สามปีรัฐประหาร: “คืนความปรองดอง” ให้สังคมจริงหรือ?

  • หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • ผู้สื่อข่าวอิสระ บีบีซีไทย
คำบรรยายวิดีโอ, สามปีรัฐประหาร คืนความปรองดอง ให้สังคมจริงหรือ?

การ "ยุติความขัดแย้ง" คือผลงานที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภูมิใจนำเสนอ เพราะภารกิจ "สลายสีเสื้อการเมือง" ถูกยกให้เป็น "วาระหลัก" ของรัฐบาล เครื่องมือทางงบประมาณถูกใช้ไปกว่า 1,300 ล้านบาทในช่วง 3 ปี ไม่ต่างจากเครื่องมือทางกฎหมาย โดยเฉพาะมาตรา 44 ที่กลายเป็นกลไกหลักคอยควบคุมทุกอย่างให้สงบ-นิ่ง แล้วความปรองดองเกิดขึ้นจริงหรือ?

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เคยชี้แจงสาเหตุที่ต้องยึดอำนาจ 22 พ.ค. 2557 เพื่อหยุดภาวะ "ไทยรบไทย" เพราะขณะนั้นมวลชน 2 กลุ่มใหญ่ ทั้งกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" (กปปส.) และกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ" (นปช.) ชุมนุมยึดถนนอยู่คนละด้านของกรุงเทพฯ พร้อมประจันหน้ากันทุกเมื่อ อีกทั้งยังมี "กองกำลังไม่ทราบฝ่าย" ใช้อาวุธสงครามก่อความรุนแรง

การรักษาความสงบ-สร้างความสมานฉันท์-คืนความสุข จึงเป็นภารกิจที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง และปรากฏในทุกขั้นตอนตาม "โรดแมป" ของ คสช.

เปิดตัวด้วย "ปรองดองแบบลึกลับ"

ในการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2557 พล.อ.ประยุทธ์ประกาศให้การสร้างความปรองดองและสมานฉันท์อยู่ใน "โรดแมปขั้นแรก" ที่ต้องเกิดขึ้น-เห็นผลภายใน 3 เดือนแรกหลังรัฐประหาร ระหว่างนั้นมีการจัดตั้ง "ศูนย์การปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป" (ศปป.) ทั้งในส่วนกลางและระดับพื้นที่ ให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และกระทรวงมหาดไทยร่วมเป็น "พ่องาน" สร้างความ "ปรองดองแบบลึกลับ" เพราะจู่ๆ ศปป. ก็ทำรายงานถึง คสช. ว่าบัดนี้ได้วางแนวทางปฏิรูปและสร้างความปรองดองตามโรดแมปขั้นที่ 1 เสร็จแล้ว โดยอ้างถึงเอกสารงานวิจัย 418 เรื่อง ข้อมูลจากอีเมล์และไปรษณีย์ 3,827 เรื่อง สัมภาษณ์เชิงลึกและเปิดเวทีสานเสวนา 75 คณะ จัดกิจกรรมปรองดองทั่วประเทศ 92,432 ครั้ง และจัดทำข้อตกลงระหว่างคู่ขัดแย้ง 177 ฉบับ ก่อนส่งต่อให้ พล.อ. ประยุทธ์นำไปประกาศ "คิ๊กออฟปฏิรูป" เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2557

การชุมนุมของกลุ่ม นปช.

ที่มาของภาพ, Chumsak Kanoknan/Getty Images

ผลิตผลสำคัญของ ศปป.ที่น่าจะอยู่ในความจดจำของสังคม หนีไม่พ้นการจัด "มหกรรมปรองดองสมานฉันท์ คืนความสุขให้คนในชาติ" ที่สนามหลวงเมื่อปี 2557 โดยเชิญแกนนำการเมืองทุกขั้วมาร่วมทำบุญตักบาตร ควบคู่ไปกับการเปิดเวทีให้ทหารไปร้อง-เล่น-เต้นรำ ด้วยความเชื่อว่า "ดนตรีคือสื่อกลางในการสลายสีเสื้อของคนไทย" รวมถึงแจกบัตรชมภาพยนตร์ "ตำนานพระนเรศวร" ให้ประชาชนไปดูฟรี

