4 เรื่องที่สุดของ “กกต.” ก่อนเซ็ทซีโร่?

  • หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • ผู้สื่อข่าวอิสระ บีบีซีไทย
แนวร่วม กปปส.ชุมนุมปิดคูหา ทำให้ 83 เขตเลือกตั้งใน 12 จว. ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, แนวร่วม กปปส.ชุมนุมปิดคูหา ทำให้ 83 เขตเลือกตั้งใน 12 จว. ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้

จาก "5 เสือ กกต." กลายสภาพเป็น "ปลา 2 น้ำ" ตามนิยามของ "มือกฎหมายรัฐบาล" และเป็นเงื่อนไขที่ทำให้พวกเขาอาจไม่ได้ไปต่อหาก สนช.ผ่านร่างกฎหมายลูกฉบับแรกในวันศุกร์นี้ ก่อนนาที "เซ็ทซีโร่" จะมาถึง มาย้อนดู 4 เรื่อง "ที่สุด" ของ กกต.ชุดที่ใช้งบประกอบ "พิธีกรรมประชาธิปไตย" ไปกว่า 7.6 พันล้านบาท

9 มิ.ย. ไม่เพียงเป็นวันครบรอบ 19 ปีของการก่อตั้งสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่ยังเป็นวันชี้ชะตา-อนาคตของ กกต.ชุดปัจจุบัน 5 คนว่าจะ "อยู่" หรือ "ไป" เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เตรียมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในวาระ 2 และ 3

คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ยืนยันว่าต้อง "เซ็ทซีโร่" หรือไม่ให้ "5 เสือ กกต." ที่มีนายศุภชัย สมเจริญ เป็นประธาน ทำงานต่อจนครบวาระในอีก 3 ปีครึ่ง ด้วยเหตุผลไม่ต้องการให้เกิดปัญหาการทำงานแบบ "ปลา 2 น้ำ"

เพราะภายใต้ร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้ได้เพิ่มจำนวนกรรมการ กกต.จาก 5 เป็น 7 คน นั่นหมายถึงผลกระทบต่อโครงสร้างอำนาจ-การบริหารงานภายใน

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เจ้าของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.ยืนยัน "เซ็ทซีโร่เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด" และจะ "ปฏิรูปก็ต้องยอมเจ็บตัว"

ที่มา : บีบีซีไทย รวบรวม

ทุลักทุเลที่สุด : เลือกตั้ง 2 ก.พ. 57

จากส่วนผสมแตกต่าง มาจากสายผู้พิพากษาศาล 3 คน ได้แก่ นายศุภชัย สมเจริญ นายบุญส่ง น้อยโสภณ และนายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ เป็นอดีตนักเคลื่อนไหวในองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) 1 คน คือนายสมชัย ศรีสุทธิยากร ส่วนอีก 1 คนอย่างนายประวิช รัตนเพียร เป็นอดีตนักการเมือง พวกเขามา "ร่วมหัวจมท้าย" ในฐานะ "กกต.ชุดที่ 4" ของประเทศ

ประชาชนสวมใส่ "หน้ากากสมชัย" ชุมนุมเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 57 เพื่อยืนยันต้องการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หลัง กกต.ออกแถลงการณ์ให้เลื่อนการเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557 ออกไป

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ประชาชนสวมใส่ "หน้ากากสมชัย" ชุมนุมเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 57 เพื่อยืนยันต้องการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หลัง กกต.ออกแถลงการณ์ให้เลื่อนการเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557 ออกไป

เริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ 13 ธ.ค. 2556 หรือ 4 วันหลังรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศยุบสภาด้วยความคาดหวังให้ความขัดแย้งทางการเมืองจบลงที่คูหาเลือกตั้ง หลังกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ชุมนุมมายาวนานกว่า 40 วัน (จนถึงวันยุบสภา)

นั่นทำให้การจัดการเลือกตั้งทั่วไป 2 ก.พ. 2557 คือภารกิจสำคัญของ กกต.

