บทเรียนจากลอนดอน: สถาปนิกห่วงอาคารสูงไทยใช้ฉนวนกันความร้อนติดไฟง่าย

  • วัชชิรานนท์ ทองเทพ & ธันยพร บัวทอง
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
ภาพไฟไหม้อาคารแกรนเฟลล์ทาวเวอร์ ในกรุงลอนดอนของอังกฤษที่เกิดขึ้นเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ภาพไฟไหม้อาคารแกรนเฟลล์ทาวเวอร์ ในกรุงลอนดอนของอังกฤษที่เกิดขึ้นเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

สมาคมสถาปนิกสยามฯ เตรียมเสนอกระทรวงมหาดไทย ยกร่างกฎกระทรวงตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร เพื่อเพิ่มความปลอดภัย โดยเฉพาะให้กำหนดเรื่องการใช้ฉนวนกันความร้อนที่ติดไฟง่ายในระดับความสูงที่จำกัดเท่านั้น

เหตุไฟไหม้อาคารเกรนเฟลล์ ทาวเวอร์ ในกรุงลอนดอนของอังกฤษที่เกิดขึ้นเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่เพียงจุดประกายให้ชาวสหราชอาณาจักรตั้งคำถามเกี่ยวกับมาตรฐานการก่อสร้างอาคารสูงและการใช้วัสดุอุปกรณ์ในการตกแต่งอาคาร แต่ยังปลุกความคิดให้กับวงการก่อสร้างในไทยด้วย

โดยเฉพาะประเด็นการติดตั้งแผ่นตกแต่งผนังอาคารด้านนอกที่อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไฟลุกลามอย่างรวดเร็ว รายงานของบีบีซีนิวส์ไนท์ระบุว่าแผ่นตกแต่งผนังอาคารเกรนเฟลล์ ทาวเวอร์ ใช้วัสดุโลหะเคลือบชั้นนอก ชั้นในทำจากโฟมและไส้ตรงกลางทำจากโพลีเอทิลีน (พีอี) (Polyethylene) หรือพลาสติก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายคนระบุว่าหากไส้ตรงกลางของแผ่นตกแต่งผนังทำจากสินแร่จะติดไฟได้ยากกว่า

ภาพก่อสร้างอาคาร

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

บีบีซีไทยตั้งคำถามเรื่องนี้กับ พ.ต.ท. ดร.บัณฑิต ประดับสุข กรรมการบริหารสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยอาคาร ซึ่งยอมรับว่าสมาคมฯ มีความตระหนักในเรื่องนี้ และเห็นว่าขณะนี้เป็นจังหวะเหมาะสมที่จะเสนอแนะให้มีการยกร่างกฎกระทรวงตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารเพิ่มเติมเพื่อบังคับให้ผู้ออกแบบอาคารสูง ที่ต้องการใช้พีอีเป็นฉนวนกันความร้อน สามารถใช้ได้ในระดับความสูงจำกัด

"ในเบื้องต้นคิดว่าน่าจะไม่ให้ใช้เกินชั้นที่ 5 ของอาคาร หากเป็นชั้นที่สูงขึ้นไปกว่านั้น ก็ควรพิจารณาใช้ฉนวนกันความร้อนแบบไม่ติดไฟ " พ.ต.ท. ดร.บัณฑิตกล่าว

พ.ต.ท. ดร.บัณฑิต ประดับสุข กรรมการบริหารสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยอาคาร

ที่มาของภาพ, สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์

คำบรรยายภาพ, พ.ต.ท. ดร.บัณฑิต ประดับสุข กรรมการบริหารสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยอาคาร

ในสัปดาห์หน้าสมาคมฯ จะแถลงรายละเอียดเรื่องนี้เพิ่มเติม และจะทำหนังสือไปยังกระทรวงมหาดไทยในลำดับถัดไป

