วิเคราะห์: “ประยุทธ์โพล” ล็อคที่มา “นายกฯคนที่ 30” ?

  • หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • ผู้สื่อข่าวอิสระ บีบีซีไทย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 เจ้าของ 4 คำถามถึงประชาชน เพื่อนำไปกำหนดอนาคตทางการเมือง

ที่มาของภาพ, NICOLAS ASFOURI/AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 เจ้าของ 4 คำถามถึงประชาชน เพื่อนำไปกำหนดอนาคตทางการเมือง

"ประยุทธ์ไม่อยู่แล้วจะเรียกใคร" เป็นคำถามใหม่ที่ไม่ได้อยู่ใน 4 คำถามจากนายกฯถึงประชาชน ซึ่งกำลังสร้างแรงสั่นสะเทือนในแวดวงการเมือง เพราะถูกตีความว่าส่งสัญญาณขอ "อยู่ต่อ" ทำให้ "คำถามโพล" ถูกมองว่าเป็นลูกต่อเนื่องจาก "คำถามพ่วง" ที่เปิดทางให้มีนายกฯ คนนอก

"คำถาม 4 ข้อ" จาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ถูกโยนขึ้นมากลางรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน" ค่ำวันศุกร์ที่ 26 พ.ค.2560 ชวนประชาชนร่วม "ส่งคำตอบ" ผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด เพื่อ "รับทราบความเห็น และนำมาพิจารณาแนวทางการทำงานต่อไป" สร้างแรงสั่นสะเทือนอย่างยิ่งทางการเมือง ช่วงปลายโรดแมปนับถอยหลังสู่การเลือกตั้งในอีก 12-15 เดือนข้างหน้า

แม้ต่างสังกัด แต่นักการเมืองหลายพรรคฟันธงตรงกันว่านี่คือปฏิบัติการเช็คกระแสหนุน-ต้าน หากผู้นำคสช.จะขอ "ต่อเวลาทางการเมือง" ไม่ใช่ "เลื่อนวันเลือกตั้ง" แต่มองถึงการกลับมาครองอำนาจอีกครั้งหลังการเลือกตั้ง

เพราะถ้าย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นเพียง 3 วัน (23 พ.ค.2560) พล.อ.ประยุทธ์ส่ง "สัญญาณแรก" ด้วยการตอบคำถามแบบไม่ปิดกั้นอนาคตทางการเมืองของตัวเอง หลังผู้สื่อข่าวระบุว่ามีแฟนคลับสอบถามมาว่านายกฯ จะลงสมัครเลือกตั้งหรือไม่ คำตอบที่ได้คือ "ไม่รู้เลย ไม่รู้"

ขณะที่ 3 วันหลังปล่อย "ประยุทธ์โพล" ออกสู่สาธารณะ (29 พ.ค.2560) นายกฯ ถูกถามเรื่องนี้อีกครั้งว่า 4 คำถามที่ออกมา นักการเมืองมองว่าเพราะต้องการอยู่ในอำนาจต่อ พล.อ.ประยุทธ์ย้อนถามว่า "อยู่ได้อย่างไร ถ้าอยากอยู่ต่อ ผมต้องถามว่าต้องการเลือกตั้งหรือไม่ แต่ผมไม่ได้ถาม เมื่อไม่ได้ถามก็อย่าไปตีความ แต่ผมถามว่าถ้าเกิดปัญหาในวันหน้าจะแก้ไขอย่างไร หรือต้องเรียกทหารออกมาปฏิวัติอีก คุณ (สื่อมวลชน) จะเอาอะไรกับผม"

พร้อมทิ้งอีกหมัดเด็ดเป็น "คำถามที่ 5" ว่า "วันหน้าถ้าเกิดปัญหาขึ้นอีกจะเรียกใคร ประยุทธ์ไม่อยู่แล้วจะเรียกใคร"

