20 ปีวิกฤตต้มยำกุ้ง: “แผลเป็น” ของนักการเมือง “กลุ่ม 16”

  • พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์
  • ผู้สื่อข่าวอิสระ
2. นายเนวิน ชิดชอบ

ที่มาของภาพ, Getty Images

สาเหตุสำคัญของการล่มสลายของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ที่เป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตเศรษฐกิจ ในปี 2540 คือ การปล่อยสินเชื่อให้แก่นักธุรกิจและนักการเมืองเพื่อเข้าเทกโอเวอร์บริษัทต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีกำไรจากการซื้อมา-ขายไป จนเกิดหนี้เน่ามหาศาลกับธนาคาร

นักการเมืองที่ถูกพาดพิงหลายคน คือ สมาชิกของ "กลุ่ม 16" ผู้ถูกเชื่อมโยงว่ามีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับนายราเกซ สักเสนา เจ้าของฉายา "พ่อมดทางการเงิน" และที่ปรึกษาของธนาคารฯ

ระหว่างปี 2538-2539 หนังสือพิมพ์ มติชน นำเสนอข่าวต่อเนื่อง เปิดโปงสายสัมพันธ์ของ กลุ่ม 16 กับนายราเกซ และธนาคารฯ จนนำไปสู่รางวัล "ข่าวยอดเยี่ยม" จากสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ประจำปี 2539 ภายใต้ชื่อ "ทลายขบวนการนักธุรกิจ-นักการเมือง กลุ่ม 16 ผลาญเงินบีบีซี 80,000 ล้านบาท"

ความอื้อฉาวของข่าวนี้ทำให้ ส.ส.ฝ่ายค้านจากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนนำ ขยายให้เป็นประเด็นการเมืองระดับชาติ ใช้อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา ในปี 2539

ใครเป็นใครใน "กลุ่ม 16"

"กลุ่ม 16" เกิดจากการรวมตัวกันของนักการเมืองรุ่นใหม่จาก 2 พรรคร่วมรัฐบาล คือ ชาติไทย และชาติพัฒนา จำนวน 21 คน ที่มักเคลื่อนไหวทำกิจกรรมการเมืองร่วมกัน โดยมีนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้มีอาวุโสที่สุด เป็นหัวหน้ากลุ่ม มีสมาชิก อาทิ นายสุชาติ ตันเจริญ ว่าที่ ร.ต.ไพโรจน์ สุวรรณฉวี นายเนวิน ชิดชอบ นายจำลอง ครุฑขุนทด นายสนธยา คุณปลื้ม ที่มาของชื่อกลุ่มมาจาก วันก่อตั้งกลุ่ม เมื่อ 16 พ.ย.2535

จุดสูงสุดของ กลุ่ม 16 คือการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ปชป. กรณี สปก.4-01 จนนายสุเทพลาออกจากตำแหน่ง รมว.เกษตรและสหกรณ์ และนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีต้องประกาศยุบสภา

เงินบาท

ที่มาของภาพ, Getty Images

อำนาจเงินตรา ธนาคาร

เรื่องราวความเกี่ยวโยงของกลุ่ม 16 กับธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การฯ เกิดจากความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างแกนนำกลุ่มคนหนึ่ง กับหญิงสาวชาวพม่ารายหนึ่ง ที่เมื่อสืบลึกลงไปกลับพบว่า หญิงสาวคนดังกล่าวถือหุ้นอยู่ในบริษัทเอกชนร่วมกับผู้บริหารธนาคารฯ แต่มีการใช้เทคนิคทำให้ราคาหุ้นสูงขึ้น จากราคาหุ้นละ 3-4 บาท เมื่อเทขาย เพิ่มเป็นหุ้นละ 16 บาท เกิดส่วนต่างเป็น "กำไร" ถึงกว่า 300 ล้านบาท ทั้งๆ ที่เพิ่งซื้อมาไม่ถึงปี

โดยพฤติการณ์ คือธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ให้กู้เงินไปเทกโอเวอร์บริษัทหนึ่ง ก่อนจะนำไปขายต่อให้กับอีกบริษัทด้วยราคาสูงลิ่ว จนเกิดเป็นกำไรมหาศาล แม้จะเป็นการปล่อยกู้ที่มี "ความเสี่ยงสูง" ไม่รวมถึงการปล่อยกู้ให้กับบางบริษัทที่ผู้บริหารธนาคารบีบีซีมีส่วนเกี่ยวข้อง

นสพ.มติชน ได้รับข้อมูลจากแหล่งข่าวในแวดวงการเงิน ที่ระบุว่า ในช่วงเวลาเพียงปีเศษ ธนาคารฯ ได้ปล่อยสินเชื่อให้กับคนของกลุ่ม 16 ใช้ในการเทกโอเวอร์บริษัทต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งสิ้น 21 ครั้ง เป็นวงเงินสูงถึง 36,000 ล้านบาท โดยนายราเกซ นักการเงินเชื้อสายอินเดีย ในฐานะที่ปรึกษาธนาคารฯ เป็นคนที่คอยให้ชื่อบริษัทที่ควรจะเข้าไปเทกโอเวอร์

