สามปีรัฐประหาร: ฟังเสียงชาวนาอีสาน ชาวสวนยางใต้

  • นันท์ชนก วงษ์สมุทร์
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
คำบรรยายวิดีโอ,

ชาวนาอีสานครวญ ชาวสวนยางใต้ยิ้ม

สามปีหลังรัฐประหาร ท่ามกลางการกวาดล้างการ "ทุจริตมโหฬาร" ที่เกิดจากโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลพลเรือน ชาวนาในภาคอีสาน ฐานเสียงใหญ่ของ นายทักษิณ ชินวัตร รับรู้ได้ถึงเงินในกระเป๋าที่หายไป ขณะที่ชาวสวนยางในภาคใต้ ฐานสนับสนุนของ "คนไม่เอาทักษิณ" กำลังลืมตาอ้าปากจากราคายางที่ดีดตัวขึ้น พร้อมความช่วยเหลือจาก รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เคยบอกให้ชาวสวนยางที่เรียกร้องราคากิโลกรัมละ 100 บาทให้ "ไปขายที่ดาวอังคาร"

ควายเดินอยู่กลางทุ่งนา

ที่มาของภาพ, Jiraporn Kuhakan / BBC THAI

คำบรรยายภาพ,

ราคาข้าวที่ตกต่ำลงต่อเนื่องในรอบ 3 ปี ทำให้ชาวนาใน ต.ชีทวน อ.เขื่องใน หลายรายเลิกทำนา

นับแต่ปี 2557 สีน้ำตาลของผืนดินที่แตกระแหงกำลังแผ่ขยายเข้ามาแทนที่ท้องทุ่งเขียวขจีของต้นกล้าในนาหว่าน ใน อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี

การรัฐประหารเมื่อ 22 พ.ค. นำมาซึ่งการยกเลิกนโยบาย "ประชานิยม" จำนำข้าว ที่ถูกกล่าวหาว่า สร้างความเสียหายแก่ประเทศ เป็นมูลค่าเกือบล้านล้านบาท พร้อมๆ กับการยกเลิกการทำนาของชาวนาหลายร้อยชีวิตใน ต.ชีทวน อ.เขื่องใน เนื่องจากราคาข้าวที่ตกต่ำลง พร้อมต้นทุนที่สูงขึ้น และหนี้สินที่สูงเป็นเงาตามตัว

นายจำปานั่งอยู่ข้างหน้ากระสอบข้าวที่กองไว้ที่บ้าน

ที่มาของภาพ, Jiraporn Kuhakan / BBC THAI

คำบรรยายภาพ,

ปัจจุบันนายจำปาขายข้าวได้กิโลกรัมละ 6 บาท จากที่เคยขายได้ในปีก่อนๆ กิโลกรัมละ 11 บาท

นายจำปา โทนทัย อดีตผู้ใหญ่บ้านหนองฮี หมู่ 8 ต.ชีทวน หนึ่งในชาวนาเหล่านั้น กล่าวว่า เมื่อก่อนคนในพื้นที่ราวร้อยละ 40 ทำนา แต่ตอนนี้ลดเหลือร้อยละ 20 และมีแนวโน้มจะลดลงเรื่อยๆ

ปัจจุบันสระหนองฮีที่อยู่กลางทุ่งนากว่า 200 ไร่ มีน้ำเหลือเพียงครึ่งสระ เนื่องจากคนทำนาเหลือเพียง 6 ราย รวมถึงที่ดิน 32 ไร่ของนายจำปาเอง

"นี่แหละชีวิตชาวนา ขายข้าวก็ไม่ได้ บ้านก็ไม่เสร็จ" นายจำปา กล่าวกับบีบีซีไทยที่บ้านกึ่งอิฐกึ่งไม้ของเขา ซึ่งใช้เวลาก่อสร้างมาเกือบสิบปีแล้ว แต่ยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากความถดถอยทางเศรษฐกิจ กระทบต่อรายได้ ทำให้แผนการที่วางไว้ต้องหยุดชะงักตั้งแต่ปีที่แล้ว