ทางเลือกระหว่าง "บังโมเดล" หรือ "เปรมโมเดล"

โจทย์ที่ผู้มีอำนาจยังขบคิดไม่ตกคือหากมีความจำเป็นต้อง "ไปต่อ" จะลุยตั้งพรรคการเมืองเอง ตามรอยหัวหน้าคณะรัฐประหารปี 2549 ที่ชื่อ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ผู้สนับสนุนหลักการเกิดขึ้นของพรรคเพื่อแผ่นดินในการเลือกตั้งปี 2550 หรือรอให้พรรคการเมืองที่มีอยู่ในสารบบไปสู้รบกันมาให้จบในสนามเลือกตั้ง แล้วแต่งตัวรอเป็น "นายกฯ รับเชิญ" แบบ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ (2523-2531)

ไม่ว่าจะเลือก "บังโมเดล" หรือ "เปรมโมเดล" ก็มีความเสี่ยงต้องแบกรับทั้งสิ้น

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พบ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เป็นครั้งแรกหลังรัฐประหารปี 2549 ระหว่างร่วมงานศพมารดาของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่วัดโสมนัสวรวิหาร เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2551

ที่มาของภาพ, STR/AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พบ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เป็นครั้งแรกหลังรัฐประหารปี 2549 ระหว่างร่วมงานศพมารดาของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่วัดโสมนัสวรวิหาร เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2551

นายวิโรจน์ อาลี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวกับบีบีซีไทยว่า การออกแบบคำถามเช่นนี้ คงต้องการให้มีการเลือกตั้งภายใต้แนวคิดว่าทำอย่างไรให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้กลับมาเป็นนายกฯ อีก ซึ่งการตั้งพรรคทหารไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องได้เสียง ส.ส.มากพอ ทหารคงเข้าใจเรื่องนี้ดี จึงต้องหาวิธีล็อบบี้เพื่อรวมเสียง ส.ส.พรรคอื่นให้มากพอต่อการลงมติเลือกนายกฯ โดยมี ส.ว. 250 คนคอยสนับสนุน เพราะทหารก็รู้ว่าความชอบธรรมในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยมีอยู่จริง และเราต้องก้าวไปสู่จุดนั้นเพื่อบอกกับประชาคมโลกว่ามีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแล้ว และคนในระบบรัฐสภาเป็นคนเลือกเขาให้เป็นนายกฯ

"รัฐบาลพล.อ.เปรมคือการประนีประนอมระหว่างระบอบทหารที่ปกครองประเทศมายาวนาน กับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยแบบสากลหลังผ่านเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 และ 2519 จึงเกิดเป็น 'ประชาธิปไตยครึ่งใบ' แน่นอนว่านายกฯ อย่างพล.อ.เปรมเป็นโมเดลที่หลายคนใฝ่ฝัน เพราะลดความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ได้ แต่บริบทปัจจุบันไม่เหมือนเดิม เราไม่ได้มีความขัดแย้งทางอุดมการณ์แบบยุคนั้น ดังนั้นการใช้ 'ไพ่ความมั่นคง' อ้างถึงเหตุการณ์ไม่สงบ อ้างถึงระเบิด จะเพียงพอหรือไม่ที่จะให้ทุกคนยอมรับสภาพไม่เป็นประชาธิปไตย" นายวิโรจน์กล่าว

Thai Cabinet

ที่มาของภาพ, PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP/Getty Images

ส่วนความเสี่ยงทางการเมืองในกรณีหัวหน้า คสช.หวนคืนเก้าอี้นายกฯ สมัยที่ 2 นายวิโรจน์เห็นว่าจะก่อให้เกิดเงื่อนไขทางการเมือง ทำให้สังคมรู้สึกว่ากติกาที่ออกแบบมา 3 ปีนี้เพื่อปูทางไปสู่การสืบทอดอำนาจ ส่วนความรู้สึกจะรุนแรงแค่ไหนขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แม้ในทางการเมือง คนต้องการให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย แต่ปัญหาใหญ่คือเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ ถ้าปล่อยไปถึงจุดที่คนไม่มีจะกิน ก็จะกลายเป็นแรงกดดันทางการเมือง และการจัดการจะไม่ง่ายแบบปัจจุบันที่ใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว

ที่ปรึกษาประวิตรเงียบปม "ฉันทามติให้เป็นนายกฯ จนสงบ"

ขณะที่นายไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เจ้าของข้อความในเฟซบุ๊ก (24 พ.ค.2560) ที่ว่า "ขณะนี้ประชาชนทั่วประเทศแสดงความจำนงเป็นฉันทามติ ให้นายกฯตู่บริหารประเทศต่อไปจนกว่าจะสงบเรียบร้อย" หลังเหตุระเบิดภายในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ปฏิเสธจะให้ความเห็นกับบีบีซีไทยว่า "ฉันทามติ" ที่เขาอ้างถึงเกี่ยวข้องอย่างไรกับ "ประยุทธ์โพล"

ถอดรหัส 4 คำสำคัญใน 4 คำถามนายกฯ

อย่างไรก็ตามถ้าถอดรหัส 4 คำถามของ พล.อ.ประยุทธ์ จะพบ "4 คำสำคัญ" คือ ธรรมาภิบาล, ประชาธิปไตย, ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูป ซึ่งล้วนแต่เป็นคำที่ถูกใช้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ตั้งฉายาว่าเป็น "รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง" นั่นทำให้ "การเลือกตั้งที่ทำให้ได้รัฐบาลธรรมาภิบาล" กลายเป็นคำถามข้อแรกที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องการตอกย้ำจุดยืนเดิมของ "รัฐบาลปราบโกง" มากกว่าแสวงหาหาคำตอบใหม่

เช่นเดียวกับคำถามข้อ 3 ที่อ้างถึง "ยุทธศาสตร์ชาติ" ซึ่งนักการเมืองและนักวิชาการระบุตรงกันว่าเป็นการลดทอนคุณค่าของ "ประชาธิปไตยแบบตัวแทน" และทวงถามความรับผิดชอบล่วงหน้าจากบรรดา "นักเลือกตั้ง" ที่อาจไม่คำนึงถึงกลไกที่ คสช.วางไว้ ทั้งที่เรื่องนี้อาจไม่เป็นประเด็นให้กังวล เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 (ม. 65, 165) กำหนดให้รัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งรัฐบาล คสช.กำลังจัดทำอยู่ในขณะนี้

ประชาชนร้อยละ 58.07 เห็นชอบกับคำถามพ่วงในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เปิดทางให้ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ร่วมโหวตเลือกนายกฯ ได้

ที่มาของภาพ, Dario Pignatelli/Getty Images

คำบรรยายภาพ, ประชาชนร้อยละ 58.07 เห็นชอบกับคำถามพ่วงในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เปิดทางให้ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ร่วมโหวตเลือกนายกฯ ได้

สำหรับประเด็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เคยถูกนักการเมืองหยิบมาโจมตีไปแล้วช่วงนับถอยหลังประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 7 ส.ค.2559 เช่น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย ชี้ว่าเป็น "กับดักพรรคเสียงข้างมาก" ทำให้เกิด "รัฐบาลเป็ดง่อย" จะคิด-ทำนโยบายใหม่ๆ ได้ลำบาก เพราะติดอยู่กับกรอบที่ คสช.วางไว้

แต่คำถามที่นักวิเคราะห์การเมืองจัดให้เป็น "ไฮไลท์" คือคำถามข้อ 4 "กลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ควรจะมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่" เพราะเป็น "คำถามนำ" ที่ชี้ชวนให้ประชาชนในฐานะ "เจ้าของประเทศ" เปรียบเทียบระหว่างนักเลือกตั้งในอดีตกับนักแต่งตั้งในปัจจุบัน เพราะถูกมองว่ามีนัยล็อคสเปค "นายกฯ คนที่ 30"

