เลือกตั้งอังกฤษ: 6 ข้อน่ารู้สำหรับคนไทย

  • สมชัย สุวรรณบรรณ
  • อดีตหัวหน้าแผนกภาษาไทย บีบีซีภาคบริการโลก
หอนาฬิกา

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ไม่ถึง 48 ชม ก่อน การเลือกตั้งทั่วไป ใน สหราชอาณาจักร

การเลือกตั้งทั่วไปในวันพฤหัสที่ 8 มิ.ย. นี้เป็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่น่าจับตา ไม่เพียงกระทบผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ในสหราชอาณาจักร ที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลกเท่านั้น แต่ผลการเลือกตั้งครั้งนี้จะส่งแรงกระเพื่อมไปทั่วทั้งยุโรปและประเทศคู่ค้านอกยุโรปและไทย

นายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ อ้างเหตุผลของการประกาศยุบสภาจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปก่อนกำหนดเกือบ 3 ปีครั้งนี้ คือ การขออาณัติใหม่จากประชาชนในการเจรจาต่อรองกับสหภาพยุโรป เกี่ยวกับเงื่อนไขของการถอนตัวออกจากสมาชิกภาพ หรือ เบร็กซิท เนื่องจากกระแสความรู้สึกภายในกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ในประเทศเกิดความไม่แน่ใจว่าเงื่อนไขการถอนตัวออกจากยุโรปคราวนี้ อาจจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวเสื่อมถอยลง สหราชอาณาจักรอ่อนแอ สูญเสียตลาดใหญ่ที่มีอำนาจการซื้อสูง

นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ก่อนการยุบสภาและช่วงต้นของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง พรรคคอนเซอร์เวทีฟของนางเทเรซา เมย์ มีคะแนนนิยมนำพรรคเลเบอร์กว่า 20% แต่ในการสำรวจล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คะแนนนิยม กลับลดลงจนห่างกันเพียง 1-2 %

ก่อนการยุบสภาและช่วงต้นของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง พรรคคอนเซอร์เวทีฟของนางเมย์มีคะแนนนิยมสูง ขณะที่ความนิยมของผู้นำฝ่ายค้าน นายเจเรมี คอร์บิน หัวหน้าพรรคเลเบอร์ ตกต่ำถอยลงเพราะความขัดแย้งแย่งชิงการนำภายในพรรคในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา แต่ในช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียง คะแนนนิยมของนายคอร์บิน กลับพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก จากการสำรวจของบางสำนักโพล คะแนนนิยมของพรรคคอนเซอร์เวทีฟที่เคยนำพรรคเลเบอร์กว่า 20% กลับลดลงจนห่างกันเพียง 1-2 % ในการสำรวจล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

นักวิเคราะห์การเมืองบางสำนักกล่าวว่าคะแนนนิยมของเลเบอร์ตีตื้นขึ้นมาคงเป็นเพราะการขายนโยบายภายในประเทศที่ถูกใจคนหนุ่มสาว และ ประเด็นรัฐสวัสดิการสำหรับผู้ใช้แรงงาน ในขณะที่พรรคคอนเซอร์เวทีฟมุ่งขายบุคลิกความเป็นผู้นำของนางเมย์ และแนวทางที่แข็งกร้าวในการเจรจากับสหภาพยุโรปเรื่องเงื่อนไขการถอนตัว

คอร์บิน

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, นายเจเรมี คอร์บิน หัวหน้าพรรคเลเบอร์

การเลือกตั้งทั่วไปเป็นการเลือกตั้งระดับชาติรวมทั้งแคว้นสก็อตแลนด์ ไอร์แลนด์เหนือ และเวลส์ ซึ่งมีสภา และคณะผู้ปกครองบริหารส่วนท้องถิ่นของตนเอง แม้แต่ละแคว้นมีพรรคประจำถิ่นของตนเอง แต่ก็ยังส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งสมาชิกสภาส่วนกลางที่รัฐสภาเวสต์มินสเตอร์ด้วย

ในระยะหลัง พรรคสก็อตทิชเนชันแนล (SNP) ได้ชัยชนะได้เป็นสมาชิกสภาสามัญที่เวสต์มินสเตอร์เป็นจำนวนมาก จึงได้กลายเป็นพรรคการเมืองที่มีอิทธิพลมากกว่าพรรคลิเบอรัล เดโมแครต ที่เคยเป็นพรรคการเมืองระดับชาติอันดับสามของประเทศและเคยร่วมจัดตั้งรัฐบาลผสมกับนายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน ดังนั้นอาจจะเป็นพรรคที่ขึ้นมาชี้ขาดว่าใครจะได้ตั้งรัฐบาลถ้าหากว่าพรรคใหญ่สองพรรคคือพรรคคอนเซอร์เวทีฟ หรือพรรคเลเบอร์ไม่ได้จำนวนสมาชิกสภาข้างมากจากจำนวน 650 เขตเลือกตั้งทั่วประเทศเข้าสภา (Hung Parliament) ในการเลือกตั้งทั่วไปวันพฤหัสนี้

พรรคลิเบอรัล เดโมแครต

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ทิม ฟาร์รอน หัวหน้าพรรค พรรคลิเบอรัล เดโมแครต