นายจำปายืนอยู่ข้างเตียงนอนมุ้ง

ที่มาของภาพ, Jiraporn Kuhakan / BBC THAI

คำบรรยายภาพ,

ความถดถอยทางเศรษฐกิจ และรายได้จากการขายข้าวที่ลดลง ทำให้นายจำปาต้องชะลอการสร้างบ้าน

บ้านที่ไม่มีแม้แต่ประตูทางเข้า เมื่อขึ้นบันไดไปชั้นสองจะพบกับเตียงนอน มุ้งที่นายจำปานอนกับภรรยาและลูกชาย วันใดที่ฝนตกหนัก นอกจากจะเสียงดังกระทบหลังคากระเบื้องแล้ว ยังสาดเข้ามาในตัวบ้าน เนื่องจากไม่มีแม้แต่ผนังกั้น

ปัจจุบัน นายจำปาขายข้าวได้กิโลกรัมละ 6 บาท จากที่เคยขายได้ในปีก่อนๆ กิโลกรัมละ 11 บาท ทำให้เขาไม่มีเงินเก็บเหมือนสมัยก่อน และยังเป็นหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรกว่า 300,000 บาท

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

"ยุคนี้เศรษฐกิจไม่ค่อยดี สินค้าราคาแพง สินค้าด้านการเกษตรตกต่ำ การใช้จ่ายมาก หลังคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.)เข้ามา ไม่มีกำไรเลย มีแต่อยู่ทุนหรือขาดทุน ถ้าไม่มีงานรับเหมาก่อสร้างก็ไปไม่รอด" นายจำปากล่าว "ชาวนามีแต่จนกับจน เป็นกระดูกสันหลังของชาติไปเรื่อยๆ"

นายจำปาเริ่มทำนาตอนอายุ 11 ปี และปัจจุบันด้วยอายุ 66 ปี เขาจ้างคนงานมาช่วยทำนาบางส่วน โดยที่เขายังหว่านและสูบน้ำใส่เอง

นายจำปากล่าวว่า แม้ว่าปีที่แล้วตนจะได้รับเงินช่วยเหลือคนยากจน 3,000 บาทต่อครัวเรือน และได้รับเงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท จากรัฐบาล แต่เขาคิดว่าไม่ยุติธรรมเหมือนโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เนื่องจากคนที่ทำจริงถึงจะได้เงินอุดหนุน

กระสอบข้าวที่กองไว้ที่บ้านของนายจำปา

ที่มาของภาพ, Jiraporn Kuhakan / BBC THAI

คำบรรยายภาพ,

นายจำปาเลือกเก็บข้าวไว้ที่บ้าน แทนการขายออกไปในราคาข้าวที่ต่ำมาก

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวที่รับซื้อข้าวทุกเมล็ดจากเกษตรกรในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดถึงร้อยละ 40-50 ได้ถูกโจมตีอย่างหนักว่าใช้งบประมาณของรัฐเป็นจำนวนมหาศาล ถึง 9.85 แสนล้านบาท เพื่อซื้อข้าว 54.4 ล้านตัน โดยในการวิจัยเรื่องคอร์รัปชั่นในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยได้ประเมินไว้ว่าโครงการดังกล่าวสร้างความเสียหายให้กับประเทศ 6.1 แสนล้านบาท

"แต่ได้มาเราไม่ภูมิใจเหมือนเราทำ ถ้าเราทำเป็นนาปรัง เราไปขายหรือจำนำ เราภูมิใจเพราะได้ทำของเราเอง ไม่ใช่อยู่เฉยๆ ได้เงิน เหมือนราษฎรเกียจคร้าน ไม่อยากจะสร้างงาน รอแต่เงินที่เอามาช่วยเหลืออย่างเดียว" เขากล่าว

