เสียงเรียกจากวอชิงตันถึงอาเซียน

  • รวี วงศ์วารี
  • ผู้สื่อข่าวพิเศษ บีบีซีไทย
นายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน

ที่มาของภาพ, AFP

คำบรรยายภาพ, รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ และ รมว.ต่างประเทศอาเซียน

โทรศัพท์ทางไกลจากกรุงวอชิงตันถึงผู้นำอาเซียน 3 ประเทศในเวลาไล่เลี่ยกันระหว่างและตอนสิ้นสุดการประชุมสุดยอดอาเซียนในช่วงสิ้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทำให้บรรดาผู้นำ ของกลุ่ม คลายความกังวลอย่างมากว่าสหรัฐอเมริกาในยุคของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ คงจะไม่ทอดทิ้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในห้วงที่ภูมิภาคนี้กำลังเผชิญหน้ากับปัญหา และความท้าทายหลายอย่าง

แม้ว่านายทรัมป์อาจจะยังไม่มียุทธศาสตร์ชัดเจนในการสร้างความสัมพันธ์กับอาเซียนนอกจากพยายามจะดึงเป็นพวก แต่นักสังเกตการณ์จำนวนหนึ่งเห็นว่า นั่นจะสร้างแรงกดดัน ให้กับอาเซียนได้มาก "เพราะจีนก็กำลังใช้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจเพื่อดึงอาเซียนให้ออกจากอิทธิพลของสหรัฐฯ อยู่เหมือนกัน" นายเดนนี่ รอย นักวิจัยอาวุโส แห่ง อีสต์-เวสต์ เซ็นเตอร์ กล่าวที่ฮาวายเมื่อเร็ว ๆ นี้

ประธานาธิบดีทรัมป์โทรศัพท์หาประธานาธิบดีโรดริโก ดูแตร์เต ก่อน ในฐานะประธานอาเซียนและประเทศที่เป็นพันธมิตร (treaty ally) กับสหรัฐฯ พร้อมกับเอ่ยปากชวนให้ไป เยือนกรุงวอชิงตัน จากนั้นวันถัดมาก็โทรศัพท์หานายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ของไทย ในฐานะผู้นำของประเทศพันธมิตรอีกเช่นกัน และในเวลาไล่เลี่ยกันก็โทรหา นายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง ของสิงคโปร์ในฐานะประเทศที่เป็นหุ้นส่วน

นายดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์

ที่มาของภาพ, AFP

คำบรรยายภาพ, นายดูแตร์เร ผู้นำฟิลิปปินส์ บอกว่าเขาอาจไม่ว่างไปเยือนสหรัฐฯ ตามคำเชิญของนายทรัมป์

สหรัฐฯ มีพันธมิตรที่เป็นแบบ treaty ally ในเอเชีย-แปซิฟิก 5 ประเทศคือ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ และไทย ส่วนสิงคโปร์แม้จะดูสนิทสนมกับสหรัฐฯ มาก ก็มีฐานะเป็น"หุ้นส่วน"ที่ใกล้ชิดกันเท่านั้น

ในบริบทของความสัมพันธ์แบบทวิภาคีนั้นทั้งสามประเทศสมาชิกอาเซียนที่ได้รับโทรศัพท์และคำเชิญไปวอชิงตันตีความเรื่องนี้ไม่เหมือนกัน ประธานาธิบดีดูแตร์เต แสดงออกว่า ไม่ได้ให้ความสำคัญกับสายนี้เท่าใดนัก โดยบอกกับนักข่าวว่า เขาอาจจะไม่ว่างไปเยือนกรุงวอชิงตันก็ได้ ดูเหมือนเขาพยายามจะบอกเป็นนัย ๆ ว่า เขามีธุระสำคัญ กับจีนมากกว่า โดยเฉพาะในปัญหาทะเลจีนใต้

เพราะระหว่างการประชุมสุดยอดนั้น เขาได้ยื่นไมตรีสำคัญให้กับปักกิ่งด้วยการตัดถ้อยคำที่คิดว่าจะสร้างความขุ่นเคืองให้จีนออกไป จากถ้อยแถลงของประธานหลังการประชุมสุดยอด กล่าวคือเขาไม่พูดถึงการสร้างเกาะเทียมและเสริมกำลังทหารบนเกาะเหล่านั้นในทะเลจีนใต้ อีกทั้งเรื่องคำพิพากษาศาล ประจำอนุญาโตตุลาการที่กรุงเฮกที่ตัดสินให้ฟิลิปปินส์ชนะจีนในเรื่องสิทธิในหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ ก็ไม่ได้มีการเอ่ยถึงด้วย