อีกไม่ถึง 48 ชั่วโมง ก่อนเปิดคูหาเลือกตั้ง กับผลการเลือกตั้งที่สูสี บีบีซีไทย รวบรวม 6 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการเลือกตั้งในสหราชอาณาจักร ที่จะส่งกระทบต่อภายนอกยุโรปรวมทั้งประเทศไทย

1.พรรคเลเบอร์ชูนโยบายยกเลิกการเก็บค่าเล่าเรียนระดับอุดมศึกษา โดยสัญญาว่าจะมีผลทันทีในปีการศึกษานี้ที่เริ่มเดือนกันยายน ดังนั้น ถ้าพรรคเลเบอร์ได้จัดตั้งรัฐบาล จะทำให้บรรดาผู้บริหารมหาวิทยาลัยหลายแห่งต้องเปลี่ยนนโยบายการรับนักศึกษากันใหม่ โดยนักศึกษาที่มีสัญชาติบริติชจะได้เรียนฟรีทั้งหมด ซึ่งอาจส่งผลทำให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเรียกเก็บค่าเล่าเรียนจากนักศึกษาต่างชาติสูงขึ้น

2.สืบเนื่องจากเหตุการณ์ก่อการร้ายสามครั้งติดต่อกันมาตั้งแต่มีนาคมปีนี้ นายกรัฐมนตรี เมย์ ประกาศว่าจะมีการทบทวนนโยบายรักษาความปลอดภัยเพื่อเฝ้าระวังการก่อการร้าย ซึ่งอาจจะมีมาตรการตรวจเข้มคนเข้าเมือง หรือการคัดกรองผู้ที่ยื่นขอวีซ่าเข้าสหราชอาณาจักร หากพรรคคอนเซอร์เวทีฟได้ตั้งรัฐบาลการยื่นขอวีซ่า เพื่อมาศึกษาหรือมาท่องเที่ยวในสหราชอาณาจักรอาจจะเพิ่มความเข้มงวดขึ้น

นิโคลา สเตอร์เจียน

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, นิโคลา สเตอร์เจียน หัวหน้าพรรคสก็อตทิชเนชันแนล

3.ถ้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟได้เป็นรัฐบาลต่อ จะเจรจาถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปแบบ "สุดซอย" (Hard Brexit) จะส่งผลกระทบทางด้านการค้าการลงทุนกับประเทศนอกกลุ่มสหภาพยุโรป แต่จะมีผลกระทบมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรองแบบทวิภาคี ส่วนการค้าขายและการลงทุนระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักรจะเปลี่ยนไปเพราะไม่ต้องถูกครอบด้วยระเบียบเงื่อนไขภายใต้สหภาพยุโรปอีกต่อไป ระดับการเรียกเก็บภาษีนำเข้าระหว่างสองประเทศจะเปลี่ยนไปขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรอง และอาจจะมีการปรับเปลี่ยนมาตรฐานคุณภาพสินค้าที่ส่งเข้าสหราชอาณาจักร ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับมาตรฐานสหภาพยุโรปอีกต่อไป แต่ขึ้นอยู่กับการต่อรองระดับทวิภาคี

4.พรรคเลเบอร์มีนโยบายที่จะเน้นย้ำในเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นหัวใจของนโยบายต่างประเทศ ดังนั้นหากพรรคเลเบอร์ได้ตั้งรัฐบาล ก็คงจะกดดันหรือลงโทษประเทศที่มีประเด็นเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในบางประเทศ

เมย์

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคคอนเซอร์เวทีฟเน้นหนักเรื่องความเข้มงวดจำนวนคนเข้าเมือง

5.ในการรณรงค์เพื่อลงประชามติเพื่ออยู่หรือถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปเมื่อปีที่แล้ว ประเด็นคนเข้าเมือง เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ฝ่ายต้องการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปชนะการลงประชามติ ดังนั้น ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคคอนเซอร์เวทีฟจึงเน้นหนักเรื่องความเข้มงวดจำนวนคนเข้าเมืองมาหางานทำหรืออาศัยในสหราชอาณาจักร รวมทั้งผู้ที่ติดตามคู่สมรสเข้ามาอยู่อาศัย อย่างเช่นมาตรการกำหนดรายได้ขั้นต่ำของผู้ที่จะนำคู่สมรสชาวต่างชาติเข้าประเทศ

6.พรรคเลเบอร์มีนโยบายเพิ่มสวัสดิการให้แก่ผู้มีรายได้น้อย แต่จะปรับเรียกเก็บภาษีเพิ่มจากผู้มีรายได้สูงและมาตรการหนึ่งคือการปรับเพิ่มการเรียกเก็บภาษีรายได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นเป็น 26% จาก 20% ในปัจจุบัน ซึ่งจะมีผลต่อนักธุรกิจและนักลงทุนต่างชาติที่มาประกอบกิจการในสหราชอาณาจักร ซึ่งคงหมายรวมไปถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ภัตตาคาร และ บรรดาสโมสรฟุตบอลต่าง ๆ ที่มีนักลงทุนจากประเทศไทยเข้ามาเป็นผู้ประกอบการอยู่หลายราย