"โครงการจำนำข้าว คนทำจริงถึงได้ คนไม่ทำไม่ได้ แต่รัฐเป็นหนี้เหมือนกัน"

นายจำปาถือข้าวดิบในมือ

ที่มาของภาพ, Jiraporn Kuhakan / BBC THAI

คำบรรยายภาพ,

โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ถูกโจมตีอย่างหนักว่าใช้งบประมาณของรัฐเป็นจำนวนมหาศาล

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ตอนรัฐบาลเข้ามา สถานการณ์เศรษฐกิจค่อนข้างแย่ จึงต้องช่วยพยุงชาวนาไว้ โดยยกเลิกการรับจำนำข้าวมาเป็นการจ่ายเงินให้โดยตรง

"ตอนแรกเราต้องช่วยเหลือที่ลำบากก่อน เหมือนการให้เปล่า ถ้าไม่ช่วยเลย เขาจะตายก่อนที่จะปรับตัวได้ แต่เราไม่ได้เป็นเหมือนประชานิยมที่แจกอย่างเดียวแต่ไม่ช่วยพัฒนาเขา เป้าหมายของเราคือยืนอยู่ด้วยลำแข้งได้" นายณัฐพรกล่าวกับบีบีซีไทย พร้อมเพิ่มเติมว่า รัฐบาลได้ออกมาตรการหลายอย่างในการเพิ่มผลผลิต เช่น การทำเกษตรแปลงใหญ่ โดยให้เกษตรกรรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่ เพื่อใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรร่วมกัน

เมื่อถามถึงความรู้สึกต่อ คสช. นายจำปากล่าวว่า หากมีการเลือกตั้ง เขาจะเลือกพรรคการเมืองของนายทักษิณ ชินวัตร เนื่องจากไม่ชอบรัฐบาล คสช.

"พูดแล้วไม่ทำ ตอนรัฐประหารใหม่ๆ พูดดี จะทำทุกอย่าง ตรวจสอบทุกเรื่อง พอตรวจสอบถึงคนของตัวเองก็เงียบ มันจะปราบคอร์รัปชั่นได้อย่างไร ถ้าจะปราบต้องปราบคนใกล้ตัวก่อน"

นายสุนทรนั่งอยู่ภายในบ้าน

ที่มาของภาพ, Jiraporn Kuhakan / BBC THAI

คำบรรยายภาพ,

นายสุนทรอยากให้มีเลือกตั้งเร็ววัน เพื่อประเทศจะได้เป็นประชาธิปไตย

เช่นเดียวกันกับนายสุนทร เมืองซ้าย เกษตรกร ต.ชีทวน หมู่ 1 อายุ 52 ปี ที่อยากให้มีเลือกตั้งเร็ววัน เพื่อประเทศจะได้เป็นประชาธิปไตย ซึ่งเขาจะเลือกพรรคเพื่อไทยเหมือนเดิม เนื่องจากทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น เพราะน.ส.ยิ่งลักษณ์ "รู้จักการค้าขาย"

"เศรษฐกิจที่ดีที่สุดคือตอนทักษิณ ยิ่งลักษณ์เข้ามา เศรษฐกิจบ้านเฮามีความเจริญ ประยุทธ์เข้ามาเศรษฐกิจล้ม" เขากล่าว

นายสุนทรเคยขายก๋วยเตี๋ยวที่กรุงเทพฯ เป็นเวลา 3 ปี แต่ก็กลับมาทำนาของเขาเอง ที่มีอยู่ 12 ไร่ โดยที่ไม่ได้จ้างใครทำ อีกทั้งไม่ใช้ปุ๋ยเคมี โดยเขาเป็นคนทำน้ำหมักเอง เพื่อใช้แทนปุ๋ย

นายสุนทรจูงควายกลางทุ่งนา

ที่มาของภาพ, Jiraporn Kuhakan / BBC THAI

คำบรรยายภาพ,

รายได้ที่นายสุนทรได้จากการขายข้าวในนา 12 ไร่ ลดลงกว่าเท่าตัว

ปัจจุบันเขามีรายได้ 20,000 บาทต่อปีจากการขายข้าวเกือบ 2 ตัน เทียบกับไม่ต่ำกว่า 50,000 บาทต่อปีในสมัยก่อน

