เสกสรรค์ ผ่าแผนสถาปนา “รัฐชนชั้นนำ”

คำบรรยายวิดีโอ, เสกสรรค์ ผ่าแผนสถาปนา “รัฐชนชั้นนำ”

ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 และนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และประชารัฐของรัฐบาล คสช. "เสกสรรค์ ประเสริฐกุล" ชี้ว่านี่คือ "มาสเตอร์แพลน" ในการช่วงชิงมวลชน เพื่อนำไปสู่การสถาปนา "รัฐชนชั้นนำ" โดยที่ปัญญาชนยุคเฟซบุ๊กเป็นได้แค่ "เจ้าสำนักผู้ขาดสำนึก"

ไม่บ่อยครั้งที่ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตผู้นำนักศึกษาเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 จะออกมาวิพากษ์การเมืองไทย ในการกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "การเมืองไทยกับสังคม 4.0" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาเริ่มต้นด้วยการเล่าว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมา เขา "ใช้วัยชราอยู่ในความเงียบสงัด" ก่อนออกมาสนทนา-วิเคราะห์เชิงวิชาการในวันนี้

โดยเลือกตีความการเมืองในระดับกว้างสุด เป็นการเมืองที่กินความรวมทั้งนักการเมืองในระบบ-นอกระบบ พวกที่แสวงหาชัยชนะในการเลือกตั้ง-พวกแสวงหาอำนาจผ่านการแต่งตั้ง ท่ามกลางวาทกรรม "คนไม่ดี-คนดี" ที่ทำให้สังคมเข้าใจไขว้เขวในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น นับจากการลุกฮือของมวลชนเพื่อต่อต้านรัฐบาลเลือกตั้ง นำไปสู่รัฐประหาร 2557 และตามมาด้วยผลิตผลสำคัญคือ "รัฐธรรมนูญฉบับต้านโกง"

ต่อไปนี้คือ "8 วรรคทอง" จาก ดร.เสกสรรค์

1. ชูธงความดี

"มีคนเชื่อว่าตัวเองกำลังทำความดี ด้วยการเอาคนไม่ดีลงมาจากเวทีอำนาจ จากนั้นก็เขียนกติกาการเมืองขึ้นมาใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้คนไม่ดีกลับมามีอำนาจอีก หรือถ้าขึ้นมาได้ก็ต้องถูกฝ่ายคนดีควบคุมอย่างเข้มข้น"

- ปรากฏการณ์ "ชูธงความดี" สะท้อนว่าคู่ขัดแย้งคือ "ชนชั้นนำเก่าจากภาครัฐ" ที่คุมกลไกรัฐราชการ กับ "ชนชั้นนำใหม่ที่โตจากภาคเอกชน" แล้วขึ้นสู่อำนาจด้วยการเลือกตั้ง นี่คือความขัดแย้งเชิงโครงสร้างไม่ใช่ตัวบุคคล

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

2. ชนชั้นนำกุมอำนาจยาว

"ผู้ร่าง (รัฐธรรมนูญ) มีวัตถุประสงค์จะตรึงโครงสร้างอำนาจดังกล่าวไว้ให้นานแสนนาน ดังนั้น เมื่อบวกรวมกับช่วงที่รัฐบาลทหารปกครองโดยตรงแล้ว เราอาจกล่าวได้ว่าการกุมอำนาจของชนชั้นนำภาครัฐคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 9-10 ปี"

- รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 สะท้อนเจตนารมณ์ของชนชนนำที่ต้องการทวงคืน-รักษาพื้นที่บนเวทีอำนาจอย่างถาวร ไม่ให้นักการเมืองกลับมาได้อีก โดยจงใจเปลี่ยนระบบเลือกตั้งเพื่อให้ได้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ, กำหนดให้ข้าราชการระดับสูงเป็นกรรมการสรรหาองค์กรอิสระ, กำหนดให้ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ร่วมรับรองชื่อนายกฯ, กำหนดให้มีแผนปฏิรูปประเทศและแผนยุทธศาสตร์ชาติ ทำให้รัฐบาลเลือกตั้งกลายเป็น "ผู้สืบทอดนโยบาย คสช." และยังแก้ไขแทบไม่ได้