ในขณะที่ผู้นำในรัฐบาลทหารของไทยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากและดูเหมือนจะไม่ปกปิดความดีใจ นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ บอกกับนักข่าวที่กรุงเทพฯว่า การสนทนา ทางโทรศัพท์เพียงแค่ 15 นาทีเมื่อตอนดึกของวันที่ 30 เมษายนนั้นเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของความสัมพันธ์ของความสัมพันธ์แบบทวิภาคีเลยทีเดียว รัฐมนตรีต่างประเทศ นายดอน ปรมัติวินัย บอกว่ารัฐบาลไทยพิจารณาคำเชิญนั้นอย่างจริงจังและกำลังหาเวลาที่เหมาะสมในการจัดการเยือนสหรัฐของพลเอกประยุทธ์อยู่ แม้ว่าจะไม่ใช่เวลาที่เร็วนัก แต่ก็ไม่น่าจะเกินปี 2560 นี้

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

ที่มาของภาพ, REUTERS/Chaiwat Subprasom

คำบรรยายภาพ, กระทรวงต่างประเทศคาดว่าพลเอกประยุทธ์ จะไปเยือนสหรัฐฯ ภายในปีนี้

ในบริบทของภูมิภาคความจริงแล้วประธานาธิบดีทรัมป์ก็ไม่ได้เลือกเฉพาะประเทศที่เป็นพันธมิตรหรือหุ้นส่วนใกล้ชิดเท่านั้น ความจริงแล้วเขาโทรหา นายกรัฐมนตรี เหงียน วัน ฟุก ของเวียดนาม ตั้งแต่กลางเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ก่อนพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งกว่าหนึ่งเดือน บอกว่าสหรัฐฯ ต้องการสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด และแน่นแฟ้น กับเวียดนาม

แต่สิ่งที่ถือว่ามีความหมายต่ออาเซียนในฐานะองค์กรระดับภูมิภาคคือการประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ นายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน กับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่กรุงวอชิงตันเมื่อวันที่ 4-5 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพราะเป็นการเชิญประชุมในห้วงระยะเวลาสำคัญ ไม่ใช่แค่รำลึกวาระครบความสัมพันธ์ 40 ปีสหรัฐฯ-อาเซียนและครบรอบ 50 ปีการก่อตั้งอาเซียนเท่านั้น แต่ยังเกิดสถานการณ์สำคัญในคาบสมุทรเกาหลีอีกด้วยเพราะเกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธ อีกทั้งสหรัฐฯ ก็ยังไม่ลืมพ่วงปัญหาทะเลจีนใต้ ซึ่งสมาชิก อาเซียนหลายชาติมีปัญหาอยู่กับจีนเข้าไปด้วย

เกาะสแปรตลีย์

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, เกาะสแปรตลีย์ส่วนหนึ่งของดินแดนทางทะเลที่เป็นข้อพิพาททะเลจีนใต้

สหรัฐฯ และอาเซียนให้ความสำคัญกับการประชุมครั้งนี้มากแม้ว่ามันจะเป็นการประชุมประจำ แต่ก็เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยรัฐบาลทรัมป์ ในบรรดาผู้แทนอาเซียนที่เข้าประชุมนั้น 8 ใน 10 ประเทศเป็นระดับรัฐมนตรีว่าการ ยกเว้นพม่า ซึ่งส่งที่ปรึกษาความมั่นคงคือนายอู ตวง ตุน เข้าประชุมแทนเพราะนางออง ซาน ซูจี รัฐมนตรีต่างประเทศติดภารกิจในการ เยือนยุโรปแต่ก็ได้เขียนจดหมายถึงนายทิลเลอร์สันเพื่อพูดถึงความสัมพันธ์ และอีกประเทศหนึ่งคือเวียดนามส่งรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศ นายเหงียน กว๊อก สุง ไปแทน เพราะรัฐมนตรีต่างประเทศเวียดนาม นายฟาม บิงห์ มิงห์ เพิ่งเยือนสหรัฐฯ ไปก่อนหน้าไม่นาน