"ทุกวันนี้กิโลกรัมละ 6 บาท แล้วเราจะไปขายยังไง เอาไปให้ไก่กินไม่ดีกว่าเหรอ" เขาถาม

"สมัยนี้ ไม่ได้เรื่อง ประชาชนทุกคนเดือดร้อน นายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลุงกล้าพูดเลยนะ ห่วงแต่ตัวเอง"

ในการแถลงผลงานของรัฐบาล ในโอกาสครบรอบ 2 ปี พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า รัฐบาลมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการบริหารราชการแผ่นดินโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และยึดถือผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง

นายกฤษฎาถือถังเพื่อกรีดยางในสวน

ที่มาของภาพ, Jiraporn Kuhakan / BBC THAI

คำบรรยายภาพ,

นายกฤษฎามองว่าความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวสวนยางดีขึ้นหลัง คสช. เข้ามาบริหารประเทศ

ห่างลงมาทางใต้อีกนับพันกิโลเมตร ต้นยางอายุน้อยนับร้อยต้นยืนแตกใบอ่อนในสวนที่ครึ้มร่มรื่นใน อ.สิเกา จ.ตรัง ท่ามกลางความพึงพอใจในราคายาง และผลงานการบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ชาวสวนยางหลายคนประกาศสนับสนุนให้เป็นนายกฯ ต่อไปภายหลังการเลือกตั้ง

"ผมว่าคงมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ถ้านายกฯ บริหารงานต่อไป เพราะบริหารงานด้วยความเป็นธรรม" นายกฤษฎา อุ้ยกิ้ม เกษตรกรชาวสวนยาง ต. เขาไม้แก้ว อ. สิเกา จ. ตรัง กล่าวกับบีบีซีไทย เมื่อถามถึง หัวหน้า คสช.

น้ำยางพาราบนต้นยาง

ที่มาของภาพ, Jiraporn Kuhakan / BBC THAI

ช่วงที่ราคายางแตะกว่า 100 บาทต่อกิโลกรัมในปี 2554 ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เกษตรกรชาวสวนยางหลายรายได้เก็บเงินซื้อบ้านและรถ รวมถึงนายกฤษฎา อายุ 43 ปี ซึ่งใช้เงินกว่าล้านบาทจากการขายผลผลิตยางในพื้นที่ 10 ไร่ที่เขากรีดเอง สร้างบ้านหลังที่เขาอาศัยอยู่ปัจจุบัน

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2556 กลุ่มผู้ชุมนุมชาวสวนยางและสวนปาล์มรวมตัวกันปิดถนน จ. นครศรีธรรมราช พร้อมกับจุดไฟเผาประท้วงกลางถนน ทำให้รัฐบาลของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องออกมาตรการช่วยเหลือเรื่องปัจจัยการผลิตไร่ละ 2,520 บาท รายละไม่เกิน 25 ไร่

พอมายุค คสช. เมื่อปลายปี 2557 ราคายางตกลงมาอีกครั้งจนเกษตรกรชาวสวนยางออกมาขู่ว่าจะออกมาเคลื่อนไหว เป็นที่มาของคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ที่กล่าวว่า หากต้องการราคายางกิโลกรัมละ 100 บาท คงต้องไปขายที่ดาวอังคาร

หมายเหตุ.-นี่คือราคาตลาดกลางซื้อขายยางพารา แต่ราคาที่พ่อค้ารายย่อยรับซื้อจากหน้าสวนเกษตรกรจะต่ำกว่า