ปีแรก เดินตามรอยยิ่งลักษณ์ จ่ายเงินเยียวยาผู้ชุมนุม

ส่วนการตัดสินใจเชิงนโยบายที่สำคัญ คือการออกมติ ครม. เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2557 อนุมัติให้ใช้งบกลาง ปี 2558 จำนวน 120 ล้านบาท จ่ายเงินเยียวยาผู้เสียชีวิตระหว่างการชุมนุมการเมืองปี 2556-2557 (กปปส.) รายละ 4 แสนบาท ส่วนการชมนุมช่วงปี 2547-2556 ยังไม่พิจารณา เนื่องจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อยู่ระหว่างการไต่สวนและชี้มูลความผิด ครม. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรณีสั่งจ่ายเงินเยียวยา "เหยื่อม็อบ" ช่วงปี 2548-2553 (พันธมิตรฯ และ นปช.) รายละ 7.5 ล้านบาท ภายใต้งบประมาณ 1,921 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามการตัดสินใจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เป็นการต่อยอดจากรัฐบาลชุดก่อน ไม่ได้คิดค้น "นวัตกรรมเชิงนโยบาย"

3 ปี ทุ่มงบสร้างปรองดอง 1.3 พันล้านบาท

ในช่วงครึ่งเทอมแรกของรัฐบาล คสช. (1 ปี 6 เดือน) กระทรวงมหาดไทยได้เปิดเผยผลการขับเคลื่อนภารกิจปรองดอง ด้วยการใช้กลไกจังหวัด/อำเภอ/ท้องถิ่น ทำความเข้าใจแนวทางบริหารของรัฐบาล คสช. และจัดกิจกรรมสร้างความปรองดองรวมกว่า 1.3 แสนครั้ง มีประชาชนร่วมกิจกรรม 20 ล้านคน และยังใช้กลไกหมู่บ้าน อบรมกรรมการหมู่บ้านและอบรมอาสาสมัคร (อสม.) ต้นแบบประชาธิปไตยรวมกว่า 5 แสนคน เพื่อขยายแนวคิดรักและสามัคคี รวมถึงคอยเกาะติดและประเมินทัศนคติของประชาชน

ที่มา : กระทรวงมหาดไทย (รวบรวมระหว่างวันที่ 12 ก.ย. 2557-30 ก.ย. 2558)

เมื่อกิจกรรมในการสร้างความปรองดองแบบรัฐราชการเน้นการเปิดเวที-ฝึกอบรม-ผลิตสื่อ ทำให้ตัวชี้วัดความสำเร็จถูกตีเป็น "จำนวนครั้ง" ในการจัดกิจกรรม ทั้งที่การสร้างความปรองดองไม่สามารถชี้วัดด้วยสถิติ แต่ต้องปรับทัศนคติให้คนต่างอุดมการณ์อยู่ร่วมกันได้

พอเข้าสู่ขวบปีที่ 2 ของรัฐบาล วาระปรองดองดูเงียบลง แต่การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตาม "แผนงานบูรณาการการสร้างความปรองดองและสมานฉันท์" ยังเกิดขึ้นต่อเนื่องรวมกว่า 1,331 ล้านบาทในช่วง 3 ปี ทั้งนี้ งบปรองดองปี 2560 ถูกจัดสรรให้ 6 หน่วยงาน โดย กอ.รมน. ได้รับงบสูงสุด 290 ล้านบาท รองลงมาคือกระทรวงมหาดไทย 99 ล้านบาท และกระทรวงกลาโหม 59 ล้านบาท

ที่มา : .ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558-2560 รายการ "แผนงานบูรณาการการสร้างความปรองดองและสมานฉันท์"

ดักคอพรรคการเมืองเซ็นเอ็มโอยูปรองดอง

วาระปรองดองกลับมาคึกคักอีกครั้งเมื่อเข้าสู่ขวบปีที่ 3 ของรัฐบาล หลังหัวหน้า คสช.ใช้อำนาจพิเศษตาม "มาตรา 44" ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ออกคำสั่งตั้ง "คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง" (ป.ย.ป.)" เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2560 ในจำนวนนี้มีคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน รวมอยู่ด้วย

พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความสามัคคี กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ทุกฝ่ายได้ "พักอารมณ์" และทบทวนตัวเอง เมื่ออารมณ์อยู่เหนือเหตุผลแล้ว จึงเป็นประโยชน์ที่จะใช้เหตุผลมาคุยกัน