หลังการประชุมนายแพททริค เมอร์ฟี รองผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศด้านกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ที่เพิ่งได้รับการมอบหมายให้รับตำแหน่งหมาดๆ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อ ข่าวจากอาเซียนทางโทรศัพท์ว่า นอกจากปัญหาคาบสมุทรเกาหลีและทะเลจีนใต้ซึ่งครอบงำการประชุมเป็นส่วนใหญ่แล้ว รัฐมนตรีทิลเลอร์สัน ให้ความสำคัญกับอาเซียนมาก ในเรื่องความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจ เฉพาะอย่างยิ่งหลายประเทศได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐอยู่มาก รวม ๆ กันแล้วมากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี นั่นเป็นเหตุให้ สหรัฐฯ ต้องแต่งตั้งคณะผู้แทนมาเจรจากับประเทศในอาเซียนในเรื่องนี้เป็นสำคัญ

นายคิม จอง อึน

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, สหรัฐฯ ไม่ได้คาดหวังว่ากลุ่มอาเซียนจะให้ความสนใจปัญหาคาบสมุทรเกาหลีมากนัก

ในปัญหาสำคัญเร่งด่วนคือเรื่องคาบสมุทรเกาหลีนั้น ดูเหมือนสหรัฐฯ จะไม่ได้คาดหวังว่ากลุ่มอาเซียนจะให้ความสนใจมากนัก เพราะอยู่ห่างไกลและไม่มีผลประโยชน์ โดยตรง นายเมอร์ฟี กล่าวว่า สหรัฐฯ "สนับสนุน" ให้กลุ่มอาเซียนดำเนินนโยบายโดยการปฏิบัติตามข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติเป็นสำคัญ นั่นก็รวมถึงการให้ ความร่วมมือในการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือด้วย

สมาชิกอาเซียนหลายประเทศ เช่น เวียดนาม ลาว กัมพูชา มาเลเซียและไทย จะมีความสัมพันธ์ค่อนข้างดีกับเกาหลีเหนือทั้งยังปรากฏว่ามีการค้าและการลงทุนกันด้วย แต่นักสังเกตการณ์ทั่วไปก็ยังมองว่า อาเซียนไม่น่าจะมีบทบาทอะไรในปัญหานี้ได้มากนัก ถึงแม้เกาหลีเหนือจะนั่งเป็นสมาชิก Asean Regional Forum หรือเออาร์เอฟ อยู่ด้วยก็ตาม

นายเรกินัลด์ ยินหวัง กว๊อก ศาสตราจารย์เอเชียศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาวาย กล่าวว่า "ตราบเท่าที่เกาหลีเหนือไม่หันขีปนาวุธไปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผมไม่คิดว่ากลุ่มอาเซียน หรือชาติใด ๆในอาเซียนจะอยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับปัญหานี้นะ ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ถ้ามองกันตามความเป็นจริงแล้ว มันคือการดำเนินความ สัมพันธ์เพื่อผลประโยชน์ ของตัวเองทั้งนั้น ตราบเท่าที่ไม่มีผลประโยชน์ก็ไม่ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยว"

ขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ

ที่มาของภาพ, STR/AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, นักวิชาการมองว่าตราบใดที่เกาหลีเหนือไม่หันขีปนาวุธไปทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาเซียนก็ไม่อยากข้องแวะกับปัญหานี้

แต่สหรัฐฯ ก็ชักชวนอาเซียนให้เกี่ยวข้องกับปัญหาคาบสมุทรเกาหลีในฐานะที่เป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางด้านความมั่นคงกัน "ประธานาธิบดี ทรัมป์ เป็นนักธุรกิจ สิ่งที่เขา กำลังทำตอนนี้คือตรวจสอบว่าเขามีชิปในมือแค่ไหน ก่อนจะตัดสินใจว่าจะร่วมเล่นหรือลงทุนด้วยเท่าไหร่" ศาสตราจารย์ กว๊อก กล่าว

ในปัญหาทะเลจีนใต้นั้น สหรัฐฯ ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง แต่จำเป็นต้องแสวงบทบาทเพื่อตีกันจีน และอยากให้อาเซียนสนับสนุนหลักการว่าด้วยเสรีภาพ ในการเดินเรือ และการบิน เหนือทะเลจีนใต้ เพราะรู้ดีว่าจีนครอบงำเรื่องนี้อยู่และอาเซียนไม่เป็นเอกภาพ ประเทศที่เคยฟังความเห็นสหรัฐมากในเรื่องนี้อย่างฟิลิปปินส์ก็เริ่มเอนเอียงไปทางจีนมากขึ้น ศาสตราจารย์ กว๊อก กล่าวว่า ท่าทีของประธานาธิบดี ดูแตร์เต สร้างความกังวลให้กับสหรัฐฯ ได้มาก