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกฯ ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 ขณะที่มีการชุมนุมต่อต้านการเลือกตั้งของกลุ่ม กปปส.ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกฯ ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 ขณะที่มีการชุมนุมต่อต้านการเลือกตั้งของกลุ่ม กปปส.ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

แต่สิ่งที่ กกต.ทำเป็นอันดับแรก คือการออกแถลงการณ์ 26 ธ.ค. 2556 ให้รัฐบาล "เลื่อนเลือกตั้ง" หลังพรรคประชาธิปัตย์ประกาศ "คว่ำบาตรเลือกตั้ง" (21 ธ.ค. 2556) ตามด้วยเหตุปะทะในวันจับสลากเลขหมายพรรคการเมืองที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง (26 ธ.ค. 2556)

ทว่าไม่มีสัญญาณตอบรับจากรัฐบาลรักษาการ กกต.จึงตกที่นั่ง "เสือลำบาก" ต้องเดินหน้าจัดการเลือกตั้งตามปฏิทินเดิม ท่ามกลางข้อเรียกร้องของ กปปส.ให้ "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง" และตั้ง "สภาประชาชน" ทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนฯ

13 ม.ค. 2557 กปปส. เปิดปฏิบัติการ "ชัตดาวน์กรุงเทพฯ" ตั้ง 7 เวทีชุมนุมปิดล้อมเมืองหลวง ในจำนวนนี้มีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงาน กกต.รวมอยู่ด้วย ทำให้ กกต.ต้องพเนจรไปทำงานหลายสถานที่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

นอกจากนี้ยังมีสารพัดปัญหาให้ตามแก้ ทั้งปิดที่ทำการไปรษณีย์ จนขนส่งบัตรเลือกตั้งไม่ได้, การลาออกของ กกต.จังหวัดและผอ.เขตเลือกตั้ง จนไม่มีคนทำงาน, การปิดล้อมหน่วยเลือกตั้งสกัดการใช้สิทธิของประชาชน ทำให้ทั้งคน-บัตรเลือกตั้งบางส่วนไปไม่ถึงคูหาเลือกตั้ง

แนวร่วม กปปส.ชุมนุมปิดคูหา ทำให้ 83 เขตเลือกตั้งใน 12 จว. ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, แนวร่วม กปปส.ชุมนุมปิดคูหาแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร เพื่อไม่ให้สามารถจัดการเลือกตั้งได้

ประธาน กกต.บรรยายความรู้สึกว่า "ต้องแก้ปัญหารายวัน ทำให้งงอยู่ ต้องค่อยๆ แก้กันไป"

ผลคือมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง "ไม่ถึงครึ่ง" โดยอยู่ที่ร้อยละ 45.84 หรือ 20 ล้านคน มีหน่วยเลือกตั้งที่เปิดให้ลงคะแนนได้ร้อยละ 89.2 มี 59 จังหวัดจัดการเลือกตั้งได้แบบไร้ปัญหา 5 จังหวัดจัดการเลือกตั้งได้บางส่วน ส่วนอีก 12 จังหวัด รวม 83 เขตเลือกตั้ง ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้เลย

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐพาดหัวข่าวฉบับวันรุ่งขึ้นว่า "เลือกตั้งผ่านไปทุลักทุเล"

สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย (21 มี.ค. 2557) ว่าการเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557 "ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ" เพราะไม่ได้จัดการเลือกตั้งวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ทำให้รัฐบาลรักษาการ กกต. และคู่ขัดแย้ง ต้องตั้งวงหารือ-หาหนทางจัดการเลือกตั้งรอบใหม่ ท่ามกลางเสียงวิจารณ์จากบางฝ่ายว่าเป็นการ "ถูลู่ถูกัง" หรือไม่

ขณะเดียวกัน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ยังทิ้ง "ระเบิดลูกใหญ่" ใส่ผู้เกี่ยวข้อง ทวงถามความรับผิดชอบกับงบ 3,800 ล้านบาทที่สูญไปจากการ "จัดการเลือกตั้งที่ล้มเหลว"

ปลื้มที่สุด : จัดเลือกตั้ง ส.ว. 30 มี.ค. 57

อย่างไรก็ตาม กกต.กลับจัดการเลือกตั้ง ส.ว. 30 มี.ค. 2557 ได้อย่างราบรื่น (แบ่งเป็น ส.ว.เลือกตั้ง 77 คน ส.ว.สรรหา 73 คน) มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งร้อยละ 42.7 ของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด โดยนายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. บอกว่า "ดีใจมากที่ไม่มีมวลชนมาปิดล้อม"

จนสื่อออนไลน์ค่ายผู้จัดการพาดหัวข่าวว่า "กกต.ปลื้ม สมัคร ส.ว.ฉลุย"

21-22 พ.ค. 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ผู้ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ เชิญผู้เกี่ยวข้อง 7 ฝ่ายร่วมประชุมหาทางออกให้บ้านเมือง ตัวแทนกกต. ประกอบด้วย นายศุภชัย, นายสมชัย, นายประวิช, นายบุญส่ง และนายภุชงค์ ทำให้พวกเขาได้ร่วมฉากพลิกประวัติศาสตร์-รัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 อย่างไรก็ตามตัวแทน กกต. และส.ว. ไม่ถูกควบคุมตัวไปค่ายทหารเหมือนฝ่ายการเมือง

เวลา 17.30 น. นายศุภชัยกล่าวกับผู้สื่อข่าวผ่านทางโทรศัพท์ว่า "ขอรอดูประกาศคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อน หากมีการฉีกรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ก่อน"

4 ปี กกต.

ใช้งบประกอบ “พิธีกรรมประชาธิปไตย” 7,690 ล้านบาท

  • 3,800 ล้านบาท เลือกตั้ง ส.ส. 2 ก.พ. 57

  • 889 ล้านบาท เลือกตั้ง ส.ว. 30 มี.ค. 57

  • 10 ล้านบาท สรรหา สปช. ส.ค.-ก.ย. 57

  • 2,991 ล้านบาท ลงประชามติ 7 ส.ค. 59

Getty Images

แม้อยู่ภายใต้ภาวะไม่เป็นประชาธิปไตย แต่กลไก กกต. ยังถูกใช้งาน เมื่อ คสช.มอบหมายให้สำนักงาน กกต. ทำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทั้ง 11 ด้าน ซึ่งมีผู้สมัครรวม 7,120 คน ก่อนเสนอชื่อให้ คสช. เคาะเหลือ 250 คน

สุขที่สุด : ร่าง รธน.ผ่านประชามติ 7 ส.ค. 59

อีกครั้งคือการจัดให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ วันที่ 7 ส.ค. 2559 ซึ่งกกต. ทำหน้าที่ "ผู้ช่วยที่ดี" ของกรธ. และคสช. ภายใต้กฎเหล็ก "6 ข้อทำได้ 8 ข้อทำไม่ได้" ของกกต. ที่คอยกำกับการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ทำให้ประชามติครั้งที่ 2 ของประเทศสงบ-เงียบ

แต่นั่นไม่ใช่เครื่องการันตี "ผล" ที่ออกมา มีผู้โยนคำถาม "ดักคอ" ว่าหากร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำ ใครต้องรับผิดชอบต่องบที่เสียเปล่า นายสมชัยแจกแจงว่า "3 พันล้านที่ใช้ไป เพื่อบอกว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้ ประชาชนไม่ต้องการ มีวิธีใช้เงินน้อยกว่านี้เพื่อให้เกิดผลที่เป็นความเห็นประชาชนหรือไม่ ก็ไม่มี งานนี้คนริเริ่มไม่ใช่กกต. แต่เราเป็นเพียงเครื่องมือ ดังนั้นถ้าประชามติไม่ผ่าน จะมาบอกว่า กกต. ต้องรับผิดชอบ อันนี้ไม่ใช่"

นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. รณรงค์ให้ประชาชนไปลงประชามติ 7 ส.ค. 57 ผลปรากฏว่ามีผู้ไปใช้สิทธิกว่า 29.1 ล้านคน และผลประชามติ "รับ" ร่างรธน. และคำถามพ่วง

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. รณรงค์ให้ประชาชนไปลงประชามติ 7 ส.ค. 57 ผลปรากฏว่ามีผู้ไปใช้สิทธิกว่า 29.1 ล้านคน และผลประชามติ "รับ" ร่างรธน. และคำถามพ่วง

แต่สุดท้ายก็ได้คำตอบแบบ "สมใจ" ผู้มีอำนาจ เมื่อประชาชนร้อยละ 61.35 หรือ 16.8 ล้านคนลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ และร้อยละ 58.07 หรือ 15.1 ล้านคนรับคำถามพ่วง ซึ่งนายมีชัยยอมรับเป็นวันที่ "สุขที่สุด" ตั้งแต่รับหน้าที่ประธาน กรธ. ไม่ต่างจากความรู้สึกของประธาน กกต. ที่บอกว่า "ได้จัดให้มีการออกเสียงประชามติซึ่งเป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วน"

ฉาวที่สุด : สารพัดข้อกล่าวหา

นอกจากภาระหน้าที่ที่ส่งผลต่อความเป็นไปของการเมืองไทย กกต.ชุดนี้ยังมีเรื่อง "ลึก(ไม่)ลับ" ให้สังคมจับจ้องอย่างสม่ำเสมอ เช่น กรณีผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติ 15 ก.ย. 2559 ชี้ว่านายธีรวัฒน์มีพฤติกรรมเข้าข่ายผิดจริยธรรม แต่เมื่อส่งเรื่องกลับมาที่ต้นสังกัด ทุกอย่างกลับเงียบหายเข้ากลีบเมฆ

กรณี กกต. มีมติ 8 ธ.ค. 2558 เลิกจ้างนายภุชงค์ ด้วยเหตุผล "สอบตกการประเมินผล" จนเจ้าตัวลุกขึ้นมาฟ้องกลับ 5 เสือกกต. มีคดีคาศาลปกครองอยู่ในปัจจุบัน

กรณีนายสมชัยแต่งตั้งบุตรชายเป็นเลขานุการส่วนตัว จนถูกตั้งคำถามเรื่องความเหมาะสม เขาชี้แจงกับสำนักข่าวอิศราว่า "เป็นปกติที่คนทำงานจะแต่งตั้งให้ผู้ช่วยที่ไว้วางใจมาทำงานด้วยกัน ไม่เห็นแปลกอะไร เข้ามาโดยความชอบธรรม คนปล่อยข่าวก็คงน่ารักดี"

นอกจากนี้ยังมีผู้อ้างตัวเป็นพนักงานสำนักงาน กกต. ทำหนังสือร้องเรียนนายกฯ เมื่อเดือนเม.ย. 2559 ในช่วงนับถอยหลังประชามติ ว่า 3 เสือกกต. ได้แก่ นายธีรวัฒน์ นายสมชัย นายบุญส่ง กระจายตัวกันจัดทริปดูงาน 4 ประเทศคือ สหรัฐฯ ออสเตรีย สก็อตแลนด์ และเกาหลี จนชาวเน็ตรุมวิจารณ์ว่า "กกต. ทิ้งงาน-ผลาญงบ" ร้อนถึง กกต.ที่อยู่โยงเฝ้ากรุงเทพฯ ต้องออกมาอรรถาธิบายว่า "ไม่จริง" และชี้นื้วไปที่ กกต.ชุดก่อนก็ทำแบบนี้ พร้อมยืนยันไม่กระทบกระเทือนเสียหายกับการทำงานของ กกต.

เหล่านี้เป็นเพียงบางเรื่องราวของ "5 เสือกกต." ซึ่งนาทีนี้น่าจะอยู่ในภาวะ "เครียดที่สุด" เมื่อวันเวลา "ลงจากหลังเสือ" มาถึงเร็วกว่ากำหนด!!!