ย้อนบทบาท มท. ในฐานะ "เครื่องมือทางการเมือง"

กลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่า กปปส. ชุมนุมปิดล้อมสถานที่ราชการหลายแห่ง ปลายปี 2556

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, กลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่า กปปส. ชุมนุมปิดล้อมสถานที่ราชการหลายแห่ง ปลายปี 2556

แม้พล.อ.ประยุทธ์ระบุ "ไม่คาดหวัง" ให้คนมาตอบ 4 คำถาม จนเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต แต่การปิดยอดวันแรกที่ 6,600 คน ถูกมองว่า "ผิดมาตรฐาน" ของกระทรวงมหาดไทย หากเทียบกับ "บทถนัด" จัดการมวลชนในหลายรัฐบาล

ปฏิเสธไม่ได้ว่า "กระทรวงมหาดไทย" กับการ "จัดการมวลชน" เป็นของคู่กัน เพราะมีกลไกที่อยู่ใกล้ชิด-ติดประชาชนที่สุดคือกำนันผู้ใหญ่บ้าน จึงมีผลโดยตรงต่อการช่วยค้ำยัน-ขยายฐานอำนาจของฝ่ายการเมือง ไม่ว่าในยุค "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" หรือ "ประชาธิปไตยเต็มใบ"

ในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อ "นายกฯ รับเชิญ" ต้องเผชิญกับมรสุมการเมือง มักมีป้ายที่มีข้อความว่า "น้ำเป็นของปลา ฟ้าเป็นของนก นายกฯ เป็นของเปรม" ผุดขึ้นมาในหลายพื้นที่ของประเทศเพื่อสนับสนุน-ให้กำลังใจผู้นำ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเป็นผลงานของ "ปลัดคู่ใจ"

ปฏิบัติการจิตวิทยานี้ช่วยหนุน-ส่งให้ "ป๋า" ครองอำนาจยาวนานถึง 8 ปี 5 เดือน (2523-2531)

ม็อบกำนันผู้ใหญ่บ้านต้านร่างรธน. 40

ที่มาของภาพ, กลุ่มงานพิพิธภัณฑ์และจดหมายเหตุ สำนักเลขาธิการสภาฯ

คำบรรยายภาพ, กำนันผู้ใหญ่บ้านภายใต้การสนับสนุนของพรรคร่วมรัฐบาล ชู "ธงเหลือง" ชุมนุมคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า แต่ไม่อาจฝืนกระแส "ธงเขียว" จากภาคประชาชนไปได้ ทำให้รัฐสภาลงมติ "เห็นชอบ" ร่างรัฐธรรมนูญปี 2540

หรือในช่วงการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ยุครัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา ได้เกิดแรงปะทะของ 2 ขั้วความคิด โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จับมือภาคประชาชนชู "ธงเขียว" รณรงค์ให้รัฐสภาลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคความหวังใหม่ขนกำนันผู้ใหญ่บ้านชู "ธงเหลือง" ต่อต้านร่าง แต่สุดท้ายไม่อาจฝืนกระแสสังคม-พลังประชาชน ต้องลงมติ "เห็นชอบ" ในรัฐสภา กลายเป็นที่มาของฉายา "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน"

ส่วนในช่วง 12 ปีแห่งความขัดแย้งการเมืองครั้งล่าสุด (2548-2560) แทบทุกรัฐบาลบริหารจัดการมวลชนผ่านกลไกมหาดไทย จึงปรากฏคำสั่งเช็คยอด-ระดมพล-สกัดคนไม่ให้มาประชิดศูนย์กลางการบริหารราชการแผ่นดิน ปรากฏออกมาตามหน้าสื่ออยู่เนืองๆ

รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร

ก.พ.-มี.ค. 2549 : กำนันผู้ใหญ่บ้านนำมวลชนให้กำลังใจนายทักษิณหลังประกาศยุบสภา และเดินสายไปต่างจังหวัด 2 สัปดาห์ เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกับกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" ที่ชุมนุมใหญ่ใน กทม.

ส.ค. 2549 : มีคำสั่งผู้ว่าฯ สกัดมวลชนฝ่ายต่อต้านรัฐบาล หากเกิดเหตุการณ์ไม่สงบในจังหวัดใด ให้ถือว่าผู้ว่าฯ บกพร่อง

รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

ม.ค. 2550 : รมว.มหาดไทยสั่งผู้ว่าฯ 19 จังหวัดอีสานสกัด "คลื่นใต้น้ำ" หลังเกิดเหตุลอบเผาโรงเรียนหลายแห่ง

รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ก.ค. 2552 : รมว.มหาดไทยสังกัดพรรคภูมิใจไทยสั่งผู้ว่าฯ ตั้งโต๊ะรับถอนรายชื่อถวายฎีกา เพราะเห็นว่าเป็นการ "สร้างความแตกแยก" หลังกลุ่มประชาชนที่สวมใส่ "เสื้อแดง" ล่าชื่อถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้นายทักษิณ

รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ต.ค. 2556 : ขอความร่วมมือผู้ว่าฯ และนายอำเภอขึ้นป้ายคัทเอาท์หรือไวนิลสนับสนุนการปรองดองโดยออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

2556-2557 : มีคำสั่งผู้ว่าฯ ให้สกัดมวลชนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเข้า กทม. พร้อมขู่ย้ายหากไม่สามารถสกัดได้

พ.ค. 2557 : รมว.มหาดไทยนำกำนันผู้ใหญ่บ้านทวงคืนกระทรวงจากกลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่า "กปปส." ที่ชุมนุมปิดล้อมกระทรวงอยู่

ที่มา : บีบีซีไทยรวบรวม

ประชามติ 2559

ที่มาของภาพ, Getty Images

มาถึงยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลไกมหาดไทยถูกใช้งานอย่างต่อเนื่อง ทั้งในภารกิจสร้างความปรองดอง ตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2557 ถึงปัจจุบัน

ภารกิจประชามติ โดยให้ผู้ว่าฯ นายอำเภอ และอสม. ผันตัวไปเป็นครู ก.-ข.-ค. หรือวิทยากรช่วยชี้แจงและเผยแพร่เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ในช่วงเดือน มี.ค.-ส.ค. 2559 พร้อมกับคำสั่งจับตาความเคลื่อนไหวของฝ่ายต่อต้านกระบวนการประชามติในจังหวัดต่างๆ ท่ามกลางข้อครหาของคนการเมืองสังกัดพรรคเพื่อไทย ว่ามีคำสั่ง "ล็อคเป้า-ทำยอด" ผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียง แลกกับการต่ออายุกำนัน-จัดงบให้หมู่บ้านหรือไม่

และล่าสุดกับการเด้งรับ "4 คำถามนายกฯ" โดยมีหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าฯ และนายอำเภอ ให้เปิดศูนย์ดำรงธรรมรอรับคำตอบจากประชาชน

แต่เมื่อยอดวันแรก (12 มิ.ย.) ใน 76 จังหวัด จบลงที่ 6,600 คนตามคำเปิดเผยของรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ทำให้สื่อนำประเด็น "4 คำถามของนายกฯ" ย้อนกลับไปถามเจ้าของคำถาม

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยอมเปิดปากให้สัมภาษณ์เป็นครั้งแรกในรอบ 2 สัปดาห์ โดยโยนคำถามกลับมาว่า "ทุกคนให้ความสำคัญกับ 4 คำถามของผมมากไปหรือเปล่า ผมไม่ได้บอกว่าประชาชนต้องมาไลค์ทั้ง 6 ล้านคน มันไม่ใช่ จะกี่ล้าน ผมไม่รู้ จะคนเดียว หรือ 10 คนก็รับฟัง มี 100 คนก็รับฟัง 100 คน ว่าเขาว่าอย่างไร"

แม้นายกฯ บอก "ไม่คาดหวังให้คนมาตอบเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต" แต่โดยบทถนัดที่เคยจัดกันมา กระทรวงมหาดไทยคงไม่น่าปิดยอดด้วยสถิติน้อยนิด