7 วัน หลังระเบิด รพ.พระมงกุฎฯ การเมืองในระเบิด “การเมือง”

  • พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์
  • ผู้สื่อข่าวอิสระ
รพ.พระมงกุฎฯ

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, หนึ่งในประเด็นที่ตำรวจพยายามตรวจสอบ คือ มีผู้ส่งจดหมายแจ้งเตือนไปยัง รพ.พระมงกุฎฯ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และสถาบันประสาทวิทยา 3 วันก่อนจะเกิดเหตุในวันครบรอบ 3 ปี คสช.

ครบ 7 วันแล้ว สำหรับเหตุลอบวางระเบิดใน รพ.พระมงกุฎเกล้า เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวนตัดมูลเหตุจูงใจอื่นๆ จนเหลือเพียงเรื่อง "การเมือง"

เพราะไม่เพียงลงมือในวันครบรอบ 3 ปี การรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังกระทำการใน "ห้องวงษ์สุวรรณ" อันเป็นการท้าทายเชิงสัญลักษณ์ไปยังตัว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและ รมว.กลาโหม "พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์" ผู้ดูแลงานด้านความมั่นคงของรัฐบาลปัจจุบัน

เหตุระเบิดที่ทำให้มีคนบริสุทธิ์บาดเจ็บถึง 25 ราย ไม่เพียงเรียกเสียงประณามจากทุกฝ่าย เพราะโรงพยาบาลควรจะเป็นจุดที่ปลอดภัยที่สุดแม้ในภาวะสงคราม ยังสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปยัง คสช.ที่ชู "จุดแข็ง" เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อย และการดูแลความปลอดภัยของประชาชน

ไม่เพียงเท่านั้น สะเก็ดระเบิดยังลุกลามไปยังหลายๆ ฝ่าย เมื่อเหตุการณ์นี้ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการโจมตีและดิสเครดิตกันและกัน

สิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับเหตุระเบิด รพ.พระมงกุฎฯ

  • เช้าวันที่ 22 พ.ค. คนร้ายนำระเบิด "ไปป์บอมบ์" แรงกดดันต่ำ น้ำหนักระเบิด 1 ปอนด์ โดยใช้ตะปูและเศษเหล็กเป็นสะเก็ดระเบิด ซ่อนในแจกันดอกไม้สีเขียว พรางด้วยดอกไม้พลาสติกสีส้ม ติดด้วยกาวสองหน้า นำไปวางไว้ข้างผนังบริเวณเคาน์เตอร์จ่ายยาบริเวณหน้าห้องวงษ์สุวรรณ ชั้น 1 อาคารเฉลิมพระเกียรติ รพ.พระมงกุฎฯ ในเวลาประมาณ 6 โมงเช้า และตั้งหน่วงเวลาไว้ให้ระเบิดทำงานในเวลาประมาณ 10 โมง ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 25 ราย เป็นทหาร 15 ราย และพลเรือนอีก 10 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต
  • เดิมตำรวจตั้งมูลเหตุจูงใจไว้ 2 ประเด็น คือ "การเมือง" กับ "ภาคใต้" แต่หลังหน่วยงานตรวจวัตถุระเบิด (อีโอดี) เช็คพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุอย่างละเอียด ได้ตัดประเด็นภาคใต้ออกไป เพราะอุปกรณ์หน่วงเวลาที่เรียกว่า IC Timer ไม่เหมือนกัน
  • กว่าที่ตำรวจจะได้รับอนุญาตจากทหารให้เข้าพื้นที่เพื่อเก็บหลักฐาน โดยเฉพาะจากกล้องวงจรปิด (CCTV) ก็ในช่วงบ่ายวันที่ 23 พ.ค. หลังเวลาผ่านไปกว่า 30 ชั่วโมง ในที่เกิดเหตุมีกล้องวงจรปิดทั้งสิ้น 11 ตัว แต่ใช้งานได้จริงเพียง 4 ตัว และมีกล้องที่อยู่ในห้องวงษ์สุวรรณเพียง 1 ตัว แต่มุมภาพกลับหันไปทางอื่น ทำให้ต้องไปดู กล้องวงจรปิดจุดอื่นใน รพ.พระมงกุฎฯ แทน ซึ่งได้มุมกล้องที่เป็นประโยชน์ 17 ตัว
เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร เข้าพื้นที่หลังเหตุระเบิดภายใน รพ.พระมงกุฎฯ เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2560

