แรงงานพม่าเดินทางกลับนับพันหลังไทยบังคับใช้ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว

แรงงานพม่าเดินทางกลับนับพันหลังไทยบังคับใช้ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว

ในวันที่ 30 มิ.ย. สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า แรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองผิดกฎหมายหลายพันคนทั้งจากเมียนมาและกัมพูชาทยอยเดินทางออกจากประเทศไทย หลังจากพระราชกำหนดการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา

พระราชกำหนดฉบับนี้กำหนดเงื่อนไขให้นายจ้างที่ว่าจ้างแรงงานต่างด้าวอย่างไม่ถูกต้องอาจถูกปรับตั้งแต่ 4 แสนถึง 8 แสนบาท ด้วยบทลงโทษที่เข้มงวดทำให้นายจ้างบางส่วนเลิกจ้างแรงงานที่ไม่มีเอกสารรับรองตามกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในขณะนี้ยังไม่มีการบรรจุพระราชกำหนดฉบับนี้เข้าระเบียบวาระการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แม้ว่ารัฐบาลจะได้ส่งมายัง สนช.แล้วเนื่องจากมีเสียงท้วงติงจากหลายฝ่าย และหากนำพระราชกำหนดเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. สิ่งที่จะทำได้มีเพียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเท่านั้น ไม่สามารถแก้ไขได้ แนวทางที่เป็นไปได้คือการนำพระราชกำหนดเข้ารับรองเป็นพระราชบัญญัติ แล้วออกพระราชบัญญัติแก้ไขตามทันที โดยกำหนดเป็นบทเฉพาะกาล หรืออาจจะต้องให้นายกรัฐมนตรีใช้มาตรา 44 กำหนดบทเฉพาะกาลเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ

คนขนของจากเรือขึ้นฝั่ง

ที่มาของภาพ, Reuters

ด้านเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เรียก พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน ผู้แทนกฤษฎีกา สภาหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรม และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องมาหารือถึงปัญหาการบังคับใช้พระราชกำหนดดังกล่าว โดยนายวิษณุกล่าวว่าเพื่อผ่อนคลายความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นจากการเตรียมตัวไม่ทันของทั้งนายจ้างและลูกจ้าง จึงจำเป็นต้องใช้ ม.44 ชะลอหรือเลื่อนการบังคับใช้บางมาตราที่มีบทลงโทษรุนแรงไปก่อน ส่วนมาตราที่เหลือยังบังคับใช้อยู่

ด้านเครือข่ายประชากรข้ามชาติได้ออกแถลงการณ์ด่วนชี้ว่า พระราชกำหนดดังกล่าวได้ สร้างความสับสนทั้งฝ่ายลูกจ้าง นายจ้าง และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติในการแก้ไขปัญหากระบวนการจ้างงานทั้งระบบ และขณะนี้ได้เกิดสถานการณ์ที่นายจ้างเริ่มละทิ้งลูกจ้าง และมีการกวาดล้างจับกุม และส่งตัวแรงงานกลับเป็นจำนวนมาก ทั้งยังมีการอาศัยช่องทางของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในการพยายามเรียกรับเงินจากทั้งตัวแรงงานและนายจ้าง

คนแบกของ

ที่มาของภาพ, Reuters

นายอดิศร เกิดมงคล ออกแถลงการณ์ ในนาม "เครือข่ายประชากรข้ามชาติ" เรียกร้องให้รัฐยุติการกวาดล้างจับกุมแรงงานข้ามชาติ และกำหนดนโยบายและมาตรการในการปฏิบัติให้ชัดเจน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ในท้องที่ต่าง ๆ ปฏิบัติเป็นแนวเดียวกันอย่างเป็นเอกภาพ นอกจากนี้ยังเห็นว่านโยบายของกฎหมายฉบับนี้ มีบทลงโทษมากกว่ากฎหมายทุกฉบับที่ผ่านมา ซึ่งการที่รัฐมีมาตรการในการเพิ่มโทษ เช่น การเพิ่มจำนวนเงินค่าปรับ หรือโทษจำคุก อาจจะยิ่งเป็นช่องทางในการทำผิดกฎหมาย การทุจริตในวงราชการ

ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานระบุว่า จากการตรวจสถานประกอบการของเจ้าหน้าตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 - พฤษภาคม 2560 จำนวน 58,373 แห่ง มีแรงงานต่างด้าวผ่านการตรวจไปแล้ว 385,827 คน พบว่า มีสถานประกอบการปฏิบัติไม่ถูกต้องจำนวน 1,460 แห่ง แรงงานต่างด้าว 12,358 คน คิดเป็น 3% ของแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในสถานประกอบการที่ผ่านการตรวจ