corp หนึ่งในสองบริษัทต่อเรือใหญ่ที่สุดของจีน (มีรายได้ 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.26 ล้านล้านบาท) และเป็นบริษัทแม่ของบริษัท CSOC ที่ขายเรือดำน้ำให้กับไทย

8.CSSC - China State Shipbuilding Corp หนึ่งในสองบริษัทต่อเรือใหญ่ที่สุดของจีน (มีรายได้ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.05 ล้านล้านบาท)

9.CNNC - China National Nuclear Corp ผู้ลงทุนและพัฒนานิวเคลียร์ (ไม่พบข้อมูลรายได้ไม่พบ แต่พบข้อมูลของบริษัทลูก)

10.CNECC - China Nuclear Engineering Group Corp บริษัทที่มีบทบาทสำคัญในโครงการนิวเคลียร์ของจีน (มีรายได้ 2.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.01 ล้านล้านบาท)

หมายเหตุ.-ข้อมูลรายได้มาจากข้อมูลหลายแหล่ง เช่น เว็บไซต์นิตยสาร Fortune และเว็บไซต์ของแต่ละบริษัท ด้วยอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 35 บาท

พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการ ทร. นำทีมแถลงยืนยันความโปร่งใสในการจัดซื้อเรือดำน้ำสัญชาติจีน เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2560 ก่อนเป็นผู้แทน ผบ.ทร.ไปลงนามในสัญญาว่าจ้างก่อสร้างเรือ

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ,

พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการ ทร. นำทีมแถลงยืนยันความโปร่งใสในการจัดซื้อเรือดำน้ำสัญชาติจีน เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2560 ก่อนเป็นผู้แทน ผบ.ทร.ไปลงนามในสัญญาว่าจ้างก่อสร้างเรือ

ไทยซื้ออาวุธอะไรจากจีนบ้าง

ข้อมูลจาก SIPRI ก่อนการมาถึงของเรือดำน้ำ S26T ในรอบสิบปีหลัง ระหว่างปี 2007 - 2016 ไทยเคยจัดซื้ออาวุธจากจีนมาแล้วอย่างน้อย 8 รายการ ประกอบด้วย

  • เครื่องยิงจรวด WS-1 จำนวน 7 เครื่อง
  • ขีปนาวุธต่อต้านเรือ C-802 จำนวน 60 ลูก
  • เครื่องยิงจรวด SR-5 จำนวน 4 เครื่อง
  • เครื่องยิงจรวดแบบนำทาง WS-3A จำนวน 25 เครื่อง
  • เรดาร์ RA-3 จำนวน 2 เครื่อง
  • ระบบยิงขีปนาวุธจากพื้นดินสู่อากาศ KS-1A จำนวน 1 เครื่อง
  • ขีปนาวุธจากพื้นดินสู่อากาศ KS-1A จำนวน 50 ลูก
  • รถถังหลัก VT-4 จำนวน 49 คัน