ที่มาของภาพ, LILLIAN SUWANRUMPHA/AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, กว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้เข้าพื้นที่เพื่อเก็บหลักฐานในที่เกิดเหตุ ก็ล่วงไปแล้ว 30 ชม.
  • ปัจจุบันมีผู้ต้องสงสัย 1 ราย เป็นชายไม่ทราบชื่อ ปรากฎภาพในกล้องวงจรปิด เดินเข้าไปยังบริเวณที่เกิดเหตุด้วยท่าทีมีพิรุธพร้อมถือถุงพลาสติก แต่เมื่อกลับออกมา ไม่มีถุงพลาสติกแล้วแต่กลับถือร่มออกมาแทน ส่วนบุคคลที่เคยอยู่ในภาพสเก็ตช์ ปัจจุบันถูกตัดทิ้งไปแล้ว
  • พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งพนักงานสอบสวนในคดี โดยมอบหมายให้ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. เป็นประธาน พร้อมมอบอำนาจให้สั่งการทีมงานสอบสวนซึ่งมีกระจายอยู่ทั่วประเทศถึง 201 คน พร้อมให้รวมเหตุระเบิดหน้ากองสลากเก่า เมื่อวันที่ 5 เม.ย. และหน้าโรงละครแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ไว้ในสำนวนคดีเดียวกัน เนื่องจากลักษณะการก่อเหตุมีความคล้ายคลึงกัน
  • พล.ต.อ.ศรีวราห์ ระบุว่า เหตุระเบิดใน รพ.พระมงกุฎฯ มีความใกล้เคียงกับเหตุระเบิดหลายจุดช่วงปี 2550 ทั้งบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเมเจอร์รัชโยธิน หน้ากองบัญชาการกองทัพบก และซอยราชวิถี 24
  • ข้อมูลจากแหล่งข่าวในชุดสืบสวนของตำรวจ ระบุว่า คนร้ายน่าจะมีราว 5-6 คน แบ่งงานกันทำ เมื่อวางระเบิดเสร็จก็ขับรถยนต์หลบหนีออกไปทางมอเตอร์เวย์ โดยแยก 2 ทาง ทางหนึ่งไปทางภาคตะวันออก อีกทางไปทางพื้นที่รับผิดชอบของกองบัญชาการตำรวจภูธร ภาค 4 อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีใครยืนยันข้อมูลนี้ โดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ เพียงยอมรับว่า "คนร้ายน่าจะมีมากกว่า 1 คน"
  • อีกประเด็นที่ตำรวจพยายามตรวจสอบ คือกรณีที่มีผู้ส่ง "จดหมายแจ้งเตือน" ไปยัง รพ.พระมงกุฎฯ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และสถาบันประสาทวิทยา 3 วันก่อนจะเกิดเหตุการณ์ ซึ่งจากการพิสูจน์ลายมือพบว่าเป็นบุคคลๆ เดียวกัน แต่อยู่ระหว่างการสืบหาว่าเป็นใคร
  • นับแต่วันที่ 22 พ.ค. ถึงปัจจุบัน พล.อ.ประวิตร ไม่ได้ปรากฎตัวต่อสาธารณชน แต่ใช้วิธีสั่งการหรือให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยข้อมูลจากสื่อระบุถึงสาเหตุไว้ 2 ทาง คือ 1.อยู่ระหว่างกายภาพบำบัดที่ รพ.แห่งหนึ่งภายในประเทศ และ 2.เข้ารับการผ่าตัดอาการเกี่ยวกับโรคหัวใจ
เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน นำวัตถุพยานในที่เกิดเหตุระเบิดใน รพ.พระมงกุฎฯ กลับไปสอบสวน

ที่มาของภาพ, Dario Pignatelli/Getty Images

ท่าทีจากผู้เกี่ยวข้อง

หลังเกิดเหตุ นายปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ออกมาระบุผ่านหนังสือพิมพ์คมชัดลึกว่า คนร้าย "ไม่ใช่มือสมัครเล่น" และ "หวังผลทางการเมือง"

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ คดีระเบิด รพ.พระมงกุฎฯ นี้ มีนายทหารระดับสูงหลายคนออกมาให้ความเห็นถึง "ผู้ต้องสงสัย" ทั้งที่น่าจะเป็นหน้าที่ของชุดสืบสวนของตำรวจ

โดย พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 ระบุว่า ผู้ต้องสงสัยมีหลายกลุ่มทั้งอยู่ในประเทศ นอกประเทศ รวมไปถึงผู้เสียประโยชน์ ส่วนตัวทราบแล้วว่าเป็นใคร มีด้วยกัน 3-4 กลุ่ม และได้รายงานให้กับผู้บังคับบัญชารับทราบแล้ว ส่วน พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. ไปไกลกว่านั้น เพราะได้ระบุชื่อผู้ต้องสงสัย โดยพาดพิงถึงนายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ "โกตี๋" แกนนำคนเสื้อแดง จ.ปทุมธานี ที่ปัจจุบันหลบหนีคดีอยู่

นอกจากนี้ ผบ.ทบ. ยังเปรยว่า ผู้เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการทบทวนว่าจะนำประกาศ คสช.ที่ 50/2557 ที่ให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีเกี่ยวกับอาวุธสงครามกลับมาใช้หรือไม่

ทีมหน่วยนิติเวชตำรวจเดินทางออกจากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า หลังเกิดเหตุระเบิด

ที่มาของภาพ, LILLIAN SUWANRUMPHA/AFP/GETTY IMAGES

ขณะที่มีการปล่อยข่าวโดยบุคคลไม่ทราบฝ่าย ว่าผู้ต้องสงสัยคืออดีตนายพล ชื่อย่อ "ส." "พ." และ "ช." แต่ล่าสุด พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี อดีตที่ปรึกษานายกฯสมัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทย รวมถึง พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร อดีต ผบ.ทบ.ได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

ด้านฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลก็เชื่อว่า รัฐบาลอาจเป็นผู้วางระเบิดใน รพ.พระมงกุฎฯ เอง อย่างนายวุฒิพงษ์ ระบุผ่านรายการ Thais Voice ออกอากาศทางยูทิวบ์ว่า "เป็นการทำกันเอง เพื่อให้ได้อยู่ในอำนาจต่อ" ซึ่งทีมโฆษก คสช. ก็ออกมาตอบโต้ในทันทีว่า ไม่ควรไปฟังข้อมูลจากผู้ต้องหาหลบหนีคดี

ที่น่าสนใจก็คือท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ที่ระบุว่า หากบ้านเมืองยังไม่สงบ ยังมีเหตุระเบิดอยู่ ก็อาจต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไป

หลายฝ่ายจึงเอาใจช่วยผู้เกี่ยวข้องให้จับกุมผู้กระทำผิดในคดีนี้ให้ได้โดยเร็ว เพื่อคลี่คลายปริศนาว่าใครเป็นผู้กระทำ จะได้คืนความสงบสุขให้กับสังคม และไม่เป็นเหตุกดดันให้นายกฯ ต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไป หลังจากเลื่อนมาแล้วถึง 4 ครั้ง