นั่นคือจุดเริ่มต้นในการเปิดศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม เชิญนักการเมืองจาก 53 พรรค และ 2 กลุ่มการเมืองมาร่วม "โต๊ะกลมปรองดอง" ช่วงเดือน ก.พ.-เม.ย.ที่ผ่านมา พร้อมผุด "เวที 4 ภูมิภาค" ให้ทุกภาคส่วนในท้องที่ร่วมถอดโจทย์-ส่งคำตอบปรองดอง 10 ข้อ ก่อนจัดทำ "ร่างเอกสารความเห็นร่วม" ด้วยความคาดหวังลึกๆ ว่าเอกสารฉบับนี้จะพัฒนาเป็น "สัญญาประชาคมปรองดองก่อนเลือกตั้ง"

"การเมืองที่อาศัยฐานประชาชนต้องใช้ดุลพินิจให้มาก เกี่ยวกับกรอบที่ประชาชนช่วยกันวางไว้ คสช.ไม่ได้ขีดเส้นว่าต้องเป็นอย่างนี้ แต่เป็นความต้องการประชาชน อะไรยังตกลงกันไม่ได้ เช่น อภัยโทษ นิรโทษกรรม ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลเลือกตั้ง ต้องไปว่ากันต่อ" พล.ต.คงชีพกล่าว

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นำแกนนำ กปปส.ร่วม "โต๊ะกลมปรองดอง" ภายในศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2560

ที่มาของภาพ, กระทรวงกลาโหม

คำบรรยายภาพ, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นำแกนนำ กปปส.ร่วม "โต๊ะกลมปรองดอง" ภายในศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2560

พร้อมระบุ ในทุกเวทีปรองดองที่ทหารเป็นผู้กำกับเวที ผู้ร่วมวงเห็นตรงกันว่า "การเมืองคือต้นเหตุแห่งความขัดแย้ง" ทั้งการช่วงชิงอำนาจผลประโยชน์ ไม่เคารพกติกา และพัฒนาไปสู่การทุจริตคอร์รัปชัน

"อันนี้คือข้อเท็จจริง วันนี้ถ้าฟังแล้วอาจแสลงหู แต่ผมคิดว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่เราต้องฟังกันทุกฝ่าย"

เพราะให้น้ำหนักว่าฝ่ายการเมืองคือผู้นำประเทศเข้าสู่วังวนแห่งความขัดแย้ง หนึ่งในวาระสร้างความปรองดองฉบับรัฐบาล คสช.จึงอยู่ที่การกระตุ้นให้ประชาชนเข้าใจว่า "ประชาธิปไตยเป็นมากกว่าการเลือกตั้ง" ทว่าโดยทฤษฎี ความปรองดองไม่อาจบังคับ-ทำให้ทุกคนเห็นตรงกัน จึงน่าสนใจว่าความพยายามครอบครองความหมายของคำว่า "ประชาธิปไตย" สวนทางกับหลักการสร้างความปรองดองหรือไม่?

พล.ต.คงชีพแย้งทันควัน "คงไม่ใช่เราจะทำปรองดอง แล้วทุกคนต้องคิดเหมือนกัน แต่เราต้องมองก่อนว่าพื้นฐานทางสังคมมีความแตกแยกกันอยู่ ยกตัวอย่าง ครอบครัวมีลูก 10 คน ลูก 2 คนเกิดทะเลาะกัน โดยมีน้องอีก 2 คนคอยให้ท้ายแต่ละฝ่าย ทำให้พี่น้องอีก 6 คนไม่สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขได้ ถึงเวลาพ่อแม่ก็ต้องหยุด ให้ 2 คนแยกห้องกัน แต่เมื่อต่างคนต่างเข้าไปอยู่ในห้องที่มีหน้าต่าง ปรากฏคนข้างบ้านตะโกนบอกว่า 'นี่มันเป็นเสรีภาพของเรา พ่อแม่จะมาจำกัดสิทธิไม่ได้' ที่บ้านข้างๆ พูดมาเรื่องเสรีภาพ พูดอีกก็ถูกอีก แต่ถามว่าถ้า 2 คนออกจากห้องมา คนในบ้านต้องเจอกับอะไร นี่คือคนในสังคมไม่เข้าใจประชาธิปไตยอย่างลึกซึ้ง แล้วก็ใช้กระบวนการประชาธิปไตยเป็นการเลือกตั้งเท่านั้น"

"เสรีภาพมาทีหลังความมั่นคง"

