4 เงื่อนไขภาค ปชช. หันหลังเวทีประชาพิจารณ์แก้ กม.บัตรทอง

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ รวมตัวคัดค้านกระบวนการแก้ไข กม.บัตรทอง ที่กทม.วันที่ 18 มิ.ย.

ที่มาของภาพ, Piyasak Ausap

คำบรรยายภาพ, เวทีประชาพิจารณ์ร่าง กม.บัตรทอง ภาคกลาง ครั้งที่ 4 ที่จัดขึ้นในวันนี้ (18 มิ.ย.) เป็นเวทีรับฟังความเห็นเวทีสุดท้าย

เวทีประชาพิจารณ์ร่างกฎหมายบัตรทอง ภาคกลาง ครั้งที่ 4 ที่จัดขึ้นในวันนี้ (18 มิ.ย.) เป็นเวทีรับฟังความเห็นเวทีสุดท้ายก่อนที่คณะกรรมการแก้ไขร่างกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุขจะพิจารณาเสนอ ครม. ในเดือน ก.ค. ประธานจัดเวทีประชาพิจารณ์ ยันรวบรวมทุกความเห็น เดินหน้ารวมข้อมูลยื่น คกก.พิจารณาร่างกฎหมาย 30 มิ.ย. นี้

ย้อนเส้นทางรับฟังความเห็นการแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ. .... หรือ กฎหมายบัตรทอง ใน 3 ครั้งก่อนหน้านี้ เวทีแรกที่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. และที่ จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 11 มิ.ย. ภาคประชาชนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพแสดงจุดยืนไม่ยอมรับการจัดรับฟังความคิดเห็นด้วยการ "วอล์คเอาท์" ออกจากห้องประชุม

ก่อนที่เวทีที่ 3 ที่ จ.ขอนแก่น วานนี้ (17 มิ.ย.) จะถูกยึดโดยกลุ่มภาคประชาชนจนไม่สามารถดำเนินการจัดได้ นำมาสู่การตั้งคำถามว่าการฟังความเห็นแก้กฎหมายบัตรทองที่มีผู้ใช้สิทธิ 49 ล้านคน จะรอบด้านหรือไม่

ช่วงเช้าวันนี้ ภาคประชาชนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพราว 200 คน รวมตัวบริเวณหน้าห้องประชุม ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ที่วางกำลังรักษาความปลอดภัย โดยเมื่อเวลา 09.00 น. ได้เกิดเหตุกระทบกระทั่งระหว่างกลุ่มประชาชน และเจ้าหน้าที่ที่พยายามเก็บป้ายรณรงค์ และขอให้งดใช้เครื่องขยายเสียง เหตุการณ์จบที่เจรจาตกลงกันได้ ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะอนุญาตให้ปราศรัยในเวทีคู่ขนานต่อไป แต่ขอความร่วมมือให้อยู่ในความสงบ

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ รวมตัวคัดค้านกระบวนการแก้ไข กม.บัตรทอง ที่กทม.วันที่ 18 มิ.ย.

ที่มาของภาพ, Piyasak Ausap

คำบรรยายภาพ, เกิดการกระทบกระทั่งระหว่างกลุ่มประชาชน และเจ้าหน้าที่ที่พยายามเก็บป้ายรณรงค์ และขอให้งดใช้เครื่องขยายเสียง

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคกลาง ตะวันตก ตะวันออก และ กทม. แถลงการณ์ในเวลา 11.00 น. แสดงจุดยืนขอให้หยุดกระบวนการแก้ไขกฎหมาย และเริ่มกระบวนการใหม่ ด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผอ.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ แกนนำกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพกล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้ "ไม่ได้มาล้ม แต่มาเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับกระบวนการแก้ไขกฎหมาย"

4 เหตุผลที่ภาคประชาชนคัดค้านการแก้ไขกฎหมายบัตรทอง

ไร้การมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น

เครือข่ายซาวอีสานซอมเบิ่งบัตรทอง กลุ่มภาคประชาชน 76 องค์กรในภาคอีสาน ระบุในแถลงการณ์ขอให้ยุติการแก้ไขกฎหมายบัตรทองว่า องค์ประกอบของคณะทำงานแก้ไขกฎหมาย หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขตั้งขึ้นมา โน้มเอียงไปในทางเอื้อประโยชน์ให้ผู้ให้บริการจากกระทรวงสาธารณสุข สัดส่วนของคณะทำงาน 26 คน มีตัวแทนของภาคประชาชนเพียง 2 คน ในข้อนี้เครือข่ายประชาชนภาคกลางฯ เห็นว่า ทำให้ "ประชาชนไม่มีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น และไม่มีคำตอบว่าการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระของกฎหมายได้ดีขึ้นอย่างไร"

เพิ่มสัดส่วนวิชาชีพในบอร์ดสปสช.ทำลายหลักการบัตรทอง

หนึ่งในข้อเสนอปฏิรูประบบสุขภาพของภาคประชาชน คือ การเพิ่มสัดส่วนผู้รับบริการให้มากขึ้น แต่ในร่างกฎหมายที่แก้ไขใหม่ใน สธ. ตัดสัดส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพิ่มสัดส่วนวิชาชีพสาธารณสุข ส่งผลให้สัดส่วนผู้ให้บริการ มากกว่าประชาชน

การแก้ไขนี้ทำลายหลักการบัตรทองอย่างไร นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โพสต์บนเฟซบุ๊กวันนี้ อธิบายการเพิ่มกรรมการบอร์ดที่เอียงไปทางฝ่ายผู้ให้บริการ

"ประชาชนเกรงว่าการพิจารณาจะเอียงไปทางให้ประโยชน์ต่อสถานบริการ ได้งบประมาณไปแล้วจะให้บริการน้อยเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้ให้บริการ" ซึ่งเป็นการขัดหลักการแยกผู้ให้บริการ-ผู้ซื้อ ที่กฎหมายเดิมกำหนดไว้ดีแล้ว

เวทีประชาพิจารณ์ร่างแก้ไขกฎหมายบัตรทอง ที่ กทม.วันที่ 18 มิ.ย.