ที่มา: สำนักตลาดกลางยางพารา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

พนักงานโรงงานกำลังจัดเรียงยางแผ่น

ที่มาของภาพ, Jiraporn Kuhakan / BBC THAI

จนเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2559 มีการประชุมเกษตรกรและเครือข่ายชาวสวนยางภาคใต้ที่ จ. ตรัง โดยมีการเสนอให้รัฐบาลสั่งการให้ใช้ยางพารา ในหน่วยงานของรัฐ

"สุดท้ายไม่ได้ใช้สักโล" นายถนอมเกียรติ ยิ่งฉ้วน ที่ปรึกษาเครือข่ายชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวกับบีบีซีไทย พร้อมเพิ่มเติมว่า เกษตรกรชาวสวนยางมีผลกระทบเรื่องราคาไม่นิ่ง ทำให้กำหนดแผนชีวิตไม่ได้ "ชาวบ้านกระทบราคาขึ้นๆ ลงๆ แต่ถามว่าอยู่ได้ไหม 60-70 บาท เขาก็ยังอยู่ได้ ช่วง 30 บาทก็อยู่มาแล้ว แต่หนักมาก"

แม้ว่าจะผ่านไปเพียงหนึ่งปีที่ราคาน้ำยางพาราจะตกลงถึงขั้นวิกฤตที่กิโลกรัมละ 25 บาทเมื่อเดือน ม.ค. 2559 แต่นายกฤษฎามองว่าความเป็นอยู่ชาวสวนยางดีขึ้น

"พอรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง เราลำบาก แต่พอมารัฐบาลทหาร ราคายางเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ...ตอนนี้ความรู้สึกดีขึ้น และความเป็นอยู่ดีขึ้น" เขากล่าว "พอใจมาก [กับรัฐบาล] เพราะบริหารงานชัดเจนและเป็นธรรมสำหรับผม ไม่เอาเปรียบคนจน"

ยางแผ่นที่อยู่ในโรงงาน

ที่มาของภาพ, Jiraporn Kuhakan / BBC THAI

ที่ผ่านมา รัฐบาลได้บรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรชาวสวนยางไปแล้วไร่ละ 1,500 บาท

ปัจจุบัน แม้ว่าราคาหน้าสวนของน้ำยางจะอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 60 บาท ซึ่งสำหรับนายกฤษฎา ถือว่าเป็นราคาที่ "พออยู่ได้" แต่เขามองว่าอยากให้รัฐบาลช่วยเรื่องราคายางให้ดีกว่านี้

เช่นเดียวกับนางม้วย บัวแดง เกษตรกรชาวสวนยางในตำบลเดียวกัน วัย 62 ปี ซึ่งกล่าวกับบีบีซีไทยว่า ได้ผ่านยุคที่ลำบากที่สุดแล้ว จึงรู้สึกว่าตอนนี้สบายกว่ากันมาก ซึ่งช่วงที่ราคาเคยขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 80 บาทในรัฐบาลนี้ ทำให้เธอมีรายได้สูงถึงวันละ 4,000 บาทในแปลง 12 ไร่

นางม้วนยืนพิงต้นยางในสวน

ที่มาของภาพ, Jiraporn Kuhakan / BBC THAI

คำบรรยายภาพ,

นางม้วนสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อ

แม้ว่าสภาพภูมิอากาศในภาคใต้จะมีฝนตกหนัก ทำให้นางม้วนกรีดยางได้เพียงครึ่งเดียวของช่วงเวลาปกติ แต่ตอนนี้เธอไม่มีหนี้ และสามารถส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัยถึงสามคน

นางม้วนกล่าวว่า หากมีการเลือกตั้ง เธอจะเลือก พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ เนื่องจากชอบที่เขาพูดอะไรชัดเจน และพูดจริงทำจริง

"ไม่รู้ ชอบตั้งแต่แรกๆ อยากให้เป็น [นายกฯ] ตลอดไปเลย" นางม้วน กล่าวกับบีบีซีไทย เมื่อถามว่าทำไมถึงชอบ พล.อ.ประยุทธ์ "ไม่อยากให้ปรับเปลี่ยน อยากให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ"