อียิปต์ และซาอุดีอาระเบีย ห้ามเครื่องบินกาตาร์เข้าน่านฟ้า

ชายชาวอาหรับเดินหน้าโลโก้สายการบินกาตาร์

ที่มาของภาพ, AFP

คำบรรยายภาพ, สายการบินแห่งชาติกาตาร์ อาจได้รับผลกระทบหนักจากความขัดแย้งทางการทูต

ท่ามกลางความขัดแย้งทางการทูต อียิปต์สั่งห้ามเครื่องบินของกาตาร์ บินเข้าสู่น่านฟ้าของประเทศ ขณะที่ซาอุดีอาระเบีย และบาห์เรน คาดว่าจะปฏิบัติเช่นเดียวกันในวันนี้ (6 มิ.ย.)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อียิปต์จะเริ่มการปิดน่านฟ้าสำหรับเที่ยวบินที่เชื่อมต่อกับกาตาร์ในเวลา 4.00 น. ตามเวลามาตรฐานกรีนิช หรือเป็นเวลา 23.00 น.ตามเวลาไทยของวันนี้ โดยจะมีผลจนกว่าจะมีการแจ้งเปลี่ยนแปลง ในขณะเดียวกันชาวกาตาร์ที่พำนักอยู่ในประเทศบาห์เรน ซาอุดีอารเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะต้องเดินทางออกจากประเทศเหล่านั้นภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์นับตั้งแต่มาตรการดังกล่าวมีผล

ความวุ่นวายในการสัญจรทางอากาศ คาดว่าจะเกิดขึ้นที่สนามบินในกรุงโดฮาของกาตาร์ เนื่องจากเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการบิน โดยเฉพาะเส้นทางบินเชื่อมต่อระหว่างประเทศ ซึ่งสายการบินที่จะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ สายการบินกาตาร์แอร์เวยส์ เอทิฮัดแอร์ไลนส์ และสายการบินเอมิเรตส์

เมื่อวานนี้ (จันทร์ 5 มิ.ย.) หลายประเทศในตะวันออกกลาง ได้ประกาศตัดความสัมพันธ์กับกาตาร์ โดยอ้างเหตุผลว่ากาตาร์สนับสนุนกลุ่มคตินิยมสุดโต่งในภูมิภาค ทำให้การคมนาคมติดต่อทั้งทางอากาศ ทางบก และทางทะเล ถูกระงับตามไปด้วย ทั้งกับซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ และบาห์เรน

ด้านกาตาร์ ปฏิเสธว่าไม่ได้ให้การสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธ รวมถึงกลุ่มที่เรียกตัวเองว่ารัฐอิสลาม และรัฐมนตรีต่างประเทศ ออกมาเรียกร้องให้มี 'การหารืออย่างเปิดเผยและจริงใจ'

กาตาร์

ที่มาของภาพ, Getty Images

ส่วนคูเวตและซูดานได้เสนอเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย ในขณะที่อิหร่าน ตุรกี และสหรัฐฯ เรียกร้องให้ทุกฝ่ายแก้ปัญหาความขัดแย้งครั้งนี้

ความแตกแยกครั้งสำคัญระหว่างประเทศที่มีอำนาจในอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ เกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างกลุ่มประเทศเหล่านี้ กับประเทศเพื่อบ้านอย่างอิหร่านด้วย

กำลังเกิดอะไรขึ้น

บาห์เรน ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้ร่วมมือกันเริ่มถอนความสัมพันธ์ทางการทูตแล้ว โดยได้สั่งปิดการคมนาคมขนส่งทางอาการ ทางบก และทางทะเลกับกาตาร์ ส่วนผู้ถือสัญชาติกาตาร์ ทั้งนักท่องเที่ยวและผู้ที่มีถิ่นพำนักใน 3 ประเทศนี้ มีเวลา 2 สัปดาห์เพื่อเดินทางออก และมีคำสั่งห้ามประชาชนจาก 3 ประเทศข้างต้นเดินทางไปยังกาตาร์ด้วย