3. รัฐธรรมนูญระเบิดเวลา

"การที่รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 สอบผ่านประชามติ ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีคนจำนวนมหาศาลแอบคิดต่างอยู่เงียบๆ... การผลักดันฐานะครอบงำของฝ่ายอนุรักษ์มากเกินจริง จึงเท่ากับซ่อนแรงเสียดทาน หรือกระทั่งระเบิดเวลาเอาไว้ตั้งแต่ต้น"

- แม้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ผ่านการออกเสียงประชามติ 7 ส.ค. 2559 ด้วยคะแนน 16.8 ล้านเสียง แต่มีผู้ไม่เห็นชอบ 10.5 ล้านเสียง ซึ่งไม่ใช่ "คนเพียงหยิบมือเดียว" ที่จะมองข้ามได้ หรือถ้าถอยหลังกลับไปในช่วงต้นปี 2557 มีประชาชนราว 20 ล้านคนไปใช้สิทธิเลือกตั้งแม้ถูกขัดขวาง เพราะคิดว่าเป็นทางออกจากวิกฤตที่ดีกว่ารัฐประหาร

รณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

ที่มาของภาพ, Getty Images

4. มาสเตอร์แพลนชิงมวลชน

"โดยภายนอกแล้วนโยบายทั้ง 2 อย่าง (ไทยแลนด์ 4.0 และประชารัฐ) ดูเป็นเรื่องเศรษฐกิจ แต่ผมคิดว่านี่เป็น "มาสเตอร์แพลน" (Master Plan) ในการช่วงชิงมวลชน และสร้างความชอบธรรมใหม่ของชนชั้นนำภาครัฐที่แยบยลมาก มันเป็นส่วนสำคัญของยุทธการยึดพื้นที่ทางการเมืองเพื่อสถาปนาอำนาจนำ ซึ่งเป็นการวางแผนที่เป็นระบบ และบูรณาการการโจมตีจากทุกมิติเข้าด้วยกัน"

- นโยบายไทยแลนด์ 4.0 มุ่งพาประเทศไทยพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง แต่การต้องยึดโยงอยู่กับระบบทุนโลกาภิวัตน์ภายใต้แนวทางเสรีนิยมใหม่ ก็ทำให้ช่องว่างระหว่างรายได้ยิ่งขยายวงกว้าง สวนทางแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

5. ประชารัฐตัดตอนนักการเมือง ?

"นโยบายประชารัฐมีนัยทางการเมืองสูงมาก เพราะเป็นการจับมือกันระหว่างภาครัฐกับภาคประชาสังคมและภาคธุรกิจเอกชน เคลื่อนไหวลงสู่มวลชนระดับฐานรากซึ่งทับซ้อนกับฐานเสียงของนักการเมือง ถ้าเรื่องนี้ทำสำเร็จก็อาจจะส่งผลให้การเมืองภาคตัวแทนกลายเป็น "โมฆะ" ได้... สิ่งที่เราไม่รู้คือนโยบายนี้มุ่งลอยแพตัดตอนนักการเมืองมาตั้งแต่แรก ด้วยการทำให้พวกเขาเป็น "คนนอกกระบวนการพัฒนาประเทศ" หรือเป็นแค่ผลพลอยได้ของสูตรแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่ที่แน่ๆ คือในทางนโยบายแล้ว มันถูกออกแบบมาหักล้างตอบโต้นโยบายประชานิยมโดยตรง"

- กลไกประชารัฐคือความพยายามจะแปร "ความขัดแย้งทางชนชั้น" ให้เป็น "ความร่วมมือทางชนชั้น" ที่น่าสนใจคือรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้กำหนดให้ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบใด ต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ยืนยันว่าไทยต้องยึดระบบเศรษฐกิจเสรีและอาศัยกลไกตลาดเท่านั้น นั่นอาจทำให้รัฐสามารถเข้าไปไกล่เกลี่ยผลประโยชน์ระหว่างทุนใหญ่-รายย่อยได้ง่ายขึ้น

6. เกิดระบ"เกี้ยซิยาธิปไตย"