แต่พฤติการณ์การซื้อมา-ขายไป เพื่อทำกำไรในลักษณะ "จับเสือมือเปล่า" ก็ถูกขยายให้เป็นประเด็นการเมืองระดับชาติ เมื่อ พรรคประชาธิปัตย์หยิบข้อมูลจากสื่อมวลชนไปใช้อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของนายบรรหาร ในปี 2539 โดยเฉพาะกรณีที่บริษัทในครอบครัว "ตันเจริญ" นำที่ดินใน จ.หนองคาย ไปค้ำประกันเงินกู้จากธนาคารฯ แต่ปรากฏว่าที่ดินดังกล่าวถูกพบว่าออกเอกสารสิทธิ น.ส.3 ก มาโดยมิชอบ ทำให้เกิด "หนี้เน่า" มหาศาลแก่ธนาคารฯ

แม้นายสุชาติจะปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และภายหลังได้นำหลักฐานเข้าชี้แจงกับตำรวจ จนถูกกันไว้เป็น "พยาน" ไม่ใช่ "ผู้ต้องหา" ในคดี

ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ

2487

ก่อตั้งเป็นสถาบันการเงิน

  • 2541 เลิกกิจการหลังเผชิญปัญหาหนี้เสีย

  • 45,280 ล้านบาท มูลหนี้สูงสุด

  • > 100 ปี โทษจำคุกรวมกันของเกริกเกียรติและราเกซ

  • > 15,000 ล้านบาท ค่าเสียหายที่เกริกเกียรติและราเกซถูกสั่งให้ชดใช้

GETTYIMAGES

แต่ผลการเปิดโปงโดยพรรคประขาธิปัตย์ ต่อ กลุ่ม 16 ทำให้ประชาชนแห่งไปถอนเงินธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ถึงวันละ 2 พันล้านบาท จนธนาคารแห่งประเทศไทยต้องรีบสั่งให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เริ่มเพิ่มทุนในธนาคารธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การฯ 5.4 พันล้านบาท เพื่อเข้าควบคุมกิจการ

การปล่อยกู้อันผิดปกติที่สร้างความเสียหายต่อระบบสถาบันการเงิน ทำให้นายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ถูกสังคมตราหน้าว่าเป็น "โจรใส่สูท" และถูกดำเนินคดีสารพัด กระทั่งศาลตัดสินให้จำคุกรวมกันมากกว่า 100 ปี และสั่งให้ชดใช้หนี้มากกว่า 13,600 ล้านบาท

ขณะที่นายราเกซได้หนีไปกบดานที่แคนาดาตั้งแต่ปี 2539 ก่อนจะถูกส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับไทยในอีก 13 ปีถัดมา และถูกศาลตัดสินให้จำคุกในคดียักยอกและฉ้อโกงธนาคารบีบีซี เป็นเวลา 10 ปี รวมถึงสั่งให้ชดใช้หนี้กว่า 1,132 ล้านบาท

ส่วนคนในกลุ่ม 16 แม้จะไม่เคยมีคดีความติดตัว แต่ก็มักถูกกล่าวถึงเสมอ เวลาพูดถึงการล้มลงของธนาคารฯ แม้นายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคภูมิใจไทย (ภท.) จะเคยออกมาชี้แจงแทนบุคคลทั้ง 2 ซึ่งเป็นแกนนำ ภท. ว่า "ไม่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริตในธนาคารฯ" เพราะนายสุชาติเป็นลูกค้าตั้งแต่แก่นายราเกซเข้ามา และได้เคลียร์หนี้สินไปจนหมดแล้ว ส่วนนายเนวินก็เป็นลูกค้าก่อนที่ธนาคารฯจะมีปัญหาเรื่องการยักยอก

แต่ "แผลเป็นทางการเมือง" เป็นเรื่องที่ยากจะลบหาย เช่นเดียวกับ "กรณี สปก.4-01" กับ ปชป.และนายสุเทพ ส่วนกลุ่ม 16 ก็มี "กรณีนายราเกซและธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ"

นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ (ขวา) หัวหน้ากลุ่ม 16

รายชื่อนักการเมืองกลุ่ม 16

  • นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์
  • นายเนวิน ชิดชอบ
  • นายสุชาติ ตันเจริญ
  • ว่าที่ ร.ต.ไพโรจน์ สุวรรณฉวี
  • นายจำลอง ครุฑขุนทด
  • นายสนธยา คุณปลื้ม
  • นายวิทยา คุณปลื้ม
  • นายธานี ยี่สาร
  • นายสรอรรถ กลิ่นประทุม
  • นายชูชาติ หาญสวัสดิ์
  • นายวราเทพ รัตนากร
  • นายอิทธิ ศิริลัทธยากร
  • นายประวัฒน์ อุตตะโมต
  • นายยงยศ อรุณเวสสะเศรษฐ
  • นายทรงศักดิ์ ทองศรี
  • นายบรรจง โฆษิตจิรนันท์
  • พ.ต.ท.สมชาย เพศประเสริฐ
  • นายเกษม รุ่งธนเกียรติ
  • นายอุดมเดช รัตนเสถียร
  • นายเฉลิมชัย อุฬารกุล
  • ร.ต.หญิง พนิดา เกษมมงคล