อาคารส่วนใหญ่ยังใช้ฉนวนกันความร้อนแบบติดไฟง่าย

พ.ต.ท. ดร.บัณฑิต อธิบายเพิ่มเติมว่า วัสดุที่ใช้ในการตกแต่งด้านนอกอาคาร หรือเปลือกอาคาร คือแผ่นอะลูมิเนียมคอมโพสิต (Aluminium Composite Panel) หรือ เอซีพี ซึ่งจะประกอบด้วยอลูมิเนียมสองแผ่นประกบกัน มีฉนวนกันความร้อนเป็นไส้กลาง ซึ่งเป็นตัวยึดติดระหว่างแผ่นอลูมิเนียมด้านบนและล่าง โดยส่วนของไส้กลางนั้นโดยปกติ จะทำมาจากวัสดุฉนวน 2 ชนิด คือ โพลีเอทิลีน หรือ"พีอี" อีกชิดหนึ่งคือสารเคมีหน่วงไฟ (Fire Retardant) หรือ เอฟอาร์

อาคาร เดอะทอร์ช ในดูไบ

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ลักษณะการเกิดเพลิงไหม้อาคาร "เดอะทอร์ช" ในดูไบ เมื่อ 2 ปีก่อน มีลักษณะคล้ายกับที่เคยเกิดที่อาคารไซเบอร์เวิลด์ ทาวเวอร์ในไทย โดยที่ ไฟก็ลุกลามจากแผ่นตกแต่งผนังอาคารด้านนอก

"พีอีจะมีราคาถูกกว่าฉนวนแบบเอฟอาร์ ดังนั้นจึงเป็นที่นิยมใช้ในการก่อสร้างอาคารอย่างมาก แต่หากเทียบกับวัสดุฉนวนแบบเอฟอาร์แล้วจะพบว่า ฉนวนแบบพีอีจะติดไฟง่ายกว่า" " พ.ต.ท. ดร.บัณฑิตกล่าว

พ.ต.ท.ดร.บัณฑิต ยกอย่างกรณีเหตุไฟไหม้อาคารไซเบอร์เวิลด์ ทาวเวอร์ ย่านถนนรัชดาภิเษก ซึ่งครั้งนั้นส่วนที่ถูกเผาไหม้ก็คือผิวนอกอาคารเท่านั้น อีกกรณีคือเหตุไฟไหม้ปล่องลิฟท์ สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสพระโขนง

กทม. ห่วงตึกเก่าที่สร้างก่อนปี 2535

ด้าน พ.ต.ท.สมเกียรติ นนทแก้ว รอง ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร ผู้บริหาร กทม.ที่เติบโตมาจากสายตำรวจดับเพลิง กล่าวกับบีบีซีไทยถึงความเสี่ยงหากอาคารสูงใน กทม.เกิดเพลิงไหม้ว่า ในจำนวนอาคารกว่า 3,000 หลัง มีอยู่จำนวนหนึ่งที่ก่อสร้างก่อน พ.ร.บ.ควบคุมอาคารปี 2535 บังคับใช้ และไม่ได้ถูกออกแบบให้มีระบบป้องกันรับมืออัคคีภัยที่ได้มาตรฐาน

ทั้งนี้ ภายหลัง พ.ร.บ.ดังกล่าวบังคับใช้ ได้กำหนดให้อาคารสูงต้องมีระบบป้องกันอัคคีภัยที่ได้มาตรฐาน หากมีเหตุเกิดขึ้น การเข้าควบคุมเพลิงจะลดความเสียหายได้ทัน แต่ที่น่ากังวลมากกว่านั้น คือ ตึกเก่าแก่ที่ไม่มีระบบป้องกันรับมือไฟไหม้เลย เช่น ในย่านเศรษฐกิจชั้นในอย่าง เยาวราช สำเพ็ง

ภาพตึกเก่าในย่านเยาวราช

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, กทม. เป็นห่วงว่าตึกรุ่นเก่าที่ก่อสร้างก่อนปี 2535 ที่ไม่มีระบบป้องกันรับมือไฟไหม้ อย่างเช่น ย่านเศรษฐกิจชั้นในอย่าง เยาวราช สำเพ็ง

