ทบ. ปิด 435 เว็บหมิ่นสถาบันฯ ใน 7 เดือน

หน้าเว็บไซต์ที่ถูกบล็อกโดยกระทรวงดีอี

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, ศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก ถูกจัดตั้งขึ้นใหม่เมื่อเดือน ต.ค.59 โดยแปรสภาพมาจากศูนย์เทคโนโลยีทางทหารกองทัพบก

พล.ต.ฤทธี อินทราวุธ ผอ.ศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก กล่าวภายหลังร่วมงานวันสถาปนาศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก ที่มีวาระครบรอบ 16 ปี ในวันนี้ (11 พ.ค.) ว่าได้ดำเนินการเฝ้าระวัง ติดตามข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน การโจมตี ให้ร้าย และละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ผ่านเว็บไซต์และสื่อสังคมออนไลน์ ตั้งแต่เดือน ต.ค.2559 ถึงปัจจุบัน ตรวจพบเว็บไซต์เข้าข่ายหมิ่นสถาบันฯ จำนวน 820 รายการ แบ่งเป็น เฟซบุ๊ก 365 รายการ ยูทูบ 450 รายการ และทวิตเตอร์ 5 รายการ

จึงได้ประสานความความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์ที่หมิ่นสถาบันฯ ไปแล้ว 435 รายการ ขณะที่ยังมีบางเว็บไซต์ที่เปิดขึ้นมาใหม่ ล่าสุดเมื่อเดือน เม.ย.มี 120 รายการ แยกเป็นกลุ่มและบุคคลที่กระทำความผิดที่อยู่ต่างประเทศ 7 ราย และยังไม่ทราบแหล่งที่มาของผู้กระทำ 18 ราย

อย่างไรก็ตาม จากการเฝ้าระวังติดตามและดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์ต่างๆ รวมถึงการนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้การกระทำผิดกฎหมายในลักษณะดังกล่าวลดลงตามลำดับ

"การปิดกั้นเว็บไซต์ที่หมิ่นสถาบันฯ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันปิดกั้นตามคำสั่งศาลกว่า 6,000 รายการ ทั้งนี้ยังติดปัญหาบุคคลที่กระทำความผิดที่อยู่ต่างประเทศ จึงต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศและผู้ประกอบการ คาดว่าแนวโน้มในเร็วๆนี้ การเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวกับสถาบันฯ จะลดน้อยลง" ผอ.ศูนย์ไซเบอร์ กล่าว

ส่วนเฟซบุ๊ก ยูทูบ ซึ่งมีช่องทางการส่งข้อมูลจากต่างประเทศ พล.ต.ฤทธี กล่าวว่า หากช่องทางของข้อมูลผ่านระบบของในไทยก็สามารถปิดกั้นได้บางส่วน พร้อมยอมรับว่า มีบางส่วนที่ใช้เทคนิคในการหลบเลี่ยงทำให้ไม่สามารถปิดกั้นเว็บไซต์ดังกล่าวได้

ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกำลังมองหน้าจอคอมพิวเตอร์

ที่มาของภาพ, Getty Images

รายชื่อเว็บไซต์ที่ถูกสั่งปิดทางการขอปิดเป็นความลับ

ด้านนางมรกต กุลธรรมโยธิน นายกสมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2557 รัฐบาลได้ส่งจดหมายแจ้งรายชื่อเว็บไซต์ที่เข้าข่ายผิดกฎหมายมาให้อย่างต่อเนื่อง ณ ปัจจุบัน รวมแล้วเกือบ 7,000 เว็บไซต์ ซึ่งกว่า 6,300 เว็บไซต์ได้ถูกปิดกั้นไปแล้ว เหลืออีก 600 เว็บไซต์ที่ยังอยู่ระหว่างการประสานงาน เนื่องจากมีการเข้ารหัสไว้

ขณะเดียวกัน ทางสมาคมฯ ยังได้ส่งจดหมายและอีเมลไปยังเฟซบุ๊กเพื่อให้ดำเนินการปิดกั้นบางโพสต์ตามหมายศาลของประเทศไทยแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับจากเว็บไซต์สังคมออนไลน์ยักษ์ใหญ่ดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ อ้างคำตอบของโฆษกเฟซบุ๊กว่า จะยอมปฏิบัติตามคำร้องของรัฐบาลไทย ที่ได้ส่งหนังสือไปยังสำนักงานใหญ่ของเฟซบุ๊กในสหรัฐเมริกา ทั้งนี้ บีบีซีไทยได้ติดต่อไปทางเฟซบุ๊ก แต่ยังไม่ได้รับคำตอบหรือยืนยันใดๆ ในขณะนี้

เมื่อถามว่ารายละเอียดเกี่ยวกับเว็บไซต์ที่ถูกสั่งปิดไปแล้วมีรายชื่อใดบ้าง นายกสมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทย ระบุว่า เป็นเอกสารลับ