ย้อนคดีหมิ่นฯโทษหนัก และบทบาทผู้พิทักษ์สถาบันฯ ของ "กฤตย์ เยี่ยมเมธากร"

  • โจนาธาน เฮด
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซี
คำบรรยายวิดีโอ, ย้อนคดีหมิ่นฯโทษหนัก ผลักยูเอ็นเรียกร้องไทยแก้ กม.

เมื่อช่วงต้นเดือน มิ.ย. 2560 สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลและหนักใจ ต่อการดำเนินคดีผู้กระทำความผิดหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น และมักมีการพิพากษาลงโทษคนเหล่านี้อย่างรุนแรงเกินกว่าเหตุ อีกทั้ง สหประชาชาติยังเรียกร้องอีกครั้งให้ทางการไทยแก้ไขกฎหมายดังกล่าว โดยให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง (ICCPR)

สหประชาชาติระบุว่า นับแต่การทำรัฐประหารเมื่อสามปีก่อน จำนวนผู้ที่ถูกสอบสวนดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นสถาบันกษัตริย์เพิ่มสูงขึ้นถึงสองเท่า เมื่อเทียบกับตัวเลขสถิติตลอด 12 ปีก่อนหน้านั้นรวมกัน โดยมีผู้ต้องหาเพียง 4% เท่านั้นที่ได้รับการตัดสินให้พ้นผิด

การพิจารณาคดีหมิ่นสถาบันฯทำกันอย่างปิดลับในศาลทหาร ซึ่งทำให้ฝ่ายจำเลยถูกจำกัดสิทธิในด้านต่าง ๆ โดยเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ศาลทหารมีคำตัดสินให้จำคุกนายวิชัย เทพวงศ์ เป็นเวลาถึง 35 ปี ในข้อหาโพสต์ข้อความหมิ่นสถาบันฯทางเฟซบุ๊ก ซึ่งถือว่าเป็นโทษสูงสุดเท่าที่เคยมีมาในคดีลักษณะนี้

ก่อนหน้านี้ เมื่อ 7 ส.ค. 2558 ศาลทหารตัดสินคดีหมิ่นสถาบันฯด้วยโทษจำคุกหนักที่สุดในขณะนั้น ถึง 2 คดีซ้อน

ในช่วงเช้า ศาลทหารกรุงเทพได้ตัดสินจำคุก นายพงษ์ศักดิ์ ศรีบุญเพ็ง อายุ 48 ปี เป็นเวลา 60 ปี สำหรับข้อความทางเฟซบุ๊ก 6 ข้อความที่เขาดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ลดโทษลงเหลือ 30 ปี หลังรับสารภาพ

ในช่วงบ่าย ศาลมณฑลทหารบกที่ 33 เชียงใหม่ ได้ตัดสินจำคุก "ศศิพิมล" หญิงชาวจังหวัดเชียงใหม่วัย 29 ปี ซึ่งเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวของลูกสาวสองคน และไม่เคยมีประวัติเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก่อน เป็นเวลา 56 ปี ด้วยความผิดฐานโพสต์ข้อความหมิ่นสถาบันฯทางเฟซบุ๊กเช่นกัน แต่ลดให้เหลือ 28 ปี หลังเธอ "รับสารภาพ" แต่ไม่รับฟังคำร้องขอความเมตตาในเรื่องที่เธอยังมีลูกตัวเล็ก ๆ สองคนที่ต้องเลี้ยงดู และมีแม่อีกคนที่ป่วยกระเสาะกระแสะอยู่ที่บ้าน

กรณีของศศิพิมลนั้น เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการที่รัฐบาลทหารบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างเหวี่ยงแหครอบคลุมไปทุกด้าน โดยรัฐบาลทหาร ถือว่า การพิทักษ์รักษาสถานะอันสูงส่งของสถาบันกษัตริย์ไทย เป็นภารกิจสำคัญอันดับแรกของพวกเขา

พสกนิกรไทยถือพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงร.9

ที่มาของภาพ, EPA

การแก้แค้นที่กลายเป็นความผิดมหันต์

ผู้สื่อข่าวของบีบีซีได้ไปเยี่ยมศศิพิมลที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่พร้อมกับลูกสาวทั้งสองและแม่ของเธอ พวกเขาไม่ได้มาเยี่ยมเธอบ่อยนัก แม้ทางเรือนจำจะไม่ได้เข้มงวดเรื่องการพบญาติจนเกินไป แต่ลูกสาวสองคนของเธอต้องไปโรงเรียน ส่วนแม่ของเธอคือนางสุชิน กองบุญ นั้นแทบจะไม่สามารถลาหยุดงานในหน้าที่พนักงานทำความสะอาดของโรงแรมแห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่มาได้เลย อย่างดีที่สุดครอบครัวของศศิพิมลจะมาเยี่ยมเธอได้ในราวทุกหนึ่งหรือสองสัปดาห์เท่านั้น

การยื่นเรื่องขอเข้าพบศศิพิมลในเรือนจำกินเวลาถึงสองชั่วโมง แต่ได้รับอนุญาตให้พูดคุยกับเธอได้เพียงชั่วโมงเดียว ซึ่งตลอดเวลานั้นเธอกอดลูกสาวทั้งสองไว้โดยไม่ยอมห่าง

นางสุชิน กองบุญ
คำบรรยายภาพ, แม่ของศศิพิมลต้องดูแลหลานสาวสองคน ขณะศศิวิมลอยู่ในคุก

ศศิพิมลอธิบายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้สื่อข่าวบีบีซีว่า สามีเก่าของเธอเป็นช่างยนต์ แต่ต่อมาเขาทิ้งเธอไปมีหญิงคนใหม่ เพื่อนที่เธอรู้จักสมัยที่เคยทำงานในร้านอาหารแนะให้เธอแก้เผ็ดหญิงคนนั้น ด้วยการใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัวของศศิพิมลที่บ้าน สร้างบัญชีเฟซบุ๊กปลอมที่ใช้ชื่อบัญชีเป็นชื่อของหญิงคนดังกล่าว และเพื่อนได้โพสต์ความเห็นทิ้งไว้

ในตอนแรก เธอไม่ได้ดูว่าความเห็นนั้นเป็นข้อความอะไร มาทราบว่าเป็นข้อความหมิ่นสถาบันฯก็ต่อเมื่อเจ้าหน้าที่นำภาพบันทึกหน้าจอมาให้ดู ต่อมา เพื่อนคนดังกล่าวก็ได้หายตัวไป

ผู้พิทักษ์สถาบันกษัตริย์

ในเวลาเดียวกัน นายกฤตย์ เยี่ยมเมธากร ผู้นำกลุ่มเฟซบุ๊กเชียงใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มอาสาสมัครจับตาเฝ้าระวังข้อความหมิ่นสถาบันเบื้องสูงในสื่อสังคมออนไลน์ ได้พบข้อความของเพื่อนศศิพิมลในเฟซบุ๊กดังกล่าว

"ผมโกรธมาก นี่ไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นปฏิกิริยาตอบสนองตามธรรมชาติ ทางกลุ่มของเราได้หารือกัน และตัดสินใจเข้าแจ้งความเอาผิด" ผู้นำกลุ่มเฟซบุ๊กเชียงใหม่กล่าวว่าเขาเทิดทูนสถาบันกษัตริย์อย่างลึกซึ้ง โดยสะอื้นไห้ออกมาเมื่อกล่าวถึงการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเมื่อปีที่แล้ว

"เราเป็นประเทศเดียวในโลกที่ยังถือว่ากษัตริย์เหมือนเทพ เหมือนเทวดา แต่พระเจ้าอยู่หัวของเราพระองค์นี้ท่านไม่ใช่เทพ ท่านเป็นเทวดาที่มีชีวิตนะครับ...มีชีวิต คนไทยเรารู้สึกกันอย่างนี้ ผมคิดเอาของผมเองว่า ตลอดห้าพันปีของประวัติศาสตร์โลกนี้ ไม่มีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดที่ยิ่งใหญ่เท่ากับพระองค์ท่านแล้ว" นายกฤตย์กล่าว