ทั้งนี้ ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 บุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกฯ ต้องได้รับความเห็นชอบในที่ประชุมร่วมกับของรัฐสภาด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 376 จาก 750 เสียง (ม. 272) แน่นอนว่า คสช.สามารถคุมเสียงใน "สภาสูง" 250 คนได้ทั้งหมด เนื่องจาก ส.ว.ชุดใหม่จะมาโดยการคัดเลือกของ คสช. ร่วมด้วยผู้บัญชาการเหลาทัพ 6 คน (ม. 269)

อย่าลืมว่าบทบาทสำคัญของสภาสูงได้มาจาก "คำถามพ่วง" ที่ถูกบรรจุลงรัฐธรรมนูญ ซึ่งในการร่วมลงมติเลือกนายกฯ จะเสนอชื่อบุคคลที่อยู่นอกบัญชีพรรคการเมืองก็ได้ นาทีนี้เชื่อกันว่ามี "ชื่อเดียว"

PM

ที่มาของภาพ, STR/AFP/Getty Images

นักการเมืองระดับหัวหน้าพรรค 2 พรรค ระบุกับบีบีซีไทยว่าปัจจัยชี้ขาดเรื่องการมี "นายกฯ คนนอก" คือคะแนนเสียงที่ "พรรคอันดับ 1" ได้มา หากชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงใกล้เคียงกึ่งหนึ่ง หรือ 220-250 เสียงขึ้นไป เชื่อว่าการเมืองจะเดินไปตามสูตรปกติ เพราะลำพังการมี "พรรค ส.ว." เป็นพวก ไม่ใช่เครื่องการันตีว่าการบริหารราชการแผ่นดินจะราบรื่น เนื่องจากการผ่านร่างกฎหมาย หรือลงมติสำคัญๆ ในสภาจะเป็นไปด้วยความลำบาก และทำให้เกิดภาวะ "ได้เป็นนายกฯ แต่ปกครองไม่ได้" ทางเลือกที่เป็นไปได้คือการสร้าง "พันธมิตรการเมือง"

ทว่าเรื่องนี้ไม่ง่ายนัก เพราะล่าสุดนายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาปลุก 4 พรรคการเมืองให้สงบศึกแล้วจับมือต่อสู้กับ "พรรคทหาร" ซึ่งปรากฏการณ์ทำนองนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงประชามติ เมื่อพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์กลายเป็น "แนวร่วมมุมกลับ" ประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

มีชัยชม 4 คำถามตอบโจทย์รัฐธรรมนูญ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า "ประยุทธ์โพล" เป็นประเด็นที่ต่อเนื่องเชื่อมร้อยกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ทำให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ออกมาขานรับกับ 4 คำถามของนายกฯ โดยบอกว่า "เป็นสิ่งที่ถูกต้อง และเป็นการตอบโจทย์รัฐธรรมนูญที่สุด เพราะรัฐธรรมนูญใหม่เขียนไว้ว่าเวลามีเรื่องสำคัญต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม"

พร้อมพูดเป็นนัย ถ้าได้คำตอบมาว่าให้เข้มงวดขึ้น ป้องกันคนไม่ดีเข้าสู่การเมือง กฎหมายเลือกตั้งก็อาจจะเข้มงวดขึ้นเท่าที่จะเข้มงวดได้

นี่ถือเป็นความพยายาม "รุกคืบ" สกัด "ขั้วอำนาจเก่า" ที่ถูกแช่แข็งมานาน 3 ปีหลังรัฐประหาร 22 พ.ค.2557

และน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่าโพลที่ พล.อ.ประยุทธ์กำลังทำ จะนำไปสู่การตัดสินใจลงจากอำนาจอย่างไร!!!