ถ้าเช่นนั้น ปรองดอง-ประชาธิปไตย-เสรีภาพ จะไปด้วยกันได้อย่างไร? โฆษกกระทรวงกลาโหมบอกว่า "นอกจากสิทธิเสรีภาพ ต้องรู้จักหน้าที่ด้วย เสรีภาพที่เรามองอาจเป็นเสรีภาพที่สวยหรูที่ทำอะไรก็ได้ แต่จริงๆ ในกรอบของทุกประเทศ เรามีเสรีภาพที่มีขอบเขตทั้งนั้น เสรีภาพจะมาทีหลังความมั่นคง"

ประชาชนแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์เพื่อต่อต้านรัฐบาล คสช.ที่ครองอำนาจ 2 ปี เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2559 พร้อมประกาศ "ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ" ในช่วงนับถอยหลังประชามติ

ที่มาของภาพ, SUWANRUMPHA/AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, ประชาชนแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์เพื่อต่อต้านรัฐบาล คสช.ที่ครองอำนาจ 2 ปี เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2559 พร้อมประกาศ "ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ" ในช่วงนับถอยหลังประชามติ

ในขณะที่ภารกิจ "คืนความสุข" ดำเนินไปตามนโยบายของ "หน่วยเหนือ" วาทกรรม "เพื่อรักษาบรรยากาศในการสร้างความปรองดอง" ถูกหยิบฉวยมาใช้ปิดปากฝ่ายเห็นต่างจากรัฐไทยอย่างต่อเนื่อง สะท้อนผ่านสนามประชามติร่างรัฐธรรมนูญเดือน ส.ค. 2559 หรือการหยุดปฏิบัติการของฝ่าย "ตามล่าหาความจริง" กรณีหมุดคณะราษฎรหายไปช่วงเดือน เม.ย.2560

นอกจากนี้ยังมีสารพัดเครื่องมือทางกฎหมายและอำนาจพิเศษตาม "มาตรา 44" คอยกด-ทับให้ทุกอณูของสังคมไทยต้อง "สงบ" คำอธิบายของ พล.ต.คงชีพคือ "เราไม่ได้กดนะครับ เป็นการขอร้องกัน…วันนี้ผมเชื่อว่าสังคม โดยเฉพาะประชาชนทุกคนไม่ได้ถูกจำกัดอะไรเลยนะ เรามีเสรีภาพพื้นฐานที่เคยมี ใช้ชีวิตอย่างปกติสุขเกือบทุกอย่าง แทบไม่มีอะไรเลย การเคลื่อนไหว หรือการแสดงความคิดเห็นในมหาวิทยาลัยก็ทำได้ แต่การแสดงความคิดเห็นในมหาวิทยาลัยที่อาจจะขัดแย้งกัน แล้วขยายเอาออกมาสู่ข้างนอกผ่านสื่อ ผมว่าเรื่องนี้มากกว่าที่เราต้องควบคุมดูแลกัน ไม่อย่างนั้นก็เป็นปัญหา"

ผู้นำสังคมกำหนด

ภารกิจสร้างความปรองดองไม่ได้เป็นแค่ "เดิมพัน" ของ คสช. แต่หมายถึงอนาคตของนักเลือกตั้งที่อาจไม่ได้ลงสนาม หรือได้ลงสนาม แต่ประสบปัญหา "ชนะเลือกตั้ง แต่ปกครองไม่ได้" แบบที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับรัฐบาลพรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ที่มาของภาพ, PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP/Getty Images

"ผมบอกเลยว่าผู้นำแต่ละยุคสมัย สังคมกำหนด ต่อให้คุณมีอำนาจล้นฟ้าที่มาจากประชาธิปไตย คุณก็อยู่ไม่ได้ถ้าสังคมไม่เอา ต่อให้คุณมีปืน มีลูกน้องอยู่เต็มเมือง ถ้าสังคมไม่เอา คุณก็อยู่ไม่ได้ วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์มา ถ้าสังคมไม่รับ ท่านยืนอยู่ระยะไม่ได้หรอก" พล.ต.คงชีพกล่าว

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ระบุไม่กี่วันก่อนครองอำนาจครบ 3 ปีว่า "ไม่ใช่อยากอยู่สืบทอดอำนาจ แต่กังวลว่าที่ทุกคนทำวันนี้จะล้มเหลว เมื่อเลือกตั้งแล้วได้คนไม่ดีกลับเข้ามา"

นั่นคือสัญญาณว่าวาระปรองดอง-ประชาธิปไตย ไม่อาจแยกออกจากการรักษาความมั่นคงตามทรรศนะของ คสช.!!!