สถานการณ์เช่นนี้ดูเหมือนอาเซียนจะถูกแบ่งเป็นสองพวกกลุ่มที่ไม่ได้ผลประโยชน์โดยตรงกับความขัดแย้งคือพวกที่อยู่ในแผ่นดินใหญ่อย่างไทย ลาว กัมพูชา และพม่า มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนแน่นแฟ้น ในขณะที่กลุ่มที่อยู่ในทะเลจีนใต้ อย่างเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย นั้นมีปัญหาพิพาทกับจีนเรื่องการอ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะ แต่กลุ่มนี้ก็เริ่มมีความเห็นต่างกันระหว่างจะแก้ปัญหานี้กับจีนแบบทวิภาคีหรือจะพูดกันแบบพหุภาคีในกรอบอาเซียนและยืนยันหลักการตามกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งความเห็นอย่างหลังนี้ตรงกับสหรัฐฯ

"ปัญหาทะเลจีนใต้จะเป็นหนึ่งในหลาย ๆ ปัญหาที่ทำให้อาเซียนจะต้องตกอยู่ภายใต้แรงกดดัน เพราะทั้งสหรัฐและจีน ต่างก็พยายามจะดึงอาเซียนมาเป็นพวก" นายรอย นักวิจัยอาวุโส แห่งอีสเวสต์ เซ็นเตอร์ กล่าว

ชาวโรฮิงญา

ที่มาของภาพ, REUTERS/Mohammad Ponir Hossain

คำบรรยายภาพ, สหรัฐฯ ปรับจุดยืนเรื่องสิทธิมนุษยชนและปัญหาประขาธิปไตยในอาเซียนให้อ่อนลง

เพื่อเป็นการซื้อใจประเทศสมาชิกบางส่วน สิ่งที่สหรัฐฯ ทำในการประชุมอาเซียน-สหรัฐ ที่กรุงวอชิงตัน เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมคือ ปรับจุดยืนเรื่องสิทธิมนุษยชน และปัญหา ประชาธิปไตยในประเทศอาเซียนให้อ่อนลง นายเมอร์ฟี บอกกับผู้สื่อข่าวว่า สหรัฐฯ "สนับสนุน" ให้ไทยกลับคืนสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐมนตรีทิลเลอร์สัน รับทราบจาก รัฐมนตรีดอนของไทยในการประชุมทวิภาคีกันว่า โรดแมปของไทยมีความก้าวหน้าตามลำดับ

นายเมอร์ฟี กล่าวเช่นนั้นโดยไม่ได้ขยายความอะไรเพิ่มเติม ทั้ง ๆ ที่เขาเคยประจำการอยู่กรุงเทพฯ ในฐานะอุปทูตที่ได้แสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อปัญหานี้ตลอดสมัยของเขา ตามแนวนโยบายของรัฐบาลสมัยโอบามา

ปัญหาโรฮิงญา ในพม่าซึ่งโดยส่วนตัวนายเมอร์ฟีก็สนใจอย่างยิ่ง เขาบอกว่า สหรัฐฯ สนับสนุนพม่าให้แก้ไขปัญหานี้ตามแนวทางที่คณะกรรมการชุดนายโคฟี อันนัน ได้แนะนำไว้ ส่วนปัญหาสงครามยาเสพติดที่ฟิลิปปินส์ที่ได้คร่าชีวิตคนไปเป็นจำนวนมากก็ไม่ได้อยู่ในลำดับความสำคัญของสหรัฐฯ อีกต่อไปแล้ว

ปัญหาส่วนนี้อาจจะทำให้อาเซียนหลายประเทศซึ่งพากันละทิ้งประชาธิปไตยและละเมิดสิทธิประชาชนของตัวเองกันเป็นทิวแถวคงจะสบายใจกันมากขึ้น แต่ปัญหาผลประโยชน์ ทางการค้าและแรงดึงดูดของทั้งจีนและสหรัฐฯ เป็นแรงกดดันที่รับมือไม่ง่ายนักสำหรับความสามารถของผู้นำอาเซียนในยุคสมัยปัจจุบัน