ไทยอยู่ตรงไหนในยุทธศาสตร์ "เส้นทางสายไหมมังกรจีน"

ทหารจีนเตรียมต้อนรับผู้นำที่เข้าร่วมประชุม

ที่มาของภาพ, EPA

เส้นทางสายไหม ในศตวรรษที่ 21 ที่มังกรจีนเป็นผู้ริเริ่ม และดึงกว่า 60 ชาติ เข้ามาเอี่ยวเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ผ่านโครงการสาธารณูปโภคทั้งทางบก ทางทะเล เพื่อต่อเชื่อมเส้นทางการค้า 3 ทวีป กำลังเป็นที่กล่าวขานกันทั่วโลก ประเทศไทยอยู่จุดไหนบนแผนที่เศรษฐกิจของจีน และจะได้อะไรจากโอกาสทางเศรษฐกิจครั้งนี้

ไทยอยู่ตรงไหนในเส้นทางสายไหมจีน

แม้ว่าจากแผนที่ทางยุทธศาสตร์ของเส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 หรือ High-Level Dialogue Belt and Road Forum for International Cooperation ที่อภิมหาอำนาจจีน ลากเส้นบนแผนที่ทางทะเลไม่ผ่านไทยโดยตรง แต่ รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ไทย-จีน อธิบายให้บีบีซีไทยเห็นถึงความเชื่อมโยงของการวางยุทธศาสตร์ว่า เส้นทางสายไหมที่ฟื้นฟูขึ้นมาใหม่นี้ มี "ภูมิภาคอาเซียน" เป็นเป้าหมายหนึ่ง จากทั้งหมด 65 ประเทศ ที่รวมจีนแล้วด้วย

รถไฟจีน

ที่มาของภาพ, STR/AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, ผศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล เห็นว่าที่ตั้งของไทยยังคงเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์รองของจีน

"ไทยอยู่ในเส้นทางสายไหม อีกทั้งยังอยู่ในระเบียงเศรษฐกิจจีน-คาบสมุทรอินโดจีน China-Indochina Peninsula Economic Corridor (CICPEC) ที่รวมลาว เวียดนาม กัมพูชา ซึ่งเป็น 1 ใน 6 ระเบียงเศรษฐกิจย่อย ภายใต้ยุทธศาสตร์สายไหมในศตวรรษที่ 21 ของจีนที่กำลังเดินหน้าอยู่ขณะนี้" รศ.ดร.อักษรศรี ระบุ

สอดคล้องกับ ผศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่วิเคราะห์ว่า จีนยังมองไทยเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ เพียงแต่ที่ตั้งของไทยที่ไม่ได้มีพื้นที่ทางทะเลติดต่อกับเส้นทางทะเลใหญ่ๆ จึงเป็นแค่พื้นที่ยุทธศาสตร์รอง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าอยู่ในจุดที่จีนจะลดความสำคัญลง เพราะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไทยเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เศรษฐกิจที่จีนเกี่ยวข้อง คือ แนวเขตอีสต์-เวสต์ คอร์ริดอร์ ซึ่งเป็นเส้นทางเศรษฐกิจคมนาคม โครงสร้างพื้นฐาน เชื่อมอาเซียนเข้ากับจีน

"ที่ผ่านมาจีนพยายามกระตุ้นไทยมาโดยตลอด เช่น ข้อตกลงรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน หรือการขุดคอคอดกระ ที่แม้ว่าจีนจะไม่ได้ตามที่สมปรารถนา 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็เป็นเรื่องที่จีนยังมองว่าเป็นยุทธศาสตร์อยู่" ผศ.วรศักดิ์ กล่าวกับบีบีซีไทย

เมื่อ สี จิ้น ผิง ไม่เอ่ยถึงรถไฟไทย-จีน

ผู้นำอินโดนีเซียและผู้แทนจีนกับโครงการรถไฟความเร็วสูง

ที่มาของภาพ, REUTERS/Garry Lotulung/File Photo

คำบรรยายภาพ, จีนบรรลุข้อตกลงร่วมทุนก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงระหว่างจีน-อินโดนีเซีย เส้นทางจาการ์ตา-บันดุง เมื่อปีที่แล้ว

แม้จีนจะทำข้อตกลงทางการค้าการลงทุนในระดับพหุภาคี กับหลายประเทศในอินโดจีน เช่น การก่อกำเนิดของสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจแม่น้ำโขง (ไทย พม่า ลาว จีน) แต่การเจรจาแบบพหุภาคีก็ยังไม่บรรลุข้อตกลงตามความมุ่งหมายของจีนมากนัก รศ.ดร.อักษรศรี ชี้ว่า นี่เป็นสาเหตุให้จีนหันมาใช้ยุทธวิธีเข้าหาในระดับทวิภาคีมากขึ้น เช่น การลงทุนก่อสร้างรถไฟในลาว หรือการบรรลุข้อตกลงร่วมทุนก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงระหว่างจีน-อินโดนีเซีย ในเส้นทางกรุงจาร์กาตา-บันดุง