กลุ่มเฟซบุ๊กเชียงใหม่เข้าแจ้งความกับตำรวจ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2557 ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่ได้สาวไปถึงข้อมูลที่เชื่อมโยงกับคอมพิวเตอร์ของศศิพิมล ตำรวจได้ไปที่บ้านของเธอในอีกไม่กี่วันต่อมา โดยยึดเอาคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือสองเครื่องไปตรวจสอบ จากนั้นเธอตามเจ้าหน้าที่ไปรับการสอบปากคำยังสถานีตำรวจ โดยต้องหอบหิ้วเอาลูกสาวที่กำลังมีไข้สูงไปด้วย

ตำรวจให้เธอดูภาพบันทึกหน้าจอที่มีข้อความหมิ่นสถาบันฯอยู่ และให้ลงชื่อในเอกสารเพื่อยืนยันว่าตัวเธอได้เห็นข้อความนั้นแล้ว แต่ศศิวิมลไม่รู้เลยว่า ที่จริงเธอได้ลงชื่อในเอกสารประกอบคำรับสารภาพไปแล้ว แม่ของศศิพิมลบอกว่า ทั้งตัวเธอและลูกสาวไม่มีความรู้อะไรเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนี้มาก่อนเลย

ศศิพิมลบอกว่า เธอมีหลักฐานยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความหมิ่นสถาบันฯนี้ เนื่องจากในเวลาที่มีการโพสต์ข้อความดังกล่าว เธอยังคงทำงานอยู่ที่โรงแรม และไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ในขณะนั้น

ศาลทหารภายใต้กฎอัยการศึกไม่สามารถอุทธรณ์ได้

สี่เดือนต่อมา เจ้าหน้าที่ได้เรียกให้ศศิพิมลไปรายงานตัวที่สถานีตำรวจ เธอไม่ได้กลับบ้านอีกเลยเพราะถูกควบคุมตัวไว้มาตลอดนับแต่นั้น

" แม่นึกว่าลูกแค่ไปรายงานตัวแล้วก็กลับได้ ไม่รู้ว่ามันจะร้ายแรงอะไรถึงขนาดนี้ เคยคิดว่าอาจจะติดคุกแค่ปีเดียวหรือรอลงอาญาเท่านั้น เราไม่ได้ค้ายา ไม่ได้ไปฆ่าใครหรือขโมยอะไร" แม่ของศศิพิมลกล่าวพร้อมเสียงสะอื้น "มารู้เรื่องกฎหมายนี้เอาตอนที่ไม่ทันอะไรแล้ว เราไม่ได้ทำใจอะไรซักอย่าง ลูกก็จะไปละ"

ศศิวิมลไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว ซึ่งเป็นเรื่องปกติของผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบันกษัตริย์ และเมื่อถึงวันขึ้นรับการพิจารณาคดีในศาลทหารในอีก 5 เดือนต่อมา ( 7 สิงหาคม 2558 ) เธอได้รับคำแนะนำจากทนายความให้ยอมรับผิดต่อศาล เพื่อให้ได้รับการลดโทษกึ่งหนึ่ง เพราะแทบไม่มีหวังที่ศาลจะตัดสินให้เธอพ้นผิดไปได้เลย

ศาลทหารแจ้งข้อกล่าวหาแก่ศศิพิมลและพิจารณาคดีเป็นการลับ เพราะไม่ต้องการให้สาธารณชนรับรู้ถึงเนื้อหาข้อความที่มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพซึ่งมีความอ่อนไหวสูง การที่เธอยอมรับสารภาพ ทำให้หลักฐานสู้คดีทั้งหมดไม่ได้รับการตรวจสอบและศาลไม่ได้นำมาพิจารณาด้วย

"พอตัดสินนี่แม่หูอื้อไปหมด เขาว่าหมิ่นเบื้องสูงโทษก็อัตราสูง แต่แม่ก็ไม่รู้ว่าจะสูงเท่าไหร่ คิดว่าอย่างมากก็ 4-5 ปี แต่แม่ไม่เคยคิดสักนิดว่าจะไปถึงขนาดนี้ เป็น 20 กว่าปีขึ้นไป" แม่ของศศิพิมลกล่าว