ที่มาของภาพ, Piyasak Ausap

คำบรรยายภาพ, นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ปธ.คณะอนุกรรมการประชาพิจารณ์ร่างฯ เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า ในเวทีวันนี้มีผู้ลงทะเบียนทั้งทางออนไลน์ และหน้างานกว่า 600 คน และได้พูดแสดงความเห็นในเวที 69 คน

นำไปสู่การ "ร่วมจ่าย"

แม้การร่วมจ่ายจะเป็นข้อกำหนดที่อยู่ใน กม.บัตรทอง แต่ผู้ใช้สิทธิบัตรทองยังไม่ถูกบังคับให้ร่วมจ่าย ในการแก้ไขร่างฯ ครั้งนี้ ภาคประชาชน จึงเสนอให้ยกเลิกการ "ร่วมจ่าย" ด้วยเหตุผลว่า ประชาชนร่วมจ่ายค่าบริการอยู่แล้วผ่านการเสียภาษี แต่ข้อนี้กลับไม่ปรากฏในร่างแก้ไข การเพิ่มสัดส่วนผู้ให้บริการสาธารณสุขในบอร์ด สปสช. จึงเป็นข้อกังวลว่าต่อไป ผู้ใช้สิทธิบัตรทองจะต้องร่วมจ่าย ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีแนวคิดว่าให้จ่าย 30% ของค่ารักษาพยาบาลมาแล้ว

"ในอนาคตถ้าสาธารณสุขครอบงำบอร์ดบัตรทอง คณะกรรมการมีสิทธิที่บอกให้ประชาชนร่วมจ่ายได้ นี่เป็นเป้าหมายของคณะยกร่างฯ" นางบุญยืน ศิริธรรม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สัดส่วนภาคประชาชน กล่าว

แยกเงินเดือนบุคลากรจากงบฯ รายหัว

ภาคประชาชนชี้ว่า การแก้กฎหมายให้แยกเงินเดือนบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้เกิดปัญหาการกระจายบุคลากรที่เป็นธรรมต่อหน่วยบริการหรือโรงพยาบาล

ข้อเขียนของ นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า "แยกเงินเดือนออกมาจากงบประมาณรายหัว ยกไปให้กระทรวงสาธารณสุขบริหาร แทนที่จะให้ไปตามที่อยู่ของประชาชน จะทำให้ผู้ให้บริการมากองอยู่ในเมืองใหญ่ ๆ จนล้น แต่คนในชนบทขาดแคลน จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งกฎหมายเดิมได้ป้องกันเอาไว้ดีแล้ว"

ประชาชนราว 800 คนชุมนุมบริเวณสำนักงานสหประชาชาติ เพื่อคัดค้านการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ ที่เพิ่มสัดส่วนภาคราชการในบอร์ดประกันสุขภาพ

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, ประชาชนราว 800 คนชุมนุมบริเวณสำนักงานสหประชาชาติเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. เพื่อคัดค้านการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ ที่เพิ่มสัดส่วนภาคราชการในบอร์ดประกันสุขภาพ

"หมอพลเดช" ปธ.จัดเวทีประชาพิจารณ์ ยันเก็บข้อมูลทุกความเห็น แม้ไม่ได้เข้าร่วมเวที

ด้าน นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการประชาพิจารณ์ร่างฯ เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า ภาคประชาชนที่แสดงจุดยืนไม่เข้าร่วมในเวที คณะทำงานจะรวบรวมข้อเสนอความเห็นมาเป็นข้อมูลด้วย พร้อมยืนยันว่า ทำเต็มความสามารถในการจัดรับฟังความเห็นแล้ว

"แถลงการณ์ ในแต่ละภาคเป็นข้อเสนอเป็นแบบเดียวกัน แต่มีแตกต่างในรายละเอียด เราก็รวบรวมทั้งหมดในแต่ละภาค ทั้งความเห็นรวมหมู่ ส่วนบุคคล ทางเราก็เก็บมาไม่ได้ตกหล่น ทุกคนจะแสดงออกอย่างไรเราไม่สนใจ เราสนใจเจตนารมณ์มากกว่า" นพ.พลเดช กล่าวกับบีบีซีไทย

นพ.พลเดช กล่าวอีกว่า ประชาชนที่มาร่วมแสดงความเห็นในเวที ไม่ได้เป็นตัวแทนของหน่วยงานใด มีทั้งภาคประชาสังคม เอกชน ราชการ ถือว่ามาในฐานะประชาชน ทั้งนี้คณะทำงานจะประมวลความเห็น ทั้งหนุนและค้าน ส่งต่อคณะกรรมการแก้ไขกฎหมายฯ ของกระทรวงสาธารณสุขในวันที่ 30 มิ.ย. สำหรับเวทีภาคอีสานที่ไม่สามารถจัดรับฟังได้จะไม่มีการจัดขึ้นมาใหม่ แต่มีช่องทางให้เสนอความคิดเห็นผ่านทางออนไลน์ได้จนถึงวันพรุ่งนี้ (19 มิ.ย.)