รศ.ดร.อักษรศรี ยังเปิดเผยอีกว่า ในเวทีที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ประกาศการลงทุนในการสร้างท่าเรือ ถนน และเครือข่ายรถไฟ ที่ใช้งบฯ กว่าแสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ วานนี้ (14 พ.ค.) ที่กรุงปักกิ่ง ประธานาธิบดีสี ได้เอ่ยถึงโครงการรถไฟที่จีนลงทุนร่วมกับลาว อินโดนีเซีย แต่ในฐานะคู่เจรจาเส้นทางรถไฟไทยจีนที่ดำเนินมาในยุครัฐบาล คสช.ของไทย ผู้นำจีนไม่ได้กล่าวถึง

เรือของจีน

ที่มาของภาพ, ISHARA S. KODIKARA/Getty Images

คำบรรยายภาพ, จีนเข้าไปดำเนินโครงการสาธารณูปโภคหลายโครงการในศรีลังกา

"ก่อนหน้านี้จีนมักชูรถไฟไทย-จีน เป็น "โชว์เคส" แต่ด้วยความล่าช้าของโครงการที่ถูกชะลอออกไป ทำให้เรื่องนี้ถูก "ลดระดับลง" ในมุมของจีน ในปาฐกถา ประธานาธิบดีสี ไม่ได้พูดถึงรถไฟไทย-จีน แต่พูดถึงเส้นทางรถไฟที่ ลงทุนร่วมกับลาว อินโดนีเซีย ศรีลังกา จึงค่อนข้างชัดเจนว่า เป็นเพราะโครงการรถไฟไทย-จีน ไม่มีความคืบหน้าเป็นรูปธรรม จึงเลือกจะพูดถึงประเทศที่ตกลงได้แล้วมากกว่า อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในปัจจุบันโครงขณะนี้จะกำลังเดินหน้าในเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา แต่กรอบยุทธศาสตร์ ใหญ่ที่จะทำ เชื่อมต่อไปยังชายแดนลาวยังมีอยู่" รศ.ดร.อักษรศรี กล่าวกับบีบีซีไทย

มองโอกาสไทยบนเส้นทางสายไหม ไม่ใช่แค่เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน

นอกจากนี้จีนยังพูดถึงเส้นทางสายไหมที่ไม่ใช่เพียงเรื่องเส้นทางการค้าทางบก ทางทะเล แต่ยังชูเรื่อง Smart silk road หรือเส้นทางสายไหมอัจฉริยะ หรือการเชื่อมต่อทาง ไซเบอร์สเปซ รศ.ดร.อักษรศรี มองว่าไทยมีโอกาสที่จะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ เนื่องจากสอดคล้องกับทิศทางของไทยที่จะเดินหน้าเศรษฐกิจดิจิทัลและยุทธศาสตร์ "ไทยแลนด์ 4.0"

หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุในจีน

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ, หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุในจีน

"เป็นการนำสิ่งที่คนอื่นคิดแล้วมาต่อยอด เราไปเรียนรู้จากเค้าได้ หากเทคโนโลยีของจีนสำเร็จ เช่น การใช้หุ่นยนต์ในมิติต่างๆ ในอนาคต อย่างการใช้ดูแลผู้สูงอายุ หากไทยจะซื้อมาใช้ มองว่าเป็นราคาที่ไทยสามารถจับต้องได้"

แนะเปิดรับจีน แบบรอบคอบ

รศ.ดร.อักษรศรี มองว่า โครงการพัฒนาที่ไทยจะทำร่วมกับจีนควรมองเป็นโอกาส แต่ต้องรอบคอบในการต่อรอง อย่างโครงการรถไฟไทย จีน แม้จะล่าช้า แต่การพิจารณา รายละเอียดสัญญาการลงทุนที่ยุติธรรมก็เป็นข้อที่ควรตระหนัก

ด้าน ผศ.วรศักดิ์ ชี้ว่า การเข้ามามีอิทธิพลของจีนในภูมิภาค ไม่ควรมองว่าเป็นการตกเป็นเบี้ยล่างทางเศรษฐกิจ แต่เป็นสิ่งที่มองได้ว่าเป็นของผลประโยชน์ ที่แต่ละชาติ จะให้น้ำหนักมากกว่า เช่น การเปิดรับจีนเข้ามาลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของประเทศเพื่อนบ้าน กัมพูชา ลาว เมียนมา

เส้นทางสายไหมทางบก คือถนนและทางรถไฟจากจีนมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก เส้นทางสายไหมทางทะเลคือเส้นทางเดินเรือจากจีนมุ่งลงใต้เข้าสู่ทิศตะวันตก
คำบรรยายภาพ, เส้นทางสายไหมทางบก คือถนนและทางรถไฟจากจีนมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก เส้นทางสายไหมทางทะเลคือเส้นทางเดินเรือจากจีนมุ่งลงใต้เข้าสู่ทิศตะวันตก