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ทำให้การควบคุมเพลิงเป็นไปได้ยากนั้น ส่วนใหญ่เป็นเพราะขาดการบำรุงรักษาอุปกรณ์ป้องกันไฟไหม้ เช่น สัญญาณเตือนภัย ระบบจับควัน เป็นต้น

ตรอกซอยแคบ อุปสรรคดับเพลิง

ผู้บริหารกรุงเทพมหานครกล่าวอีกว่า ผังเมือง ถนน ตรอกซอยขนาดเล็ก เป็นอุปสรรคของการไปยังที่เกิดเหตุได้ทันเวลา อย่างไรก็ตาม กทม.พยายามปรับวิธีการรับมือ ด้วยการใช้รถดับเพลิงขนาดเล็กเข้าพื้นที่ จากสถานีดับเพลิง 35 แห่ง แต่ละแห่งได้ตั้งจุดเฝ้าระวังเพิ่มสถานีละ 1 จุด กระจายรถดับเพลิงและเจ้าหน้าที่ไปประจำจุดเสี่ยงที่เคยเกิดเหตุไฟไหม้บ่อย โดยเฉพาะช่วงตรุษจีน ปีใหม่ เพื่อให้การเข้าควบคุมสถานการณ์เพลิงไหม้ไวขึ้น

ถนนแคบ

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, ถนนแคบ คือ หนึ่งในอุปสรรคในการดับเพลิงในเขตกรุงเทพมหานครบางแห่ง

"แทนที่จะอยู่ในสถานีที่ระยะทางกว่าจะไปจุดเกิดเหตุมันไกล ก็เพิ่มหน่วยออกไปข้างนอก เมื่อเกิดเหตุ 2 นาทีก็ถึง แทนที่จะ 10 นาทีถึง" พ.ต.ท.สมเกียรติ กล่าว

รถกระเช้าดับเพลิง กทม.ทันสมัยสุดในอาเซียน

ปัจจุบัน กทม. มีรถกระเช้าดับเพลิงที่สามารถดับไฟได้ในระดับความสูง 90 เมตร จำนวน 4 คัน ถือว่าทันสมัยที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสามารถรับมือกับเหตุไฟไหม้ตึกสูง 30 ชั้น รถกระเช้าดับเพลิงเหล่านี้กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างทั่ว กทม.

เปิดสเปครถดับเพลิง กทม.

ทันสมัยที่สุดในเอเชียตอ./ใต้

  • รถกระเช้าดับเพลิงสูง 90 เมตร

  • รับมือไฟไหม้ตึกสูง 30 ชั้น

  • มี 4 คัน

Getty Images

รอง ผอ.สปภ. ระบุว่ารถกระเช้าที่สามารถดับเพลิงในระดับความสูง 90 เมตร ถือว่าได้มาตรฐานที่ทั่วโลกใช้ หากมีขนาดความสูงมากกว่านี้จะไม่เหมาะ เพราะต้องใช้พื้นที่ตั้งอุปกรณ์ค้ำยันรถ

ที่ผ่านมา กทม. เคยใช้กับรถกระเช้านี้ ในเหตุไฟไหม้ใหญ่ เช่น ที่อาคารสำนักงานไทยพาณิชย์ รัชโยธิน โดยรถกระเช้าดับเพลิงจะทำหน้าที่ลำเลียงผู้ติดอยู่ในอาคาร ระดมนักดับเพลิง และอุปกรณ์เข้าไปยังที่เกิดเหตุ

เทียบระดับความสูงของรถกระเช้าดับเพลิง

ที่มา.-บีบีซีไทยรวบรวม

จากการรวบรวมของบีบีซีไทยยังพบอีกว่า รถกระเช้าของกรุงเทพมหานครยังสามารถดับเพลิงในระดับความสูงมากกว่าที่นครดูไบ ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และกรุงลอนดอนของอังกฤษอีกด้วย