"การเมืองในยุคไทยแลนด์ 4.0 มีแนวโน้มที่จะไปได้ทั้ง 2 ทาง คือ ทางแรกนักการเมืองเล่นบท "หางเครื่อง" คอยผัดหน้าทาแป้งให้กับชนชั้นนำภาครัฐที่จะกุมอำนาจต่อในฐานะรัฐบาลประชาธิปไตย กลายเป็นการเมืองแบบที่ท่านอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรียกว่าระบอบ "เกี้ยเซี้ย" หรือ "เกี้ยซิยาธิปไตย" ทางที่สอง พรรคการเมืองส่วนใหญ่ผนึกกำลังกันทำหน้าที่ฝ่ายค้านที่สร้างสรรค์ โดยมีข้อเสนอแนะหรือข้อโต้แย้งเชิงนโยบายที่แตกต่างจากแนวคิดของฝ่ายอนุรักษ์นิยม"

- ข้อเสนอของ ดร.เสกสรรค์ คือ ทางรอดเดียวของพรรคการเมืองคือต้องร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่น และตอบให้ได้ว่ายุทธศาสตร์การพัฒนาและการปฏิรูปตามครรลองประชาธิปไตยดีกว่าและเหนือกว่าอย่างไร

ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตผู้นำนักศึกษาเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, ดร.เสกสรรค์ ชี้ว่า พรรคการเมืองและนักการเมืองรุ่นเก่าจำนวนหนึ่ง เติบโตมาจากช่วงประชาธิปไตยครึ่งใบภายใต้ รธน.2521 จึงคุ้นเคยกับการร่วมมือกับชนชั้นนำภาครัฐ ตั้งรัฐบาลนายกฯ คนนอก

7. ชิงสถาปนารัฐชนชั้นนำ

"คำถาม 4 ข้อเรื่องธรรมาภิบาล... แท้จริงแล้วคือการเปิดฉากรุกทางการเมืองต่อบรรดานักการเมืองอีกระลอกหนึ่ง โดยผู้กุมอำนาจปัจจุบันช่วงชิงเป็นฝ่ายกระทำก่อนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้น แต่อย่าเข้าใจผิด ทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นแค่ความเคลื่อนไหวในระดับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่หลายท่านอาจมองว่าต้องการสืบทอดอำนาจ หากเป็นการต่อสู้ในระดับชิงระบอบของ "State Elites" (รัฐชนชั้นนำ) ที่ต้องการสถาปนาความชอบธรรมของตน และลดทอนความชอบธรรมของคู่แข่ง"

- คำถาม 4 ข้อของนายกฯ สะท้อนว่าชนชั้นนำเก่ามียุทธศาสตร์ในการต่อสู้มากกว่านักการเมืองที่มุ่งเอาชนะแบบแคบ คือในระดับบุคคลหรือพรรคเท่านั้น

8. เจ้าสำนัก ขาดสำนึก

"ในหมู่ปัญญาชนที่ถือตนว่าหัวก้าวหน้า หรือปัญญาชนประชาธิปไตย แนวคิดเรื่องปัจเจกชนนิยมสุดขั้วยังเข้ามาครอบงำอย่างหนาแน่น ระบบเฟซบุ๊กก่อให้เกิดสภาพ "1 คน 1 สำนัก" และเมื่อเกิดหลายสำนักสิ่งที่หายไปคือสำนึก โดยเฉพาะสำนึกเรื่ององค์รวม หลายท่านให้ความสำคัญกับเสรีภาพส่วนตัวในการแสดงความคิดเห็น มากกว่าการผนึกกำลังกันเป็นกลุ่มก้อนขบวนการ"

- ในฐานะอดีตผู้นำนักศึกษาเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 ชี้ว่า ปัญญาชนในปัจจุบันไม่พยายามเข้าไปเกี่ยวร้อยกับความทุกข์ร้อนของประชาชน ศักยภาพทางการเมืองของพวกเขาจึงเป็น "ศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในโลกเสมือนจริง แต่ยังไม่ใช่พลังในโลกแห่งความเป็นจริง" ต่างจากปัญญาชนรุ่นเก่าที่พากันเข้าหาประชาชนคนไม่เป็นอันอยู่ในห้องเรียน