การพิจารณาคดีในศาลทหารภายใต้กฎอัยการศึกนั้น คำพิพากษาในครั้งแรกถือเป็นที่สุด โดยจำเลยจะไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ ซึ่งนั่นหมายถึงการรอคอยที่ยาวนานของแม่และลูกสาวทั้งสองของศศิพิมลก่อนที่เธอจะได้รับอิสรภาพ

ในปฏิทินเก่า ๆ ที่แขวนไว้ในบ้าน มีรอยขีดวงกลมสีแดงตรงวันที่ 7 สิงหาคม และวันที่ 28 สิงหาคม 2558 ซึ่งแม่ของศศิพิมลอธิบายว่า วันที่ 7 สิงหาคม คือวันพิจารณาคดีของลูกสาว ส่วนวันที่ 28 สิงหาคมนั้น หลานสาวคนเล็กขีดวงไว้ เพราะเข้าใจผิดตามประสาเด็กว่าแม่จะกลับมาบ้านเร็ว ๆ นี้ในวันที่ 28 สิงหาคม ไม่ใช่อีก 28 ปีต่อมา

"ไม่มีใครในครอบครัวนี้เคยใส่ร้ายดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์เลย ไม่มีจริง ๆ" แม่ของศศิพิมลกล่าว

ความหวังอยู่ที่การขอพระราชทานอภัยโทษ

เมื่อเข้าแจ้งความกับตำรวจในตอนแรก ผู้นำกลุ่มเฟซบุ๊กเชียงใหม่ยังไม่รู้ว่าใครคือผู้กระทำผิด ทำให้ชวนสงสัยว่าหากย้อนเวลาไปได้ เขายังจะเข้าแจ้งความเอาผิดหญิงสาวที่มีลูกเล็ก ๆ สองคน ให้ต้องรับโทษหนักหนาสาหัสเช่นนี้อยู่อีกหรือไม่

"ผมไม่เสียใจกับเรื่องนี้ และไม่มีใครคนอื่นเสียใจด้วย นี่เป็นเรื่องที่กระทบต่อสถาบันสูงสุดที่คนไทยเทิดทูนบูชาไว้สูงสุด จะว่าไปก็เหมือนกับการที่ผู้พิพากษาต้องตัดสินคดีโดยไม่นำอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวเข้ามาด้วย" นายกฤตย์กล่าว

นายกฤตย์ เยี่ยมเมธากร ผู้นำกลุ่มเฟซบุ๊กเชียงใหม่
คำบรรยายภาพ, นายกฤตย์บอกว่าเขาไม่เสียใจกับเรื่องนี้ แต่ก็หวังว่าศศิพิมลจะได้รับการพระราชทานอภัยโทษ

"แม้ผู้กระทำผิดจะยังอายุน้อย เป็นคนที่ไม่รู้เรื่อง ไม่รู้กฎหมาย มีลูกเล็ก ๆ อยู่สองคน แต่ความถูกต้องนี่...ถึงแม้เราไม่แจ้ง กฎหมายบ้านเมืองก็ต้องดำเนินการ แล้วสุดท้ายคนที่ทำผิดจริง ๆ ก็ต้องได้รับโทษอยู่ดี"

ผู้นำกลุ่มเฟซบุ๊กเชียงใหม่ไม่ได้ไต่ถามถึงความเป็นอยู่ของศศิพิมลในเรือนจำ แต่เขาหวังว่าเธอจะได้รับการพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งขณะนี้ศศิพิมลก็ได้รับการลดหย่อนโทษจำคุกลงเหลือเพียง 12 ปีแล้ว หลังจากได้รับพระราชทานอภัยโทษติดต่อกันมาสองครั้ง เธอยังคงหวังว่าจะได้รับพระราชทานอภัยโทษอีกในโอกาสต่อไป แม้จะรู้สึกอับอายอยู่บ้างที่ต้องขอความเมตตาจากสถาบันกษัตริย์ที่ตนเองถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดดูหมิ่นมาตั้งแต่ต้นก็ตาม