ส่วนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอียิปต์ ให้เวลาเจ้าหน้าที่การทูตกาตาร์ 48 ชั่วโมง เพื่อเดินทางออกนอกประเทศ

ทางการซาอุดีอาระเบีย ยังได้สั่งปิดสำนักงานประจำกรุงริยาด ของสถานีโทรทัศน์อัลจาซีรา ที่มีอิทธิพลของกาตาร์ แต่จะอนุญาตให้ผู้แสวงบุญที่ถือสัญชาติกาตาร์ เข้าร่วมพิธีฮัจญ์ที่นครเมกกะได้

อียิปต์ เยเมน เขตปกครองด้านตะวันออกของลิเบีย และมัลดีฟส์ เป็นอีก 4 ประเทศ ที่ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตตามมา

ภาวะหยุดชะงักของการคมนาคมทางอากาศ

กรมการบินพลเรือนของซาอุดีอาระเบีย ได้สั่งห้ามเครื่องบินของกาตาร์ บินผ่านน่านฟ้าและลงจอดที่สนามบินในซาอุดีอาระเบีย โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในวันนี้

สายการบินจากหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงของสายการบินกัลฟ์แอร์ ของบาห์เรน สายการบินเอทิฮัด และสายการบินเอมิเรตส์ ระบุว่าจะยกเลิกเที่ยวบินทั้งขาเข้า และขาออกกรุงโดฮา ตั้งแต่เช้าวันนี้ (อังคาร 6 มิ.ย.) และสายการบินทุนต่ำ อย่างฟลายดูไบ และแอร์อาระเบีย ได้สั่งยกเลิกเที่ยวบินไปยังกรุงโดฮาเช่นกัน

ภาพแสดงเส้นทางบินที่ถูกจำกัดของสายการบินกาตาร์แอร์เวยส์ ซึ่งติดตามโดยเทคโนโลยีของเว็บไซต์ FlightRadar24

ที่มาของภาพ, Fightradar24.com

คำบรรยายภาพ, ภาพแสดงเส้นทางบินที่ถูกจำกัดของสายการบินกาตาร์แอร์เวยส์ ซึ่งติดตามโดยเทคโนโลยีของเว็บไซต์ FlightRadar24

อย่างไรก็ตาม เชค โมฮัมเหม็ด บิน อัลดุลเราะห์มาน อัล-ทานี รัฐมนตรีต่างประเทศกาตาร์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอัลจาซีราว่า ประเทศจะยังคงติดต่อกับโลกภายนอกได้ โดยใช้ช่องทางเดินเรือสากล และน่านฟ้าสากล

ด้านสายการบินกาตาร์ ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติ ได้ระงับเที่ยวบินไปยังซาอุดีอาระเบียด้วย ซึ่งไซมอน แอทคินสัน ผู้สื่อข่าวบีบีซี กล่าวว่า การระงับเที่ยวบินอาจทำให้เกิดปัญหาใหญ่กับสายการบินตามมา เพราะต้องปรับเส้นทางการบิน และจะทำให้ต้องใช้เวลาบินนานขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

มีรายงานว่าขณะนี้ ประชาชนชาวกาตาร์ ได้พากันกักตุนอาหารและน้ำแล้ว เนื่องจากประเทศต้องพึ่งพาอาหารนำเข้าจากซาอุดีอาระเบียเป็นหลัก ซึ่งประมาณร้อยละ 40 ขนส่งทางรถบรรทุก แต่สำนักข่าวฟาร์ส รายงานคำพูดของเจ้าหน้าที่จากสมาพันธ์ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรของอิหร่านว่า รัฐบาลอิหร่าน สามารถใช้เส้นทางเดินเรือ ส่งออกอาหารไปยังกาตาร์ ได้ภายใน 12 ชั่วโมง

สาเหุตของความขัดแย้ง

แม้ว่าการตัดความสัมพันธ์จะเกิดขึ้นกะทันหัน แต่ก็มีสาเหตุมาจากความตึงเครียดที่มีมานานหลายปี โดยเฉพาะช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้

เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว อียิปต์ ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้ปิดกั้นเว็บไซต์อัลจาซีราของรัฐบาลกาตาร์ โดยอ้างว่ามีข้อความซึ่ง เชค ทามิม บิน ฮาหมัด อัล ธานี ผู้ปกครองรัฐกาตาร์ วิจารณ์ซาอุดีอาระเบีย

ปธน.ทรัมป์

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ประธานาธิบดีทรัมป์ เดินทางไปซาอุดีอาระเบีย เพื่อพบกับประธานาธิบดีซีซี ของอียิปต์ และกษัตริย์ซัลมาน ของซาอุดีอาระเบีย เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

ด้านรัฐบาลของกาตาร์ ระบุว่าข้อความเหล่านั้นเป็นข่าวเท็จ โดยเป็นผลมาจากการอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์

นักวิเคราะห์มองว่า ช่วงเวลาของการประกาศตัดความสัมพันธ์ ซึ่งเกิดขึ้น 2 สัปดาห์หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เดินทางไปเยือนกรุงริยาด มีนัยสำคัญและมีแนวโน้มที่สุนทรพจน์ของประธานาธิบดีทรัมป์ จะเป็นแรงผลักดันให้กลุ่มพันธมิตรอาหรับออกมาตรการต่อต้านกาตาร์ด้วย โดยประธานาธิบดีทรัมป์ ได้กล่าวโทษอิหร่านว่าเป็นตัวการทำให้เกิดความไม่แน่นอนในตะวันออกกลาง และผลักดันให้ประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม หันมาร่วมกันต่อสู้กับคตินิยมสุดโต่ง

ก่อนหน้านี้ ในปี 2014 ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เคยเรียกเอกอัครราชทูตของคนกลับจากกาตาร์เป็นเวลาหลายเดือน โดยอ้างว่า ทำไปเพื่อประท้วงการแทรกแซงกิจการภายในประเทศ

รัฐกาตาร์

เมืองหลวง: กรุงโดฮา

  • ประชากร 2.7 ล้านคน

  • พื้นที่ 11,437 ตร.กม.

  • ภาษาหลัก อาหรับ

  • ศาสนาหลัก อิสลาม

  • อายุขัย 79 ปี (ชาย), 78 ปี (หญิง)

  • สกุลเงิน ริยาล

Getty Images

โดยรวมแล้ว มี 2 ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการตัดสินใจตัดความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวานนี้ (5 มิ.ย.) คือ ความเชื่อมโยงระหว่างกาตาร์กับกลุ่มติดอาวุธที่นับถือศาสนามอิสลามแบบสุดโต่ง และบทบาทของอิหร่านซึ่งเป็นศัตรูกับซาอุดีอาระเบีย

กาตาร์เป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐฯ เพื่อต่อต้านกลุ่มที่เรียกตัวเองว่ารัฐอิสลาม และแม้รัฐบาลกาตาร์ จะได้ปฏิเสธข้อกล่าวหา ของผู้นำนิกายชีอะห์ในอิรัก ที่อ้างว่า กาตาร์ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินกับไอเอส แต่ยังมีผู้ที่เชื่อว่า รัฐบาลและเศรษฐีหลายคนของกาตาร์ ได้บริจาคเงินและอาวุธให้กับกลุ่มติดอาวุธที่นับถือศาสนาอิสลามในซีเรีย เช่นกลุ่มอัลนุสราฟร้อนท์ ซึ่งเชื่อมโยงกับอัลไคดา โดยสำนักข่าวเอสพีเอ รายงานว่า กาตาร์ให้ความช่วยเหลือกลุ่มเหล่านี้ รวมถึงกลุ่มภารดรภาพมุสลิม ซึ่งหลายประเทศในอ่าวเปอร์เซียจัดเป็นกลุ่มก่อการร้าย และกาตาร์ยังใช้สื่อ 'ส่งเสริมเนื้อหาและแผนการของกลุ่มเหล่านี้เป็นประจำ'